มองเลือกตั้งอังกฤษ 2005 : เล็งลู่ทางการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยว

การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในวันที่ 5 พฤษภาคม 2548 อาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนไทยเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 2547 แต่อังกฤษก็จัดเป็นประเทศพันธมิตรตะวันตกเก่าแก่ที่สุดของไทย และมีความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างกันมาช้านาน ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ อังกฤษเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อยู่ในกลุ่ม G7 โดยมีฐานะเป็นประเทศคู่ค้าติดอันดับหนึ่งใน 10ของไทย รวมถึงยังเป็นนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับแนวหน้าของไทยอีกด้วย ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ควรจะติดตามผลการเลือกตั้งไว้บ้าง ถึงแม้ผลการหยั่งเสียงของประชาชนในอังกฤษ ปรากฏว่าคะแนนนิยมส่วนใหญ่ยังคงเป็นของนายกรัฐมนตรี Tony Blair แห่งพรรค Labour ซึ่งครองเก้าอี้ผู้นำรัฐบาลอังกฤษมาแล้วถึง 2 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา และคาดว่าในการเลือกตั้งหนนี้ นาย Tony Blair จะชนะการเลือกตั้ง โดยได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งนับเป็นผู้นำประเทศคนที่สองที่ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องสามสมัย รองจากนาง Margaret Thatcher แห่งพรรค Conservatives ในยุคทศวรรษ 1980

การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวอังกฤษยังคงมอบความไว้วางใจแก่นายกรัฐมนตรีคนเดิม ก็คือ ประเด็นเศรษฐกิจอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษมีภาวะเศรษฐกิจที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ปีในสมัยรัฐบาล Tony Blair โดยอังกฤษมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยประมาณ 2.8% สูงกว่าอัตราขยายตัวของกลุ่มยูโรอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 2.0% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และในปี 2548 คาดว่าอังกฤษจะมีอัตราเติบโตประมาณ 2.5-3.0% ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าประเทศยุโรปชั้นนำ โดยเฉพาะกลุ่มยูโรคาดว่าจะเติบโตราว 1.6% ในปีนี้ ขณะเดียวกัน อังกฤษยังสามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 2.0% ทั้งนี้ นโยบายเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนายกรัฐมนตรี Tony Blair และรัฐมนตรีคลัง Gordon Brown ได้แก่ การดำเนินเศรษฐกิจผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจระบบตลาดแข่งขันเสรี สนับสนุนธุรกิจเอกชนเต็มที่ ส่งเสริมให้ธนาคารกลางเป็นอิสระบริหารนโยบายการเงิน ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐบาลในเรื่องการรักษาพยาบาลและสวัสดิการสังคม ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงเป็นประเทศที่มีความยืดหยุ่นสูงเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ อาทิ การอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน อัตราภาษีนิติบุคคลต่ำ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่อังกฤษเข้าไปมีส่วนร่วมทำสงครามในอิรักกับสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัวในปี 2546 อาจทำให้นายกรัฐมนตรี Tony Blair ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในระยะหลัง แต่กลับไม่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของนาย Blair มากนักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนยังคงพอใจกับเรื่องปากท้องใกล้ตัวมากกว่าที่จะคำนึงถึงประเด็นด้านต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยชาวอังกฤษเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มอึมครึมในปีนี้ จากวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันแพง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูง และความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ จึงน่าจะสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังคนเดิมกุมบังเหียนเศรษฐกิจอังกฤษไปก่อน

ความร่วมมือเศรษฐกิจไทย – อังกฤษ

ไทยและอังกฤษเป็นมิตรประเทศที่ดีระหว่างกันมาโดยตลอด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ประกอบกับการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษครั้งนี้ คาดว่าพรรครัฐบาล Tony Blair จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวอังกฤษให้บริหารประเทศอีกสมัย ทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศค่อนข้างสูง อันจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจอังกฤษให้คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่คาดว่ารัฐบาลอังกฤษจะดำเนินการตามแนวทางเดิมต่อไป รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างไทยกับอังกฤษคงจะเป็นไปอย่างราบรื่นคล้ายคลึงกับช่วงที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยไปเยี่ยมเยือนอังกฤษในรัฐบาล Tony Blair มาแล้ว ทำให้คาดว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษในยุคผู้นำเดิมทั้งสองประเทศน่าจะสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น และส่งผลดีแก่ประเทศไทยและอังกฤษโดยรวมต่อไป

เมื่อกล่าวถึงประเทศอังกฤษ ชาวไทยส่วนใหญ่ต่างรู้สึกคุ้นเคยกับประเทศอังกฤษและคนอังกฤษอย่างมาก สายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศทั้งสอง หล่อหลอมให้คนอังกฤษและบรรดาธุรกิจของอังกฤษเข้ากับสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างกลมกลืน จนอาจทำให้บางคนเคยชินและมองข้ามบทบาทและความสำคัญของอังกฤษที่มีต่อประเทศไทย ประกอบกับปัจจุบันนี้อังกฤษและประเทศยุโรปอื่นๆ เกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น โดยจัดตั้งเป็นสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของประเทศยุโรปเกือบทั้งหมด ดังนั้น การประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับอังกฤษ ส่วนใหญ่จึงอยู่ภายใต้กรอบของ EU โดยรวม

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับอังกฤษ ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เนื่องจากอังกฤษติดกลุ่มประเทศแนวหน้าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการศึกษา โดยอังกฤษเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 8 ขณะเดียวกันอังกฤษเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 8 เช่นกัน รวมทั้งชาวอังกฤษเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยมากเป็นอันดับ 7 นอกจากนี้ อังกฤษเป็นแหล่งการศึกษาชั้นนำในต่างแดน ซึ่งนักเรียนไทยจำนวนมากนิยมเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสหรัฐอเมริกา สถานการณ์การเมืองของอังกฤษที่มั่นคง ประกอบกับเศรษฐกิจอังกฤษที่ยังคงเข้มแข็งเมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมทั่วไปหลังการเลือกตั้งของอังกฤษครั้งนี้ ทำให้อังกฤษเป็นตลาดที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม และควรขยายความร่วมมือระหว่างกันในฐานะหุ้นส่วนเศรษฐกิจดั้งเดิม เพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

แม้ว่าขณะนี้ รัฐบาลไทยมุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับบรรดาประเทศหน้าใหม่ (Emerging Markets) แต่ขณะเดียวกันทางการไทยก็จำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์กับพันธมิตรเศรษฐกิจหน้าเก่าต่อไป รวมทั้งประเทศอังกฤษด้วย เพราะเป็นประเทศที่สนิทสนมกันมานานและมีความผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจด้านอื่นๆ ระหว่างกันให้กว้างขวางออกไป

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอังกฤษ มีลู่ทางที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ สรุปได้ 4 ประการ ดังนี้

– ฟื้นฟูการค้า

ยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออกไทย สินค้าไทยหลายรายการที่ส่งออกไปอังกฤษมีแนวโน้มแจ่มใสในช่วงต้นปี 2548 นี้ แต่ขณะเดียวกันสินค้าบางรายการกลับชะลอตัวลง ทางการไทยจึงควรระมัดระวังการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ไม้และผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร-โทรพิมพ์-โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอังกฤษประสบปัญหาด้านการแข่งขันสูง ทั้งการแข่งขันจากประเทศสมาชิก EU ที่มีประเทศสมาชิกน้องใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มสมาชิกที่มีต้นทุนการผลิตไม่สูงนัก อีกทั้งยังผลิตสินค้าคล้ายคลึงกับไทย ขณะเดียวกันสินค้าไทยยังต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกจากชาติเอเชียด้วยกัน โดยเฉพาะจีนที่กำลังตีตลาดโลกอยู่ในขณะนี้

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปอังกฤษลดลง ก็คือ ปัญหาเรื่องคุณภาพ สินค้าไทยบางรายการมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ทางการอังกฤษและ EU กำหนดไว้ จึงไม่สามารถวางจำหน่ายในตลาดอังกฤษและตลาด EU อื่นๆ สินค้าดังกล่าวถูกส่งกลับประเทศไทยในที่สุด สินค้าด้อยคุณภาพที่เคยตรวจพบในการส่งออกไปยังตลาดอังกฤษและ EU ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดมีปัญหาด้านความไม่ปลอดภัย เช่น เกิดปัญหากระแสไฟฟ้าลัดวงจรในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นต้น

ดังนั้น การขยายการส่งออกสินค้าไทยไปยังอังกฤษ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานของ EU ซึ่งอังกฤษเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ครอบคลุมทั้งการส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าที่มิใช่อาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรับประกันความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด

– ส่งเสริมสินค้าส่งออกตัวใหม่ & ศักยภาพสูง

สินค้าหลายรายการที่ไทยส่งออกไปยังอังกฤษ แม้ว่ามีมูลค่าค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน แต่ขยายตัวในอัตราสูงมาก นับเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและควรสนับสนุนการส่งออกอย่างจริงจัง เพราะเป็นสินค้าที่น่าจะขยายตลาดอังกฤษได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องสำอาง-สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หนังสือและสิ่งพิมพ์ กากน้ำตาล เครื่องดื่ม ผลไม้สดแช่เย็น/แช่แข็ง แก้วและกระจก มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซุปและอาหารปรุงแต่ง เนื้อปลาสดแช่เย็น/แช่แข็ง เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิดเครื่องยนต์ เป็นต้น

สินค้าเหล่านี้มีอัตราขยายตัวมากกว่า 50% ขึ้นไป และบางรายการมีอัตราเพิ่มสูงสุดถึง 400% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่การส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดอังกฤษในปัจจุบันมีมูลค่าเฉลี่ยน้อยกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี สินค้าไทยกลุ่มนี้จึงน่าจะสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดอังกฤษได้มากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องคำนึงถึงเรื่องคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความไว้วางใจและชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ไทยในหมู่ผู้บริโภคอังกฤษอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ อังกฤษนับเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด ยอดการเกินดุลการค้าของไทยกับอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมียอดเกินดุล 1,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้ากับอังกฤษ 322 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยอดเกินดุล 348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกันของปี 2547 เนื่องจากการส่งออกสินค้าไทยไปอังกฤษชะลอตัวค่อนข้างมาก มีอัตราเพิ่ม 4.7% เทียบกับการนำเข้าสินค้าจากอังกฤษที่ขยายตัว 18.5% ในช่วงเดียวกัน ทางการไทยจึงควรเร่งคลี่คลายปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้าส่งออกของไทยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมสินค้าไทยประเภทใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังอังกฤษอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยไปยังอังกฤษและตลาด EU อื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในอัตรา 14% รวมมูลค่าส่งออก 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548

