น้ำผึ้งไทย : ก้าวขึ้นสู่ผู้ผลิตสำคัญของโลกปี 2551

น้ำผึ้งเป็นสินค้าเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่ไทยมีโอกาสในการที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับการเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของโลก แม้ว่าในปัจจุบันไทยเป็นเพียงผู้ส่งออกรายย่อย แต่คุณสมบัติพิเศษของน้ำผึ้งไทยนั้นเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดโลก รวมทั้งจุดแข็งของไทยในการที่มีแหล่งพืชอาหารที่สมบูรณ์สำหรับการเลี้ยงผึ้ง และแรงงานที่มีฝีมือในการเลี้ยงผึ้ง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาผึ้งและผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของธุรกิจการเลี้ยงผึ้งของไทย

การผลิตและการตลาดน้ำผึ้งในตลาดโลก

ปริมาณการผลิตน้ำผึ้งในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยมีปริมาณการผลิต 1.0-1.2 ล้านตันต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำผึ้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯนั้นความต้องการน้ำผึ้งเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ความต้องการบริโภคน้ำผึ้งเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดเอเชีย และแอฟริกา ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยการผลิตและการส่งออกน้ำผึ้งประมาณร้อยละ 40.0 ของตลาดโลก ส่วนประเทศผู้ผลิตน้ำผึ้งอันดับรองลงมาคือ สหรัฐฯ อาร์เยนตินา และยูเครน

ส่วนประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญในตลาดโลก คือ จีน อาร์เจนตินาและเม็กซิโก โดยทั้งสามประเทศนี้มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งในตลาดโลก อย่างไรก็ตามในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้สัดส่วนการส่งออกทั้งสามประเทศนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น เนื่องจากปริมาณการส่งออกของจีนและเม็กซิโกลดลง อันเป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตลดลงและปริมาณการบริโภคในประเทศเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือเมื่อเทียบสัดส่วนปริมาณการผลิตและการส่งออกแล้วจีนมีการส่งออกน้ำผึ้งประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิต ส่วนอาร์เจนตินานั้นน้ำผึ้งเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้นั้นเพื่อการส่งออกหรือปริมาณการบริโภคในประเทศน้อยมาก สำหรับสหรัฐฯส่งออกร้อยละ 4-10 ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณการบริโภค นอกจากประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญในตลาดโลกแล้วยังมีประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งรายเล็ก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก

สำหรับปริมาณการบริโภคน้ำผึ้งคาดว่าในอนาคตสหรัฐฯเป็นผู้ที่นำเข้าน้ำผึ้งมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคือเยอรมนีและจีน จากที่เดิมนั้นประเทศผู้นำเข้าน้ำผึ้งสำคัญ 3 ประเทศแรกคือ เยอรมนี สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเยอรมนีนำเข้าประมาณ 80,000-90,000 ตันต่อปี สหรัฐฯ 40,000-70,000 ตันต่อปี และญี่ปุ่นประมาณ 30,000-40,000 ตันต่อปี

น้ำผึ้งไทยในตลาดโลก…การผลิตและการค้า

คาดการณ์ในปี 2548 ไทยผลิตน้ำผึ้งธรรมชาติได้ประมาณ 10,000-12,000 ตัน เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 10,000 ตันต่อปี นับว่าผลผลิตในปี 2548 นั้นเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตมีโอกาสลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนแหล่งอาหารและแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งจากปริมาณการผลิตน้ำผึ้งในแต่ละปีนั้นใช้ในการบริโภคในประเทศประมาณร้อยละ 70.0 และเหลือส่งออกประมาณร้อยละ 30.0 คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการบริโภคน้ำผึ้งในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำผึ้งในฐานะของอาหารเสริมสุขภาพเริ่มเพิ่มขึ้น และความต้องการใช้น้ำผึ้งสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับการส่งออกและนำเข้าน้ำผึ้งธรรมชาติของไทยในแต่ละปีนั้นค่อนข้างผันผวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตน้ำผึ้งทั้งของไทยและประเทศคู่แข่งในตลาดโลก แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มในช่วงระยะ 5 ปีทีผ่านมาแล้วอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์สูงกว่ามูลค่าการนำเข้า กล่าวคือ

– การส่งออกน้ำผึ้งในปี 2547

ไทยส่งออกน้ำผึ้งธรรมชาติปริมาณ 2,552 ตัน มูลค่า 113.63 ล้านบาท เทียบกับปี 2546 ส่งออก 2,496 ตัน มูลค่า 107.31 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และร้อยละ 5.9 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ สหรัฐฯมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 32.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ ไต้หวันร้อยละ 22.2 และจีนร้อยละ 20.4 ตลาดส่งออกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับน้ำผึ้งไทยคือ เยอรมนีและออสเตรเลีย ซึ่งเริ่มนำเข้าน้ำผึ้งจากไทยในปี 2547

– การนำเข้าในปี 2547

ไทยนำเข้าน้ำผึ้ง 849 ตัน มูลค่า 62.62 ล้านบาท เทียบกับปี 2546 ที่มีปริมาณ 284 ตันมูลค่า 37.34 ล้านบาท แล้วปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.7 ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าน้ำผึ้งที่สำคัญของไทยคือ ออสเตรเลียมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 41.5 ของมูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งทั้งหมด เวียดนามร้อยละ 19.8 และจีนร้อยละ 19.7 ส่วนประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าใหม่ที่น่าสนใจของไทย คือ พม่า ซึ่งไทยหันมานำเข้าน้ำผึ้งจากพม่ามากขึ้นเป็นลำดับ โดยเริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2546

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ

1. คาดว่าในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งขยายตัวสูงกว่าการส่งออก

กล่าวคือคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากปี 2547 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลให้ปริมาณน้ำผึ้งเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่มีการคาดการณ์ ในขณะที่ปริมาณความต้องการน้ำผึ้งในประเทศคาดว่าจะยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2547 นับเป็นปีแรกที่มูลค่าการนำเข้าน้ำผึ้งของไทยนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการนำเข้าจากแหล่งนำเข้าหลักอย่าง ออสเตรเลีย เวียดนาม และจีน นอกจากนี้ยังมีแหล่งนำเข้าใหม่ คือ ฟิลิปปินส์และพม่า

2. คู่ค้าน้ำผึ้งของไทยเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้า

จากข้อมูลการส่งออกและนำเข้าน้ำผึ้งจะสังเกตเห็นได้ว่าคู่ค้าน้ำผึ้งของไทยนั้นเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้า เนื่องจากลักษณะเฉพาะตัวของน้ำผึ้ง คือจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของสี และคุณค่าทางโภชนาการโดยขึ้นอยู่กับประเภทของพืชอาหารของผึ้งในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งน้ำผึ้งจากไทยยังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มชาวจีนโดยเฉพาะน้ำผึ้งจากเกสรลำไย ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติในลักษณะของการเป็นยาบำรุงกำลัง ในขณะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำผึ้งเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสการขยายตลาดน้ำผึ้งของไทยจึงอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ให้ตลาดโลกได้รับรู้ถึงคุณค่าที่แตกต่างของน้ำผึ้งไทย ซึ่งเหมาะสำหรับการบริโภคในฐานะของอาหารเสริมสุขภาพ

3.จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่ง

ปัจจุบันจีนเป็นคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของไทย กล่าวคือ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตน้ำผึ้งของอเมริกัน(The American Honey Producers’ Association) รายงานว่าการที่สหรัฐฯนำเข้าน้ำผึ้งราคาถูกจากจีนและอาร์เจนตินาส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้เลี้ยงผึ้งในสหรัฐฯ แม้ว่าจะยังคงมีข้อถกเถียงว่าการนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนและอาร์เจนตินานั้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะการผลิตน้ำผึ้งที่ตกต่ำในสหรัฐฯ ซึ่งการที่สหรัฐฯหันไปนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนมากขึ้นส่งผลให้การนำเข้าน้ำผึ้งจากไทยลดลง

สำหรับในตลาดสหภาพยุโรปในช่วงปี 2541-2542 ที่ผ่านมานี้ภาวะการผลิตน้ำผึ้งในจีนจะประสบปัญหาอันเนื่องจากภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยและโรคที่ทำลายรังผึ้ง ในปี 2545 สหภาพ ยุโรปตรวจพบคลอแรมฟินิคอล ซึ่งเป็นสารปฏิชีวนะต้องห้ามในน้ำผึ้งของจีน ทำให้สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าน้ำผึ้งจากจีน แต่ในปี 2548 นี้ทางสหภาพยุโรปเริ่มอนุญาตนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนได้ตามเดิม

ดังนั้นไทยต้องเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตและเจาะขยายตลาดโลกแข่งขันกับจีน นอกจากนี้ไทยยังมีโอกาสที่จะเจาะขยายตลาดจีนด้วย เนื่องจากชาวจีนนิยมบริโภคน้ำผึ้งไทยมาก แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือมีโอกาสที่ไทยจะนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนเพิ่มขึ้น เพราะราคาน้ำผึ้งของจีนต่ำกว่า ซึ่งในอนาคตตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีนจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ถ้าการนำเข้าน้ำผึ้งจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้ผู้เลี้ยงผึ้งของไทยอาจต้องรับผลกระทบจากปัญหาด้านราคาจำหน่ายน้ำผึ้งที่จะมีแนวโน้มลดลง

แนวโน้มในอนาคต…ก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำผึ้งที่สำคัญ

แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะส่งออกน้ำผึ้งได้น้อย แต่เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเลี้ยงผึ้ง เนื่องจากมีจุดแข็งในเรื่องมีพืชอาหารหลากหลายชนิดในรอบปี ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ผึ้งต่าง ๆ เช่น น้ำผึ้ง นมผึ้ง ไขผึ้ง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอาง นอกจากนี้เกษตรกรยังมีความสามารถในการเลี้ยงผึ้งและผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งที่มีคุณภาพอีกด้วย ดังนั้นไทยจึงเป็นประเทศที่เป็นที่น่าจับตามองว่าจะสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำผึ้งที่สำคัญในอนาคต ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำผึ้งของจีนในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงผึ้งในจีนมีแนวโน้มลดลงในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพื้นที่เลี้ยงผึ้งเริ่มลดน้อยลง และผู้ที่เลี้ยงผึ้งเริ่มหันไปทำการเกษตรประเภทอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำผึ้งของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 68,000 ตันในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำผึ้งนี้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของการบริโภคน้ำผึ้งในจีน

กล่าวคือ คาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคน้ำผึ้งในจีนเท่ากับ 0.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ต่อปี นอกจากนี้ทางหอการค้าแห่งชาติที่ดูแลเกี่ยวกับอาหารฯของจีน (The China National Chamber of Food,Native Produce and Animal By-products Importers andExporters : CCFNAB)คาดว่าอนาคตการส่งออกน้ำผึ้งของจีนนั้นไม่สดใส เนื่องจากในระยะยาวแล้วการส่งออกน้ำผึ้งของจีนมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากการที่จีนต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก

การผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นไปมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการส่งออกน้ำผึ้งในตลาดโลกนั้น ปัจจัยสำคัญคือ การที่รัฐบาลมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาผึ้งและผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำผึ้งจาก 10,000 ตันในปี 2547 เป็น 25,000 ตันในปี 2551 และส่งออกน้ำผึ้งจาก 3,000 ตันเป็น 5,000 ตัน โดยมียุทธศาสตร์ผึ้งและผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลักคือ

ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการตลาดทั้งภายในและตลาดต่างประเทศ ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้จากโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ยุทธศาสตร์การควบคุมคุณภาพสินค้าตั้งแต่ระดับฟาร์มถึงผู้บริโภค และยุทธศาสตร์การวิจัยเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผึ้ง

นอกจากนี้ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดทำมาตรฐานเรื่องการปฏิบัติทางเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้ง ทั้งนี้เพื่อให้น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้งของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับสากล เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและส่งเสริมการส่งออก จากการที่เกษตรกรมีแนวโน้มขยายการเลี้ยงผึ้งมากขึ้นทำให้มีผลผลิตน้ำผึ้งเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรจะปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำผึ้งรายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน และเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่น่าจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการส่งออกน้ำผึ้งเช่นเดียวกับไทย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีต้นทุนการผลิตน้ำผึ้งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าไทย รวมทั้งไทยควรจะได้จัดทำข้อมูลด้านการผลิตที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้อย่างเป็นทางการ โดยการจดทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั้งรายเล็กและรายใหญ่เพื่อเป็นฐานข้อมูล ในด้านปริมาณการผลิตและการกระจายผลผลิต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาวางแผนการผลิตและการตลาดในอนาคต ทั้งนี้เพื่อเตรียมการให้พร้อมกับการที่จะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกน้ำผึ้งในตลาดโลก

บทสรุป

น้ำผึ้งจัดเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าเกษตรที่น่าจับตามอง เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากภาวะการค้าน้ำผึ้งในตลาดโลกแล้ว ไทยมีโอกาสในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของโลก เนื่องจากไทยมีปัจจัยเอื้ออำนวยในการขยายการผลิตน้ำผึ้ง ทั้งในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของพืชอาหาร ความชำนาญของแรงงานในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง และปัจจัยสนับสนุนของนโยบายรัฐบาลในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผึ้งและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในปัจจุบันความต้องการน้ำผึ้งในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของโลกในปัจจุบันขยายปริมาณการผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบันการส่งออกและนำเข้าน้ำผึ้งของไทยในแต่ละปีนั้นค่อนข้างผันผวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตน้ำผึ้งทั้งของไทยเองและของประเทศคู่แข่งในตลาดโลก แต่เมื่อพิจารณาในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้า สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในปี 2548 คือ คาดว่าอัตราการนำเข้ายังจะขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากในปี 2547 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกน่าจะอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับในปี 2547

กล่าวคือ ปัจจัยที่ทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำผึ้งเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำผึ้งอาจจะลดลง จากผลกระทบของปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ขาดแคลนแหล่งพืชอาหารของผึ้ง ส่วนปัจจัยที่กระทบการส่งออก คือ การที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากจีน ทั้งในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำผึ้งที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตามจีนนั้นเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากน้ำผึ้งของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มชาวจีน ดังนั้นไทยจึงมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดน้ำผึ้งในจีน