(กรุงเทพฯ – 30 มิถุนายน 2548) ในการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งวันของ มร. บิล เกตส์ ประธานบริษัทและประธานฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ บริษัทไมโครซอฟท์ ในวันนี้ ได้มีความคืบหน้าในด้านความร่วมมือกับรัฐบาลไทยใน 3 โครงการที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแก่ประเทศไทยจากแนวโน้มของเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งในการพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงและในการสัมมนา มร. บิล เกตส์ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของแนวโน้มเหล่านี้ว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรต่อผู้บริโภค ประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจ
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไมโครซอฟท์จะลงทุนทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากรและทรัพยากรต่างๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 140 ล้านบาท (ประมาณ 3.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในโครงการ Thailand.Net ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นในระยะยาว เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐานระดับโลกบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส โดยใช้มาตรฐานเปิดและภาษา XML อันเป็นมาตรฐานกลางในการเขียนโปรแกรมเว็บเซอร์วิส
มร. บิล เกตส์ กล่าวว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเว็บเซอร์วิส การใช้มาตรฐานเปิดและภาษา XML อันเป็นมาตรฐานกลางนั้น จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสมหาศาลในการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่มีคุณค่า ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านั้นจะช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลต่างๆ สามารถทำบนอุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ อันจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจของไทยและเศรษฐกิจโดยรวม”
ภายใต้ Thailand.Net มร. บิล เกตส์ ยังได้แนะนำโครงการ Microsoft Developer Network (MSDN) 5 Star ซึ่งเป็นการทดสอบออนไลน์ใน 5 ระดับสำหรับนักพัฒนาเพื่อผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งสามารถเลือกทดสอบได้ตามเวลาที่ตนเองต้องการ เว็บไซต์ดังกล่าวออกแบบมาเป็นภาษาไทยและให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอบรมด้านเว็บเซอร์วิสแก่นักพัฒนาจำนวน 69,000 คน ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีนักพัฒนาจำนวน 2,600 คนที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล โดยเว็บไซต์นี้จะเปิดให้ทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2548
สำหรับความรู้พื้นฐานด้านไอทีซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาการศึกษาไทยนั้น ทางบริษัทฯ ได้นำเอาโครงการ Partners in Learning ในระยะที่เรียกว่า Digital Phase มาสนับสนุนและปรับให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด โดยจะจัดหาซอฟต์แวร์คุณภาพในราคาการศึกษาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ ตลอดจนสร้างชุมชนออนไลน์รวมทั้งทรัพยากรการเรียนรู้อื่นๆ ทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
สำหรับโครงการที่สามจะเป็นการสนับสนุนโครงการ Thailand Gateway ซึ่งเป็นการพัฒนา e-Government ที่จะนำเอาแบบอย่างการดำเนินงานที่ดีที่สุดในโลกมาปรับใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชากรเป็นศูนย์กลางของข้อมูลสาธารณะ โดยไมโครซอฟท์จะลงทุนในด้านของบุคลากรและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีในระยะแรกคิดเป็นมูลค่า 4 ล้านบาท (ประมาณ 100,000 เหรียญสหรัฐ)
ในส่วนของโครงการ Thailand.Net นั้น ไมโครซอฟท์ได้วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี ด้วยกัน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของนวัตกรรมบูรณาการ ด้วยการพัฒนาให้เกิดการสร้างซูเปอร์ฮับด้านเว็บเซอร์วิส (Super-Hub) เพื่อการพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ
การดำเนินโครงการ Thailand.Net แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
•ขั้นที่ 1 พัฒนาทักษะ
ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านเว็บเซอร์วิสโดยสนับสนุนการอบรมครูกว่า 20,000 คนทั่วประเทศซึ่งคาดว่าทักษะต่างๆ จะถูกถ่ายทอดไปยังนักเรียนอีกจำนวนนับแสนคน รวมทั้งให้การรับรองมาตรฐานระดับสากลแก่นักพัฒนาอาชีพอีก 2,600 คน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและจัดทำขึ้นใหม่
•ขั้นที่ 2 พัฒนาอุตสาหกรรม
ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนรัฐบาลไทยในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ด้วยการสร้าง Solutions Marketplace โดยใช้นวัตกรรมบูรณาการ และเชื่อมต่อผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระในประเทศกับลูกค้าต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ จะฝึกอบรมทักษะด้านการขายและการตลาดแก่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระในประเทศกว่า 500 รายด้วย
•ขั้นที่ 3 พัฒนาเศรษฐกิจ
ไมโครซอฟท์จะร่วมกับรัฐบาลไทยในการสร้าง พัฒนา และเผยแพร่เว็บเซอร์วิสของไทยไปทั่วโลก ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาและการทำตลาด “เว็บเซอร์วิสซูเปอร์ฮับ” ผลงานเว็บเซอร์วิสที่ดีที่สุดที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจะถูกส่งไปขายยังทั่วโลก เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าทางธุรกิจแก่ประเทศ
แม้ในวันนี้จะถือเป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับโครงการ Thailand.Net แต่ก่อนหน้านี้ได้มีหลายๆ กิจกรรมได้ดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวไปบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมกราคม 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการแข่งขัน Imagine Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้น และมีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการแข่งขัน 118 ทีม โดยทั้งหมดได้เข้าแข่งขันออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้ภาษาที่เป็นมาตรฐานกลางคือ XML ในการเขียนโปรแกรม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “เว็บเซอร์วิสเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เราเห็นศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของนักศึกษาและนักพัฒนาของเราในการสร้างระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ ด้วยการออกแบบและส่งออกแอพพลิเคชั่นระดับเวิลด์คลาสที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมบูรณาการ อุตสาหกรรมนี้จะชี้ให้เห็นว่าเราจะดำเนินชีวิตและสื่อสารอย่างไรในอนาคต โดยมีดัชนีที่แสดงถึงอนาคตของเว็บเซอร์วิส คือ การคาดการณ์ว่าตลาดเว็บเซอร์วิสจะมีมูลค่าประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2553 ซึ่งหมายถึงโอกาสมากมายมหาศาลในการสร้างงานสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้แก่ประเทศด้วย”
ในส่วนของโครงการ Partners in Learning – Digital Phase นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการสร้างทักษะให้แก่ครูอาจารย์และนักเรียน เพื่อให้สามารถนำไอซีทีมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการส่งเสริมซอฟต์แวร์ราคาการศึกษาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศแล้ว ไมโครซอฟท์จะสร้างเว็บท่า อี-เลิร์นนิ่ง และสนับสนุนชุมชนครูออนไลน์ที่จะทำให้เพื่อนครูทั่วประเทศและทั่วโลกสามารถติดต่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้ ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ได้ทำการอบรมทักษะพื้นฐานด้านไอซีทีแก่ครูทั่วประเทศไปแล้วกว่า 10,000 คน ภายใต้โครงการ Partners in Learning ที่มีอยู่เดิม ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการถ่ายทอดต่อไปยังนักเรียนอีกประมาณ 422,000 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้โครงการ Partners in Learning – Digital Phase ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการนำเอาเนื้อหาหลักสูตรต่างๆ มาแปลงเป็นรูปแบบดิจิตอล โดยจะเริ่มต้นจากเนื้อหาสื่อและทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการมีอยู่แล้ว ผนวกกับสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอลจากไมโครซอฟท์ เพื่อที่จะให้บรรดาคุณครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเนื้อหาเหล่านี้ได้โดยง่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และจากการลงทุนมูลค่า 40 ล้านบาทของไมโครซอฟท์ จะช่วยให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศประหยัดงบประมาณในการซื้อซอฟท์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ใหม่ของโรงเรียนได้อย่างมาก
นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และเด็กไทยจำเป็นต้องมีทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งจะทำให้เขาได้รับการฝึกฝนและกลายเป็นผู้ที่มีความชำนาญในทักษะด้านไอซีทีในที่สุด เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มศักยภาพให้แก่นักเรียนเพื่อที่จะก้าวไปสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้และความมั่งคั่งแก่ประเทศในภาพรวม ซึ่งเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดภายใต้โครงการ Partners in Learning ของไมโครซอฟท์ที่สอดคล้องตามแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะช่วยเราบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาทักษะด้านไอซีทีในวงการการศึกษาได้ง่ายขึ้น
ด้านโครงการ Thailand Gateway นั้น การลงทุนในระยะแรกจะเป็นในเรื่องของการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ UK Gateway ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานของ e-Government ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าดีที่สุด มาเป็นแบบอย่างในการพัฒนา ซึ่งการใช้นวัตกรรมบูรณาการเช่นเว็บเซอร์วิสภายใต้มาตรฐาน XML นั้น มีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนไทยเป็นศูนย์กลางของข้อมูลจากรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนี่เป็นเพียงระยะแรกของการดำเนินโครงการที่ต้องใช้เวลาและระยะการดำเนินงานอีกหลายขั้นตอน
“การประกาศความร่วมมือในวันนี้ คือนิมิตหมายใหม่ของการทำงานร่วมกันของทุกๆ ฝ่ายในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างงาน รายได้ และการเติบโตแก่ประเทศไทยในยุคดิจิตอลนี้” มร. แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม และกล่าวต่ออีกว่า “ภายใต้โครงการต่างๆ ที่จะส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านไอซีทีนั้น จะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างรากฐานของระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกบนพื้นฐานของเว็บเซอร์วิส และยิ่งไปกว่านั้นคือ จะส่งเสริมคุณค่าทางธุรกิจให้เกิดแก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
Thailand Digital Inspiration
รายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือ
วันนี้ มร. บิล เกตส์ ได้แถลงถึงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยใน 3 โครงการภายใต้ ‘Thailand Digital Inspiration’ ได้แก่
• Thailand.Net
• Partners in Learning Digital Phase
• e-Government – Thailand Gateway
1) Thailand.NET
การลงทุนในโครงการ Thailand.Net คิดเป็นมูลค่า 140 ล้านบาท
โครงการ Thailand.NET เป็นยุทธศาสตร์และความร่วมมือในระยะยาวระหว่างไมโครซอฟท์กับรัฐบาลไทยในการเปลี่ยนโฉมประเทศไทยให้เป็น “Global Web Services – Super Hub” รายละเอียดในการดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
• พัฒนาทักษะ – ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านเว็บเซอร์วิส
– ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนการอบรมครูกว่า 20,000 คนทั่วประเทศภายใต้โครงการ Partners in Learning
– เปิดตัวเว็บไซต์ฝึกอบรมภาษาไทย ‘MSDN 5- Star’ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักพัฒนาทั่วไปได้เข้ามาศึกษาและฝึกฝนด้านเว็บเซอร์วิส รวมทั้งทำการทดสอบแบบออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้นักพัฒนากว่าร้อยละ 80% มีโอกาสได้รับการรับรองในระดับ Microsoft Certified Application Developers (MCAD).
– ไมโครซอฟท์คาดว่าจะมีนักพัฒนาทั่วไปจำนวน 69,000 เข้าร่วมทดสอบในโครงการ MSND 5 Star ซึ่งในจำนวนนี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักพัฒนาประมาณ 2,600 คนที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากลอย่างสมบูรณ์
– สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาพัฒนาแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสในการแข่งขัน Imagine Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลก
– สร้างชุมชนนักพัฒนาให้แข็งแกร่งบน MSDN Connection
– พัฒนาหลักสูตรเว็บเซอร์วิสร่วมกับมหาวิทยาลัย 36 แห่งภายใต้โครงการ Academic Alliance ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรเว็บเซอร์วิสขึ้นมาแล้วจำนวนกว่า 100 หลักสูตรภายใต้โครงการดังกล่าว และจะมีอีก 200 หลักสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ โดยในปีนี้ ไมโครซอฟท์ได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนากับมหาวิทยาลัยชั้นนำไปแล้ว 12 แห่งด้วยกัน
• พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ – ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ
– ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนรัฐบาลไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศด้วยการสร้าง Solutions Marketplace โดยใช้นวัตกรรมบูรณาการ และเชื่อมต่อผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระในประเทศกับลูกค้าต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก
– ฝึกอบรมทักษะด้านการขายและการตลาดแก่ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระในประเทศกว่า 500 ราย
•พัฒนาเศรษฐกิจ – นำนวัตกรรมบูรณาการมาใช้และเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ
– ไมโครซอฟท์จะร่วมกับรัฐบาลไทยในการสร้าง พัฒนา และเผยแพร่เว็บเซอร์วิสของไทยไปทั่วโลก ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาและการทำตลาด “เว็บเซอร์วิส ซูเปอร์ฮับ” ผลงานเว็บเซอร์วิสที่ดีที่สุดที่สร้างขึ้นในประเทศไทยจะถูกส่งไปขายยังทั่วโลก เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าทางธุรกิจแก่ประเทศ
2) Partners in Learning Digital Phase
การลงทุนในโครงการ Partners in Learning – The Digital Phase คิดเป็นมูลค่า 40 ล้านบาท สำหรับการจัดทำสื่อความรู้ดิจิตอล สร้างเว็บท่าและชุมชนออนไลน์ รวมทั้งการที่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศจะสามารถประหยัดงบประมาณในการซื้อซอฟต์แวร์อีกกว่า 10 ล้านบาท
Partners in Learning – ‘The Digital Phase’ เป็นขั้นตอนที่สองของโครงการ Partners in Learning ซึ่งเป็นความร่วมมือในการเสริมสร้างและสนับสนุนแผนแม่บททางการศึกษา (Roadmap) ของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการสร้างทักษะแก่ครูอาจารย์และนักเรียน เพื่อให้สามารถนำไอซีทีมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด กรอบความร่วมมือหลัก ได้แก่
•การพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน: สู่โรงเรียนยุคศตวรรษที่ 21
– ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับนานาชาติในการที่จะนำเสนอแผนงานในการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงสำหรับผู้บริหารโรงเรียนและนักการศึกษา เพื่อความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนในยุคศตวรรษที่ 21 และพัฒนาทักษะการบริหารสำหรับศตวรรษที่ 21
• การพัฒนาโรงเรียนและจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
– ไมโครซอฟท์จะนำเสนอโครงการ Student Help Desk เพื่ออบรมนักเรียนในการสนับสนุนครูในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอในยามที่ครูและนักเรียนต้องการ
– โรงเรียนในระดับประถมและมัธยมจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับการอัพเกรดโปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาให้เป็น Microsoft® Windows® XP Professional นอกเหนือจากนั้น สถานศึกษาเหล่านั้นยังจะได้รับสิทธิ์ในการจัดหา Microsoft® Office XP Professional สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในราคาพิเศษเพื่อการศึกษาอีกด้วย
• การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา
ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนการอบรมครูกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ
– ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมการอบรมครูอาจารย์และผู้บริหารโรงเรียนภายใต้โครงการ Peer Coaching ซึ่งเป็นโครงการที่อบรมผู้ฝึกสอนเพื่อคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำกับเพื่อนร่วมงานในการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการกับแผนการสอน ไมโครซอฟท์พร้อมสนับสนุนสถานศึกษา ครู และผู้บริหารในส่วนของทรัพยากรด้านการเรียนการสอนต่างๆ เช่น เครื่องมือ โปรแกรม และการฝึกปฏิบัติ ที่จะช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้
– ไมโครซอฟท์และกระทรวงศึกษาธิการจะสานต่อโครงการ Innovative Teachers ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และมอบรางวัลแก่คุณครูในระดับประถมและมัธยมศึกษาที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นเลิศในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในชั้นเรียน
• การพัฒนาหลักสูตร
– Portal for Digital Content:
ไมโครซอฟท์ดำเนินการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดแก่ครูและนักเรียน ด้วยการสร้างชุมชนออนไลน์สำหรับครูและนักเรียนผ่านทางเว็บท่าสื่อการศึกษาแบบดิจิตอล โดยเว็บท่านี้จะช่วยส่งเสริมการแบ่งปันความรู้และเป็นสถานที่ซึ่งเหล่าสมาชิกได้ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับจากการอบรม เนื้อหาภายในจะประกอบไปด้วยข้อมูลหลักสูตรการอบรม และสื่อข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนอื่นๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
– International Community and Standard:
ไมโครซอฟท์จะนำเอาชุมชนครูและนักเรียนจากนานาประเทศมาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการสื่อสาร สร้างสรรค์ นำเสนอ และร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาให้เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสื่อกลางในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการศึกษา
3) Thailand Gateway
การลงทุนในโครงการ Thailand Gateway คิดเป็นมูลค่า 4 ล้านบาท
Thailand Gateway เป็นรูปแบบการดำเนินงานของ e-government ซึ่งจะนำเอาแบบอย่างการดำเนินงานของ UK Gateway ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าดีที่สุดมาปรับใช้ โดยกรอบการดำเนินงานนั้นจะพัฒนาขึ้นโดยมุ่งให้ประชาชนไทยเป็นศูนย์กลางของข้อมูลต่างๆ
•ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแบบของ UK Government Gateway ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เพื่อช่วยให้การบริการต่างๆ ของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินงานของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย
พันธกิจของไมโครซอฟท์
เป้าหมายของบริษัทฯ คือพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดที่จะให้พลังแก่คนไทยและธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง โดยในประเทศไทยนั้น บริษัทฯ ดำเนินตามนโยบายดังนี้
– ส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด คือยุทธศาสตร์พื้นฐานของไมโครซอฟท์ การที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบทุกวันนั้น สิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มั่นคงได้คือการอบรมคนของเราให้เข้าใจถึงประโยชน์ของไอที ณ วันนี้ เราไม่ได้พูดถึงแค่การฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว แต่กำลังส่งเสริมให้คนไทยรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยประโยชน์ในชีวิตประจำวันของตน ในประเทศไทยนั้น ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านไอซีที ด้วยการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการเพิ่มศักยภาพแก่ประชาชนรวมทั้งสร้างอนาคตของประเทศด้วย
ในเดือนมิถุนายน 2546 เราได้อบรมครูกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเท่ากับการได้เข้าถึงนักเรียนจำนวน 422,000 คน โดยทำการอบรมทักษะพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งคาดว่าจะทำการอบรมเพิ่มเติมอีกหลายพันคนในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีครูที่ได้รับการอบรมให้เป็นวิทยากรด้านไอซีทีด้วย อีกทั้งมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมนำร่องขึ้น 4 แห่งในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือการเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีแก่คนไทยด้วยการให้ทักษะเพิ่มเติมนั่นเอง
ตามคำแถลงของ มร. บิล เกตส์ ในวันนี้ ไมโครซอฟท์จะส่งเสริมซอฟต์แวร์ราคาการศึกษาสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อนครูทั่วโลก สร้างสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิตอล และสร้างเว็บท่าเพื่อการเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีจุดประสงค์หลักคือ ส่งเสริมสังคมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดนั่นเอง
– สร้างระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นนโยบายสำคัญประการที่สองในการ
ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานและความมั่งคั่งในประเทศ เมื่อนักเรียนที่ได้รับการอบรมไปแล้วก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทักษะของพวกเขาก็จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต ซึ่งเป้าหมายในส่วนนี้หมายถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรและนักพัฒนา ในปี 2547 เรามีพันธมิตรกว่า 2,000 รายที่ทำงานร่วมกัน และช่วยอบรมนักพัฒนาเป็นพันๆ คน การแถลงของ มร. บิล เกตส์ ในครั้งนี้จะเป็นการย้ำว่า จะมีการอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะไปถึงนักเรียนอีกนับแสนคน การอบรมนักพัฒนาอีก 69,000 คนรวมถึงผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ รวมทั้งจัดหาเครื่องมือและสร้างทักษะเพื่อเปิดตลาดในประเทศไปสู่ระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยรวมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศด้วย
– นวัตกรรมบูรณาการ เป็นนโยบายสำคัญประการที่สามของบริษัทฯ หมายถึง การผนวกระบบและแอพพลิเคชั่นเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่องค์กร เมื่อนักเรียนนักศึกษาและนักพัฒนามีความชำนาญและทักษะด้านเว็บเซอร์วิสแล้ว เราหวังว่าพวกเขาจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เกี่ยวกับเว็บเซอร์วิสเพื่อส่งออกไปขายยังทั่วโลกต่อไป ซึ่งนวัตกรรมบูรณาการนั้นเกี่ยวข้องกับทุกๆ คนในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น e-Government และเอกชน ในประเทศไทยนั้น ไมโครซอฟท์ได้มีส่วนสนับสนุนองค์กรธุรกิจอยู่ตลอดเวลาในการเชื่อมโยงพนักงาน ระบบ และข้อมูลข่าวสารเข้าด้วยกันในรูปแบบที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการ Thailand.Net ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนรัฐบาลในการสร้าง ‘Web Services Super Hub’ เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ และสนับสนุนรัฐบาลไทยในการบูรณาการข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานรัฐ รวมทั้งประชาชนเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ
– ส่งเสริมคุณค่าทางธุรกิจ ด้วยการทำให้องค์กรธุรกิจไทยและประเทศไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของซอฟต์แวร์ รวมถึงคุณค่านานัปการที่จะได้รับจากการใช้ซอฟต์แวร์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายๆ องค์กร หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจโดยรวมเองก็ตาม ไม่ได้ตระหนักว่าซอฟต์แวร์สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลการทำงานได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร ดังนั้น เราจึงได้ลงทุนอย่างจริงจัง ในการสร้างศูนย์ Business Productivity Center ขึ้นในประเทศไทย เพื่อจัดแสดง สาธิตและทดสอบศักยภาพการทำงานของชุดซอฟต์แวร์ และเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้เปิดศูนย์ Microsoft Market
Development Partner ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงประโยชน์และคุณค่าของซอฟต์แวร์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์จะทำให้องค์กรได้เห็นถึงประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับ ตัวอย่างเช่น การบินไทยสามารถประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ไปได้ถึงปีละ 40 ล้านบาท และเมื่อโครงการที่ มร. บิล เกตส์ แถลงไปเริ่มดำเนินการ
เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เราเชื่อว่าทุกอย่างที่เราทำไปนั้นจะช่วยผลักดันให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจแก่องค์กรธุรกิจไทย รวมทั้งประชาชนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด