ว่ากันว่าภาพเขียนของถวัลย์ ดัชนี มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตัวเลขสูงสุดที่ว่านั้นคือ 20 ล้านบาท!
ถวัลย์ ดัชนี มีงานแสดงทุกปี แต่ในเมืองไทยนั้น นับครั้งได้ ล่าสุดงานชุด “ไตรสูรย์” ซี่งจัดแสดงที่หอศิลปะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ นั้นได้สร้างประวัติการณ์ บางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือมีผู้เข้าชมผลงานจำนวยหลายหมื่น ทว่าภาพเขียนที่จัดแสดงทุกชิ้นครั้งนี้ถวัลย์ไม่ขาย
“ผมไม่ขายเลย ไม่เกี่ยวข้องกับขายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่พูดถึงกำไรหรือเงินทองอะไรเลย นอกจากที่ติดป้ายเอาไว้ ก็คือว่าผมขอยืมจากนักสะสมที่เขามีคอลเลกชั่นงานของผม แต่ผมไม่ขาย ผมปฏิเสธการขายรูปมาตั้งแต่อายุ 50 ปีแล้ว ใครอยากจะจองจบกันเลย เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปจนตาย ผมจะเขียนรูปใส่บ้านผมอย่างเดียว ให้มันเป็นมหกรรมเลย ใครอยากเห็นให้ไปดูในวิดีโอได้ ผมขายมามากพอแล้ว เก็บเงินไว้สำหรับพอใช้แล้ว เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ต้องการเงินทองอะไรอีกแล้ว “เขาประกาศต่อหน้าสื่อมวลชนและคนที่มาร่วมในงานวันเปิดนิทรรศการ”
“เทียบเงินผมกับภูเขาทองแล้ว ถ้าเอามากองแข่งกัน เงินผมกับภูเขาทองน่าจะพอๆ กัน” ถวัลย์พูดทีเล่นทีจริงปนอารมณ์ขันครั้งที่ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร mars
“ผมสำคัญตนเองว่าเป็น international known ผมจึงไม่จำเป็นต้องแสดงผลงานเฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น ผมแสดงงานมาแล้วทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน อิตาลี ผมแสดงมาหมดแล้ว หรือเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกาผมก็แสดงมาแล้วเกือบทั้งหมด” ถวัลย์อธิบายเหตุผลที่เขามักไม่ค่อยแสดงงานในเมืองไทย
ในส่วนของคุณค่างานศิลปะนั้นถวัลย์บอกว่างานศิลปะนั้นควรมีราคาแพงที่สุดในโลกใบนี้
“ผมมีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งคือ จัสเปอร์ จอห์น เป็นจิตรกร รูปของเขาอย่างต่ำราคาหนึ่งล้านเหรียญขึ้นไป ฉะนั้น ศิลปินจึงสามารถซื้อเกาะได้ ซื้อเครื่องบินไอพ่นได้ ไม่ต่างอะไรกับนักกอล์ฟหรือนักฟุตบอล ดังนั้น บนดาวเคราะห์ดวงนี้สิ่งที่แพงที่สุดคืองานศิลปะ ไม่ใช่สินค้าของพ่อค้าน้ำมันหรือพ่อค้าทั่วๆ ไป ตอนนี้-งานของแวนโก๊ะห์รูปหนึ่งก็เป็นหมื่นล้านยิ่งงานของปิกัสโซ่นี่จะแสนล้านเข้าไปแล้ว”
ถวัลย์ ดัชนี บอกว่าเขาไม่ใช่ศิลปิน แต่คือช่างวาดรูปคนหนึ่งเท่านั้นเอง
“ผมเป็นช่างวาดรูป เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องทำหน้าที่ของช่างวาดรูป คนจะดูหรือจะไม่ดูก็ไม่เกี่ยวกับผม เพราะไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงไปที่ไหน ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงในอากาศว่าทำไมถึงร้องเพลง ผมไม่เคยถามถึงรสหวานที่มีอยู่ในกลีบดอกไม้ เพราะมันคือธรรมชาติ”
“จริงๆ แล้วเรื่องการค้าขาย เรื่องของธุรกิจ ผมมองว่ามันคือเดรัจฉาน กิจกรรม ไม่ต้องมาถาม สิ่งที่ต้องถามก็คือช่างวาดรูปคนนั้นๆ ได้นำสาระอะไรไปสู่คนบ้าง สิ่งที่เป็นสาระจริงๆ คือรูป รูปคือภาษาสากล แล้วรูปเขียนของผมไม่ใช่ภาษาไทย ฝรั่งก็ดูรู้ ไทยก็ดูรู้ เพราะผมไม่ได้เขียนรามเกียรติ์ ผมไม่ได้เขียนลายกนก เพราะฉะนั้น ใครก็ดูรู้เรื่อง แล้วคนที่ซื้อรูปผม 90% เป็นฝรั่งทั้งนั้น นักวาดรูปเป็นคนที่อยู่ระหว่างคนที่ไม่เกิดกับคนที่ตายแล้ว ฉะนั้น จึงไม่ค่อยมีคนเข้าใจมัน นักวาดรูปมันเกิดก่อนเวลา ดังนั้น จึงมีนักวาดรูปน้อยคนที่ขณะมีชีวิตอยู่จะประสบความสำเร็จ…คือขายรูปได้ขณะมีชีวิตอยู่ ที่เห็นชัดๆ ก็มีปิกัสโซ่ แต่ส่วนมากต้องตายไปแล้วหลายร้อยปีคนถึงจะขุดค้นความคิดของเขานั้นมาได้ ซึ่งในแง่นี้ผมก็ถือว่าโชคดี”
มาถึงบรรทัดนี้คงไม่ถามแล้วว่า ในการสร้างงานแต่ละครั้งของ ถวัลย์ ดัชนี มีคำว่าธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด หรือว่าเขามี Business model ในงานศิลปะอย่างไร
เพราะสำหรับเขาแล้ว เรื่องพวกนี้คือเดรัจฉานกิจกรรม ไม่ใช่กิจของนักวาดรูปผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ ถวัลย์ ดัชนี