ไทยเยือนอินเดีย & ภูฏาน :สานสัมพันธ์ – ผลักดัน FTA

การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียและภูฏานนับเป็นการสร้าง ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียใต้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจาก 7.5% ในปี 2546 เป็น 6% ในปี 2547 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของโลกที่ขยายตัว 4% ในปี 2547 และธนาคารโลกคาดว่าปี 2548 และ 2549 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของภูมิภาคเอเชียใต้จะขยายตัว 6.3% และ 6% ตามลำดับ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า อินเดียและภูฏาน เป็นประเทศในเอเชียใต้ที่กำลังมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกในฐานะเป็นแหล่งดึงดูดการ ลงทุนที่สำคัญอันดับต้นๆ เนื่องจากแรงงานมีคุณภาพและค่าแรงงานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการว่าจ้างแรงงานประเภทเดียวกันในประเทศอื่นๆ และมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ประเด็นที่น่าสนใจของ 2 ประเทศดังกล่าวมีดังนี้

? อินเดีย หลังจากอินเดียเปิดเสรีทางเศรษฐกิจปี 2534 ได้มีการแปรรูป รัฐวิสาหกิจในกิจการไฟฟ้า พลังงานและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารในปี 2543 ทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในอินเดียจำนวนมาก ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6% ต่อปี ภาคบริการของอินเดียเป็นภาคที่เติบโตมากที่สุด โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ซึ่งมีความก้าวหน้าและทันสมัยมาก และ ทำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออกสินค้าและบริการด้าน IT จำนวนมาก สาเหตุเนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังทั้งระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยมีการจัดตั้ง Software Technology Parks of India (STPI) ซึ่งเป็นองค์กรเฉพาะของภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาการส่งออกซอฟท์แวร์

แม้ว่ารายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนของอินเดียค่อนข้างต่ำราว 627 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เทียบกับรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนของไทยราว 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่อินเดียนับว่าเป็นตลาดที่สำคัญ เพราะประชากรที่มีกำลังซื้อสูงโดยมีรายได้ระดับกลาง-สูงมีประมาณ 300 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดของอินเดีย 1,080.3 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาชาติคาดกาณ์ว่า ในอนาคตอินเดียจะมีประชากรมากเป็นอันดับ 1 แซงหน้าจีน ภายในปี ค.ศ.2030

สินค้าส่งออกสำคัญของอินเดีย ได้แก่ อัญมณีและกึ่งอัญมณี ผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องหนัง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียม น้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เหล็ก และปุ๋ย ตลาดส่งออกหลักของอินเดีย ได้แก่ สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง อังกฤษ เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น และเบลเยี่ยม ส่วนประเทศที่อินเดียนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ เบลเยี่ยม จีน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ปัจจุบันอินเดียถือเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยอินเดียพยายามลดกฎระเบียบด้านการลงทุนของต่างชาติ และใช้มาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเห็นว่า ปัญหาความล่าช้าของระบบราชการของอินเดียเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนของต่างชาติในอินเดีย ทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอินเดียไม่เป็นไปตามที่อินเดียตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ปี 2540 ที่ต้องการให้มี FDI เข้าประเทศ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

สำหรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ทั้งหมดในอินเดียปี 2547 มีมูลค่า 3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศที่เข้าไปลงทุนโดยตรงในอินเดียมากที่สุด ได้แก่ มอริเชียส คิดเป็นสัดส่วน 31.23% ของ FDI ทั้งหมดในอินเดีย รองลงมาได้แก่ สหรัฐฯ (20.15%) โดยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า เวชภัณฑ์ และบริการด้านการให้คำปรึกษา นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียที่เข้าไปลงทุนในอินเดียมาก ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ ค่ายรถชั้นนำของญี่ปุ่น ร่วมมือขยายธุรกิจในอินเดียกับบริษัทฮินดูสถาน มอเตอร์สจำกัด (เอชเอ็มแอล) ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ของอินเดีย และบริษัทปอสโก ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่จากเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนโครงการเหล็กในอินเดีย

? สำหรับภูฏานมีประชากรรวมราว 2.2 ล้านคน รายได้ประชาชาติต่อคนต่อปี เพียงราว 311 ดอลลาร์สหรัฐฯ 2 นับว่าเป็นประเทศที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ เป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล ประชากรส่วนใหญ่ (90%) ประกอบอาชีพทางการเกษตรและป่าไม้ เศรษฐกิจของภูฏานจึงขึ้นอยู่กับภาคเกษตรและป่าไม้ราว 33.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นอกจากนี้ภูฏานต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนมาก คิดเป็น 33% ของ GDP รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประเทศตะวันตก และญี่ปุ่นในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของภูฏานผูกพันกับอินเดียมาก เนื่องจากอินเดียให้ความช่วยเหลือในลักษณะเงินให้เปล่าและเงินกู้แก่ภูฏาน อีกทั้งอินเดียยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของภูฏานจากการส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำไปอินเดีย และมีแนวโน้มว่าปริมาณความต้องการกระแสไฟฟ้าของอินเดียจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดว่าภูฏานจะมีรายได้เข้าประเทศจากการผลิตกระแสไฟฟ้าให้อินเดียเพิ่มขึ้นด้วย

สินค้าส่งออกที่สำคัญของภูฏาน ได้แก่ เครื่องเทศ แร่ยิบซั่ม ไม้ซุง สินค้าหัตถกรรม ซีเมนต์ ผลไม้ ไฟฟ้าและหินมีค่า ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ธัญพืช เครื่องจักรและชิ้นส่วนรถบรรทุก ผ้า และข้าว ตลาดส่งออกหลักของภูฏาน ได้แก่ อินเดีย และบังคลาเทศ ส่วนประเทศหลักที่ภูฏานนำเข้า ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย

ความสัมพันธ์ไทย-อินเดียแน่นแฟ้นมากขึ้น หลังจากที่อินเดียดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในปี 2534 และเริ่มนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ซึ่งให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกมากขึ้น สรุปความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินเดียด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนี้

• การค้าไทย-อินเดีย

มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดีย (ส่งออก+นำเข้า) ค่อนข้างน้อย โดยมีสัดส่วนประมาณ 1% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด แต่มูลค่าการค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 800.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2542 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.7% ของการค้าระหว่างประเทศของไทย เพิ่มขึ้น 156% เป็น 2,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1.06 % ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด โดยไทยขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไทยค้ากับอินเดียมากที่สุดในเอเชียใต้คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกับเอเชียใต้

มีแนวโน้มว่าในปี 2548 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียจะเพิ่มขึ้น และไทยน่าจะเกินดุลการค้ากับอินเดียเป็นปีแรก เนื่องจากช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการค้าไทย-อินเดีย เพิ่มขึ้น 38.8% เป็น 976.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 ที่มีมูลค่าการค้า 703.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกไปอินเดียขยายตัวถึง 105.46% จาก 245.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 4 เดือนแรกปี 2547 เป็น 504.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าของไทยจากอินเดียขยายตัว 3.10% มูลค่า 471.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2547 ที่ไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 457.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียใน 4 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่า 32.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับยอดขาดดุลการค้า 212.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547

สาเหตุที่ไทยขยายสินค้าส่งออกไปอินเดียมาก และทำให้ดุลการค้าของไทยจากเดิมที่ขาดดุลกับอินเดียกลับเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ต้นปี 2548 ส่วนหนึ่งเพราะการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายใต้การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดีย โดยได้เริ่มต้นลดภาษีสินค้าบางรายการ (Early Harvest Scheme : EHS) รวม 82 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 และกำหนดให้ลดภาษีเหลือ 0% สำหรับสินค้าทั้งหมดภายใน 3 ปี (1 กันยายน 2549) สินค้า EHS ซึ่งเริ่มลดภาษีไปแล้ว เช่น ผลไม้ (เงาะ สำไย มังคุด ทุเรียน องุ่น) ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ ตลับลูกปืน เป็นต้น

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดียช่วง 4 เดือนแรกนี้ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำมันดิบ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ยางพารา และอัญมณีและเครื่องประดับ

สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดียเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วน 67.28% สินค้าเชื้อเพลิง (16.68%) สินค้าทุน (8.69%) สินค้าอุปโภคบริโภค (4.83%) ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (2.33%) เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน 4 เดือนแรกปี 2548 ไทยนำเข้าส่วนประกอบ อุปกรณ์และยานพาหนะเพิ่มขึ้นมาก โดยการนำเข้าขยายตัวถึง 1,600% น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 203% ส่วนสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่ขยายตัวมาก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (111%) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (71%) และเคมีภัณฑ์ (35%) ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินเดียลดลง เช่น พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (-68%) ด้ายและเส้นใย (-53%) เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-45%) และสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (-41%)

ขณะนี้การเจรจา FTA ไทย-อินเดียอยู่ระหว่างเจรจาแลกเปลี่ยนรายการสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Products) ซึ่งมีกระแสกดดันภายในประเทศอินเดียที่กังวลว่าจะอินเดียจะเสียเปรียบดุลการค้ากับไทยมากขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรให้ไทยภายใต้ FTA และแรงกดดันจากประเทศที่สามซึ่งเป็นประเทศหลักที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย ได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีที่ไม่ต้องการให้อินเดียลดภาษีให้ไทย เพราะกลัวเสียเปรียบทางการแข่งขัน ทำให้การเจรจา FTA ไทย-อินเดียหยุดชะงักไป แต่คาดว่าการเดินทางเยือนอินเดียของ พ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้จะผลักดันให้การเจรจา FTA ระหว่างกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายภายในปี 2548 โดยกำหนดการเจรจาหารือครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้

• การท่องเที่ยวไทย-อินเดีย

นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินเดียจำนวน 29,835 คน ในปี 2547 เพิ่มขึ้น 32.21% เมื่อเทียบกับปี 2546 โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วน 59% ของนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งหมด โดยอินเดียถือเป็นประเทศที่ไทยเดินทางท่องเที่ยวอันดับ 1 ในเอเชียใต้ รองลงมา ได้แก่ ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ และปากีสถาน ตามลำดับ

สำหรับชาวอินเดียที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยปี 2547 เพิ่มขึ้น 30.33% จาก 230,790 คน ในปี 2546 เป็น 300,163 คน คิดเป็นสัดส่วน 2.58% ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาไทยทั้งหมด และสัดส่วน 64% ของนักท่องเที่ยวในเอเชียใต้ที่เดินทางมาไทยทั้งหมด โดยอินเดียถือเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเป็นอันดับ 1 เช่นกัน รองลงมาได้แก่ บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา เนปาล ตามลำดับ

• การลงทุนไทย-อินเดีย

บริษัทอินเดียเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2513 โดยร่วมลงทุนกับบริษัทของคนไทย และขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าการลงทุนรวมราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเข้ามาลงทุนผลิตเส้นใย สิ่งทอ คาร์บอน และยา บริษัทอินเดียที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น

– บริษัทไทยเรยอน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มเบอร์ล่า บริษัทใหญ่ชั้นนำของอินเดียเข้ามาลงทุนผลิตเส้นใยในไทย โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตในปี 2548 ซึ่งใช้เงินลงทุน 480 ล้านบาท เพื่อติดตั้งสายการผลิตใหม่เพื่อผลิตเส้นใยพิเศษ (โมดาล) ปรับปรุงโรงงานและ เครื่องจักรให้ทันสมัย
– บริษัทให้บริการอบรมความรู้ด้านไอทีรายใหญ่ของอินเดียเข้ามาลงทุนในไทยในปี 2547

สำหรับสถิติโครงการของอินเดียที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2547 มีจำนวน 20 โครงการ มูลค่ารวม 2,096 ล้านบาท และใน 4 เดือนแรกของปี 2548 มีโครงการของอินเดียขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวม 6 โครงการ มูลค่า 409 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนของอินเดียในสาขาต่างๆ ได้แก่ เคมีภัณฑ์และกระดาษ ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ ภาคเกษตร แร่ธาตุและเซรามิก และเหล็กและเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทางด้านการลงทุนของไทยในอินเดีย ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินเดียมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ และเป็นอันดับที่ 18 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยนักลงทุนไทยไปลงทุนในอินเดียด้านอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตผลทางการเกษตร อุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ

ความสัมพันธ์ไทย-ภูฏาน

• การค้าไทย-ภูฏาน

ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับภูฏานมาโดยตลอด แม้ว่ามูลค่าระหว่างกัน (ส่งออก+นำเข้า) ค่อนข้างน้อย แต่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากมูลค่าการค้าไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 เพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกปี 2548 ไทยส่งออกไปภูฏาน 6 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 ที่ส่งออก 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยไม่มีการนำเข้าจากภูฏานในช่วง 4 เดือนแรกนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยแทบจะไม่ได้นำเข้าจากภูฏาน ยกเว้นเพียงบางปีเท่านั้นซึ่งมูลค่านำเข้าเพียงราว 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าที่ไทยส่งออกไปภูฏาน ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน เป็นต้น

•การลงทุน/การท่องเที่ยวไทย-ภูฏาน

ไทยกับภูฏานยังไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ทางการลงทุนมากนัก ส่วนด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไป-มาระหว่างไทยกับภูฏานมีไม่มากเช่นกัน โดยปี 2547 นักท่องเที่ยวชาวภูฏานเดินทางมาไทยจำนวน 7,316 คน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไป ภูฏานจำนวน 339 คน อย่างไรก็ตาม ไทยได้จัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศกับภูฏานในปี 2536 และจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันในปี 2545 คาดว่าการลงทุนและการท่องเที่ยวไป-มาระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นจากการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในการเยือนระดับผู้นำครั้งนี้

นอกจากนี้ จากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีภายในกลุ่ม BIMST-EC ซึ่งไทยและภูฏานเป็นสมาชิกร่วมกับชาติอื่นๆ อีก 5 ประเทศ จะช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันให้ขยายตัวขึ้น

การที่ภูฏานมีความสัมพันธ์กับอินเดียอย่างใกล้ชิด โดยอินเดียเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของภูฏาน และเป็นตลาดส่งออกกว่า 80% ของตลาดส่งออกทั้งหมดของภูฏาน ประกอบกับเป็นประเทศที่ภูฏานพึ่งพาการนำเข้าราว 90% ของการนำเข้าทั้งหมดของภูฏาน รวมทั้งอินเดียยังเป็นผู้ให้เงินกู้แก่ภูฏานมากที่สุดด้วย ดังนั้นการที่ไทยจะเจาะตลาดภูฏานเพื่อส่งออกสินค้าไทยอาจอาศัยอินเดียเป็นช่องทางการค้าเข้าสู่ตลาดภูฏานต่อไป

ไทย-อินเดีย-ภูฏาน : สมาชิกกลุ่ม BIMST-EC

นอกจากความสัมพันธ์ทวิภาคีของไทยกับอินเดียและภูฏานแล้ว ไทย อินเดีย และภูฏาน มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสมาชิกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIMST-EC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งในปี 2540 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ โดยรวมบังคลาเทศ พม่า ศรีลังกา และเนปาล เป็นสมาชิกด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 กลุ่ม BIMST-EC ได้พัฒนาความร่วมมือไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) โดยได้ลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC ครอบคลุมการลดภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างสมาชิก การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการลงทุน การส่งเสริมการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ความร่วมมือด้านศุลกากร การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันด้านมาตรฐาน (Mutual Recognition Arrangement : MRA) นับว่ากลุ่ม BIMST-EC เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 1,300 ล้านคน ซึ่งประเทศสมาชิกในกลุ่มจะได้รับประโยชน์จากการลดอุปสรรคทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี และขณะนี้กลุ่ม BIMST-EC อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีภายใต้กรอบความตกลงฯ ที่กำหนดให้เจรจาเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าเสร็จสิ้นในปี 2548 และเจรจาการค้าบริการและการลงทุนให้เสร็จสมบูรณ์ในปี 2550

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าความร่วมมือและการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียและภูฏานภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIMST-EC และกรอบทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำ FTA ไทย-อินเดีย จะส่งผลดีต่อไทย ดังนี้

– แหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น เพชรพลอย อัญมณี เหล็กและเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และอาหารทะเล เป็นต้น การลดภาษีของกลุ่ม BIMST-EC จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของไทยต่ำลง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าส่งออกไทยในตลาดโลก
– ตลาดส่งออกใหม่ของไทย เพื่อขยายตลาดสินค้าส่งออกของไทย และลดการขาดดุลการค้าที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ นอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิม ซึ่งไทยมักประสบปัญหากีดกันทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) หรือมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and Phytosanitary Measure : SPS) ที่เข้มงวด

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเยือนอินเดียและภูฏานครั้งนี้ คาดว่าจะกระตุ้นให้การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันขยายตัว เป็นช่องทางกระจายสินค้าส่งออกไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ และผลักดันให้การเจรจา FTA ไทย-อินเดียเกิดผลคืบหน้าต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสที่นักธุรกิจไทยจะสานต่อความสัมพันธ์ สร้างพันธมิตรในการทำธุรกิจ/ลงทุนร่วมกัน โดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ ไทยจึงควรพิจารณาร่วมมือทำธุรกิจกับอินเดีย เช่น ด้าน IT เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และด้านไบโอเทคเพื่อพัฒนาภาคเกษตรและยารักษาโรค