จีนเป็นตลาดสินค้าอาหารที่น่าจับตามองเนื่องจากโอกาสเติบโตยังมีสูง ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้าอาหารในจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารส่งออกลำดับต้นๆของโลก แต่ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากรสนิยมผู้บริโภคที่เปิดกว้างรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่สวนทางกับพื้นที่ทำการเกษตรที่ลดลง นำมาซึ่งโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารของประเทศไทยที่จะพัฒนาศักยภาพและขยายการผลิตสินค้าอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการนำเข้าอาหารที่เพิ่มขึ้นของจีน
มูลค่าการบริโภคอาหารของจีนยังเติบโต….เน้นอาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ
ปัจจุบันจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารอันดับต้นๆของโลกโดยเฉพาะผลผลิตที่ได้จากภาคปศุสัตว์ ภาคเกษตรกรรม อาทิ ธัญพืชและข้าว โดยจีนมีสัดส่วนภาคการเกษตรอยู่ที่ร้อยละ 11 ของ GDP ทั้งประเทศและมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรกรรมราวร้อยละ 40 ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารมากเป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) แต่แนวโน้มการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรซึ่งสวนทางกับพื้นที่เกษตรที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสส่งออกสินค้าอาหารจากผู้ประกอบการในต่างประเทศไปยังจีนที่จะยังคงมีแนวโน้มสดใส
สภาพเศรษฐกิจและสังคมจีนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยมีความต้องการสินค้าอาหารที่หลากหลายและมีคุณภาพสูงขึ้น บรรจุภัณฑ์มีความทันสมัย นอกจากนี้ พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคชาวจีนถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องรสชาติตามพื้นที่แต่ละมณฑล แต่โดยภาพรวมผู้บริโภคชาวจีนนิยมอาหารที่ปรุงสุกใหม่โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่คนจีนรุ่นใหม่และคนจีนในเขตเมืองมีทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และนิยมอาหารแปลกใหม่และอาหารสำเร็จรูป อย่างไรก็ดี สินค้าอาหารปนเปื้อนเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญ ซึ่งส่งผลให้คนจีนใส่ในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและยังส่งผลกระทบถึงธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดในจีนที่มีแนวโน้มหดตัวลงจากการที่ผู้บริโภคชาวจีนใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2555 มูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารของจีนอยู่ที่ระดับ 4,005.4 พันล้านหยวน (หรือราว 20 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า (YoY) และคาดว่าในปี 2560 มูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,417.2 พันล้านหยวน (หรือราว 37 ล้านล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.9 ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของมูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารของจีน ได้แก่
• การเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีก เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอาหารในจีนมากขึ้น เนื่องจากทำให้การซื้ออาหารเป็นไปได้อย่างสะดวก ซึ่งในปัจจุบันมูลค่าค้าปลีกของจีนสูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศที่เติบโต อันเนื่องมาจากนโยบายการกระตุ้นการบริโภคในประเทศของภาครัฐ
• นโยบายการเร่งกระจายความเป็นเมือง (Urbanization) และรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มกำลังการจับจ่ายซื้อของ โดยระดับรายได้ต่อหัวของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 17 ต่อปี ในช่วงปี 2553 – 2555 ทั้งนี้ หลายมณฑลมีรายได้ขยับสูงขึ้น อาทิ เสฉวน ฉงชิ่ง กวางสี หูหนาน ฝูเจี้ยน และมณฑลใกล้เคียงมณฑลชายฝั่งทะเลอื่นๆ ที่มีการพัฒนาและมีรายได้สูงขึ้นทัดเทียมมณฑลติดชายฝั่งทะเล ส่งผลให้ชาวจีนในเมืองชั้นในมีกำลังการใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้าอาหารที่เน้นคุณภาพและรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นโยบายที่สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้มูลค่าการบริโภคอาหารเติบโต
อิทธิพลละคร ภาพยนตร์ ท่องเที่ยว เสริมตลาดอาหารไทยสร้างความนิยมในจีนต่อเนื่อง
อิทธิพลของละคร ภาพยนตร์ไทย และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ยังเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความคุ้นเคยและต้องการสินค้าอาหารไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ พบว่าจากกระแสละคร ภาพยนตร์ไทย รวมทั้งภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในไทย ส่งผลต่อเนื่องให้ชาวจีนจำนวนมากที่ต้องการได้รับประสบการณ์เหมือนในภาพยนตร์และละคร มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงซื้อหาสินค้าและอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น โดยตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยพบว่าในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2556 ไทยมีนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวนทั้งสิ้น 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90.27 (YoY) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวจีนเข้าถึงอาหารไทยสูงขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพการส่งออกอาหารจากไทยไปจีน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ อาหารและน้ำตาล ซึ่งในส่วนของการส่งออกน้ำตาลของไทยไปจีนค่อนข้างถูกจำกัดด้วยนโยบายควบคุมการนำเข้าน้ำตาลของจีนจากต่างประเทศ ที่เป็นไปเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศของจีนเอง ประกอบกับจีนมีแนวโน้มหันไปนำเข้าน้ำตาลจากประเทศบราซิลมากขึ้น (ส่วนหนึ่งจากต้นทุนราคาที่ต่ำกว่าสินค้าจากไทยโดยเปรียบเทียบ) จนส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลของไทยไปจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 หดตัวถึงร้อยละ 85 (YoY)
อย่างไรก็ดี การส่งออกอาหารของไทยไปจีน กรณีที่ไม่รวมน้ำตาล มีโอกาสขยายตัวค่อนข้างสูง โดยจะเห็นได้จากช่วง 7 เดือนแรกของปี 2556 อาหารไทยที่ส่งออกไปจีนขยายตัวถึงร้อยละ 41 (YoY) โดยเฉพาะสินค้าอาหารในกลุ่มผลไม้ แป้งมันสำปะหลัง ข้าว ธัญพืช และอาหารแปรรูปยังมีแนวโน้มเติบโตสูงจากปัจจัยด้านการขยายตัวของภาคการบริโภคในจีน รวมทั้งภัยธรรมชาติที่จีนเผชิญอยู่ และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2556 ก็น่าจะเป็นแรงส่งที่สำคัญทำให้การนำเข้าอาหารของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปีนี้ จะพึ่งพาการส่งออกอาหารที่ไม่ใช่น้ำตาลเป็นหลัก โดยคาดว่าในปี 2556 มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารไม่รวมน้ำตาลของไทยไปจีนจะอยู่ที่ราว 1,660 – 1,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวในช่วงร้อยละ 17 – 23 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 19
โดยสินค้าอาหารไทยที่มีโอกาสขยายธุรกิจไปยังตลาดจีน สามารถแบ่งได้ดังนี้
ผลไม้ เครื่องปรุงรสอาหาร ร้านอาหารไทย…มีโอกาสเจาะขยายตลาดในจีน
