ไทยรุกรัสเซีย : ตลาดใหม่ & เศรษฐีน้ำมัน

ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันโลกแพง นอกเหนือจากกลุ่มประเทศโอเปกที่ส่งน้ำมันดิบเป็นสินค้าออกจะได้รับผลดีจากสถานการณ์น้ำมันราคาสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว ยังมีอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มราคาน้ำมันแพงครั้งนี้อย่างชัดเจน ได้แก่ รัสเซีย เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิ อาระเบีย ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงเป็นตลาดใหม่ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศดาวรุ่งอย่างจีนและอินเดีย

ความมั่งคั่งจากการส่งออกน้ำมันดิบ ทำให้รัสเซียประสบความสำเร็จในการผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา หลังจากผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจและค่าเงินรูเบิ้ลตกต่ำเมื่อปี 2541 รัสเซียสามารถฟื้นฟูการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ย 6.6% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2542-2546 และในรอบปี 2547 เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัว 7.1% นับเป็นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (G8) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย สำหรับในปี 2548 นี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่า 6%

เศรษฐกิจรัสเซีย 2548 : ส้มหล่นน้ำมันแพง

รัสเซีย เป็นตลาดใหม่ที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จของการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้เข้มแข็งได้อย่างรวดเร็ว อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า ได้แก่ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียมีอยู่เป็นปริมาณมหาศาล ประมาณกันว่ารัสเซียมีน้ำมันดิบสำรองไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาร์เรล ติดอันดับ 1 ใน 10 สูงสุดของโลก อีกทั้งยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดในโลก

การที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มพูนจากการส่งออกน้ำมันจำนวนมาก และสามารถพลิกผันให้ฐานะการเงินของรัสเซียมั่นคงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์คิดเป็นมูลค่า 118,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่หนี้สินต่างประเทศของรัสเซียลดลงเป็นลำดับ ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP อยู่ในระดับ 30% เทียบกับสัดส่วนดังกล่าวที่เคยสูงกว่า 100% ในช่วง 6 ปีก่อน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมียอดงบประมาณเกินดุลคิดเป็นสัดส่วนราว 2.6% ของ GDP ในปีที่แล้ว เทียบกับยอดขาดดุลถึง 8-9% ของ GDP ในช่วงก่อนวิกฤตการเงินปี 2541 ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเรื่อยๆยังส่งผลให้รัสเซียมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา คาดว่าในปีนี้ รัสเซียจะมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์

จุดเด่นตลาดใหม่รัสเซียปี 2548 มีประเด็นที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

– กำลังซื้อสดใส รัสเซียมีประชากรประมาณ 145 ล้านคน รายได้ประชาชาติต่อหัวของชาวรัสเซียเพิ่มขึ้นถึงระดับเฉลี่ยราว 9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี สูงกว่ารายได้ประชาชาติของจีน 1.5 เท่า และสูงกว่าของอินเดีย 3 เท่า ทั้งนี้ เป็นเพราะเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตต่อเนื่องเป็นลำดับ และยังคงมีแนวโน้มเข้มแข็งต่อไปในปีนี้ ด้วยอัตราขยายตัว 7% ในไตรมาสแรก 2548 นับเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีนที่เศรษฐกิจโต 8.1% ในช่วงเดียวกัน

ขณะเดียวกัน รัสเซียพยายามรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 8.5% ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อของรัสเซียชะลอลงต่ำกว่า 10% เทียบกับอัตราเงินเฟ้อ 10.3% ในปี 2547 นอกจากนี้ทางการรัสเซียตั้งเป้าหมายระยะยาวที่จะคุมเข้มอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงไม่เกินระดับเฉลี่ย 5% ในปี 2551-2553

– การเมืองสงบราบรื่น นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Vladimir Putin เข้าบริหารประเทศในปี 2543 และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัสเซียสมัยที่ 2 ในปี 2547 ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านต่างประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะการสนับสนุนปราบปรามขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ทำให้รัสเซียกลายเป็นมิตรประเทศพิเศษของสหรัฐฯและมีบทบาทโดดเด่นในเวทีการเมืองโลกมากขึ้น ช่วยให้รัสเซียสามารถสร้างความสงบเรียบร้อยในบริเวณประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดของตน โดยปราศจากเสียงคัดค้านจากประชาคมโลก ยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดี Putin ยังกวาดล้างพวกกลุ่มอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มมากขึ้น และเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการเอกชนรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

– แหล่งดึงดูดการลงทุนต่างชาติ การที่รัสเซียมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงขึ้น เทียบจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 ได้ส่งผลให้บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกทยอยปรับเพิ่มเครคิตให้แก่รัสเซียอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าในปี 2548 การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในรัสเซียน่าจะทำสถิติสูงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ FDI ของรัสเซียพุ่งขึ้นกว่า 1 เท่าตัว อยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีในปี 2546-2547 เทียบกับมูลค่า FDI จำนวน 3,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2545 ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้รัสเซียน่าลงทุน ก็คือ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากและอยู่ในวัยทำงาน สามารถรองรับการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นอย่างดี ภาคธุรกิจที่กำลังเติบโตของรัสเซีย ได้แก่ พลังงาน ก่อสร้าง โทรคมนาคมสื่อสาร และค้าปลีก เป็นต้น

ถึงแม้รัสเซียจะเป็นตลาดใหม่มาแรง และกำลังเป็นที่สนใจของนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันแพง แต่อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ยังคงเป็นประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ตลาดแข่งขันเสรีอย่างเต็มตัว ทำให้ประเทศยังคงมีปัญหาหลายประการที่จะต้องได้รับการแก้ไขต่อไป อาทิ ปัญหาการคอรัปชั่น ความหย่อนยานของระบบการทำงานภาครัฐ ปัญหาความไม่โปร่งใสของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ระบบการเงินและระบบบัญชียังไม่เป็นมาตรฐานสากล การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ทางการรัสเซียตระหนักเป็นอย่างดี ทำให้ประธานาธิบดี Putin เร่งรัดจัดการมาโดยตลอด จนคาดกันว่ารัสเซียน่าจะมีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ภายในปี 2548 นี้ และในปี 2549 รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G8 เป็นครั้งแรก รวมถึงอาจประกาศปล่อยค่าเงินรูเบิลยืดหยุ่นตามกลไกตลาดอีกด้วย ซึ่งล้วนเป็นบทพิสูจน์ว่ารัสเซียพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆเพื่อเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจโลกได้อย่างภาคภูมิ

ไทย – รัสเซีย : เพิ่มความสนิท พิชิตการค้า-ท่องเที่ยว-ลงทุน

ประเทศไทยกับรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกันมาช้านานเป็นเวลากว่า 100 ปี แม้ว่าความสัมพันธ์สะดุดลงชั่วคราวในยุคสงครามเย็นระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ – อดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กับชาติตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศเสรีนิยม หลังจากที่อดีตสหภาพโซเวียตล่มสลาย และแยกตัวออกเป็นประเทศรัสเซียกับกลุ่มประเทศเครือจักรภพแห่งรัฐอิสระ (Commonwealth of Independence States: CIS) ประเทศไทยฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียอีกครั้ง

รัสเซียนับเป็นตลาดการค้าใหม่ของไทย และเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพ แม้ว่าความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกันค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน แต่ก็มีแนวโน้มที่ไทยกับรัสเซียจะขยายการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตอย่างมั่นคง เพราะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันแพง คาดว่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสินค้าไทย และการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจรัสเซียแจ่มใสอย่างมากและเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในเวทีเศรษฐกิจโลกที่น่าจับตามองในช่วงนี้ จะส่งผลให้การแข่งขันเพื่อช่วงชิงตลาดใหม่แห่งนี้พลอยรุนแรงตามไปด้วย ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ ชาวรัสเซียเป็นผู้บริโภคที่มีรสนิยมดี โดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยทำงานจะสนใจสินค้าที่มีคุณภาพสูงและสวยงาม ดังนั้น สินค้าไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เชิงรุกในการขยายการส่งออกไปยังตลาดรัสเซีย ขณะเดียวกันควรจัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับรัสเซียอย่างจริงจัง ตลอดจนขยายลู่ทางการลงทุนระหว่างกัน ทั้งในด้านดึงดูดกิจการของรัสเซียให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และกรุยทางให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในรัสเซีย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับรัสเซียที่น่าสนใจ ด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ดังนี้

1. การค้าไทย – รัสเซียไม่สม่ำเสมอ รัสเซียเป็นตลาดเปิดใหม่ที่มีศักยภาพ และเศรษฐกิจรัสเซียก็อยู่ในช่วงขาขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ปรากฏว่า การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียไม่ค่อยสม่ำเสมอนัก การส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียประสบภาวะชะงักงันในปี 2543-2544 แต่กลับฟื้นตัวรวดเร็วในช่วง 2 ปีถัดมา โดยมีอัตราขยายตัวสูงกว่า 80% ต่อปีระหว่างปี 2545-2546 หลังจากนั้นการส่งออกไปรัสเซียกลับชะลอลง โดยมีอัตราเพิ่มประมาณ 10% ในปี 2547 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยไปรัสเซียกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง คิดเป็นอัตราขยายตัว 44% มูลค่าส่งออก 51.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันรัสเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 40 ของไทยในบรรดาประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไทย

* ไทยขาดดุลรัสเซียพุ่ง ทางด้านการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียค่อนข้างผันผวนเช่นกันช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเคยทำสถิติสูงถึง 187% ในปี 2542 หลังจากนั้นการนำเข้าจากรัสเซียเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ ประเด็นที่น่าสังเกต ก็คือ ในช่วง 2 เดือนแรก 2548 ไทยนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้นรวดเร็ว 148% เป็นมูลค่า 323.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับรัสเซียเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว คิดเป็นยอดขาดดุล 271.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับรัสเซียมาโดยตลอด

ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้ามากเป็นอันดับที่ 14 ไทยพึ่งพาสินค้าจำพวกวัตถุดิบและเครื่องมือเครื่องจักรจากรัสเซีย สินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 เดือนแรก 2548 ส่วนใหญ่ ได้แก่ เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย นำเข้าเพิ่มขึ้น 190% เครื่องเพชรพลอย-อัญมณี-เงินแท่งและทองคำ (ขยายตัว 386%) เคมีภัณฑ์ (พุ่งขึ้น 600%) รวมทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซิเมนต์-แอสเบสทอส-เมกาและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

* อาหารไทย … สินค้าเด่นในตลาดรัสเซีย การที่เศรษฐกิจรัสเซียเฟื่องฟูขึ้นในช่วงนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งรัดเปิดตลาดสินค้าไทยในรัสเซียให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเผยแพร่สินค้าที่มีคุณภาพของไทยให้ชาวรัสเซียรู้จักคุ้นเคยมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดยอดขาดดุลการค้าของไทยกับรัสเซีย สินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพในการส่งออกไปยังรัสเซีย โดยเฉพาะสินค้าบริโภคซึ่งตลาดรัสเซียมีความต้องการสูง เช่น ข้าว น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป ปลาแห้ง ใบยาสูบ เป็นต้น

ขณะเดียวกันสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไทยควรส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดรัสเซียอย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยส่งออกไปรัสเซีย มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 75% ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัว192%) เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เลนซ์ เครื่องสำอาง-สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น

* จีนคู่แข่งสินค้าไทยในตลาดรัสเซีย ในบรรดาประเทศคู่ค้าของรัสเซีย จีน เป็นประเทศในเอเชียที่ติดต่อค้าขายกับรัสเซียมากที่สุด เนื่องจากประเทศทั้งสองมีทำเลที่ตั้งใกล้ชิดกัน การขนส่งสินค้าระหว่างกันค่อนข้างสะดวกรวดเร็ว จึงนับว่าจีนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกสินค้าหลายประเภทที่คล้ายคลึงกันไปยังตลาดรัสเซีย โดยเฉพาะสินค้าบริโภคที่รัสเซียมีความต้องการสูง เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ น้ำตาลทราย เป็นต้น

