เครื่องปรุงรสอาหาร : ขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและส่งออก

ปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยยอมรับและบริโภคเครื่องปรุงรสที่มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนตลาดในต่างประเทศความนิยมเครื่องปรุงรสอาหารจากประเทศไทยเริ่มขยายตัวไปสู่การวางจำหน่ายบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ จากที่เคยจำกัดตัวอยู่ในร้านขายของชำของชาวเอเชีย เนื่องจากชาวต่างชาติหันมานิยมรับประทานอาหารไทยมากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศมีขนาดใหญ่ถึง 9,700 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของตลาดในแต่ละปีเฉลี่ยร้อยละ 10 ตลาดแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ตลาดระดับบน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ ผู้ที่มีรายได้สูง โรงแรม ร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำ ส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 15 ผู้ผลิตที่มุ่งเจาะตลาดนี้จะเน้นคุณภาพของสินค้าเป็นจุดขาย ตลาดระดับกลาง-ล่าง ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 85 การแข่งขันเข้มข้น มีผู้ผลิตมากราย ดังนั้นผู้ผลิตต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ กันเพื่อส่งเสริมการขาย ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายจดจำเครื่องหมายการค้า

ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารยังแยกออกได้เป็นประเภทใหญ่ ดังนี้
-น้ำปลา คาดว่ามูลค่าตลาดน้ำปลาในปี 2548 เท่ากับ 4,000 ล้านบาท ตลาดน้ำปลาในประเทศมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะตลาดน้ำปลาแท้มีอัตราการการขยายตลาดราวร้อยละ 20-30 ในขณะที่น้ำปลาผสมและน้ำปลาวิทยาศาสตร์ค่อยๆ เริ่มหายไปจากตลาด เทียบกับเมื่อหลายปีก่อนตลาดน้ำปลาเกรดซีจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ตลาดเกรดบีเริ่มขยายตัวกินสัดส่วนตลาดน้ำปลาเกรดซี เมื่อผู้บริโภคมีการศึกษาสูงขึ้น เริ่มให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพ น้ำปลาเกรดเอจึงเริ่มมียอดขายที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคต้องการบริโภคน้ำปลาสูงกว่าเกรดเอ ซึ่งต้องใช้เวลาในการหมัก และใช้ปลามากกว่าเกรดเอ กล่าวคือ ใช้เวลาประมาณ 18 เดือนเพื่อให้ได้โปรตีน 23-25 กรัมต่อลิตร หรือบางบ่ออาจสูงถึง 29 กรัมต่อลิตร ซึ่งน้ำปลาเกรดนี้มีความหอมมากเป็นพิเศษ ราคาจะสูงกว่าน้ำปลาเกรดเอ ร้อยละ25-30 เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่า

-ซอส คาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดซอสประมาณ 2,200 ล้านบาท ประเภทของซอสที่เป็นที่นิยมบริโภคของคนไทยมานานคือ ซอสถั่วเหลืองและซอสพริก ส่วนซอสที่มีการขยายตลาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ ซอสมะเขือเทศเนื่องจากการขยายตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีการรับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบตะวันตก โดยเฉพาะการขยายตัวของร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ ทั้งยังมีนักลงทุนที่เล็งเห็นว่าตลาดซอสมะเขือเทศมีโอกาสขยายตลาดในประเทศได้อีกมากทำให้มีการลงทุนผลิตมะเขือเทศมากมายหลายยี่ห้อ ในบรรดาซอสทั้งหมดนั้นซอสถั่วเหลืองจัดว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งซีอิ๊วและซอสปรุงรส เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมบริโภคมากขึ้นในฐานะของสิ่งปรุงรสที่มีสุขภาพ

-เครื่องแกง คาดว่าในปี 2548 มูลค่าตลาดเครื่องแกงเท่ากับ 1,000 ล้านบาท การผลิตเครื่องแกงในทางการค้าแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ เครื่องแกงสด และเครื่องแกงสำเร็จรูป โดยที่เครื่องแกงสดจะไม่ผสมกะทิสามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเครื่องแกงสำเร็จรูปจะนำเอาหัวกะทิมาผสมด้วย แล้วนำไปอบเพื่อลดความชื้น ซึ่งสามารถนำไปปรุงรับประทานได้ทันที ปัจจุบันนอกจากการจำหน่ายเครื่องแกงในตลาดสดแล้ว ผู้ผลิตเครื่องแกงยังมีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่หันไปจับจ่ายซื้อของในห้างสรรพสินค้า โดยการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเป็นการตักเครื่องแกงจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์มาเป็นการบรรจุขวด หรือกระปุกจำหน่าย รวมทั้งเพิ่มประเภทของเครื่องแกงให้มีหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งคิดค้นเครื่องแกงสำเร็จรูปประเภทที่เติมน้ำ หรือเติมเนื้อและผักแล้วสามารถรับประทานได้เลย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากแกงบางอย่างนั้นเครื่องปรุงค่อนข้างยุ่งยาก เช่น น้ำยาที่รับประทานกับขนมจีน ทำให้ในปัจจุบันจะเห็นมีน้ำยาสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องวางจำหน่าย

-ผงปรุงรส คาดว่าในปี 2548 มูลค่าของตลาดผงปรุงรสเท่ากับ 2,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทก้อนมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 70 และชนิดผงมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 30 ตลาดผงปรุงรสก็นับว่าเป็นเครื่องปรุงรสอาหารประเภทหนึ่งที่มีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากผงปรุงรสนับว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้มีนักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้ามาลงทุนในตลาด รวมทั้งนักลงทุนรายเก่าก็พยายามคิดค้นสูตรเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผงปรุงรสมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบการเติบโตระหว่างตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรสแบบก้อนและผงนั้น ตลาดผงปรุงรสแบบก้อนเริ่มเกิดภาวะอิ่มตัวและมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากผงปรุงรสแบบก้อนมีข้อจำกัดในการปรุงอาหาร โดยประกอบอาหารได้เพียงแค่ทำน้ำซุปอย่างเดียว แต่สำหรับตลาดชนิดผงจะสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายวิธีมากกว่า เช่น ผงหมักอาหารประเภทต่างๆ ปรุงอาหารชนิดผัด ผงปรุงน้ำซุปสำหรับทำก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ เป็นต้น

-เครื่องปรุงรสอาหารอื่นๆ คาดว่าในปี 2548 มูลค่าของตลาดผงปรุงรสเท่ากับ 500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ คือ ซอสหอยนางรมหรือที่เรียกกันว่าน้ำมันหอย และน้ำพริกเผา เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นที่นิยมบริโภค ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารยังมีแนวโน้มการขยายตัวอีกมาก เนื่องจากพฤติ-กรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีความพิถีพิถันในเรื่องรสชาติของอาหาร ประกอบกับเครื่องปรุงรสอาหารเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และในแต่ละครัวเรือนยังบริโภคไม่มากเหมือนกับน้ำปลา ภาวะการแข่งขันในตลาดเครื่องปรุงรสอาหารทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายเก่าจะได้เปรียบผู้ประกอบการรายใหม่ในด้านการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค และรสชาติเป็นที่ยอมรับแล้ว ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่จึงจำเป็นต้องสร้างฐานลูกค้าของตน และการประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้บริโภคให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ผลิตในตลาดจะใช้กลยุทธ์ในการทำตลาดอย่างไรก็แล้วแต่ ยังคงต้องให้ความสำคัญด้านคุณภาพของสินค้าด้วย เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพ สะอาด มีคุณค่าทางโภชนาการ และราคายุติธรรม

การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ 65.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 คาดว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 โดยคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปจะมีแนวโน้มขยายตัว อันเป็นผลมาจากหน่วยงานมาตรฐานอาหารอังกฤษ (UK Food Standards Agency : FSA) ตรวจพบสาร Sudan Red และ Para Red ในพริก ผลิตภัณฑ์เครื่องเทศ ขมิ้น และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่นๆที่มีส่วนผสมของพริก เครื่องเทศ และซอสจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ทำให้มีการประกาศเรียกคืนสินค้าอาหารที่ตรวจพบการปนเปื้อน ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้สินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทยจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเติบโตของผู้บริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในต่างประเทศขยายตัวตามการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และการบริโภคในครัวเรือนของชาวเอเชียที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ตลอดจนชาวต่างประเทศที่ติดใจในรสชาติอาหารไทย ปัจจุบันเครื่องปรุงรสอาหารของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ได้จำกัดการจำหน่ายเฉพาะในร้านชำของคนไทย จีน และเวียดนามเท่านั้น แต่ยังขยายการจำหน่ายไปในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของสหรัฐฯนับเป็นมิติใหม่ของสินค้าประเภทเครื่องปรุงรสอาหารที่ยกระดับจากเดิมจากการจำหน่ายในแวดวงคนเอเชีย ทำให้คาดว่าส่วนแบ่งตลาดเครื่องปรุงรสอาหารของไทยในต่างประเทศขยายตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการขยายตลาดในต่างประเทศนั้นผู้ส่งออกยังต้องให้ความสำคัญในด้านการควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอ มีฉลากคำแนะนำ คำอธิบาย และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและทนทาน รวมทั้งต้องตรวจสอบสุขอนามัยและมาตรฐานการผลิตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสารปนเปื้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวม

สำหรับประเภทของเครื่องปรุงรสอาหารที่ส่งออกแยกออกได้เป็นซอส น้ำปลา เครื่องแกงสำเร็จรูป และผงปรุงรส โดยที่ซอสเป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการส่งออกซอสเท่ากับ 13.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะการส่งออกซอสพริก ซึ่งมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือ ซอสมะเขือเทศ ส่วนน้ำปลานั้นมูลค่าการส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสูงกว่าสิ่งปรุงรสประเภทซอส กล่าวคือในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการส่งออกน้ำปลาเท่ากับ 10.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 ส่วนสิ่งปรุงรสที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูงที่สุด คือ ผงปรุงรส ซึ่งนับว่าการส่งออกผงปรุงรสนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการส่งออกผงปรุงรสเท่ากับ 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.3

เครื่องปรุงรสอาหารนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ตลาดยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก สำหรับในประเทศนั้นมีการเติบโตจากปัจจัยหนุนหลากหลายประการ กล่าวคือ คนไทยหันมานิยมสิ่งปรุงรสหลากหลายประเภทมากขึ้น จากเดิมที่นิยมบริโภคน้ำปลาและซอสถั่วเหลืองเท่านั้น รวมทั้งพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทยที่นิยมบริโภคอาหารที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการปรุงรสอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารมีการวิจัยและพัฒนาเครื่องปรุงรสอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่วนตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากอาหารไทยเริ่มเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารของไทยเข้าไปวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อไปเพื่อปรุงอาหารไทยรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้การที่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครื่องปรุงรสอาหารมีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกัน