ผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในตลาดโลก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญคือ การเปิดแนวรุกในด้านส่งเสริมการจำหน่ายของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ถึงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มากยิ่งขึ้น การสร้างภาพลักษณ์ในด้านบวกให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพร และกระแสการบริโภคสินค้าธรรมชาติและสินค้าปลอดสารพิษ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคยอมรับและมีความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น
สำหรับในประเทศไทยผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็เป็นที่ยอมรับและมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน โดยมีการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในธุรกิจต่างๆทั้งในลักษณะของอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางสมุนไพร นวดและอบตัวด้วยสมุนไพร ไปจนถึงการรับประทานเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาสมุนไพรก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเทศและสมุนไพรเหล่านี้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ตลาดเปิดกว้างในการเข้ามาลงทุน และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-30 เนื่องจากความนิยมในการบริโภคและใช้สมุนไพรไทยที่แพร่หลายนั่นเอง
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” จากกลุ่มตัวอย่าง 3,294 คน โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศ กระจายกลุ่มตัวอย่างแยกรายภาค คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2548 มีมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยคำนวณจากพฤติกรรมการบริโภคทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ มูลค่าตลาดรวมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศยังคงขยายตัว อันเป็นผลมาจากความนิยมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสอดรับกับกระแสนิยมผลิตภัณฑ์อิงธรรมชาติ รวมทั้งกระแสการรักษาสุขภาพเชิงป้องกันโดยการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีสรรพคุณป้องกันและเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งนับเป็นกระแสที่กำลังมาแรงทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ
กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดส่งออกก็มาแรงเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าในการส่งออกจะเป็นเพียงแต่การส่งออกเครื่องเทศ สมุนไพร และสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2548 จะมีประมาณ 1,560 ล้านบาทเท่านั้น แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรยังแฝงอยู่ในสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายประเภท รวมทั้งการที่ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีการขยายกิจการมากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารหลากหลายประเภทโดยเฉพาะเครื่องแกงสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ธุรกิจนวดแผนโบราณและธุรกิจสปา ซึ่งความนิยมในเรื่องการนวดแผนโบราณและสปาต้องมีการใช้ลูกประคบ และน้ำมันหอมระเหยที่ทำจากสมุนไพรนานาชนิด เครื่องสำอางจากสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาได้ไม่น้อยในแต่ละปี และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงนับว่าเป็นสินค้าที่น่าจับตามองค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร…เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ในระหว่างวันที่ 12-30 พฤษภาคม 2548 จากกลุ่มตัวอย่าง 3,294 คน โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศ กระจายกลุ่มตัวอย่างแยกรายภาคตามสัดส่วนประชากรในแต่ละภาค และในแต่ละภาคจะกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอายุ รายได้ และระดับการศึกษา โดยพิจารณาเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรคาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2548 มีมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 โดยในการสำรวจแยกประเภทของสมุนไพรดังนี้ อาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพร ยาสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับนวด/อบ/ประคบและน้ำมันหอมระเหย ซึ่งแยกเป็นมูลค่าตลาดตามประเภทของผลิตภัณฑ์ดังนี้
จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรแยกตามภาคต่างๆของประเทศเป็นดังนี้ กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นตลาดใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 13,960 ล้านบาทหรือร้อยละ 29.4 ของค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อหัวในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรของคนกรุงเทพฯเฉลี่ยสูงที่สุด อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่อยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งความนิยมในผลิตภัณฑ์นำเข้าทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ซื้อจะอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ตลาดใหญ่อันดับรองลงมาคือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีค่าใช้จ่าย 10,650 ล้านบาท และ 10,210 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งในกรณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะเน้นการใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ผลิตใช้เองในครัวเรือน ซึ่งราคาไม่แพง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อคนต่อปีนั้นจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าภาคอื่นๆ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากที่สุดทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากเป็นอันดับสามของประเทศ
ซึ่งในการสำรวจพบว่าประเภทของการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นแยกออกได้เป็นดังนี้
-เครื่องดื่มสมุนไพร จากการที่คนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเครื่องดื่มสมุนไพรนับว่าเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมประเภทหนึ่ง ตลาดเครื่องดื่มสมุนไพรยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพรมากมาย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นที่มีการผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการส่งออกเครื่องดื่มสมุนไพรไปจำหน่ายต่างประเทศ ในลักษณะของชาสมุนไพร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก
-ยาสมุนไพร ปัจจุบันยาสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ในขณะที่ยาแผนปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และปริมาณสารตกค้างในร่างกายสูง นอกจากนี้การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาสุขภาพยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องยาสำหรับคนไทยอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมให้บริโภคสมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงทำให้ลดความจำเป็นในการที่ต้องไปโรงพยาบาล อีกทั้งยังเป็นการลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศอีกด้วย โดยนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนายาสมุนไพรใน 2 ระดับ คือ ระดับที่ชาวบ้านใช้รักษาโรคทั่วไป ซึ่งเริ่มมีการใช้แล้วที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และจะให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นศูนย์กลางพัฒนามาตรฐานการผลิตให้ยาสมุนไพรมีความสะอาด และปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกนั้น ทางองค์การเภสัชกรรมจะเป็นหน่วยงานในการพัฒนาทั้งนี้เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ
-อาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพร ตลาดอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระแสการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกำลังมาแรง รวมทั้งเทคโนโลยีในการคิดค้นเพื่อสกัดสารที่มีคุณภาพต่างๆจากเครื่องเทศและสมุนไพรมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามตลาดนี้ยังมีข้อจำกัดสำคัญในการขยายตัว คือ ราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนตลาดสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้า เนื่องจากส่วนใหญ่ยังผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น เภสัชกรที่มีความรู้ในเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น และขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อนยุ่งยากเหมือนกับสินค้านำเข้า แต่ก็มีปัญหาในการขยายตลาด เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อถือผลิตภัณฑ์นำเข้ามากกว่า
-เครื่องสำอางสมุนไพร คาดว่าตลาดเครื่องสำอางสมุนไพรมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากกระแสเครื่องสำอางจากขมิ้นชัน หรือครีมหน้าเด้ง ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่มีแนวโน้มขยายตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์รักษาและดูแลผิวหน้าและผิวกาย ซึ่งนอกจากตลาดในประเทศแล้ว ตลาดต่างประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวคือ ลาว เวียดนาม และประเทศในแถบยุโรป อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องสำอางสมุนไพรของไทยต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ในประเทศ และการแข่งขันจากสินค้าเครื่องสำอางสมุนไพรนำเข้า เนื่องจากภายหลังข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน จะทำให้ภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 จากปัจจุบันที่อัตราร้อยละ 40 ส่งผลให้จะมีเครื่องสำอางสมุนไพรจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเข้ามาแข่งขันจำนวนมาก
-นวดแผนโบราณ/สปา ปัจจุบันธุรกิจนวดแผนโบราณเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยธุรกิจนวดแผนโบราณได้เข้าไปเป็นบริการเสริมของศูนย์สุขภาพที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่าในปัจจุบันมีศูนย์สุขภาพเปิดให้บริการมากกว่า 500 แห่ง และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกหรือมาใช้บริการประมาณ 50,000 คนในแต่ละปี โดยแยกเป็นศูนย์สุขภาพที่ตั้งเป็นโครงการเดี่ยว ศูนย์สุขภาพที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ศูนย์สุขภาพที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพที่ตั้งอยู่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และศูนย์สุขภาพกึ่งรีสอร์ต การให้บริการเน้นการออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการเสริมความงาม และลดน้ำหนัก
สำหรับประเด็นที่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องเร่งแก้ไขที่สำรวจพบในกลุ่มผู้บริโภคที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งถ้าประเด็นต่างๆเหล่านี้ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นแนวทางในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในอนาคต
การค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร…ส่งออกขยายตัว แต่การนำเข้ายังอยู่ในเกณฑ์สูง
นอกจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศแล้ว ประเด็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยคือ การส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยนั้นมีโอกาสในการก้าวสู่การค้าในตลาดโลก โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย การยกระดับมาตรฐานการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก แปรรูป และกระบวนการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งต้องมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยให้เติบโตต่อไปได้
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นในช่วงระยะ 4 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยเท่ากับ 521.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 26.5 เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศหลักมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังประเทศต่างๆในเอเชียใต้มีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะปากีสถาน สำหรับสินค้าที่มีการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอย่างต่อเนื่องคือ พริกไทย และสารสกัดจากสมุนไพร อย่างไรก็ตามคาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งนับช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก และคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเอื้ออำนวยต่อการผลิต บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรในปี 2548 เท่ากับ 1,560 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วลดลงร้อยละ 16.9