ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจประกาศขึ้นราคาน้ำมันดีเซลรวดเดียว 3 บาท/ลิตร ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ให้การชดเชยมาอย่างยาวนานถึงกว่า 15 เดือน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากลิตรละ15.19บาทขึ้นไปเป็นลิตรละ 18.19 บาททันทีโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ทางการได้ตรึงราคามาตั้งแต่วันที่10 มกราคม 2548 และได้ขยับเพดานราคาไปครั้งหนึ่งแล้วลิตรละ 60 สตางค์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ทั้งนี้ก็เพื่อลดภาระเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รัฐเข้าไปแบกรับภาระอยู่ถึงเกือบ 77,000 ล้านบาทในขณะนี้ โดยในปัจจุบันรัฐบาลชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ถึงลิตรละ 6.62 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินรัฐได้ปล่อยลอยตัวแล้วตั้งแต่วันที่ 20ตุลาคม2547 อย่างไรก็ตามแม้การปรับราคาดีเซลขึ้นไปครั้งเดียวถึงลิตรละ 3 บาทดังกล่าว ก็ยังไม่ใช่ราคาที่แท้จริงตามราคาตลาดโลก แต่เป็นราคาที่รัฐยังให้การชดเชยอยู่อีกถึงลิตรละ 3.62 บาท
การใช้ดีเซลพุ่งกระฉูด : รับอานิสงส์…จากรัฐชดเชยราคา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการประกาศขึ้นราคาน้ำมันดีเซลครั้งเดียวถึงลิตรละ 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2548 จากราคาเดิมลิตรละ 15.19 บาทเป็นลิตรละ 18.19 บาท น่าจะเป็นผลดีต่อการสกัดกั้นยอดการใช้น้ำมันดีเซลที่พุ่งขึ้นสูงมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่รัฐบาลได้ประกาศตรึงราคาน้ำมันมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงแพงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ รัฐบาลก็อาจจำเป็นต้องขยับราคาขึ้นไปอีก เพื่อลดภาระเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันที่ในเวลานี้มีมูลหนี้สูงถึง 76,770.49 ล้านบาทเข้าไปแล้ว(ตัวเลข ณ วันที่ 22 มีนาคม 2548)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการตรึงราคาน้ำมันในช่วงกว่า 15 เดือนที่ผ่านมามีผลต่อการก่อปัญหาการใช้น้ำมันดีเซลที่บิดเบือนไปอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่าสัดส่วนการใช้ดีเซลในปี 2547(รัฐตรึงราคาดีเซลมาตั้งแต่ 10 มกราคม 2547)เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 47.1จากระดับเพียง44.6ของการใช้น้ำมันรวมทุกประเภทในปี2544 ในขณะที่การใช้น้ำมันประเภทอื่นส่วนใหญ่มีสัดส่วนที่ลดลง แม้แต่น้ำมันเบนซินที่รัฐตรึงราคาพร้อมๆกับการตรึงดีเซลและได้ปล่อยลอยตัวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547ที่ผ่านมานั้น ก็มีสัดส่วนการใช้ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากระดับร้อยละ20.1ของการใช้น้ำมันรวมในปี2544 ก็ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ18.4ในปี2547 ส่วนการใช้น้ำมันประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าดและแก๊สหุงต้ม ต่างก็มีสัดส่วนการใช้ที่ลดลงมาทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในช่วงที่รัฐตรึงราคานั้น ปรากฏว่าพฤติกรรมการใช้น้ำมันดีเซลตลอดช่วง 15 เดือนเศษที่ผ่านมามีการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นมากอย่างน่าตกใจ เช่น ในปี2544-2546การใช้น้ำมันดีเซลรวมของประเทศมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยแค่ร้อยละ5.4ต่อปี โดยในบางช่วงเพิ่มขึ้นไม่มากนักเพียงแค่ร้อยละ1-2และในช่วงที่เพิ่มขึ้นมากๆก็อยู่ที่ร้อยละ6-9ไม่เคยเพิ่มเกินตัวเลข 2 หลัก
แต่สำหรับในปี 2547หลังจากที่รัฐบาลเข้าตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 14.59 บาท ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นมานั้น ปรากฏว่าการใช้น้ำมันดีเซลโดยรวมของประเทศกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ11.7หรือมีอัตราเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการใช้น้ำมันดีเซล 3 ปีก่อนหน้านี้ถึงกว่าเท่าตัว(ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำมันดีเซลช่วงปี2544-2546 อยู่ที่อัตราเพิ่มร้อยละ 5.4ต่อปี) ทั้งนี้ การใช้น้ำมันดีเซลในปี 2547มีปริมาณทั้งสิ้น 19,640 ล้านลิตร เทียบกับการใช้ดีเซลในปี2546ที่มีปริมาณ17,550ล้านลิตรหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงเดือนละ182.5ล้านลิตร เทียบกับในช่วงปี 2544-2546 ที่การใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นในระดับเฉลี่ยเพียงเดือนละ 122.6 ล้านลิตรเท่านั้นเอง
โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลที่บิดเบือนไปจากสภาพตลาดที่เป็นจริงตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลเข้าตรึงราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นมามีผลโดยตรงต่อการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นมากและยังส่งผลให้ปริมาณการใช้ยานยนต์ประเภทที่เติมน้ำมันดีเซลทั้งรถบรรทุก รถปิคอัพ รถยนต์นั่งบางประเภท เพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันโลกที่แพงขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ยอดจำหน่ายรถปิคอัพในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 มีจำนวน 65,725 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 22.2 หลังจากที่ปี2547ก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.5โดยมียอดจำหน่ายรวม 363,288 คัน เทียบกับปี2546ที่จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 309,144 คัน