สินค้าส่งออกของไทยที่แข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดรัสเซีย ได้แก่

(1) อาหารสดแช่เย็น/แช่แข็ง เป็นสินค้าที่ไทยเสียเปรียบจีนในการส่งออกไปรัสเซีย เพราะสินค้าไทยใช้เวลาในการขนส่งนานกว่า ทำให้มีปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพสำหรับอาหารสดแช่เย็น/แช่แข็งระหว่างการขนส่งไปถึงมือผู้บริโภค สินค้าประเภทอาหารที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายในตลาดรัสเซีย ส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถแข่งขันได้ดีในตลาดรัสเซีย เพราะเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีความชำนาญในการผลิตและสามารถเก็บรักษาไว้สำหรับบริโภคได้เป็นเวลานาน

ผู้ส่งออกไทยควรใช้กลยุทธ์แปรรูปอาหารไทยหลากหลายชนิด เพื่อยืดเวลาการบริโภคให้ยาวนานขึ้น สำหรับส่งออกไปเจาะตลาดรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมาก ประกอบกับเครือข่ายเส้นทางคมนาคมภายในรัสเซียยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้การขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ต้องใช้เวลาเดินทางระยะหนึ่ง สินค้าบริโภคที่ส่งออกไปจำหน่ายในตลาดรัสเซีย จึงควรเป็นอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปที่มีอายุการบริโภคยาวนาน รวมทั้งต้องคำนึงถึงคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ว่ามีความแข็งแรงและคงทนเพียงพอหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในจะถึงมือผู้บริโภคในสภาพสมบูรณ์และไม่เสื่อมคุณภาพ

(2) เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสินค้าส่งออกของไทยที่ต้องขายแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดรัสเซียเช่นกัน อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าของจีนมักมีราคาค่อนข้างถูก ดังนั้น สินค้าไทยต้องชูจุดขายด้านคุณภาพสินค้าให้โดดเด่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคชาวรัสเซีย รวมทั้งควรจับตลาดระดับบนของรัสเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและต้องการใช้สินค้าที่มีคุณภาพและรูปลักษณ์ทันสมัย

(3) เสื้อผ้าสำเร็จรูป การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปรัสเซียไม่ค่อยสม่ำเสมอนักในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสินค้าที่เผชิญการแข่งขันสูงมากในตลาดรัสเซีย โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจีนที่มีราคาต่ำกว่า นอกจากนี้ การที่รัสเซียเป็นประเทศเมืองหนาว จึงจำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เหมาะกับภูมิอากาศหนาวเย็น ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีความชำนาญในการออกแบบและตัดเย็บเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยควรปรับกลยุทธ์โดยเน้นการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีดีไซน์ทันสมัย เลือกใช้วัตถุดิบชั้นดีและมีคุณภาพสูง รวมทั้งสร้างแบรนด์เนมของตนเอง ซึ่งจะช่วยสร้างชื่อเสียงและสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าไทย เพื่อจับลูกค้าตลาดระดับบนของรัสเซีย

สำหรับสินค้าส่งออกรายการอื่นๆ ของไทย เช่น รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกของไทยไปยังรัสเซียที่เติบโตรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราเพิ่มกว่า 150% ต่อปีระหว่างปี 2546-2547 และยังคงขยายต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ คิดเป็นอัตราเพิ่ม 192% ในช่วง 2 เดือนแรก 2548 สินค้ารายการนี้ของไทยสามารถขายแข่งขันได้ดีในตลาดรัสเซีย เนื่องจากประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกรถยนต์ไปยังรัสเซีย ส่วนใหญ่เน้นรถยนต์ระดับหรูหราราคาแพง ซึ่งเป็นคนละตลาดกับรถยนต์ส่งออกของไทย จึงมิได้เป็นคู่แข่งโดยตรงกับไทย เช่น เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องรักษาความได้เปรียบในการส่งออกรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบไปยังตลาดรัสเซียอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเป็นลำดับ

2. ท่องเที่ยวไทย – รัสเซีย รัสเซียติดกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรป 10 อันดับแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทย ประมาณการว่าชาวรัสเซียเดินทางมาไทยราว 95,000 คนในปี 2547 ทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยไม่ต่ำกว่า 3,300 ล้านบาท และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวรัสเซียน่าจะทำสถิติทะลุระดับ 100,000 คนในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจรัสเซียร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบ จะส่งผลให้ชาวรัสเซียเดินทางไปท่องเที่ยวต่างแดนมากขึ้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของประเทศแถบเอเชียที่ชาวรัสเซียนิยมเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะภูเก็ตและพัทยา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชายหาดสวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของรัสเซีย โดยทั่วไปชาวรัสเซียชอบท่องเที่ยวชายทะเลมาก ดังนั้น การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวจากรัสเซียมาเยือนแหล่งท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยก็น่าจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแถบจังหวัดอันดามันของไทยเป็นอย่างดี แต่ทางการไทยควรมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเตือนภัยพิบัติจากธรรมชาติให้ปรากฏแก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมด้วย เพื่อให้เกิดความประทับใจยิ่งขึ้น

ทางด้านนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปรัสเซีย ประมาณการว่าในปี 2547 นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปรัสเซียมีจำนวน 3,200 คน และเสียเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวรัสเซียประมาณ 100 ล้านบาท รัสเซียนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างแดนที่ชาวไทยสนใจเดินทางไปเที่ยวชมเพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเฉลี่ย 2,000 คนต่อปีในช่วงก่อนหน้านั้น เนื่องจากรัสเซียมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย รวมทั้งพระราชวงศ์ของไทยกับอดีตราชวงศ์ของรัสเซียเคยมีความสัมพันธ์แนบแน่นมาช้านาน รัสเซียจึงเป็นประเทศที่มีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งน่าสนใจศึกษาค้นคว้าและเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์ด้วยตนเอง

3. ลงทุนไทย – รัสเซีย ในช่วงที่ผ่านๆ มา ความสัมพันธ์ด้านการลงทุนระหว่างรัสเซียกับประเทศไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากกลยุทธ์การลงทุนในต่างแดนของรัสเซียมุ่งเน้นโครงการลงทุนด้านสำรวจและขุดเจาะแหล่งแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นกิจการที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญสูง ประเทศที่เป็นทำเลลงทุนหลักของรัสเซีย ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งยังคงอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำให้รัสเซียมิได้สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็กและมีทรัพยากรจำกัด

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรัสเซียเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยบ้างแล้วในปีที่ผ่านมา โดยมีโครงการนำร่องของรัสเซียที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมกันประมาณ 150 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ เงินลงทุนราว 134 ล้านบาท และโครงการผลิตอัญมณีเทียม หรือที่เรียกว่า Cubic Zirconia เม็ดเงินลงทุนประมาณ 17 ล้านบาท คาดว่าในช่วงที่เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตอย่างมั่นคง จะช่วยกระตุ้นให้กิจการต่างๆ ของรัสเซียขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไทยและรัสเซียเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก ทำให้ประเทศทั้งสองมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกันต่อไป

สถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย แต่ไทยก็น่าจะแปลงวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงนี้ด้วยการขยายการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนกับประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการส่งออกน้ำมัน เช่น รัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดการค้าเปิดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าและบริการหลากหลาย รวมทั้งมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะชนชั้นกลางของรัสเซียที่มีจำนวนประมาณ 30 ล้านคนในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากกว่า 2 เท่าตัวเป็น 70 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า นับเป็นตลาดการค้า ตลาดท่องเที่ยว และแหล่งลงทุนที่มีแนวโน้มแจ่มใสอีกแห่งหนึ่งของไทย