ธุรกิจกองทุนรวมครึ่งหลังปี 48… หลากปัจจัยหนุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

นับตั้งแต่ต้นปี 2548 ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับปัจจัยกดดันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยเมื่อปลายปี 2547 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องจนถึงในปีนี้, ภัยแล้ง, ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อันนำไปสู่การประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเเบบบริหารจัดการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา, เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยซึ่งได้ประกาศออกมาในช่วงต้นปีนี้ได้บ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา เช่น ดุลการค้าซึ่งขาดดุลติดต่อกันใน 4 เดือนแรกของปี, ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/48 ซึ่งมีการขยายตัวที่ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น

จากความไม่แน่นอนต่างๆเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และการที่ตลาดหลักทรัพย์ยังขาดปัจจัยบวกที่มาช่วยหนุนตลาดอย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนยังคงชะลอการลงทุนในหุ้นและมองหาทางเลือกอื่นในการลงทุน โดยนับตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเพียงร้อยละ 2.76 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ธุรกิจกองทุนรวมยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไป(ไม่รวมกองทุนรวมแบบพิเศษและกองทุนที่ระดมทุนจากต่างประเทศ)ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 479 กอง เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา 62 กอง มี บลจ. จัดตั้งขึ้นใหม่ 1 ราย รวมเป็น 18 ราย

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการเพิ่มขึ้นในส่วนของกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่กองทุนรวมประเภทอื่นล้วนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลง จนถึงวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น กองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 89 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 126 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.8 ของมูลค่า NAV กองทุนรวมทั่วไปในระบบจากร้อยละ 24 ในช่วงสิ้นปี 2547 ทั้งนี้ การที่นักลงทุนยังคงไม่มั่นใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากตลาดยังคงเผชิญกับปัจจัยผันผวนหลายประการต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ได้ทำให้บลจ.ต่าง ๆ หันมาออกกองทุนตราสารหนี้ในปีนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น โดยทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น(อายุไม่เกิน 1 ปี)ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2547 ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในและต่างประเทศช่วยหนุนให้การลงทุนในกองทุนดังกล่าวมีความน่าสนใจมากขึ้นเพราะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำอายุ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-1.25 ทั้งยังเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว

สำหรับกองทุนรวมที่มีการปรับตัวลดลงของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากที่สุดในบรรดากองทุนรวมทุกประเภทนั้น ได้แก่ กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยลดลงร้อยละ 6.7 จากสิ้นปีที่ผ่านมา หรือร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย มีบลจ.ต่างๆออกกองทุนหุ้นในปีนี้เพียงแค่ 5 กองเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆซึ่งกดดันการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามที่ได้กล่าวในข้างต้น ได้ส่งผลกระทบให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ตลอดจน มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนกองทุนที่มีการเติบโตมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้แก่ กองทุนรวมที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) โดยมีการขยายตัวมากขึ้นถึงร้อยละ 186 จากสิ้นปีก่อนหน้า หรือร้อยละ 138.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของมูลค่า NAV กองทุนรวมทั่วไป จากการที่มีจำนวนกองทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 2 กองทุนในช่วงต้นปี ส่งผลให้จำนวนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 4 กอง (ไม่รวมกองที่ปิดการเสนอขายไปแล้วและกำลังจะจดทะเบียนกับ ก.ล.ต.หนึ่งกอง และที่กำลังมีการเปิดขายหน่วยลงทุนอีกหนึ่งกอง) ในช่วงที่ผ่านมานั้น การแข่งขันของธุรกิจกองทุนรวมที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ บลจ.ต่างๆ มีความพยายาม ที่จะนำเสนอรูปแบบการลงทุนใหม่ๆเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเลือกหนึ่งที่ บลจ. หลายแห่งให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกในการลงทุนในระยะปานกลางถึงระยะยาวซึ่งสามารถให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่ากองทุนหุ้น

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นได้จากในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 4 และร้อยละ 5 ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนได้ในระดับหนึ่ง ในส่วนของธุรกิจกองทุนรวมนั้นคาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตทีสูงกว่าร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของธุรกิจหลายประการ เช่น

กองทุนรวมตราสารหนี้จะยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นตลอดทั้งปีนี้ แต่ขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรก น่าจะส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะเป็นไปอย่างระมัด ระวังขึ้น ซึ่งน่าจะกดดันราคาตราสารหนี้ให้ปรับตัวลดลงไปในอัตราที่ไม่มากนัก อีกทั้ง คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่คงจะไม่ถูกปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงิน(ตามนิยามของ ธปท.)ยังคงมีอยู่ในระดับสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ประกอบกับ การที่นักลงทุนบางกลุ่มน่าจะต้องการชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อรอดูทิศทางของตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ปริมาณตราสารหนี้ระยะสั้นในปัจจุบันที่มีอยู่จำนวนจำกัดไม่เพียงพอกับความต้องการของนักลงทุน คงจะส่งผลให้กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้หันมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะปานกลางเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้

การอนุมัติวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับกองทุนรวม เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการ กลต.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสรรวงเงินที่ได้รับจากธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่กำหนด โดยจัดสรรให้กับกองทุนรวม 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยให้ บลจ.ต่างๆครั้งละไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง ณ.วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา มี บลจ.ได้รับการจัดสรรวงเงินจำนวน 16 ราย คิดเป็นมูลค่าวงเงิน ในส่วนของกองทุนรวม 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การให้อนุญาตกองทุนรวมลงทุนต่างประเทศครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สาม

ในครั้งล่าสุดนี้ เกณฑ์ในการลงทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเปิดกว้างให้ บลจ.สามารถนำเงินจากกองทุนในประเทศที่มีอยู่แล้วไปลงทุนเพิ่มได้ (ซึ่งจะต้องขออนุญาตแก้ไขโครงการกับ ก.ล.ต.) หรือ จัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นใหม่ก็ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในทางปฏิบัติแล้ว อาจจะมี บลจ. บางรายไม่ใช้วงเงินตามที่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากความได้เปรียบในการดำเนินงานและความพร้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งบลจ.ที่มีเครือข่ายในต่างประเทศหรือมีพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศน่าจะมีโอกาสในการลงทุนและประหยัดต้นทุนในการดำเนินงานได้มากกว่า โดยวงเงินที่ได้รับการจัดสรรครั้งละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯนั้นค่อนข้างน้อย ทำให้เมื่อหักค่าบริหารจัดการต่างๆที่ต้องจ่ายแล้วอาจจะได้ผลตอบแทนที่ไม่มากนัก

นอกจากนั้น การลงทุนในต่างประเทศยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินที่เข้าไปลงทุน ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยลง หากลดต้องการผันผวนของค่าเงินโดยการ Hedging ก็จะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการลงทุนในต่างประเทศจะมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในประเทศ แต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่มากขึ้นเช่นกัน คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะมีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากในปัจจุบันซึ่งมีอยู่ 11 กอง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ.วันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาประมาณ 10,693.08 ล้านบาท เนื่องจาก บลจ. จะต้องนำเงินไปลงทุนให้ได้ถึงร้อยละ 50 ของวงเงินได้รับการจัดสรรภายใน 30 ธ.ค. 2548 ไม่เช่นนั้น ก.ล.ต.จะยึดวงเงินที่เหลืออยู่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ให้กับ บลจ.อื่นๆที่ต้องการลงทุน

ทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกจากในปัจจุบันซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 670 – 680 จุด อันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆที่ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเริ่มจะคลี่คลาย เช่น ผลกระทบจากภัยแล้ง ธรณีพิบัติภัยภาคใต้และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่น่าจะลดความร้อนแรงลง และการที่คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสต่อๆไปน่าจะมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์น่าจะได้รับแรงบวกจากการเข้าจดทะเบียนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งน่าจะหนุนให้ค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้น อันจะส่งผลให้มีแรงซื้อเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ได้อีก โดยปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นนั้น ย่อมจะส่งผลให้กองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้นมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ความต้องการซื้อกองทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงปลายปี คาดว่านักลงทุนจะมีความต้องการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี เนื่องจากแรงจูงใจจากการที่สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี หรือร้อยละ 15 ของรายได้พึงประเมิน และกำไรที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี โดยนักลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการลงทุนที่กำหนด* ทั้งนี้ ตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมา กองทุนทั้งสองประเภทนี้ได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนมูลค่า NAV ของ LTF ณ. สิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ 6,534 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปีก่อนร้อยละ 16 ส่วนกองทุน RMF มีมูลค่า NAV อยู่ที่ 12,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนร้อยละ 5.83

แนวโน้มการคลายเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเดือนที่ผ่านมาสมาคมบริษัทจัดการกองทุนได้ยื่นขอแก้ไขหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับทางสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยได้ขอให้แก้ไขเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดสรรหน่วยลงทุนเสนอขายครั้งแรกต่อประชาชนทั่วไป โดยขอให้สัดส่วนประชาชนทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 50, นักลงทุนสถาบันร้อยละ 17 และเจ้าของโครงการที่ร้อยละ 33 จากเดิมที่กำหนดเพียงให้ประชาชนทั่วไปไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 โดยผู้ที่จองซื้อน้อยจะได้รับการจัดสรรก่อน ส่วนนักลงทุนสถาบันได้รับจัดสรรทีหลัง และการขอให้กองทุนรวมกู้ยืมเงินได้ไม่เกินร้อยละ 35 ของมูลค่า NAV เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิในการเช่าจากเดิมที่ไม่สามารถกระทำได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของกองทุนประเภทนี้ โดยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน และทำให้มีความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพิ่ม ถึงแม้ว่า กองทุนดังกล่าวจะยังมีขนาดเล็กโดยมีสัดส่วนของ NAV เพียงร้อยละ 1 เทียบกับกองทุนรวมทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มการเติบที่สูงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ จากการที่ตลาดอนุพันธ์มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในเดือน พ.ย. นี้ โดยมีสินค้าตัวแรก ได้แก่ SET50 Futures และยังมีแผนการออกสินค้าตัวอื่นๆ อีกในอนาคต เช่น พันธบัตรอนุพันธ์ น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนการขยายตัวของธุรกิจกองทุนรวม เนื่องจากส่งผลให้ในอนาคตข้างหน้า บลจ.ต่างๆ คงจะมีการทางเลือกใหม่ๆในการลงทุนเพิ่มขึ้นและมีการนำเสนอนโยบายการลงทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การจัดตั้งกองทุนประเภทที่ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธุรกิจกองทุนรวมน่าจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น แต่บลจ.แต่ละแห่งคงจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรายใหม่ในปีนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ได้มีการจัดตั้ง บลจ. รายใหม่ 1 ราย ส่งผลให้ในปัจจุบัน มี บลจ. รวมทั้งหมด 18 ราย อีกทั้ง ในช่วงไตรมาส 3 นี้จะมีการเปิดตัว บลจ.ใหม่อีกแห่งซึ่งมีนโยบายการลงทุนเน้นไปที่ตราสารอนุพันธ์โดยเฉพาะและยังมี บลจ.อีก 2 รายที่กำลังอยู่ระหว่างการรอการอนุมัติจาก ก.ล.ต. ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆซึ่งต้องการจัดตั้งบลจ.ของตนเอง เพื่อเอื้อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจทางการเงินแบบครบวงจร (Universal Banking)และเพื่อเป็นการรักษาฐานเงินฝากของลูกค้าหลังจากมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้น และบริษัทประกันขนาดใหญ่ซึ่งต้อง การจะมี บลจ.ของตนเองเพื่อบริหารเงินจากเบี้ยประกันหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งตนดูแล รวมไปถึงการรองรับการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นการรวมทั้งเบี้ยประกันและหน่วยลงทุน ในอนาคตข้างหน้า สถา บันการเงินประเภทอื่น เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเงินทุน คงจะมีความต้องการจัดตั้ง บลจ.ของตนหรือแสวงหา บลจ. เป็นพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจหลักของตนเช่นกัน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในปัจจุบันว่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งมีสัดส่วนทางการตลาดรวมกันสูงถึงกว่าร้อยละ 73.3 ของกองทุนรวมทั่วไปทั้งหมด (แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ร้อยละ 52.9, ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางร้อยละ 10.24 และธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กร้อยละ 10.16)กับกลุ่มที่ไม่ได้มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 26.7 ซึ่งพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ส่งผลให้แต่ละกลุ่มมีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นจะมีความได้เปรียบอย่างมากในเรื่องช่องทางการจำหน่าย,การเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนและการเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่จะมีการลงทุนซึ่งค่อนข้างจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง เนื่องจากพื้นฐานของผู้ถือหน่วยลงทุนส่วนมากมาจากกลุ่มผู้ที่ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ค่อนข้างน้อย จึงมีความต้องการออกกองทุนซึ่งความเสี่ยงไม่สูงมาก ไม่เน้นการออกกองทุนบ่อยๆแต่จะเป็นการรักษาฐานนักลงทุนเดิมที่มีอยู่เอาไว้มากกว่า