ผลไม้ เครื่องปรุงรสอาหาร และร้านอาหารไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่ผู้บริโภคจีนมีความนิยมในอาหารไทยอยู่แล้ว การเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ ประกอบกับการตอบรับการมีประสบการณ์ในการบริโภคสินค้าอาหารไทยที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว การดูละคร และภาพยนตร์ เป็นตัวส่งให้ธุรกิจอาหารในกลุ่มนี้เติบโต
โดย ผลไม้ไทย ถือว่าเป็นผลไม้สำหรับผู้ที่มีฐานะดี เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง โดยทุเรียน มังคุด เงาะ และ ลำไย ถือเป็นผลไม้ยอดนิยม
• รสนิยมผู้บริโภค : ผู้บริโภคทางตอนใต้ของจีนจะนิยมทุเรียน ในขณะที่จังหวัดทางภาคเหนือลำไยจะได้รับความนิยมมากกว่า นอกจากนี้ กระแสรักสุขภาพในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอีกโอกาสที่จะช่วยเปิดตลาดผลไม้ไทยอีกหลายชนิดเข้าสู่ในตลาดจีน มีสรรพคุณเด่นในด้านการส่งเสริมสุขภาพและความงาม อาทิ กล้วยไข่ มะเฟือง น้อยหน่า มะขาม สัปปะรด ถือเป็นการส่งเสริมผลไม้ไทยชนิดอื่นให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนมากขึ้น
• รูปแบบและช่องทางการจัดจำหน่าย : ผลไม้ไทยถือได้ว่าเป็นผลไม้พรีเมี่ยม ซึ่งจะสามารถหาซื้อได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าที่เป็นแหล่งรวมสินค้านำเข้าและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (ไฮเปอร์มาร์เก็ต)
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันตลาดหลักของผลไม้ไทยยังคงเป็นพื้นที่ทางฝั่งตะวันออก เจ้อเจียง เหลียวหนิง ซานตง เหอเป่ย และ กว่างตง ซึ่งเป็นแหล่งที่ประชากรมีรายได้สูง แต่จากรายได้ของประชากรที่มากขึ้นประกอบกับการขยายของชุมชนเมืองทำให้เกิดโอกาสในการส่งเสริมและขยายตลาดผลไม้ไทยไปยังพื้นที่ตะวันตกมากขึ้น นอกจากนี้ ผลไม้เขตร้อนที่ปลูกในทางตอนใต้ของจีน อาจได้รับความเสียหายจากน้ำที่ท่วม ส่งผลให้เป็นผลไม้ไทยมีโอกาสขยายตลาดในจีนได้มากขึ้น
เครื่องปรุงรสอาหาร
• รสนิยมผู้บริโภค : บางรายการคุณภาพเครื่องเทศของจีนยังไม่สามารถเทียบเท่ากับสินค้าจากไทยได้ และถึงแม้จะสามารถผลิตได้เองในบางรายการแต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทย เช่น พริกไทยป่น พริกป่น เครื่องแกง ซอส น้ำปลา กะทิ และวัสดุปรุงรสอื่นๆ จีนยังต้องการนำเข้าจากไทย ในขณะที่ กระแสความนิยมอาหารฟิวชั่นก็เป็นตัวส่งให้เครื่องปรุงรสของไทยหลายประเภทมีโอกาสเข้าไปทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำจิ้มไก่ที่สามารถนำไปรับประทานกับอาหารจีนและเป็นที่นิยม
• รูปแบบและช่องทางการจัดจำหน่าย : ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายสินค้าชั้นนำที่มีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศวางขายอยู่ทั่วไป
ร้านอาหารไทย ยังมีโอกาสเติบโตเนื่องจากได้รับความนิยมจากชาวจีน (ปัจจุบันร้านอาหารไทยส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทางทางภาคตะวันออกของประเทศจีน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทางตอนในของประเทศ อาทิ เฉิงตู) โดยกลุ่มลูกค้าหลักของร้านอาหารไทยในจีนแบ่งได้สามกลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้บริโภควัยทำงานที่มีรายได้ค่อนข้างสูง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมการลองบริโภคอาหารต่างชาติ และกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งในปัจจุบันร้านอาหารไทยในจีนมีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ประกอบการเป็นคนจีนและต่างชาติ ถึงแม้ว่าร้านอาหารไทยในจีนจะมีการปรับรสชาติให้ถูกปากคนท้องถิ่น แต่ในการลงทุนธุรกิจร้านอาหารไทยผู้ประกอบการไทยควรเน้นบรรยากาศและบริการที่สื่อถึงความเป็นไทย เนื่องจากการที่ชาวจีนมีการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติประกอบกับที่มีประสบการณ์เที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ทำให้มีความต้องการรับประทานอาหารไทยที่มีรสชาติดั้งเดิมมากขึ้น
นอกจากนี้ คนจีนรุ่นใหม่ชอบที่จะเรียนทำและทำอาหารไทยต้นตำรับโดยถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่น โดยอาหารที่คนจีนสนใจเรียน ได้แก่ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ยำวุ้นเส้น ข้าวผัดหมู ซึ่งทำให้คอร์สการสอนทำอาหารไทยเป็นอีกธุรกิจที่ไม่น่ามองข้าม
สินค้าเกษตรอินทรีย์ และ สินค้าฮาลาล…ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ
ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีแนวโน้มเติบโตจากอานิสงส์จากกระแสรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อจะเป็นกลุ่มที่อาศัยบริเวณมณฑลที่ติดชายฝั่งทะเล และมีฐานะปานกลางขึ้นไปเนื่องจากสินค้าอาหารที่ผลิตจากเกษตรอินทรีย์ยังมีราคาที่สูง ซึ่งตลาดนี้ยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรไทยที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการขยายตลาด โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมได้แก่ ชา ไข่ ข้าว และผลไม้
นอกจากนี้ ตลาดสินค้าอาหารฮาลาล ในจีนเป็นตลาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยตลาดอาหารฮาลาลในจีนมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของตลาดฮาลาลโลก โดยชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจีนอาศัยในพื้นที่ตอนกลางและตอนในของประเทศ (เขตปกครองอิสระหนิงเซี่ย มณฑลกานซู เขตปกครองอิสระมองโกเลียใน และเขตปกครองอิสระซินเจียง และกระจายไปตามเมืองใหญ่ อาทิ ปักกิ่ง (มีชาวมุสลิมราว 500,000 คน) เซินเจิ้น (มีชาวมุสลิมราว 120,000 คน) เซี่ยงไฮ้ (มีชาวมุสลิมราว 70,000 คน) กวางโจว (มีชาวมุสลิมราว 60,000 คน) และซีอาน (มีชาวมุสลิมราว 50,000 คน) นอกจากนี้ การกระจายรายได้เข้าสู่พื้นที่ตอนในยังส่งผลให้ชาวมุสลิมมีรายได้มากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสินค้าฮาลาลจากกำลังซื้อที่มีเพิ่มขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการเข้าไปทำตลาดในจีนจะมีปัจจัยส่งเสริมหลากหลายปัจจัย แต่ยังคงมีประเด็นท้าทายที่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารของไทยต้องให้ความสำคัญ ทั้งจากแนวโน้มการแข่งขันของสินค้าอาหารในจีนจากประเทศในอาเซียนเข้มข้นขึ้น โดยปัจจุบันอาเซียนมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารของจีนราวร้อยละ 15.5 โดยเฉพาะอินโดนีเซีย (ประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน1) มาเลเซีย (อันดับที่ 2) เวียดนาม (อันดับที่ 4) รวมถึงผู้ผลิตจากจีนเองที่มีการพัฒนาทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพการผลิต ซึ่งคู่แข่งของผลไม้ไทยได้แก่จีนซึ่งเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนในมณฑลกว่างซี ในขณะที่มาเลเซียเพิ่มการส่งออกทุเรียนมายังจีนมากขึ้น นอกจากนี้ เครื่องปรุงรส เครื่องเทศ หลายชนิดของไทยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องเทศของจีน โดยจีนและเวียดนามเป็นคู่แข่งด้านตลาด อีกทั้ง ผู้ผลิตเครื่องเทศของไทยยังมีความท้าทายในเรื่องของปริมาณผลผลิตและความไม่สม่ำเสมอของคุณภาพวัตถุดิบ ทำให้สินค้าขาดตลาดในบางช่วงเวลา อาจส่งผลให้ผู้บริโภคซื้อหาเครื่องเทศจากประเทศอื่นที่ใช้ทดแทนกันได้ ส่วนร้านอาหารไทย ยังขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวคนไทย เนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมายแรงงานของประเทศจีน ทำให้การนำเข้าพ่อครัวแม่ครัวจากไทยโดยตรงจึงมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งปัญหาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพ่อครัวแม่ครัวไทยในจีน