กำหนดสูตรความดัง “REALITY TV”

1. ตัวละคร

เมื่อการนำเสนอความจริงแบบรายการ “Reality Show” ที่ไม่มีการเขียนบท หรือการกำหนดการกระทำของตัวละครไว้ล่วงหน้า ผู้ชมจึงกำหนดบทบาทของตัวละครแต่ละตัวตามมิติทางจิตวิทยา และประสบการณ์ที่ตัวเองมีให้เหมาะสมกับสิ่งที่ได้นำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ผู้ชมแต่ละคนจึงมี “พระเอก-นางเอก-ตัวโกง-เพื่อนพระเอกนางเอก” ตามการรับรู้ที่ผ่านของตัวเอง จนนำสู่ดีกรีของความหลงใหล หรือ “ติด” (addict) ต่อการเสพพฤติกรรมของคนเหล่านั้น นำไปสู่ความเป็นแฟนคลับ มิติทางจิตวิทยา

Anuska Ban Executive Direct บริษัท Endemol International จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์รายการ Big Brother กล่าวว่า “การเลือกผู้เข้าแข่งขันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด ที่เป็นตัวชี้ความสำเร็จของรายการเรียลลิตี้ได้เหมือนกัน เราเองคงบอกอะไรมากไม่ได้เพราะว่าเป็นความลับเหมือนกัน… แต่ว่ามันสำคัญมากสำหรับคนที่อยู่ในบ้านบิ๊กบราเธอร์ เพื่อให้มันเกิดกรุ๊ปไดนามิก เราต้องการความแตกต่างที่มีอยู่ในคนทุกประเภทมาอยู่ในบ้านนี้ โดยจำลองสังคมจริงๆ เข้ามา

ถ้าคุณได้เห็นคนในบ้านนี้ คุณจะนึกออกได้ว่า เราเป็นแบบไหนในจำนวน 12 คนนี้ หรือมันอาจจะเป็นเพื่อนเราไหนก็ได้ คน 12 คนที่เราเลือกเข้ามานี้ ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยรวมๆ เราเลือกคนเพื่อต้องการเคมีทางสังคมที่ดีที่สุด เราต้องการให้มีคนที่เป็นผู้นำในบ้าน และผู้ตาม เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ต่อเนื่องและลื่นไหล”

แม้แต่รายการเรียลลี้ประเภทแข่งขันที่อยู่ภายใต้แนวคิดที่เลือกเอาผู้ที่มีความสามารถที่สุด ยังจำเป็นต้องเลือกตัวละครที่มีพื้นฐานนิสัยส่วนตัวที่ค่อนข้างแตกต่างกันมากกว่าคุณสมบัติตามชื่อรายการ เหตุผลก็เพราะให้คนดูรู้สึกว่าเข้าถึงกับตัวรายการได้มากยิ่งขึ้น จากตัวละครที่เป็นคนธรรมดาต่างๆ

เช่นรายการ TNTM ให้ความเห็นว่า “การเลือกต้องให้มันหลากหลาย เช่นสวยเหมือนกัน แต่คนนี้คุณหนู คนนั้นไม่ใช่แบบธรรมดา บางคนสวยแต่โง่ บางคนฉลาดแต่ไม่ค่อยสวย” ในขณะที่ AF ก็ยึดคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เลือกคนที่น่าสนใจที่สุด ไม่ใช่คนที่ดีที่สุด”

ในเรื่องของจำนวนของตัวละครส่วนมากเป็นผลจากกติกา และวิธีการออกอากาศ ในจำนวนที่พอเหมาะกับรายการ ซึ่งส่วนใหญ่รายการแบบที่คัดผู้แข่งขันออกอาทิตย์ละสัปดาห์ สำหรับการออกอากาศ 3 เดือนจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 12-14 คน จำนวนคนที่อยู่ในรายการยังสื่อถึงขนาดของทุนสร้าง การที่ให้คนมาอยู่รวมกันจำนวนมากมีผลต่อค่าใช้จ่าย ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ไม่ต่ำกว่า 100 คนต่อเบื้องหน้า 12 คนอย่างรายการ AF และ บิ๊กบราเธอร์ ที่ทุนสร้างระดับ 100 ล้าน และ 80 ล้านบาท

จำนวนที่มากเกินไปทำให้คนดูติดตามเรื่องราวไม่ได้ เพราะเขาจำเป็นต้องรู้พื้นฐานนิสัยของตัวละครแต่ละคนก่อนในระดับหนึ่ง แม้จำนวนตัวละครที่มากขึ้นก็สามารถทำให้เพิ่มจำนวนแฟนรายการที่ติดรายการได้มากขึ้น ตามบุคลิกต่างๆ ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น ฐานะการงาน อาชีพ อายุ เพศ ลักษณะ หน้าตา รสนิยม เช่น รายการเรียลลิตี้เกือบทุกรายการจะมีตัวละครที่เป็นคนผิวสี เกย์ หรือคนอ้วน เพื่อเป็นตัวแทนของบุคลิกที่แตกต่างกัน

2. Air Time

สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวใน “เกมชีวิต” เรียลลิตี้โชว์เรื่องแรกของเมืองไทย จากคำบอกเล่าของศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ มาจาก “แอร์ไทม์ที่น้อยเกินไป” จนคนดูไม่เชื่อว่า บุคคลที่อยู่ในรายการนี้ใช้ชีวิตจริงๆ รายการเกมชีวิต ออกอากาศเพียงอาทิตย์ละ 2 วัน วันละครึ่งชั่วโมง ช่วงที่คนดูทางบ้านไม่เห็นว่าใน 1 สัปดาห์คนเล่านั้นหายไปทำอะไรกัน

ดังนั้นช่องเคเบิล 24 ชั่วโมง และออกอากาศ ฟรีทีวี ไอทีวี แม้เพียงครึ่งชั่วโมง ทุกวัน ก็น่าจะตอบโจทย์รายการเรียลลิตี้ Big Brother ได้ เพราะในบางประเทศที่ผลิตรายการบิ๊กบราเธอร์ ใช้ช่องทางการรับชม 24 ชั่วโมงผ่านบรอดแบนด์ ควบคู่กับฟรีทีวีอาทิตย์ละ 3 วัน…

“รายการ Big Brother ยอมรับว่าการคุยโปรเจกต์เรื่องโทรทัศน์ 24 ชั่วโมงเป็นเหมือนความร่วมมือที่วางแผนไว้แต่ทีแรกว่า จะต้องมีเพื่อให้คนดูส่วนหนึ่งได้ติดตามรายการได้ตลอดเวลา”

ในขณะที่รายการเรียลลิตี้ฟอร์มใหญ่อย่าง Thailand’s Next Top Model ซึ่งออกอากาศแค่ พุธและพฤหัสบดี 21.50-22.20 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็มองว่า การออกอากาศ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป

“เคเบิลทีวีคงช่วยในแง่กระแส มันจะเกิดกระแสให้เกิดการพูดถึงได้ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่เรื่องของเรตติ้ง ผมเชื่อว่าการทำช่อง 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ข้อสรุป สรุป…ตัวสำคัญอยู่ที่ วันสรุปที่ต้องเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ 24 ชั่วโมง 7วันมาประมวลแล้วมีไคลแมกซ์” กิติกร เพ็ญโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบีอีซีเทโร ฐานะผู้อำนวยการผลิตรายการ Thailand’s Next Top Model

“รายการเรียลลิตี้ มันเป็นเรื่องคนธรรมดา เวลาที่น้อยเกินไปจะไม่ทำให้คนทางบ้านอินกับคนเหล่านี้เลย มันต้องมีระยะเวลามากเพียงพอที่จะทำให้คนทางบ้านดูแล้วรู้ว่าใครเป็นใคร อย่างน้อยต้องรู้ว่าต้องมีแอร์ไทม์อย่างต่ำเท่าไร มีระยะเวลากี่เดือนที่จะเอามาอยู่ด้วยกัน”

ด้านทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการใช้เรียลลิตี้เข้ามาปรับพฤติกรรมคนดูฟรีทีวี โดยใช้ Air time เป็นกลยุทธ์ในปีนี้ของสถานี

“เรียลลิตี้ระหว่างฟรีทีวีกับเพย์ทีวี มันยังต่างกันอยู่ คนดูในเพย์ทีวีได้คุ้นเคยกับฟอร์แมตนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่คนที่ดูฟรีทีวีจะคุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้น้อยมาก” นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไอทีวีนำเอารายการ Fear Factor มาโปรโมตถึงความเป็นเรียลลิตี้ในช่วงเวลาหนึ่ง ก็เพื่อให้คนรู้จักเรียลลิตี้มากขึ้น

“วันนี้การวางผังของไอทีวี คือ วางผังให้กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นเจ้าของสลอต คิดว่านี้เป็นเวลาของฉัน ฉันชอบดูรายการแบบนี้ กลุ่มคนดูเป้าหมายของเราเป็นคนดูที่สมัย เป็นวัยทำงาน ต้องการอะไรที่แตกต่างเอาก็จะเอาอะไรมาตอบสนองเขาให้ได้ทั้งปี รายการแบบนี้โดยพื้นฐานมันจะอยู่ประมาณ 3 เดือน เราคาดว่าจะวางแผนให้ครบปีประมาณ 4 รายการ ซึ่งน่าจะเป็น Live Show แบบนี้ตลอดทั้งปี ปีนี้เราเปลี่ยนแปลง เอาเรียลลิตี้เข้าชนวาไรตี้ ไอทีวีกำลังเป็นผู้นำในการเปลี่ยนสลอตใหม่และมีเวลาเป็นของตัวเอง สี่ทุ่มครึ่งในประเทศตอนนี้ยังเป็นวาไรตี้โชว์”

“เราคิดว่าเราจะไม่ทำวาไรตี้โชว์ แต่จะทำเรียลลิตี้โชว์แข่ง” ทรงศักดิ์กล่าว

3. กิจกรรม

“Big Brother ปีแรกที่เขาทำในฮอล์แลนด์ แทบจะไม่มีกิจกรรมอะไรภายในบ้านเลย แต่ตอนนี้มันเป็นฟอร์แมตที่มีรูปแบบต่างๆ ให้ต้องเรียนรู้เยอะมาก” ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

กิจกรรมจะถูกคัดสรร จำเป็นจะต้องถูกทดลองมาแล้ว เพื่อให้แต่ละคนแสดงอารมณ์ต่างๆ กัน เรียลลิตี้ทีวีที่ต้องการควบคุมปัจจัยภายนอกที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวละคร จะจำกัดพื้นที่ของตัวละครไว้ไว้ในบริเวณหนึ่งที่เสมือนให้อิสระ แต่กักขังด้วยกิเลสและความต้องการเป็นผู้ชนะจากผลรางวัลขนาดใหญ่ที่มอบให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้เป็นคนสุดท้าย

เกมการแข่งขันจึงเข้มข้นมากในสัปดาห์สุดท้าย ตลอดจนการบังคับให้หลีกหนีออกจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลกส่วนตัว ที่ไม่ผ่านการปฏิสัมพันธ์บุคคลอื่น เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ สังเกตได้ว่า สัมภาระจะถูกจำกัด และการสื่อสารภายนอกก็ถูกกำหนดทั้งหมด ในขณะที่ไคลแมกซ์ของรายการอย่าง Academy Fantasia ที่เอาคนมาอยู่ร่วมกัน 24 ชั่วโมง แต่มีช่วงเร้าอารมณ์สูงที่สุดที่กิจกรรมการแข่งขันร้องเพลง ดังนั้น แม้จะถูกจำกัดพื้นที่ แต่รายการนี้ก็ปล่อยช่องว่างให้มีการร้องเพลง, ทำกิจกรรมคนเดียว หรือ ดูโทรทัศน์ โดยมีคนทำหน้าที่ซักผ้า ทำอาหารให้

ประเด็นสำคัญคือ กิจกรรมที่คัดเลือกมาทั้งการแข่งขัน และโจทย์ต่างๆ มุ่งเน้นเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบละคร เช่นท้อแท้ ผิดหวัง ชนะ เศร้าโศก ทะเลาะเบาะแว้ง ควบคู่ไปกับการหาผู้ชนะเลิศภายในข้อกำหนดของการแข่งขัน