ในขณะเดียวกัน บลจ.ซึ่งมาจากธนาคารขนาดเล็กซึ่งมีฐานนักลงทุนไม่มากเท่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มที่ไม่ได้มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นคงจะต้องพยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือสร้างความแตกต่างในเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ พยายามจับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม เน้นการทำการตลาดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวมที่คาดว่าจะมีความรุนแรงขึ้น คงจะส่งผลให้ บลจ.ซึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการดำเนินธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ ส่วน บลจ. ขนาดเล็กอื่นๆคงจะต้องมีการแสวงหาพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง

กล่าวโดยสรุปได้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2548 ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับปัจจัยกดดันหลายประการ ซึ่งความไม่แน่นอนต่างๆเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ และการที่ตลาดหลักทรัพย์ยังขาดปัจจัยบวกที่มาช่วยหนุนอย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในหุ้นและมองหาทางเลือกอื่นในการลงทุน โดยนับตั้งแต่สิ้นปี 2547 จนถึงวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเพียงร้อยละ 2.76 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ธุรกิจกองทุนรวมยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั่วไป(ไม่รวมกองทุนรวมแบบพิเศษและกองทุนที่ระดมทุนจากต่างประเทศ)ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 มีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 479 กอง เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา 62 กอง โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้น มาจากกองทุนรวมตราสารหนี้และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่กองทุนประเภทอื่นล้วนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลง โดยกองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีถึงร้อยละ 89

ทั้งนี้ การที่นักลงทุนยังคงไม่มั่นใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ทำให้บลจ.ต่าง ๆ ออกกองทุนตราสารหนี้ในปีนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น(อายุไม่เกิน 1 ปี)ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2547 ช่วยหนุนให้การลงทุนในกองทุนดังกล่าวมีความน่าสนใจมากขึ้นเพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำอายุ 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ ทั้งยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว

ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นมีการปรับตัวลดลงของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากที่สุด โดยลดลงร้อยละ 6.7 จากสิ้นปีที่ผ่านมา มีบลจ.ต่างๆออกกองทุนหุ้นในปีนี้เพียงแค่ 5 กองเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆซึ่งกดดันการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ตามที่กล่าวในข้างต้น ได้ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรก จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ ซึ่งน่าจะเป็นการช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุน โดยคาดว่าธุรกิจกองทุนรวมน่าจะมีอัตราการเติบโตทีสูงกว่าร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยที่จะช่วยหนุนหลายประการ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ซึ่งจะยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงในไตรมาสแรก น่าจะส่งผลให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นไปอย่างระมัดระวังขึ้น อันจะสร้างแรงกดดันต่อราคาตราสารหนี้ให้ปรับตัวลดลงไปในอัตราที่ไม่มากนัก อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่ถูกปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว, การอนุมัติวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับกองทุนรวม เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กลต.ได้มีมติจัดสรรวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศตามที่กำหนด ให้กับกองทุนรวม 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่ง ณ.วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา มี บลจ.ได้รับจัดสรรวงเงิน 16 ราย คิดเป็นมูลค่า 170 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในทางปฏิบัติแล้ว อาจจะมี บลจ. บางรายไม่ใช้วงเงินตามที่ได้รับอนุมัติเนื่องจากความพร้อมที่แตกต่างกัน และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินที่เข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะมีการจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจาก บลจ. คงจะต้องนำเงินไปลงทุนให้ได้ถึงร้อยละ 50 ของวงเงินได้รับการจัดสรรภายในสิ้นปีไม่เช่นนั้น ก.ล.ต.จะยึดวงเงินที่เหลืออยู่ เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ให้กับ บลจ.อื่นๆ, ทิศทางของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกเนื่องจากปัจจัยลบต่อเศรษฐ กิจและตลาดหุ้นเริ่มจะคลี่คลายและการที่คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสต่อๆไปน่าจะมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์น่าจะได้รับแรงบวกจากการเข้าจดทะเบียนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน, ความต้องการซื้อกองทุนเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีคาดว่านักลงทุนจะมีความต้องการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี เนื่องจากแรงจูงใจจากการที่สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้,แนวโน้มการคลายเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จากการที่สมาคมบริษัทจัดการกองทุนได้ยื่นขอแก้ไขหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับทาง ก.ล.ต. โดยได้ขอให้แก้ไขเกณฑ์ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดสรรหน่วยลงทุนเสนอขายครั้งแรกต่อประชาชนทั่วไป และการขอให้กองทุนรวมกู้ยืมเงินได้ไม่เกินร้อยละ 35 ของมูลค่า NAV เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิในการเช่าจากเดิมที่ไม่สามารถกระทำได้, การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ การที่ตลาดอนุพันธ์มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในเดือน พ.ย. นี้ น่าจะส่งผลให้บลจ.ต่างๆ คงจะมีการทางเลือกใหม่ๆในการลงทุนเพิ่มขึ้นและสามารถนำเสนอนโยบายการลงทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธุรกิจกองทุนรวมน่าจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น แต่ บลจ.แต่ละแห่งคงจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะมีจำนวน บลจ. เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในปัจจุบันว่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งมีสัดส่วนทางการตลาดรวมกันสูงถึงกว่าร้อยละ 73.3 ของกองทุนรวมทั่วไปทั้งหมด (แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ร้อยละ 52.9, ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางร้อยละ 10.24 และธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กร้อยละ 10.16)กับกลุ่มที่ไม่ได้มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 26.7 ซึ่งพื้นฐานที่แตกต่างกันนี้ส่งผลให้แต่ละกลุ่มมีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มที่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นจะมีความได้เปรียบในเรื่องช่องทางการจำ หน่าย,การเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนและการเป็นที่รู้จัก แต่จะมีการลงทุนซึ่งค่อนข้างจะเป็นไปอย่างระมัดระวังเนื่องจากพื้นฐานของผู้ถือหน่วยลงทุนส่วนมากมาจากกลุ่มผู้ที่ฝากเงินในธนาคาร จึงมีความต้องการออกกองทุนซึ่งความเสี่ยงไม่สูงมาก ไม่เน้นการออกกองทุนบ่อยๆแต่จะเป็นการรักษาฐานนักลงทุนเดิมที่มีอยู่เอาไว้มากกว่า ในขณะเดียวกัน บลจ.ซึ่งมาจากธนาคารขนาดเล็กซึ่งมีฐานนักลงทุนไม่มากเท่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มที่ไม่ได้มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นคงจะต้องพยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือสร้างความแตกต่างในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ พยายามจับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม เน้นการทำการตลาดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวมที่คาดว่าจะมีความรุนแรงขึ้น คงจะส่งผลให้บลจ.ซึ่งมาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการดำเนินธุรกิจในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ ส่วนบลจ.ขนาดเล็กอื่นๆคงจะต้องมีการแสวงหาพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง