เส้นทางกระชับความสัมพันธ์ … ไทย-ปากีสถาน

นายชอกัต อาซิซ (Shaukat Aziz) นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐอิสลามปากีสถาน กำหนดเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งไทยเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศอาเชียนที่นายกรัฐมนตรีปากีสถานเดินทางในช่วงเดือนพฤษภาคม 2548 นี้ ที่เหลืออีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน และสิงคโปร์ โดยปากีสถานมีกำหนดลงนามความตกลงทางการค้ากับมาเลเซียซึ่งจะพัฒนาไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรี FTA กับมาเลเซียต่อไป สำหรับการเดินทางมาไทยครั้งนี้มีกำหนดเปิดสภาธุรกิจไทย-ปากีสถาน (Pakistan-Thailand Chamber of Commerce) การหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวิภาคีไทย-ปากีสถาน หารือเรื่องการจัดทำความตกลงการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย-ปากีสถาน รวมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงแผนปฏิบัติการว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (The Protocol for the Cultural Exchange Programme)

ที่ผ่านมาไทยได้จัดทำความตกลงกับปากีสถานหลายฉบับ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ในปี 2521 อนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ในปี 2523 ความตกลงทางการค้า ปี 2527 และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม ในปี 2534 และการเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะหารือความร่วมมือที่จะกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ดังนี้

– ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว –

ฝ่ายไทยจะเสนอให้เพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างไทย-ปากีสถาน ขณะที่ปากีสถานต้องการให้ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการท่องเที่ยว เช่น ระบบโรงแรม เนื่องจากไทยมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว คาดว่าความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวไปมาระหว่างไทยกับปากีสถานขยายตัวขึ้นต่อไป ในปี 2547 มีชาวปากีสถานเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 37,633 คน เพิ่มขึ้น 21.8% นับว่าปากีสถานเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่เดินทางมาไทยมากเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและบังคลาเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วน 8% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชียใต้ทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยที่มีจำนวนรวม 468,316 คนในปีที่ผ่านมา

สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปปากีสถานในปี 2547 เพิ่มขึ้น 23.26% จาก 1,754 คน ในปี 2546 เป็น 2,162 คน ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเอเชียใต้ที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวรองจากอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ตามลำดับ โดยคิดเป็นสัดส่วน 4.27% ของนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเอเชียใต้ทั้งหมดซึ่งมีจำนวนรวม 50,548 คน

– การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน … พัฒนาสู่การจัดทำ FTA –

ประเทศในเอเชียใต้ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับไทย ได้แก่ FTA ทวิภาคีระหว่างไทยกับอินเดีย โดยได้เริ่มลดภาษีสินค้าบางรายการตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 การเจรจาจัดทำ FTA กับกลุ่มประเทศ BIMST-EC ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย เนปาลและภูฏาน ดังนั้นเพื่อรักษาขีดความสามารถทางการค้าปากีสถานซึ่งเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่ยังไม่ได้จัดทำเขตการค้าเสรีกับไทย จึงสนใจที่จะจัดทำ FTA กับไทยเช่นกัน

สำหรับการค้าระหว่างไทย-ปากีสถาน แม้ว่ามูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย- ปากีสถาน(ส่งออก+นำเข้า) จะค่อนข้างน้อย (คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการค้า ระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด) แต่การค้าระหว่างกันขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้ารวมเพิ่มขึ้น 133% จาก 213 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2542 เป็น 497 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 ดังนั้นการจัดทำเขตการค้าเสรี FTA ระหว่างกัน จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น และกระตุ้นสินค้าส่งออกไทยไปปากีสถานให้ขยายตัวจากการลดภาษี และลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี

การส่งออกของไทยไปปากีสถาน ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 18.85% มูลค่า 128.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าของไทยจากปากีสถานเพิ่มขึ้น 6.37% มูลค่า 21.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับปากีสถาน 106.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเกินดุลกับปากีสถานมาโดยตลอด