ศศิกร เล่าให้เราฟังว่า “ประสบการณ์ของละครช่วยได้มากกว่า การเล่าเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่เราพูดว่ายังไงก็ต้องทำเรื่องจริงให้มันสนุก ถ้าจะพูดว่าเอา “ดราม่า” นำบางทีเราก็จะไปยึดติดกับความรู้สึกของตัวเองว่ามันจะอย่างนั้นอย่างนี่ แต่เราเอาเรื่องจริงมานั่งดู 24 ชั่วโมงก็จะรู้ว่าตรงไหนทำให้เรื่องพีค หรือตรงไหนทำให้เกิดเรื่องราวต่อไป บางทีการนั่งเฉยๆ ของบางคน ยังทำให้เกิดเรื่องราวต่อไปเลย เช่นคนหนึ่งเริ่มซึมเศร้าแยกตัว หรือเขาอาจจะขี้เกียจ ซึ่งก็คือเรื่องราว ทุกอย่างมันเป็นสตอรี่ได้หมด เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดเรื่องเดินต่อไปได้”

ในขณะที่เรียลลิตี้หลายรายการมักจะเดินเรื่องด้วยการสัมภาษณ์เอง… คำถามจะถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องถามอะไรบ้าง เช่นไม่ถามคำถามประเภท generic question หรือคำถามปลายเปิด เพราะการตอบแบบเปิดๆ มันจะไม่สามารถสร้างให้เป็นดราม่าได้ หรือร้อยเรียงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจได้ กิจกรรมอย่างห้องเปิดใจ หรือการดึงตัวออกมาจากกลุ่มเพื่อระบายคนเดียวกับหน้ากล้องที่จับภาพไว้

“เช่นแบบถามว่า เห็นคุณสนิทกับคนนี้มากเลย แต่ผมคิดว่าคุณไม่ชอบเขาหรอก ทำไมถึงทำเหตุการณ์นั้นเพราะอะไร (ชี้นำ?) มันอาจจะไม่ได้ชี้นำ 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่ทำเรียลลิตี้ต้องดูเหตุการณ์ทั้ง 24 ชั่วโมงแล้วมาทำเป็นคำถาม แน่นอนว่าคนที่ทำเรียลลิตี้แบบซื้อฟอร์แมตก็จะได้ TIPS บางอันกลับมาจากผู้ผลิตเมืองนอก” กิติกร เพ็ญโรจน์ จาก TNTM กล่าว

4. Content

ปัจจุบัน รายการประเภท “Reality Show” ได้รับความสนใจมากจากฝั่งอเมริกา เนื่องจากวิถีชีวิตแบบเสรีนิยม ภายใต้ความระแวงต่อสิ่งรอบข้าง อุดมคติ “American’s Dream” ที่ถูกปฏิเสธในตอนเริ่มต้นยุคของเรียลลิตี้โชว์ ซึ่งก็ทำให้เรียลลิตี้โชว์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจคือ รายการส่วนมากที่ประสบความสำเร็จในอเมริกาจะเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากฝั่งยุโรป ไม่ว่าจะเป็น Survivor และ Pop Idol จากประเทศอังกฤษ, Fear Factor จากประเทศเยอรมัน หรือ Big Brother จากเนเธอร์แลนด์ ว่ากันว่ารายได้ราว 75 เปอร์เซ็นต์เป็นส่วนแบ่งการตลาดของลิขสิทธิ์ที่แถบยุโรปได้รับจากอเมริกา

แน่นอนว่าการปรับตัวเพื่อรับกับ Format ข้ามชาติแบบนี้ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นเวลานาน การสร้างใหม่ให้เหมาะกับวัฒนธรรมของประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตต้องใส่ใจ เมื่อมองว่าข้อแตกต่างระหว่างเรียลลิตี้โชว์จากยุโรป และอเมริกา อยู่ที่ความรู้สึกของสังคม ชาวยุโรปจะสนใจเรื่อง “ความพ่ายแพ้” ที่พบเห็นในจอโทรทัศน์ เนื่องจากมิติความต้องการเอาใจช่วย โดยเฉพาะช่วงการผ่านยุคสงครามของกลุ่มยุโรปที่มียาวนาน ในขณะที่ชาวอเมริกาจะยินดีและออกแรงเชียร์ “ผู้ชนะ” กับความรู้สึกที่แฝงอยู่ภายในจากการเป็นเจ้าโลก ซึ่งคนยุโรปนั้นชอบความ “เหมือนจริง” ในขณะที่ฝั่งอเมริกาชอบถูกเร้าอารมณ์ ให้เหมือนกับดูละคร

ส่วนคนไทยต้องการดูอะไร?

อรรถพล ณ บางช้าง Director of Programming จาก UBC เล่าถึงการเลือกเรียลลิตี้ให้เข้ากับคนไทย “1.กิจกรรมที่น่าสนใจ 2. ความเข้าใจของคนดูที่มีต่อรายการ คนไทยไม่ชอบรายการที่เข้าใจยาก แล้วก็ 3. วัฒนธรรมของคนดู ส่วนหนึ่งว่าได้หรือไม่ได้มันต้องเอามาปรับ

ก่อนหน้ารายการหนึ่งที่อยู่ในฟรีทีวีที่คนดูไม่ดู แล้ววิจารณ์ว่าพิธีกรดุดัน จริงๆ แล้วรายการนั้นเป็น QuizShow ง่ายๆ ซึ่งความเข้าใจยากและประเด็นทางวัฒนธรรมมันทำให้คนดูด่วนตัดสินใจไปหน่อย สิ่งที่ AF ขายคือ ไม่ใช่ขายความรุนแรง แต่เป็นดราม่าที่ขายความน่ารัก คนดูมีแต่เอาใจช่วยว่าเป็นแฟนของคนนั้นคนนี้ไป มันก็เลยได้อารมณ์นั้นไป”

แม้ว่าเสียงวิจารณ์ที่มองว่ารายการที่มีมาก่อนหน้าอย่าง “The Star” ว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งหากมองความแตกต่างในความเหมือน ถึงสิ่งที่ “The Star” และ “Academy Fantasia” ขายนั้นเป็นสินค้าคนละประเภทกและต่างชนิดกัน 1. ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสินค้า AF ที่ขายมีหลายอย่างตั้งแต่ คอนเสิร์ต, คอร์สการแสดง การร้องเพลง และการเต้น 2. เกมโชว์ที่เน้นการแข่งขันกับตัวเอง ก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมคนไทยที่ชอบให้กำลังใจคนที่แพ้ รอดูการพัฒนา และเอาใจเชียร์ มากว่าการจุดขายในแง่วิธีวิจารณ์อย่างในต่างประเทศ 3. และไฮไลต์ที่เป็นทีวี 24 ชั่วโมงเป็นสิ่งใหม่ที่คนไทยต้องการรู้จัก

แน่นอนว่า “สินค้า” ที่เรียลลิตี้โชว์ขายคือ การแสดงอย่างเป็นธรรมชาติที่สุดที่พึงมีของมนุษย์ อย่างคาดเดาไม่ได้ ที่ต้องสอดคล้องไปกับ Content และตัว Target Group เช่น The Star ก็ขายอารมณ์ความรู้สึกพลาดหวังผิดหวังเสียใจ หรือดีใจ เมื่อรับคำวิจารณ์จากคณะกรรมการ ให้กับกลุ่มที่ชื่นชอบฟังเพลง ผ่านการแข่งขันของนักร้อง ในขณะที่ Thailand’s Next Top Model เรียลลิตี้เกมโชว์ที่เกี่ยวกับชีวิตของสาวกลุ่มหนึ่งที่ฝ่าฟันไปเพื่อเป็นสุดยอดนางแบบ ซึ่งเป็นเนื้อหาสำหรับคนที่ชื่นชอบความงาม หรือเรื่องราวในวงการแฟชั่น

“Reality Show” จึงเป็นเรื่องของความซับซ้อนที่มาพร้อมๆ กัน ที่ต้องการสูตรสำเร็จหลายด้าน ทั้งจิตวิทยา เทคโนโลยี การตลาด และประสบการณ์ของผู้ผลิต