เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก … ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี

แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2548 จะชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถูกกระทบจากปัจจัยลบต่าง ๆ ก็ยังคงส่งผลกดดันการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในเดือนนี้ ในขณะเดียวกัน การนำเข้าที่ยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องจากช่วงสองเดือนก่อนหน้า ได้ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีฐานะที่ขาดดุลในเดือนนี้ด้วย ทั้งนี้ ตัวแปรเศรษฐกิจที่น่าสนใจ สามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้ :-

? การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม โดยในเดือนนี้ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนของ ธปท. หดตัว 1.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 1.2% ในช่วง ม.ค.-ก.พ. 48 (เหตุที่ต้องพิจารณาอัตราการขยายตัวในช่วงสองเดือนดังกล่าวก็เพื่อลดความบิดเบือนของตัวเลขอันเนื่องมาจากเทศกาลตรุษจีน ที่ตกอยู่ในเดือนก.พ.ปีนี้ แต่อยู่ในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว) รวมทั้งมีอัตราการขยายตัวเพียง 0.4% ในไตรมาสแรกของปี 2548 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 3.7% ในปี 2547 ทั้งนี้ การหดตัวของดัชนีดังกล่าว เป็นผลมาจากการปรับลดของยอดขายรถยนต์นั่ง (-24.7%) และยอดขายรถจักรยานยนต์ (-1.5%) ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้าเพื่อการบริโภคก็ได้ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

? อย่างไรก็ตาม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 4.0% ในเดือนมีนาคม จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.8% ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การฟื้นตัวของดัชนีดังกล่าวเป็นผลมาจากการขยายตัวของยอดขายปูนซิเมนต์ (21.8%) และยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (51.7%) อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าทุนกลับหดตัวลงถึง 5.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดีนักของแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ดัชนีดังกล่าวยังขยายตัวเพียง 3.2% ในไตรมาสแรกของปี 2548 นี้ โดยลดลงจากที่ขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 12.8% ในปี 2547

? ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก โดยขยายตัว 7.1% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับ 1.6% ในช่วงสองเดือนแรกของปี อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของดัชนี MPI ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 3.5% ลดลงจากที่ขยายตัว 9.1% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 11.1% ในปี 2547 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

? การส่งออกขยายตัวดีกว่าที่คาดในเดือนมีนาคม โดยขยายตัว 19.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 8.7% ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 48 อย่างไรก็ตาม การนำเข้าก็ยังคงขยายตัวในอัตราสูง โดยได้เพิ่มขึ้นถึง 28.8% ในเดือนมีนาคม จากที่ขยายตัว 28.3% ในช่วงสองเดือนแรกของปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 86.6% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับ 53.1% ในช่วงสองเดือนแรกของปี ทั้งนี้ การขยายตัวของการนำเข้าได้ทำให้ดุลการค้าในเดือนมีนาคม มีฐานะขาดดุลเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยขาดดุล 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมีนาคม เทียบกับที่ขาดดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์ฯในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 663 ล้านดอลลาร์ฯในเดือนมีนาคมนี้ เมื่อเทียบกับที่เกินดุล 106 ล้านดอลลาร์ฯในเดือนกุมภาพันธ์ โดยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว เป็นผลมาจากทั้งการขาดดุลการค้าในข้างต้น และการที่ดุลบริการในเดือนมีนาคม ได้ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศไทย

? ปริมาณการส่งออก (Export Volume) ปรับตัวดีขึ้นในเดือนมีนาคม โดยขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบกับที่หดตัว 4.7% ในช่วงสองเดือนแรกของปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้า (Import Volume) ก็ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 12.7% ในเดือนมีนาคม จาก 12.6% ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. โดยเป็นผลจากการนำเข้าน้ำมัน ที่ปริมาณการนำเข้าขยายตัวอย่างมากในเดือนมีนาคม ส่วนราคาสินค้าส่งออก (Export Unit Value) นั้น ยังคงมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 13.2% ในเดือนมีนาคม จาก 14.0% ในช่วงสองเดือนแรกของปี ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้า (Import Unit Value) ขยายตัว 14.3% ในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 14.0% ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2548 ซึ่งภาวะดังกล่าวได้ทำให้สัดส่วนราคาสินค้าส่งออกต่อสินค้านำเข้า หรือ Terms of Trade ปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม โดยหดตัวลง 1.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2548 จะขยายตัวดีขึ้น แต่ในภาพรวมแล้ว อัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังคงลดต่ำลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า GDP ของไทยจะมีอัตราการขยายตัวเพียง 4.0% ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับ 5.1% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 โดยจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบสามปี