ราชพฤกษ์ : ส่งเสริมปลูกเฉลิมพระเกียรติฯ…สัญลักษณ์ประจำชาติ

ราชพฤกษ์ หรือคูน (Golden Shower) เป็นหนึ่งในไม้ดอกที่ควรจะกล่าวถึง เพราะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าการเป็นเพียงไม้ดอก-ไม้ประดับเท่านั้น หากแต่ราชพฤกษ์ได้รับเลือกให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทย และเป็นต้นไม้ที่ได้รับคัดเลือกให้มีการส่งเสริมการปลูกเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ โครงการส่งเสริมการปลูกราชพฤกษ์ทั่วประเทศ 99,999 ต้น ในปี 2530 ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ และโครงการปลูกต้นราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2546-2550 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดจำนวน 9 ล้านต้น ซึ่งผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นคือ การปลุกจิตสำนึกในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมโดยการปลูกต้นไม้ และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ดอกราชพฤกษ์บานสะพรั่ง

ราชพฤกษ์…ความเชื่อดั้งเดิมและการใช้ประโยชน์

ราชพฤกษ์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงไม้ประดับตามสถานที่ต่างๆเท่านั้น แต่คนไทยยังมีความเชื่อว่าราชพฤกษ์เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง เป็นไม้มงคลนาม นิยมใช้ในพิธีสำคัญต่างๆ เช่น ในพิธีลงเสาหลักเมือง เสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ยอดธงชัยเฉลิมพลของทหาร และการสร้างคฑาจอมพลจะใช้เสาแก่นจากต้นราชพฤกษ์ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี โดยมีความเชื่อเพิ่มเติมว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ควรปลูกในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี

นอกจากนี้คนไทยสมัยก่อนยังมีความเชื่ออีกว่าใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ใช้ใบราชพฤกษ์ทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดี ดังนั้นก่อนทำการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์โดยใช้ไม้มงคล 9 ชนิด ซึ่งไม้ราชพฤกษ์เป็นหนึ่งในไม้มงคล โดยไม้ราชพฤกษ์หมายถึงความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา

สำหรับประโยชน์ของราชพฤกษ์ในฐานะเป็นยาสมุนไพรโบราณกล่าวคือ รากใช้ฝนทาแก้กลาก และต้มกินเป็นยาระบาย ยาบำรุงแก้ไข โรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองมีคุณสมบัติทนทานจึงใช้ทำเสาบ้าน สากตำข้าว ล้อเกวียน คันไถ เสาสะพาน และด้ามเครื่องมือต่างๆ ดอกแก้ไข้เป็นยาระบาย และรักษาแผลเรื้อรัง เนื้อในฝักต้มรับประทานเป็นยาระบายบรรเทาอาการแน่นหน้าอกจุดเสียด เปลือกนำไปบดผสมกับใบทาฝี และเม็ดผื่นตามร่างกาย

ปลูกราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติฯและดอกไม้ประจำชาติ…เพิ่มความสำคัญ

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี คัดเลือกต้นราชพฤกษ์เป็นพรรณไม้ประจำชาติไทยในปี 2544 และมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 ตุลาคม 2547 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดย”ดอกราชพฤกษ์” ดอกไม้ประจำชาติ ทั้งนี้เนื่องจากราชพฤกษ์เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ มีทรวดทรงและพุ่มงดงาม ใช้ประโยชน์ได้มาก มีอายุยืน และทนทาน รวมทั้งมีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีของคนไทย เนื่องจากเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล มีดอกสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ

หลังจากมีโครงการส่งเสริมการปลูกราชพฤกษ์ทั่วประเทศ 99,999 ต้น ในปี 2530 ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบแล้ว มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 เห็นชอบโครงการปลูกต้นราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปี 2550 โดยให้หน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ ร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดจำนวน 9 ล้านต้น ตั้งแต่ปี 2546-2550 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะและเพื่อเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนไทยได้รู้จักคุณค่าของต้นไม้ ในการพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและเยาวชนเกี่ยวกับต้นราชพฤกษ์

การดำเนินการปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจะมีการปลูกตามบริเวณท้องที่ที่เอื้อต่อการปลูกและดูแลรักษา เช่น ริมถนน สถานที่ราชการ สถาบันการศึกษา วัด สวนสาธารณะ ที่ดินส่วนกลางของชุมชนตลอดจนบริเวณบ้านเรือนของประชาชน โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งผลพลอยได้คือการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้านการท่องเที่ยว สามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในฤดูที่ดอกราชพฤกษ์บานสะพรั่ง(เดือนเมษายน-พฤษภาคม) ให้ชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพิ่มรายได้แก่ประเทศ และสภาพแวดล้อมประชาชนและเยาวชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและช่วยกันฟื้นฟูรักษาความสมดุลของต้นไม้ คืนความชุ่มชื้นแก่ผืนแผ่นดินไทยด้วยการปลูกต้นไม้ขึ้นทดแทนของเดิมที่ถูกทำลายไป

เป้าหมายการดำเนินการโครงการปลูกต้นราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติฯในระยะเวลา 5 ปี(2546-2550)แบ่งเป้าหมายจำนวนต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกในแต่ละปีดังนี้ ในปีงบประมาณ 2546 มีเป้าหมายปลูกจำนวน 1,000,000 ต้น ปีงบประมาณ 2547 จำนวน 2,100,000 ต้น ปีงบประมาณ 2548 จำนวน 4,100,000 ต้น ปีงบประมาณ 2549 จำนวน 1,800,000 ต้นและปีงบประมาณ 2550 จำนวน 400,000 ต้น(สำหรับปลูกซ่อมในพื้นที่เดิมที่เสียหาย) โดยสำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณประจำปี ส่วนการจัดหากล้าไม้ราชพฤกษ์ตามแผนที่กำหนดแต่ละปีแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสำหรับแจกจ่ายให้ส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชนที่ขอกล้าไม้ราชพฤกษ์ โดยการทำโครงการปลูกเสนอเข้ามาเฉพาะในกรณีที่มีการขอกล้าไม้เป็นจำนวนมาก

ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางในการประสาน เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินโครงการ และกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบในการวางแผน ประสานแผน สนับสนุน ควบคุม ดูแล และติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการฯ ภายในจังหวัด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันรายงานการรวบรวมความคืบหน้าของโครงการปลูกต้นราชพฤกษ์นั้นยังกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ทางรัฐบาลน่าจะมีการติดตามรวบรวมทั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายของแผน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

บทสรุป

ตั้งแต่นี้ต่อไปราชพฤกษ์จะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากราชพฤกษ์ได้รับคัดเลือกเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และได้รับคัดเลือกเป็นต้นไม้ที่มีการส่งเสริมการปลูกทั่วประเทศเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 โครงการคือโครงการส่งเสริมการปลูกราชพฤกษ์ทั่วประเทศ 99,999 ต้น ในปี 2530 ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ โครงการปลูกต้นราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี 2550 โดยในปี 2546-2550 หน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 9 ล้านต้น ซึ่งผลพลอยได้จากโครงการนี้คือ การปลุกจิตสำนึกของคนไทยในด้านการรักษาสภาพแวดล้อม และการปลูกต้นไม้ รวมทั้งยังส่งผลให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในเมืองไทยในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกราชพฤกษ์บานสะพรั่งอีกด้วย