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปปากีสถาน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปปากีสถาน คิดเป็นสัดส่วน 18% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยไปปากีสถาน และถือเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อันดับที่ 15 ของไทย สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัวอย่างมากในไตรมาสแรกนี้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ซึ่งขยายตัวถึง 350% เครื่องเทศและสมุนไพร (120%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (95.6%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (62.5%) และผลิตภัณฑ์ยาง (59%) เป็นต้น

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากปากีสถาน ได้แก่ ด้ายและเส้นใย โดยไทยนำเข้ามูลค่า 21.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนราว 72% ของสินค้าทั้งหมดที่ไทยนำเข้าจากปากีสถาน และเพียง 3 เดือนแรกของปี 2548 ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 205.8% จาก 5.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547 เป็น 15.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าปากีสถานเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าด้ายและเส้นใยมากเป็นอันดับที่ 5 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากปากีสถานซึ่งขยายตัวอย่างมากในไตรมาสแรกนี้ ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 250% จากช่วงเดียวกันของปี 2547 ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้น 100% ได้แก่ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเทศที่ปากีสถานส่งสินค้าออกไปขายมาก ได้แก่ สหรัฐฯ ฮ่องกง อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนประเทศที่ปากีสถานนำเข้ามาก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เศรษฐกิจปากีสถาน 2548 … เติบโตโดดเด่นในเอเชียใต้

ปากีสถานเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยมีประชากรจำนวน 155 ล้านคน รองจากจีน อินเดีย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และบราซิล รายได้ประชากรต่อคนราว 510 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่ชนชั้นกลางของปากีสถานมีจำนวนมากถึง 30 ล้านคน โดยมีรายได้ต่อคน 8,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

ปากีสถานนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียใต้ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยราว 6% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2523-2536 ส่งผลให้ปากีสถานสามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมระหว่างประเทศได้ เนื่องจากมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และมีทุนสำรองต่างประเทศเพิ่มขึ้น รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีเปอร์เวช มูชาร์ราฟ (Pervez Musharraf) ได้กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างระบบราชการและปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของ ปากีสถานมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตโดยเฉลี่ยของโลก โดยปี 2547 เศรษฐกิจเติบโต 6.4% เทียบกับ 5.1% ในปี 2546 และคาดว่าในปี 2548 เศรษฐกิจของปากีสถานจะเติบโต 7% เนื่องจากผลผลิตในภาคเกษตรมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะฝ้ายซึ่งเป็นพืชที่สำคัญที่สุดของ ปากีสถาน ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นราว 50% เมื่อเทียบกับปี 2547

* ข้อพึงระวังเศรษฐกิจปากีสถาน

– ขาดแคลนเงินทุน –

แม้ว่าปากีสถานจะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย รวมทั้งได้รับการปรับอันดับเครดิตของประเทศจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ S&P และ Moody’s แต่ปากีสถานก็ยังประสบปัญหาในการดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่มั่นคงภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าบรรยากาศด้านการลงทุนของปากีสถานมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น เพราะขณะนี้ปากีสถานได้ปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดีย ช่วยคลี่คลายความ ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และคาดว่าจะทำให้การค้าภายในเอเชียใต้ขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุนของต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่ปากีสถานเฉลี่ยราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทางการปากีสถานตั้งเป้าหมายให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ใน 3-5 ปี ข้างหน้า

– ขาดดุลการค้า –

แม้ว่าการส่งออกของปากีสถานจะขยายตัวมากกว่า 10% ต่อปี แต่ปากีสถานยังคงประสบปัญหาการขาดดุลทางการค้า เพราะปากีสถานจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้การนำเข้าขยายตัวมากกว่าการส่งออก นอกจากนี้การที่สินค้าส่งออกหลักของปากีสถานเป็นสินค้าเกษตรทำให้ผลผลิตสินค้าผันผวนได้ง่ายตามสภาพดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะภัยแล้งซึ่งกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร ขณะเดียวกันความต้องการสินค้าของปากีสถานในตลาดโลกไม่ค่อยสม่ำเสมอนัก จึงกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของปากีสถาน

* ศักยภาพเศรษฐกิจของปากีสถาน

– ภาคบริการ & ส่งเสริมด้าน IT –

ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 51% ของ GDP สาขาบริการที่สำคัญได้แก่ การขนส่ง สื่อสาร การเงิน ประกันภัย การค้าปลีกและค้าส่ง โดยมีสัดส่วนแรงงานในภาคบริการ 39% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ ปากีสถานกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสารสนเทศ และบริการทันสมัยอื่นๆ โดยออกมาตรการสร้างแรง จูงใจทางภาษีให้กับบริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามาทำธุรกิจในปากีสถาน เช่น ไม่เสียภาษีศุลกากร นำเข้าคอมพิวเตอร์ ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาทางเทคนิค ปัจจุบันมีบริษัทด้านเทคโนโลยีของปากีสถานหลายบริษัทที่ให้บริการจัดหาซอฟท์แวร์ให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลก นอกจากนี้ ปากีสถานต้องการยกระดับภาคบริการ IT รวมทั้งบริการ outsourcing ให้ทัดเทียมกับอินเดีย โดยปัจจุบันได้พยายามยกระดับมาตร-ฐานการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะของบุคลากร และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมประสิทธิภาพและผลิตผล โดยมุ่งหวังให้สามารถส่งออกซอฟท์แวร์ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกสิ่งทอที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 65% ของการส่งออกทั้งหมดของปากีสถาน

– ภาคเกษตร & ส่งออกอาหารสุทธิ –

ภาคเกษตรของปากีสถานคิดเป็น 23% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมีแรงงานในภาคเกษตร 44% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ฝ้าย อ้อย และข้าว คิดเป็นสัดส่วน 75% ของผลผลิตภาคเกษตรทั้งหมด ปากีสถานเป็นประเทศส่งออกอาหารสุทธิ โดยส่งออกข้าว ปลา ผลไม้ ผัก ส่วนสินค้าบริโภคที่นำเข้า ได้แก่ น้ำมันพืช ข้าวสาลี เป็นต้น

– ภาคอุตสาหกรรม & สิ่งทอและเสื้อผ้าโดดเด่น –

ภาคอุตสาหกรรมของปากีสถานคิดเป็นสัดส่วน 24% ของ GDP และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 17% ของแรงงานทั้งหมด การผลิตสิ่งทอที่ทำจากฝ้ายและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในปากีสถาน คิดเป็นสัดส่วน 64% ของการส่งออกทั้งหมดของปากีสถาน อุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย น้ำมันที่ใช้ทำอาหาร น้ำตาล เหล็ก ยาสูบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร และอาหารแปรรูป

– แหล่งพลังงานและแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ –

ปากีสถานมีแหล่งพลังงานมาก รวมทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน แต่การนำมาใช้ยังน้อย เพราะขาดแคลนเงินทุนและข้อจำกัดทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้านการสำรวจและขุดเจาะค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ การผลิตปิโตรเลียมใช้ภายในประเทศได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้น้ำมัน และยังคงต้องนำเข้าน้ำมัน ทำให้ปากีสถานประสบขาดดุลการค้ารัฐบาลจึงมีนโยบายให้ความสำคัญกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและก๊าซ เพื่อผลิตน้ำมันใช้เองทดแทนการนำเข้า

ดังนั้นแนวโน้มที่ปากีสถานจะพัฒนาประเทศให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป และมีความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณให้เกิดการขยายตัวทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย และการเดินทางมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีปากีสถานจึงถือเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมทางการค้าโดยขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะพัฒนาสู่การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี FTA ทวิภาคี รวมทั้ง การส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน และขยายโอกาส/ลู่ทางการลงทุนให้มากขึ้น รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น ด้านวัฒนธรรม และความร่วมมือทางวิชาการ เป็นต้น