– ผสานความร่วมมือ ผนึกพลัง SME

อังกฤษเป็นนักลงทุนแนวหน้าของกลุ่ม EU ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนของอังกฤษในประเทศไทยมักเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท/โครงการ ทำให้การลงทุนของอังกฤษในประเทศไทยไม่ค่อยสม่ำเสมอนัก หากโครงการขนาดใหญ่ของอังกฤษได้รับอนุมัติการลงทุนจาก BOI เรียบร้อยแล้ว จะส่งผลให้อังกฤษชะลอการลงทุนในไทยในปีถัดไป ยกตัวอย่างเช่น โครงการลงทุนของอังกฤษที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ของไทยเคยทำสถิติสูงถึง 20,308 ล้านบาทในปี 2546 แต่หลังจากนั้น โครงการลงทุนดังกล่าวกลับมีมูลค่าลดลงเหลือ 2,019 ล้านบาทในปี 2547 เนื่องจากการลงทุนของอังกฤษในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท/โครงการ

ดังนั้น แม้ว่าโครงการลงทุนของอังกฤษที่ขอรับการส่งเสริมจาก BOI มีจำนวน 23 โครงการในปี 2547 เทียบกับจำนวน 19 โครงการในปี 2546 แต่เม็ดเงินลงทุนแตกต่างกันอย่างมาก ทางการไทยจึงน่าจะส่งเสริมโครงการลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อมของอังกฤษในไทยให้มากขึ้น เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนของอังกฤษที่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

สำหรับในช่วงไตรมาสแรก 2548 การลงทุนของอังกฤษที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กระเตื้องขึ้น มีมูลค่า 1,219 ล้านบาท นับเป็นประเทศในกลุ่ม EU ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากเนเธอร์แลนด์ โครงการลงทุนของอังกฤษในช่วงต้นปีนี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลาง คาดว่านักธุรกิจอังกฤษรายย่อยยังคงสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หากทางการไทยมีมาตรการดึงดูดการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อย่างชัดเจน คาดว่าจะส่งผลดีต่อ SME ของไทยในการแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะระหว่างกันต่อไป

– จับตลาดท่องเที่ยวสตรีอังกฤษ ชาวอังกฤษเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่ม EU ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษทำสถิติทะลุระดับ 600,000 คนในปีที่ผ่านมา ประมาณว่าสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยไม่ต่ำกว่า 28,000 ล้านบาท

ชาวอังกฤษเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 15.3% เป็นจำนวน 628,679 คนในปี 2547 เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวนชาวอังกฤษที่เดินทางมาไทยทั้งหมด หญิงสาวชาวอังกฤษเป็นฝ่ายเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก คิดเป็นอัตราขยายตัวสูงถึง 35.4% ขณะที่ผู้ชายชาวอังกฤษเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้น 4.1% ชาวอังกฤษกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปีมากที่สุด ดังนั้น ตลาดนักท่องเที่ยวอังกฤษจึงมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะกลุ่มสตรีชาวอังกฤษ ซึ่งทางการไทยควรมีมาตรการส่งเสริมเป็นพิเศษ เพราะกลุ่มหญิงสาวชาวอังกฤษให้ความสนใจในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทย ตลอดจนนิยมท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามทางธรรมชาติ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ผนวกการดูแลสุขภาพและเสริมความงามด้วยสมุนไพรไทย จึงคาดว่าโปรแกรมการท่องเที่ยวเหล่านี้จะสามารถดึงดูดใจหญิงสาวชาวอังกฤษให้เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อไป แต่ในขณะเดียวกันทางการไทยควรรักษาความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเข้มงวดด้วย

การเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษอาจเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย แต่ในยุคปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการติดต่อกันอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นที่คนไทยควรต้องรับทราบความเคลื่อนไหวของประเทศต่างๆ อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กับไทยมายาวนานอย่างอังกฤษ เพราะต่างมีความคุ้นเคยและมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันในระดับหนึ่งแล้ว การติดตามรับทราบแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษอย่างชัดเจน ก็น่าจะเป็นโอกาสที่นักธุรกิจไทยจะได้ปรับปรุงกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องรองรับแนวนโยบายของประเทศอังกฤษได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อรักษาตลาดสินค้าของไทยไว้ พร้อมๆ กับขยายตลาดสินค้ารายการใหม่เพิ่มเติม รวมถึงความร่วมมือเศรษฐกิจอื่นๆ ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เข้มข้น ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ไม่แข็งแรงในขณะนี้