กรุงเทพฯ 9 มิถุนายน 2548 — งานสัมมนา “Euro-Thailand IT CO-Operation 2005”หรือ EuroThailand 2005 สำเร็จตามเป้าหมาย สร้างกระแสตื่นตัวในวงการวิจัย มีผู้ร่วมสัมมนาทั้งชาวไทย ยุโรป และนานาชาติกว่า 250 คน เน้นให้ข้อมูลด้านโอกาสความร่วมมืออย่างครบเครื่อง ดันสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างองค์กร พร้อมสนับสนุนความร่วมมือโดยตรงระหว่างบริษัท สถาบันวิจัยใน
ดร. ฟรีดดริก ฮัมบวร์กเกอร์ อัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับงานวิจัยเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีใช้งบประมาณไปเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเล็งเห็นว่างานวิจัยและเทคโนโลยีเป็นหัวใจของแนวคิด การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งยังช่วยค้นพบแนวทางในการดูแลสิ่งแวดล้อม พัฒนาอาหารและยาที่ปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งการรักษาแหล่งพลังงานของโลก ซึ่งสหภาพยุโรปมอบเงินทุนอุดหนุนสำหรับงานวิจัยผ่านโครงการ Sixth Framework (FP6) โดยจัดสรรเงินจำนวน 17,500 ล้านยูโร หรือราว 875,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาระหว่างปี 2545 ถึง 2549
พร้อมกันนี้ นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรปในด้านการพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภายในงานสัมมนา “Euro-Thailand IT CO-Operation 2005” มีการแนะนำผู้เข้าร่วมโครงการ และนำเสนอภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมถึงได้แนะนำโครงการ Sixth Framework และกลยุทธ์การดำเนินโครงการ GAPFILL และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมา รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต
นอกจากนี้ ตลอดสองวันของการจัดสัมมนา ผู้เข้าร่วมงานยังได้มีโอกาสสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน โดยมีการนำร่างข้อเสนอโครงการวิจัยมาแสดงต่อที่ประชุม โดยมีผู้ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานต่อที่ประชุมจำนวน 38 ชิ้น จากร่างข้อเสนอจำนวนทั้งหมด 50 ชิ้น
การรายงานข้อเสนอแบ่งออกเป็นสามส่วนซึ่งครอบคลุมงานด้านการวิจัยและพัฒนา งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ e-Health, e-Learning เครือข่ายสำหรับอนาคต ซอฟท์แวร์และบริการ การบริหารความเสี่ยง นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงาน ความร่วมมือในงานด้านสิ่งแวดล้อม
รศ. ดร. ชาตรี ศรีไพพรรณ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ข้อเสนอโครงการวิจัยส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกให้นำเสนอในครั้งนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จมาก หลายโครงการต้องเร่งดำเนินการและยังสอดคล้องกับโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขานาโนเทคโนโลยี ไบโอดีเซล หรือพลังงานทางเลือก ไบโอเซฟตี้ และเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบคุณภาพ
“งานสัมมนา EuroThailand 2005 ครั้งนี้ ประสบความสำเร็จอย่างดี สามารถสร้างกระแสตื่นตัวให้แก่วงการวิจัยของไทย และก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมระหว่างยุโรปและไทยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งในอดีตความร่วมมือส่วนใหญ่จะจำกัดเฉพาะกลุ่มทุนเอกชนและโครงการบัณฑิตวิทยาลัยเท่านั้น แต่โครงการ EuroThailand 2005 ได้เพิ่มมุมมองที่กว้างขึ้น และมีหลายมิติ อีกทั้งยังมุ่งไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในระดับทวิภาคีด้วย ผมจึงเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นแรงผลักที่เปี่ยมด้วยพลังที่จะสร้างสรรค์การพัฒนา และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่วงการวิจัยและพัฒนาในระดับประเทศ รวมถึงระดับทวิภาคีได้ต่อไป” รศ. ดร. ชาตรี กล่าวเสริม
โครงการ EuroThailand 2005 ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นองค์กรไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยหน่วยงานที่สนใจสามารถส่งร่างข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนจากพันธมิตรยุโรป ซึ่งจะหมดเขตรับร่างข้อเสนอโครงการในวันที่ 21 กันยายน 2548 ซึ่งทุกโครงการที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณา กลั่นกรอง และสรุปผลจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรปให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2549
“ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการแข่งขันได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ความสำเร็จของชาติขึ้นอยู่กับความก้าวหน้า รวมไปถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ โครงการ EuroThailand 2005 จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะให้เราได้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับนานาชาติได้” รศ. ดร. ชาตรี กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ EuroThailand 2005
โครงการความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไทย-ยุโรป (Euro-Thailand IT Co-operation 2005) หรือ EuroThailand 2005 เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมข้อมูลสารสนเทศแห่งคณะกรรมาธิการยุโรป ภายใต้กรอบโครงการ GAPFILL มีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมืออันแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างยุโรปและไทย โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เปิดกว้างสำหรับองค์กรของไทยและยุโรป อาทิ สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานวิจัยและพัฒนา ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และบริษัทขนาดใหญ่
ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและโครงการความร่วมมือต่างๆ ระหว่างยุโรปและประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้ทางเว็บไซต์ www.eurothailand-it.org