อาหารเสริมสุขภาพปี’48 : ตลาดขยายตัวร้อยละ 11

ตลาดอาหารเสริมสุขภาพในประเทศไทยนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ กระแสการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน โดยการทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพโดยรวมปี 2548 จะมีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท( 455 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับในปี 2547 อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 ยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพจะลดลงร้อยละ 20 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อภาพรวมของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ โดยในส่วนของร้านขายยาที่มีการสั่งสินค้าลดน้อยลง และในแง่จิตวิทยาของผู้บริโภคเองก็ซื้อสินค้าลดลง แต่จากการที่บรรดาผู้ประกอบการคาดว่ายอดขายในไตรมาส 2 และ 3 จะกลับมาดีขึ้น จากการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายและการเร่งทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการที่จะมีผลต่อการกระตุ้นยอดขายในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2548 ให้กลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ในที่สุด

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่จำหน่ายในประเทศไทย แยกออกเป็น

1. ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศ เช่น กระเทียมแคปซูล ซุปไก่สกัด สารสกัดจากส้มแขก เป็นต้น มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากราคานั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพนำเข้า เนื่องจากผู้ผลิตอาหารเสริมสุขภาพในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และการผลิตไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้อยมาก มีการคาดการณ์ว่าอาหารเสริมสุขภาพที่นำเข้าในลักษณะ Bulk Shipment นั้นผู้ผลิตอาหารเสริมสุขภาพในประเทศจะนำมาบรรจุหีบห่อใหม่และนำมาผสมกับวัตถุดิบในประเทศเพื่อจำหน่ายต่อไป ดังนั้นมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศจะมีการนับรวมผลิตภัณฑ์ส่วนนี้เข้าไปด้วย ทำให้มูลค่าตลาดนั้นจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่นำเข้า

ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศยังมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นการนำเงินตราเข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำในแต่ละปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่ส่งออกส่วนหนึ่งเป็นการผลิตของบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยการใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทย เช่น นมผึ้ง เกสรดอกไม้ กระเทียม พริกไทย น้ำมันปลา เป็นต้น และนำเข้าวัตถุดิบบางชนิดเข้ามาเป็นส่วนผสมในการผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก

2.ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ กลุ่มผู้มีรายได้ระดับสูงถึงปานกลาง การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพของไทยมี 2 ลักษณะ คือ การนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และการนำเข้าในลักษณะ Bulk Shipment โดยมีสัดส่วนการนำเข้าอย่างละครึ่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่นำเข้าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการแบ่งบรรจุเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่นำเข้าจะเป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายที่ไม่มีโรงงานผลิตในประเทศ ซึ่งผู้ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปส่วนใหญ่จะจำหน่ายผ่านช่องทางการขายตรง ส่วนการนำเข้าในลักษณะ Bulk Shipmentนั้นจะเป็นบริษัทผู้ผลิตยา ซึ่งจะนำมาแบ่งบรรจุ และจัดจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพประเภทนี้จะมีราคาต่ำกว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่นำเข้าในลักษณะสำเร็จรูป และการจัดจำหน่ายส่วนใหญ่จะเน้นผ่านเคาน์เตอร์ เนื่องจากมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายรองรับอยู่แล้ว

ข้อได้เปรียบของอาหารเสริมสุขภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศคือ มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายประเภท มีระบบการพัฒนาเครือข่ายและระบบการส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อสร้างยอดขายให้สูงขึ้น โดยระบบเหล่านี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ แม้ว่าตัวแทนจำหน่ายจะต้องการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่ก็ต้องมีการนำเข้ามาจำหน่ายด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อถือเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานสากลของการผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งส่วนผสมของอาหารเสริมสุขภาพในต่างประเทศบางอย่างหาได้ยากในเมืองไทย

นอกจากนี้คนไทยมีแนวโน้มยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่นำเข้า เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์มากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งแหล่งนำเข้านั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลียได้รับความนิยมมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าผู้ผลิตในประเทศเหล่านี้ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ใช้เทคโนการผลิตขั้นสูง และรัฐบาลในประเทศเหล่านี้มีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับสุขอนามัยที่เข้มงวด นอกจากนี้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในประเทศเหล่านี้มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ในเกณฑ์สูงมาก

สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพมีการจำหน่ายผ่านช่องทางขายตรงถึงร้อยละ 60.0 การจำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์ร้อยละ 30 และตามใบสั่งยาของแพทย์ร้อยละ 10 ทั้งนี้เนื่องจากอาหารเสริมสุขภาพยังเป็นสินค้าที่ต้องให้ความรู้และข้อมูลกับผู้บริโภคมากเป็นพิเศษ ดังนั้นการเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยพนักงานของบริษัทเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักกับสินค้าจึงเป็นช่องทางที่นิยมมากที่สุดของผู้ประกอบการอาหารเสริมสุขภาพ และการจำหน่ายอาหารเสริมสุขภาพผ่านการขายตรงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจก็ตาม ส่วนอาหารเสริมสุขภาพในส่วนที่จำหน่ายผ่านช่องทางระบบค้าปลีกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบ และมีการขยายตัวไม่มากนัก โดยสังเกตได้ว่าที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นผู้ประกอบการรายใดนำเสนอสินค้าใหม่ที่มีความโดดเด่น ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับการทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของผู้ประกอบการนั้นมีความยากในการที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างยิ่ง ในแง่ของคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับเมื่อรับประทานอาหารเสริม

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพนั้นนอกจากการแบ่งตามระดับรายได้แล้ว ยังสามารถแบ่งออกได้ตามอายุ เนื่องจากอายุที่แตกต่างกันความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพก็แตกต่างกันด้วย

1. อายุต่ำกว่า 15 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานจำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีในปี 2548 มีประมาณ 14.8 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรกลุ่มนี้ในปี 2559 จะมีประมาณ 13.8 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการคาดว่ากำลังซื้อของกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพยอดนิยมของกลุ่มนี้ได้แก่ วิตามินเดี่ยว วิตามินรวม น้ำมันปลา ซุปไก่สกัด และแร่ธาตุต่างๆ

2. อายุระหว่าง 15-45 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานจำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 15-45 ปีในปี 2548 มีประมาณ 32.2 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจำนวนประชากร กลุ่มนี้ในปี 2559 จะมีประมาณ 30.8 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการคาดว่ากำลังซื้อของกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพทั้งหมด ลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำคัญของบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ โดยประชากรในกลุ่มนี้จะมีความระมัดระวังในเรื่องรูปร่าง และการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพยอดนิยมของลูกค้ากลุ่มนี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเร่งการเผาพลาญไขมันและอาหารไฟเบอร์ ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยต่างๆ ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ แคลเซี่ยม ชาเขียว ฯลฯ

3. อายุมากกว่า 45 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 45 ปีในปี 2548 มีประมาณ 18.3 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรกลุ่มนี้ในปี 2559 จะมีประมาณ 24.7 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการคาดว่ากำลังซื้อของกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพทั้งหมด ลูกค้ากลุ่มนี้กำลังเป็นที่จับตามองของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพ เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งยังเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุดอีกด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพยอดนิยมของลูกค้ากลุ่มนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กลุ่มที่มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยการไหลเวียนของโลหิต ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างความจำ ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกระดูกและข้อต่อต่างๆของร่างกาย

คาดว่าอนาคตธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในประเทศไทยยังคงขยายตัวได้ในช่วงระยะ 3-5 ปี เนื่องจากคนไทยหันมาให้ความใส่ใจด้านสุขภาพอนามัยมากขึ้น ทำให้คนไทยมีการใช้จ่ายในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สุขภาพดี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน โดยการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยหันมาสนใจกับสุขภาพอนามัยมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากมีการขยายตัวทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และบริษัทใหม่ที่ทยอยเข้ามาในตลาด ซึ่งนับว่าเป็นผลดีกับผู้บริโภค เนื่องจากการแข่งขันจะทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะด้านคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้บริโภคเริ่มหันมาตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมการขยายตัวของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพคือ ปัญหาภาวะมลพิษทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ตลอดจนกระทรวงสาธารณสุขกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพโดยจัดให้เป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 90 ซึ่งการพิจารณาออกกฎหมายนี้เท่ากับเป็นการป้องกันการลักลอบนำเข้า โดยมิได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผลประกาศฉบับนี้เท่ากับเป็นการชี้ชัดถึงแนวโน้มการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพว่าเริ่มรุนแรงขึ้น การขยายตลาดของผู้ผลิตในต่างประเทศ ผู้ประกอบการอาหารเสริมสุขภาพในต่างประเทศเล็งเห็นว่า ตลาดในประเทศไทยยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก โดยผู้ประกอบการต้องเข้ามากระตุ้นขยายตลาดด้วยการเผยแพร่ความรู้และประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจประกอบการตัดสินใจซื้อ การเติบโตของร้านขายยาสมัยใหม่และคลินิกอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ คือ กลุ่มผู้มีฐานะปานกลางขึ้นไป ในช่วงที่ผ่านมาร้านขายยาสมัยใหม่มีการขยายตัวอย่างมากทำให้ช่องทางการจำหน่ายอาหารเสริมสุขภาพขยายตัวตามไปด้วย

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่มีแนวโน้มดีในประเทศไทยได้แก่

1.ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการหมุนเวียนของโลหิต เนื่องจากโรคหัวใจเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของสาเหตุการตายของคนไทย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง
2.ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากโรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้บรรดาเยาวชนนิยมรูปร่างที่ผอม โดยเชื่อว่าจะดูดีและสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่เกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักและช่วยเผาผลาญไขมันจึงมีแนวโน้มดีในตลาดเมืองไทย
3.วิตามิน แร่ธาตุและผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้กระแสการแพทย์เชิงป้องกันและเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายจึงกำลังเป็นที่นิยม ส่งผลให้ความนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพประเภทวิตามิน แร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงมีแนวโน้มขยายตลาดได้อีกมาก
4.ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง ผลการศึกษาโครงสร้างประชากรของไทยพบว่าแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทแคลเซี่ยม และแร่ธาตุที่ช่วยซ่อมแซมและบำรุงร่างกายมีแนวโน้มการตลาดที่ดี

นอกจากนี้แนวโน้มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในตลาดโลกที่จะกระตุ้นการขยายตัวให้รวดเร็วยิ่งขึ้นคือ อาหารเสริมสุขภาพที่มีคุณสมบัติเป็นยา(Nutraceutical) นับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และท้าทายให้ประเทศต่างๆที่มีศักยภาพด้านการผลิต รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพประเภทนี้ ต่างเร่งพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป คาดว่าแนวโน้มนี้ก็จะเข้ามาเป็นกระแสหลักในอนาคตของประเทศไทยที่จะผลักดันการขยายตัวของ

ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพนับว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง เนื่องจากยังคงมีโอกาสในการขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยหนุนคือ กระแสการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน รวมทั้งการขยายฐานลูกค้าโดยการที่ผู้ประกอบให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องของอาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งอ้างอิงมาจากผลงานวิจัยและพัฒนาของสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ตามการจะประกอบธุรกิจให้ได้ผลสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการแต่ละรายที่จะต้องมีมาตรการทางการตลาดที่ดี สามารถขายแข่งขันกับคู่แข่งได้ ในราคาที่ไม่แพง และสินค้ามีคุณภาพดี เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกๆในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารเสริมสุขภาพของผู้บริโภค