เปิดเทอมปี’ 48 : เงินสะพัด 50,000 ล้านบาท

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปี 2548” ในช่วงระหว่าง 1-22 เมษายน 2548 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,513 คน โดยการกระจายกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ แยกเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑลร้อยละ 25.8 ภาคกลาง(รวมตะวันตก)ร้อยละ 17.1 ภาคตะวันออกร้อยละ 11.5 ภาคเหนือร้อยละ 16.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 10.5 และภาคใต้ร้อยละ 19.0 ซึ่งจะกระจายกลุ่มตัวอย่างโดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับชั้นการศึกษา และประเภทของสถานศึกษา รวมทั้งหลักสูตร โดยปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบรรดาผู้ปกครองที่ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆให้กับบุตรหลาน รวมทั้งการเก็บรวบรวมรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆของสถานศึกษา ซึ่งนำมาใช้ประกอบในการคำนวณด้วย คาดว่าจะมีเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยการคำนวณเม็ดเงินสะพัดสำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปี 2548 คำนวณโดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนนักเรียน/นักศึกษาในแต่ละระดับการศึกษา และความแตกต่างของค่าใช้จ่ายที่จะแตกต่างกันอันเนื่องจากประเภทของสถานศึกษาและหลักสูตร เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่สะพัดในช่วงเปิดเทอมปี 2547 แล้วค่าใช้จ่ายในปี 2548 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเล่าเรียนปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากการที่ทางกระทรวงศึกษาธิการมีการปรับระบบการเรียนการสอน โดยอนุมัติให้มีโรงเรียนที่สอนสองภาษา และหลักสูตรการเรียนภาคภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในหลักสูตรพิเศษนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2548 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดมีการสัมภาษณ์บรรดาผู้ปกครอง และรวบรวมค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมที่ได้มีการสำรวจในช่วงระยะ 4 ปีที่ผ่านมาพบว่าค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของนักเรียนทุกระดับชั้นสูงขึ้น โดยบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าทางโรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบอื่นๆนอกจากค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมจะแตกต่างกันอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนบุตรหลานที่ครัวเรือนนั้นต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ประเภทของสถานศึกษา (เช่น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิต โรงเรียนฝรั่ง หลักสูตรสองภาษา หลักสูตรนานาชาติ เป็นต้น) และระดับชั้นการศึกษา นอกจากนี้ในระดับอุดมศึกษาความแตกต่างของสาขาวิชาที่ศึกษาจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันด้วย

เม็ดเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอม 2548 แยกรายภาค

ภาค ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเฉลี่ยต่อคน*(บาท/คน) เม็ดเงินสะพัด
(ล้านบาท)
อนุบาล ประถม มัธยม ปวช/ปวส อุดมศึกษา
กรุงเทพฯ** 1 2,263 8,994 7,133 12,857 22,997 18,000
กลาง*** 8,996 5,488 4,217 11,655 20,787 5,800
ตะวันออก 8,500 6,200 6,000 11,500 30,039 8,700
เหนือ 8,209 5,784 4,000 10,500 24,000 9,600
ตะวันออกเฉียงเหนือ 7,348 7,794 4,435 10,750 12,095 5,900
ใต้ 6,752 5,906 4,792 9,125 14,334 2,000
เฉลี่ย 9,283 7,285 5,668 8,884 20,526 50,000
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ : *ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันอย่างมากขึ้นกับประเภทของสถาบันการศึกษา และหลักสูตร
**กรุงเทพฯรวมปริมณฑล
***ภาคกลางรวมภาคตะวันตก

ค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของสถาบันการศึกษาและระดับชั้นการศึกษา ซึ่งเมื่อนำค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมาคำนวณเป็นเม็ดเงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมในปี 2548 พบว่าในช่วงเปิดเทอมก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 50,000 ล้านบาททั่วประเทศ โดยกระจายไปตามภาคต่างๆ โดยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีเม็ดเงินสะพัดมากที่สุด 18,000 ล้านบาท รองลงมาคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2548 พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองนั้นแยกออกได้เป็นค่าเทอมร้อยละ 39.0 ค่าอาหารร้อยละ 13.0 ค่ากิจกรรมอื่นๆร้อยละ 18.0 และค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนร้อยละ 30

ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบในปี 2548 มีดังต่อไปนี้

1.ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองในกรุงเทพฯร้อยละ 35.4 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจคาดว่าจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างแน่นอน และอีกร้อยละ 28.0 ของกลุ่มตัวอย่างยังไม่แน่ใจว่าจะมีปัญหาหรือไม่ โดยมีเพียงร้อยละ 36.6 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม

ประเด็นที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองที่คาดว่าจะประสบปัญหาในช่วงเปิดเทอม ปรากฎว่าในผลการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2548 นี้ บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 34.1 หันไปพึ่งพาวิธีการกู้ยืมเงิน ทำให้การแก้ปัญหาด้วยการกู้ยืมนั้นเป็นอันดับหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหาของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง วิธีการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมอันดับรองลงมาคือ การถอนเงินสะสม การเลือกทำงานพิเศษ การเปียร์แชร์ และการพึ่งพาโรงรับจำนำ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของการพึ่งพาการกู้ยืมนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งของการกู้ยืม จากการสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยบรรดาผู้ปกครองต้องเสียดอกเบี้ยเฉลี่ยเกือบร้อยละ 10 ต่อเดือน

วิธีการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม
ร้อยละ
ภาค เปียร์แชร์ พึ่งพาการกู้ยืม พึ่งพา
โรงรับจำนำ ทำงานพิเศษ ถอนเงินสะสม
กรุงเทพฯและปริมณฑล 18.9 31.1 9.5 9.5 31.1
กลาง* 12.5 35.9 5.4 17.9 28.3
ตะวันออก 7.9 44.7 7.9 13.2 26.3
เหนือ 6.1 37.9 7.6 21.2 27.3
ตะวันออกเฉียงเหนือ 20.2 44.2 1.9 8.7 25.0
ใต้ 14.6 39.0 6.2 13.0 27.2
เฉลี่ย 11.9 34.1 10.0 12.0 31.0
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ : *ภาคกลางรวมภาคตะวันตก

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแยกรายภาคแล้วพบว่าบรรดาผู้ปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกร้อยละ 44 ของกลุ่มตัวอย่างต้องพึ่งพิงการกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ส่วนผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯจะพึ่งพิงการกู้ยืมเงินน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

แหล่งกู้ยืมเงินของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม
ร้อยละ
ภาค กู้ยืมเงินในระบบ* กู้ยืมเงินนอกระบบ
ญาติ/คนรู้จัก นายทุน รวม
กรุงเทพฯและปริมณฑล 34.5 55.7 9.8 65.5
กลาง** 36.5 55.3 8.2 63.5
ตะวันออก 28.5 53.6 17.9 71.5
เหนือ 36.5 48.1 15.4 63.5
ตะวันออกเฉียงเหนือ 23.5 69.1 7.4 76.5
ใต้ 30.2 59.1 10.7 69.8
เฉลี่ย 31.4 56.4 12.2 68.6
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ : *การกู้ยืมในระบบหมายถึงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของสถาบันการเงิน เบิกล่วงหน้าบัตรเครดิต
**ภาคกลางรวมภาคตะวันตก

สำหรับการกู้ยืมเงินนั้นแหล่งกู้ยืมของบรรดาผู้ปกครองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมนั้นแยกออกได้เป็นการกู้ยืมเงินนอกระบบร้อยละ 68.6 ของการพึ่งพาการกู้ยืมเงินทั้งหมด และในระบบร้อยละ 31.4 อย่างไรก็ตามแหล่งกู้ยืมนอกระบบนั้นส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเงินจากบรรดาญาติ/คนรู้จักถึงร้อยละ 56.4 ซึ่งการกู้ยืมเงินจากแหล่งนี้บางครั้งไม่ต้องเสียดอกเบี้ยหรือถ้าเสียก็จะอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12.2 นั้นพึ่งพิงการกู้ยืมเงินจากนายทุนเงินกู้ ซึ่งการกู้ยืมเงินจากแหล่งนี้มักจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนั้นอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องทางเลือกของบรรดาผู้ปกครองที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม มีดังนี้

– การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชน ในปี 2545

นับว่าเป็นปีแรกที่ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนเริ่มรุกเข้ามาให้บริการสินเชื่อทางด้านการศึกษาโดยการเปิดเคาน์เตอร์ให้บริการปล่อยสินเชื่อเงินสดกับบรรดาผู้ปกครองที่เข้ามาจับจ่ายซื้ออุปกรณ์ทางการศึกษาในห้างสรรพสินค้าที่จัดการส่งเสริมการขาย “Back To School” ข้อได้เปรียบสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเงินผ่อนคือ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม โดยใช้เพียงเอกสารทางราชการและใบรับรองเงินเดือนเท่านั้น ทำให้บรรดาผู้ปกครองได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการสินเชื่อเงินผ่อนนี้ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการใช้บริการโรงรับจำนำประมาณร้อยละ 1-2 ซึ่งบรรดาผู้ปกครองที่เลือกใช้บริการประเภทนี้เนื่องจากเน้นความสะดวกเป็นหลัก นอกจากนี้บรรดาห้างสรรพสินค้าและกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่บางแห่งยังร่วมมือกับผู้ประกอบการบัตรเครดิตให้ผ่อนชำระค่าสินค้าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช่วงเปิดเทอมอีกด้วย นับว่าเป็นการจัดหาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการดึงบรรดาผู้ปกครองเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

– โรงรับจำนำที่พึ่งยามยากของคนจน

แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนของเอกชนจะเริ่มรุกมาให้สินเชื่อด้านการศึกษามากขึ้น แต่โรงรับจำนำก็ยังคงเป็นธนาคารคนยาก หรือที่พึ่งพิงของผู้ปกครองบางกลุ่ม กล่าวคือในช่วงที่ผ่านมาบรรดาผู้ปกครองที่มีปัญหาในช่วงเปิดเทอมจะเลือกโรงรับจำนำเป็นแหล่งพึ่งพิง 1 ใน 5 อันดับแรก แม้ว่าในปัจจุบันสถาบันการเงินจะหันมาปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมมากยิ่งขึ้น ทั้งการเข้ามารุกตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนที่ตั้งเคาน์เตอร์ปล่อยสินเชื่อในห้างสรรพสินค้า แต่ผู้ปกครองบางกลุ่มยังคงเลือกที่จะใช้บริการโรงรับจำนำ เนื่องจากการกู้เงินจากสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นยังมีความยุ่งยากในเรื่องเงื่อนไขในการขอกู้ โดยเฉพาะหลักฐานในเรื่องใบรับรองเงินเดือน และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่า รวมทั้งผู้ปกครองกลุ่มนี้เคยใช้บริการโรงรับจำนำมาก่อน และมีสินทรัพย์ที่โรงรับจำนำยอมรับจำนำ ดังนั้นโรงรับจำนำจึงยังเป็นแหล่งพึ่งพิงสำคัญของผู้ปกครองกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงรับจำนำต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันของการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชน ทั้งจากสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยมีการแข่งขันทั้งในด้านเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นผู้ประกอบการโรงรับจำนำจำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์ให้มีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อดำรงบทบาทเป็นแหล่งพึ่งพิงของผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย โดยกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการโรงรับจำนำของรัฐบาลนำมาใช้ช่วงเปิดเทอมนี้คือ มูลค่าต่ำกว่า 3,000 บาทคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน และเกินกว่า 3,000 บาทคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ซึ่งนับว่าถูกกว่าโรงรับจำนำเอกชน

ส่วนโรงรับจำนำเอกชนแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแพงกว่ารัฐบาลเล็กน้อย แต่ก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องจำนวนโรงรับจำนำที่มีอยู่มากกว่าและมีการกระจายตัวตามแหล่งชุมชนต่างๆ อีกทั้งมีการใช้กลยุทธ์การเพิ่มวงเงินรับจำนำสูงสุดต่อ 1 ใบรับจำนำ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30,000 บาท โดยโรงรับจำนำบางแห่งอาจจะพิจารณาเพิ่มเป็นไม่เกิน 60,000 บาท การลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะในช่วงเปิดเทอม ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้บรรดาผู้ปกครองหันมาใช้บริการโรงรับจำนำเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มการตีราคาทองจากเดิมที่เคยให้ราคาประมาณร้อยละ 85 ของราคาซื้อขาย มาเป็นร้อยละ 87.5 ของราคาซื้อขาย เนื่องจากในการสำรวจพบว่าทองรูปพรรณนั้นเป็นทรัพย์สินอันดับหนึ่งที่บรรดาผู้ปกครองนิยมนำไปจำนำ ซึ่งการปรับกลยุทธ์เหล่านี้คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้มีการใช้บริการโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอมได้ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือบรรดาผู้ปกครองที่ไม่สามารถพึ่งพิงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของภาคเอกชนได้

เลือกสถานศึกษา…ผู้ปกครองยินดีจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ

ปัญหาที่มีการกล่าวถึงเสมอมาในช่วงเปิดเทอมคือ การเรียกร้องเงินแป๊ะเจี๊ย หรือที่มีการเรียกเป็นเงินค่าบำรุงโรงเรียน เงินสมทบเพื่อก่อสร้างตึก ฯลฯ แต่ถ้าจะมาพิจารณาถึงที่มาของปัญหานี้แล้ว สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากบรรดาผู้ปกครองเองที่ต้องการเลือกสถานศึกษาให้บุตรหลาน โดยจากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าถ้าบุตรหลานของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการได้ บรรดาผู้ปกครองถึงร้อยละ 43.9 ของกลุ่มตัวอย่างจะเลือกวิธีการวิ่งเต้นเพื่อที่จะให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่ต้องการ (ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 56.1 จะเลือกวิธีอื่นๆ ได้แก่ เปลี่ยนสถานศึกษาร้อยละ 49.1 รอสอบใหม่ร้อยละ 3.4 และรอฝากเข้าช่วงเทอม 2 ร้อยละ 3.6) โดยวิธีการวิ่งเต้นนั้นมี 2 ทางเลือกคือ ร้อยละ 78.7 เลือกการฝากเข้าและอีกร้อยละ 20.8 เลือกการจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ย ซึ่งจำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยะที่บรรดาผู้ปกครองยินดีจ่ายนั้นจะแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นกับชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง

ทางเลือกของผู้ปกครองเมื่อต้องการเลือกสถานศึกษา

ภาค วิธีการเข้าสถานศึกษาที่ต้องการ* จำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยเฉลี่ย
ที่ผู้ปกครองยินดีจ่าย
(บาท/คน)**
ฝากเข้า
(ร้อยละ) จ่ายเงินแป๊ะเจี๊ย
(ร้อยละ)
กรุงเทพฯและปริมณฑล 70.0 30.0 12,268
กลาง*** 82.9 17.1 8,710
ตะวันออก 71.4 28.6 11,774
เหนือ 70.0 30.0 9,400
ตะวันออกเฉียงเหนือ 83.3 16.7 10,163
ใต้ 84.4 15.6 5,833
เฉลี่ย 77.0 23.0 10,895
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ :
*ทางเลือกเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถเข้าสถานศึกษาที่ต้องการได้ด้วยสิทธิการอยู่ในเขตบริการ จับฉลากและสอบคัดเลือก
**จำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของสถานศึกษาและระดับชั้นของการศึกษา นอกจากนี้จำนวนเงินแป๊ะเจี๊ยสูงสุดที่ผู้ปกครองยินดีจ่ายนั้นก็แตกต่างกัน เช่นในกรุงเทพฯผู้ปกครองยินดีจ่ายสูงกว่า 150,000 บาท ส่วนในภาคอื่นๆนั้นผู้ปกครองยินดีจ่ายสูงกว่า 100,000 บาท เป็นต้น
***ภาคกลางรวมภาคตะวันตก

ค่าใช้จ่ายสมทบ…ภาระของผู้ปกครอง

จากการสำรวจในช่วงระยะ 4 ปีที่ผ่านมาและในการสัมภาษณ์บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุปัญหาใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม แม้ว่าไม่ต้องมีภาระในเรื่องค่าเทอมสำหรับช่วงการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เนื่องจากทางรัฐบาลให้การอุดหนุนการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี แต่สถานศึกษามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษา กล่าวคือบรรดาสถานศึกษาต่างๆมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองหลายครั้งแทนที่จะรวมเป็นยอดเดียว และจัดเก็บเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ ค่าไฟฟ้าสำหรับการเรียนในห้องปรับอากาศ ชุดเชียร์ลีดเดอร์ ค่าเรียนภาษา กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิต ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายเข้าค่ายสำหรับนักเรียนใหม่ ฯลฯ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในปี 2548 พบว่าสถานศึกษาบางแห่งมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสมทบเฉลี่ยเกือบ 2,000 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นับว่าเป็นภาระอย่างมากสำหรับผู้ปกครอง นอกจากนี้บรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังระบุว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่สามารถนำไปเบิกกับต้นสังกัดได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าเทอม

ซึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายสมทบนี้กระทรวงศึกษาธิการมีการตั้งคณะทำงานวิเคราะห์เกี่ยวกับการเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองทั้งหมด ตามระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องไม่บังคับผู้ปกครอง แต่ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และหากมีการเรียกเก็บรายการใดต้องออกใบเสร็จให้ผู้ปกครองด้วย รวมทั้งควรมีการชี้แจงให้ผู้ปกครองเข้าใจในกรณีมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสมทบที่เพิ่มขึ้นจากค่าเล่าเรียน โดยทางกระทรวงศึกษาธิการออกหลักเกณฑ์และแนวปฎิบัติในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของสถานศึกษา โดยสามารถขอเก็บเงินบริการเสริมพิเศษใน 4 บริการได้แก่ การจัดบริการเสริมพิเศษ เช่น เรียนคอมพิวเตอร์ การสอนเสริมพิเศษ การเรียนปรับพื้นฐาน เป็นต้น การจัดบริการกิจกรรมพิเศษ เช่น กิจกรรมเข้าค่ายต่างๆ กิจกรรมกีฬาสี การเรียนว่ายน้ำ เป็นต้น การจัดบริการเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน เช่น การประกันอุบัติเหตุ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสารเสพติด โครงการอาหารของโรงเรียน เป็นต้น และการจัดบริการเสริมมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน เช่น การพัฒนาสื่อเทคโนโลยี ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตามการเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองสมัครใจ อีกทั้งต้องแจ้งผู้ปกครองล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ตลาดอุปกรณ์การเรียน…ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในช่วงระยะ 4 ปีที่ผ่านมาพบว่านอกจากค่าใช้จ่ายในด้านค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่ารถนักเรียน และค่ากิจกรรมอื่นๆแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนก็เป็นค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นภาระหนักกับผู้ปกครองเช่นกัน ซึ่งภาวะการแข่งขันของอุปกรณ์การศึกษานั้นเป็นไปอย่างรุนแรงในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากนับว่าเป็นช่วงโอกาสทองของธุรกิจเหล่านี้ โดยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาบรรดาผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์เร่งทำตลาดสินค้าเปิดเทอมเร็วขึ้น โดยเริ่มมีกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์การเรียนตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้เพื่อหวังที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทำให้ในปีนี้การแข่งขันในตลาดอุปกรณ์การเรียนเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายร่วมกับช่องทางการจำหน่ายต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาโมเดิร์นเทรด

ในช่วงเปิดเทอมนับว่าเป็นช่วงโอกาสทองของตลาดเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งเป็นช่วงที่มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจเหล่านี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองสามารถคำนวณเม็ดเงินสะพัดแยกรายภาคได้ดังนี้

เม็ดเงินสะพัดในสินค้าเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนแยกรายภาค
ล้านบาท
รายการ กทม.และปริมณฑล กลาง*** ตะวันออก เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ รวม
ชุดนักเรียน** 402 443 129 709 1,349 646 3,678
รองเท้านักเรียน 101 112 32 178 338 162 923
รองเท้าพละ 91 101 29 161 306 147 835
ถุงเท้า 37 41 12 65 124 59 338
เข็มขัด 31 36 10 55 105 50 287
กระเป๋า 87 95 28 154 292 140 796
แบบเรียน/หนังสือ 296 325 95 522 992 475 2,705
หนังสืออ่านเสริม 104 113 33 183 348 167 948
สมุด 71 78 23 126 239 114 651
อื่นๆ(ค่าหอพัก ฯลฯ) 480 526 154 845 1,608 770 4,383
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
หมายเหตุ : *ค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันอย่างมากขึ้นกับประเภทของสถาบันการศึกษา และหลักสูตร
**ค่าชุดนักเรียนรวมทั้งชุดพละ และชุดลูกเสือ/เนตรนารี
***ภาคกลางรวมภาคตะวันตก

ความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องแบบและอุปกรณ์การเรียนที่น่าสนใจคือ

– เครื่องแบบนักเรียน

การแข่งขันของตลาดชุดนักเรียนมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆเข้ามาในตลาด และส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์ในเรื่องราคามาเป็นกลยุทธ์หลักในการแข่งขัน แม้ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-20 แต่ก็ไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งทางกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือบรรดาผู้ประกอบการในการตรึงราคา ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องแบบนักเรียนจะแยกการแข่งขันออกเป็นสองตลาดคือ ตลาดระดับบน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดมานาน และได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค ซึ่งยังเน้นภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจในตรายี่ห้อให้กับผู้บริโภค ส่วนการทำตลาดระดับกลางลงไป ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้าไปแข่งขันโดยการออกตรายี่ห้อใหม่เพื่อที่จะแข่งขันกับผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งในตลาดนี้มีการแข่งขันในด้านราคาสูงมาก กล่าวคือราคาชุดนักเรียนในตลาดนี้จะถูกกว่าในตลาดบน กล่าวคือมีราคาต่ำกว่าชุดนักเรียนยี่ห้อเดิมที่ติดตลาดแล้วประมาณร้อยละ 30-40 โดยจะเน้นเจาะตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อรองรับกับสภาพตลาดที่ผู้บริโภคเน้นนโยบายประหยัด ปัจจุบันพฤติกรรมในการซื้อชุดนักเรียนเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยซื้อครั้งละ 4-5 ชุด ลดลงเหลือ 2-3 ชุดเท่านั้น

นอกจากนี้การปรับกลยุทธ์การตลาดของบรรดาผู้ประกอบการในปีนี้ต่างหันไปพัฒนาคุณภาพและการบริการ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง แต่ก็มีการปรับตัวเพิ่มช่องทางการขาย โดยขยายเข้าไปเจาะตามโรงเรียนต่างๆเพื่อเจาะตรงถึงกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการรับประกันยอดขายที่แน่นอนให้กับผู้ประกอบการที่สามารถชนะการประมูล โดยลักษณะการประมูลนั้นมีทั้งในลักษณะที่ทางโรงเรียนซื้อไปขายและให้บรรดาบริษัทประมูลเข้าไปขายเอง ซึ่งในปีนี้การแข่งขันในช่องทางนี้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เพราะทุกค่ายต่างก็มุ่งขายตรงเข้าโรงเรียน จากที่เคยเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้กับโรงเรียนร้อยละ 20 ของยอดขาย แต่ปีนี้การแบ่งรายได้ให้โรงเรียนบางแห่งเพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 30 นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบการเริ่มหันไปเปิดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกิจกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของลูกค้าในปัจจุบันที่นิยมการเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้ามากกว่า
– รองเท้านักเรียน

การแข่งขันของตลาดรองเท้านักเรียนคึกคักว่าในปีที่ผ่านๆมาอย่างมาก บรรดาผู้ประกอบการเริ่มมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน จากที่ปกติจะเริ่มมีการโฆษณาอย่างจริงจังในช่วงปลายเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังเน้นการจัดรายการส่งเสริมการขายพิเศษเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้า พร้อมกับทำตลาดร่วมกับช่องทางโมเดิร์นเทรด ปัจจุบันอัตราการซื้อรองเท้านักเรียนเฉลี่ย 1.5-2 คู่ต่อคนต่อปี เพราะบรรดาผู้ปกครองยังเน้นนโยบายประหยัด ประกอบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ทำให้ผู้ปกครองต้องนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นก่อน ส่วนรองเท้าจะเป็นลำดับท้ายๆ ที่ซื้อ ในขณะที่การแข่งขันปีนี้รุนแรงมาก ทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศ และยังมีสินค้าจากจีนที่ขายในราคาต่ำเข้ามาตีตลาดด้วย

การปรับกลยุทธ์ของบรรดาผู้ประกอบการรองเท้านักเรียนคือ ยังพยายามตรึงราคาจำหน่าย แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 5-7 ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายยังมีการปรับแผนการตลาดใหม่ โดยการจัดแบ่งกลุ่มสินค้าให้มีความชัดเจนมากขึ้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อนุบาล ประถม และมัธยม จากเดิมไล่ไปตามขนาดของเบอร์รองเท้าตั้งแต่เบอร์ 25-42 เพราะข้อจำกัดของเด็กเล็กและเด็กโตจะไม่เหมือนกัน โดยเด็กเล็กต้องการความนุ่มสบาย ส่วนเด็กโตต้องการความสวยงาม มีลูกเล่นในเชิงของแฟชั่น พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบรองเท้าใหม่ ทั้งในส่วนของรองเท้าผ้าใบนักเรียนชาย และนักเรียนหญิง เพื่อรองรับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ไม่ยึดติดกับตราสินค้า ถ้าสินค้าใดออกแบบได้ถูกใจก็จะเลือกซื้อ โดยได้ออกแบบรองเท้าผ้าใบใหม่ที่มีความเป็นแฟชั่นกึ่งสปอร์ตมากขึ้น ซึ่งใช้ใส่ได้ทั้งไปเรียน เล่นกีฬาและเที่ยว เพราะพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ใช้รองเท้าเพียงคู่เดียว จากก่อนหน้านี้จะมีคนละสองคู่

บทสรุป

ในช่วงเปิดภาคการศึกษาปี 2548 ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมยังเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับบรรดาผู้ปกครอง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2548 คาดว่าจะเกิดเงินสะพัดสูงถึง 50,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 อย่างไรก็ตามจากการสำรวจค่าใช้จ่ายเปิดเทอมในปี 2548 พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายของบรรดาผู้ปกครองนั้นแยกออกได้เป็นค่าเทอมร้อยละ 39.0 ค่าอาหารร้อยละ 13.0 ค่ากิจกรรมอื่นๆร้อยละ 18.0 และค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนอีกร้อยละ 30

ในปีนี้ค่าเล่าเรียนของสถานศึกษาบางแห่งปรับเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเพิ่มหลักสูตรการเรียนสองภาษา และการเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ รวมทั้งสถานศึกษายังมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายสมทบโดยเฉพาะค่ากิจกรรมพิเศษต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เฟื่องฟูในช่วงเปิดเทอมคือ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อการศึกษา ในปัจจุบันมีภาคเอกชนทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงินเข้ามาแย่งชิงการให้บริการบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย โดยบางแห่งจัดรายการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เข้าไปตั้งบูธอำนวยความสะดวกให้สินเชื่อและการผ่อนชำระค่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเปิดเทอมถึงในแหล่งที่บรรดาผู้ปกครองเข้าไปจับจ่ายซื้อของ ซึ่งการรุกตลาดสินเชื่อเพื่อการศึกษา ทำให้บรรดาผู้ประกอบการโรงรับจำนำต้องมีการปรับการให้บริการ ทั้งนี้เพื่อดำรงความเป็นที่พึ่งพิงของผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามยังมีผู้ปกครองบางรายที่ยังคงต้องพึ่งพิงโรงรับจำนำ เนื่องจากการใช้บริการสินเชื่อเพื่อการศึกษานั้นต้องมีใบรับรองเงินเดือน และเสียอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งผู้ปกครองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เคยใช้บริการโรงรับจำนำ และมีสินทรัพย์ที่สามารถนำไปจำนำได้

ประเด็นที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องค่าใช้จ่ายเปิดเทอมคือ การพึ่งพิงแหล่งเงินกู้ยืม ซึ่งการหันไปพึ่งพิงแหล่งกู้ยืมเงินกลายเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งของบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยแหล่งเงินกู้ยืมนั้นมีทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหานี้นับว่าเป็นปัญหาที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะการพึ่งพิงการกู้ยืมนอกระบบ แม้ว่าในปัจจุบันทางสถาบันการเงินหลายแห่งจะหันมาขยายการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษากันมากขึ้นก็ตาม การยินดีจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อเลือกสถานศึกษาให้กับบุตรหลาน ซึ่งยังแสดงค่านิยมในการเลือกสถานศึกษาให้กับบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายสมทบ ซึ่งทางโรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าเล่าเรียน โดยผลจากการสำรวจพบว่าบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าปัญหานี้เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเพิ่มขึ้น ปัญหาในเรื่องการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสมทบของบรรดาโรงเรียนต่างๆนี้นับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขและต้องมีการประกาศกฎเกณฑ์ที่โรงเรียนสามารถเรียกเก็บได้อย่างชัดเจนเพื่อความเข้าใจทั้งของโรงเรียนและบรรดาผู้ปกครอง

สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมในปี 2548 ก็มีการเร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องแบบนักเรียนและรองเท้านักเรียน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ปกครองเน้นนโยบายประหยัด แต่ผู้ประกอบการอยู่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้า และการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบต่างๆเพื่อจูงใจบรรดาผู้ปกครองให้เลือกซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น