ดังนั้น จึงน่าจะถึงเวลาที่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ธุรกิจ-อุตสาหกรรมต่างๆจะต้องพร้อมใจกัน ร่วมมือกันในการประหยัดการใช้น้ำมันและพลังงานทุกรูปแบบอย่างจริงจังเสียที เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกนับจากวันนี้ไปจะยังคงทรงตัวในระดับสูงและลดราคาลงมายาก ยิ่งเศรษฐกิจโลกปี 2548ที่แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาบ้างแต่ยังขยายตัวในอัตราที่สูงอยู่ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันรวมของโลกยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกาที่ในปี 2548 ยังมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูงอีกปีหนึ่ง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ในขณะที่การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งอกน้ำมันเริ่มมีปริมาณการเพิ่มที่จำกัดเข้าไปทุกที เช่น ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกมีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบส่วนเพิ่มได้อีกเพียงวันละ 1.5 ล้านบาร์เรลเท่านั้นเอง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันรวมของโลกปี 2548 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 84.3 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน
เร่งรณรงค์ประหยัดน้ำมัน…มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ทิศทางราคาน้ำมันโลกตั้งแต่ไตรมาสสองของปีไก่2548จะยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัวในระดับสูงในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2548 การที่สมาชิกโอเปกสามารถผนึกกำลังกันได้อย่างเหนียวแน่น และแม้ผลการประชุมโอเปกครั้งล่าสุดที่อิหร่านเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2548 ที่มีมติว่าให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอีกวันละ 500,000 บาร์เรล เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไป ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมของสมาชิกโอเปกเพิ่มขึ้นจากระดับ 27 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 27.5 ล้านบาร์เรล/วันแล้วก็ตาม แต่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงไต่ระดับสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เพื่อทดสอบสถิติราคาสูงสุดครั้งใหม่อยู่เป็นระยะๆ ทั้งนี้ หลังจากที่เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2548 ราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้าNYMEXทะยานขึ้นไปทะลุ 57 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลก่อนที่จะปิดที่ระดับ 56.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งก็เป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่นับจากวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ราคาน้ำมันดิบตลาดNYMEXปิดสูงสุดที่ 55.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และล่าสุดวันที่ 21 มีนาคม 2548 นี้ ราคาน้ำมันดิบNYMEXได้ทะลุระดับ 57 ดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้วโดยปิดที่ 57.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
จากสภาพตลาดน้ำมันโลกที่ยังคงมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูงดังกล่าว จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกกลุ่มสาขาอาชีพจะต้องร่วมมือกันประหยัดการใช้น้ำมัน-ไฟฟ้าและพลังงานทุกรูปแบบอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ยิ่งในขณะนี้(ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม)เป็นช่วงหน้าร้อนทำให้ความต้องการใช้น้ำมันและไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ทั้งในส่วนของน้ำมันที่เติมรถยนต์ เพราะจะเป็นช่วงออกเดินทางท่องเที่ยวกลับภูมิลำเนาของประชาชนเนื่องในวันเทศกาลสงกรานต์ซึ่งในปีนี้จะมีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันถึง 5 วันเต็ม(13-17เมษายน)
และในช่วงหน้าร้อนของทุกปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็นและเครื่องทำความเย็นต่างๆก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปก เป็นอันมาก โดยล่าสุดนี้(21มีนาคม 2548) ความต้องการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศทำลายสถิติสูงสุดที่ระดับ19,592.9เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นการทำลายสถิติสูงสุดเดิมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2547ที่ระดับ19,325.8เมกะวัตต์ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันรวมของประเทศก็พุ่งทะยานขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงจากผลพวงการใช้น้ำมันและพลังงานของคนไทย โดยในปี2547ที่ผ่านมามูลค่านำเข้าน้ำมันสูงถึง 538,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 372,933 ล้านบาท ถึงร้อยละ 44.5 และเพียงช่วงเดือนแรกของปี 2548 มีการนำเข้าน้ำมัน
ทั้งสิ้นถึง59,327ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ78.8ดังนั้น เมื่อรัฐบาลปล่อยลอยตัวน้ำมันเบนซินไปแล้ว และกำลังขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะปล่อยลอยตัวในระยะต่อไป ประชาชนจึงควรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันในการรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำมัน-ไฟฟ้าและพลังงานรูปแบบอื่นๆอย่างจริงจัง ในขณะที่ภาครัฐก็จะต้องเร่งรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถยนต์หันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันเบนซินให้มากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องเร่งให้มีการขยายสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 700 แห่งซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จากที่ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศถึง18,947แห่ง ดังนั้นจึงต้องเร่งขยายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์ให้เพิ่มมากขึ้นโดยเร็วทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาครวมทั้งต่างจังหวัดที่ห่างไกลให้ทั่วถึง
นอกจากนี้แล้ว ยังจะต้องเร่งให้รถของส่วนราชการที่มีอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนเกือบ 3,000 คันหันไปใช้แก๊ส NGVทั้งหมดโดยเร็ว รวมทั้งเร่งรณรงค์ให้รถยนต์ส่วนบุคคลหันมาใช้รถNGVมากขึ้น โดยในระยะแรกรัฐอาจให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ผ่านธนาคารของรัฐ)แก่เอกชนที่ปรับแต่งเครื่องยนต์ไปใช้NGVแทนน้ำมันเบนซินที่ต้องลงทุนปรับแต่งเครื่องยนต์คันละ50,000-70,000บาท
นอกจากนี้แล้วรัฐยังอาจใช้วิธีลดภาษีอุปกรณ์เครื่องยนต์ก๊าซ NGV ให้อยู่ในอัตราต่ำที่สามารถจูงใจให้มีการปรับแต่งรถยนต์ไปใช้ก๊าซNGVทดแทนให้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันการใช้ก๊าซNGVในรถยนต์สามารถประหยัดน้ำมันถึงร้อยละ 25 ของราคาน้ำมันเบนซิน เนื่องจากราคาเบนซินออกเทน 95 ปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ22.09 บาท แต่ราคาก๊าซNGVอยู่ที่ลิตรละ16.59บาท(9.46บาท/กิโลกรัม) รัฐจึงควรใช้ช่วงจังหวะนี้เร่งรณรงค์ให้มีการใช้ก๊าซNGVในรถยนต์อย่างแพร่หลาย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในระยะต่อไปจากภาระที่รัฐแบกรับอย่างหนักตลอดกว่า 15 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนย่อมเข้าใจในสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
สำหรับโครงรถไฟฟ้าใต้ดินที่ให้บริการดีอยู่แล้ว แม้จะมีปัญหาในบางช่วง ก็ต้องเร่งแก้ไขและเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการต่อไป นอกจากนี้ รัฐยังจะต้องเร่งรัดพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆที่รัฐบาลก็ได้เดินหน้าตามแผนงานอยู่แล้ว ก็ควรเร่งให้เร็วขึ้น เช่น โครงการน้ำมันไบโอดีเซล การพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบก การเร่งรัดพัฒนาแหล่งถ่านลิกไนต์ การพัฒนาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนไต้พิภพ และพลังงานลม เป็นต้น
บทสรุป
สถานการณ์น้ำมันโลกในช่วงเวลาที่เหลือของปีไก่ 2548 ยังคงมีความผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้แนวโน้มราคาน้ำมันตลอดปี2548นี้จะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องระมัดระวัง เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย การที่รัฐบาลได้ตรึงราคาน้ำมันมาระยะเวลาหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และไม่ต้องการให้เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นรัฐก็ต้องแบกภาระหนี้ที่เกิดจากการเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นจำนวนสูงมากถึงเกือบ 77,000 ล้านบาท แต่ก็ทำให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างไม่ประหยัดเนื่องจากผลของการบิดเบือนราคาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะปล่อยลอยตัวราคา น้ำมันเบนซินแล้ว และค่อยๆปรับเพดานราคาดีเซลมาเป็นระยะๆแต่ก็ยังคงให้การชดเชยราคาดีเซลอยู่อีกถึงลิตรละ 3.62 บาท ภายหลังจากที่ได้ปรับราคาดีเซลขึ้นไปอีกลิตรละ 3 บาทเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าในระยะต่อจากนี้ไป รัฐบาลควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำมันและพลังงานอย่างจริงจัง และลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งประชาชนจะยอมรับได้ เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์น้ำมันโลกในเวลานี้ว่ามีราคาแพงมาก และเป็นปัญหาที่ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ การดำเนินการในแนวทางนี้น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไป เพราะราคาน้ำมันได้สะท้อนความเป็นจริง ทำให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างประหยัด ไม่เกิดการบิดเบือนด้านราคาอีกต่อไป เป็นผลดีต่อการลดการนำเข้าน้ำมัน และยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย