ในวันนี้ ( 8 สิงหาคม 2548 : สำนักงานใหญ่ ทอท.) พล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) ยืนยันรอยร้าวของไหล่ทาง (Runway Shoulder) เป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นทางเทคนิค เนื่องจากการปรับปรุงคุณภาพดินของทางขับเชื่อมระหว่างทางวิ่ง (Runway) ตะวันตกกับทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ในขั้นตอนของการออกแบบแล้ว ไม่ใช่รอยร้าวบนพื้นผิวทางวิ่ง ที่จะเปิดใช้งานแต่อย่างใด
รชค. กล่าวเพิ่มเติมภายหลังเข้าพบ นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทอท. และผู้บริหารทอท.ว่า จากการตรวจสอบพื้นที่บริเวณพื้นผิวทางวิ่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสังเขป ไม่พบว่ามีรอยแตกร้าวแต่อย่างไร รอยแตกที่พบตามที่เป็นข่าวนั้น เกิดบริเวณไหล่ทางวิ่งฝั่งตะวันตก บริเวณที่กำลังดำเนินการปรับปรุงคุณภาพดิน (การทำ Ground Improvement) ของทางขับเชื่อมที่เตรียมไว้สำหรับเชื่อมกับทางวิ่งเส้นที่ 3 ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดินเดิม จนถึงระดับการทรุดตัวที่ต้องการตามแนวทางการออกแบบหลังจากการทรุดตัวได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว จะต้องทำการรื้อย้ายทรายถมที่เป็นน้ำหนักกดทับออก และจะเริ่มทำโครงสร้างชั้นฐานใหม่ สำหรับรองรับผิวจราจรของพื้นผิวทางขับ (Taxiway Pavement) ในส่วนนี้ ซึ่งรอยร้าวบริเวณดังกล่าวอยู่ในขอบเขตที่จะต้องถูกขุดและรื้อออกด้วยเช่นกัน เพื่อก่อสร้างโครงสร้างชั้นฐานใหม่ และทำพื้นผิวจราจรให้เชื่อมต่อทางวิ่งฝั่งตะวันตกในปัจจุบัน ทั้งนี้ในขั้นตอนการออกแบบปรับปรุงคุณภาพดินทางขับเชื่อมนี้ วิศวกรผู้ออกแบบได้คาดการณ์รอยร้าวนี้ไว้ด้วยแล้ว ซึ่งจะไม่ส่งผลถึงความเสียหายของทางวิ่งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้เปิดใช้
สำหรับในขั้นตอนของการปรับปรุงคุณภาพดินของทางวิ่งที่ผ่านมา มีการนำเอาวัสดุ Filter Fabric (หรือแผ่น Geotextile ) มาปูใช้งานอยู่ 2 ชั้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทำหน้าที่เป็น Separator เพื่อแบ่งแยกชั้นของวัสดุ โดยในชั้นแรกปูระหว่างชั้นดินเดิมกับชั้นทรายล้าง และชั้นที่ 2 ระหว่างชั้นทรายล้างกับวัสดุที่ใช้เป็นน้ำหนักกดทับ คือหินคลุก เพื่อเป็นการเพิ่มคุณสมบัติการระบายน้ำที่ดีของชั้นทรายล้าง โดยไม่ให้วัสดุปะปนกัน อันทำให้ทรายล้างลดความสามารถในการระบายน้ำ และยังเป็นการคัดแยกวัสดุที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้สะดวก Filter Fabric ที่ใช้นี้มีหน้าที่เป็นเพียง Separator ที่ไม่มีผลต่อการรับน้ำหนักของ Pavement Structure (โครงสร้างผิวทาง) นอกจากนั้นวัสดุนี้ใช้ปูรองเฉพาะงาน Ground Improvement เท่านั้น ไม่ใช้ทำหน้าที่ต่อเนื่อง สำหรับการรับน้ำหนักของโครงสร้างผิวทาง (Pavement Structure) ทั้งนี้ได้มีการทดสอบตัวอย่างของวัสดุ Filter Fabric ที่นำมาใช้งานอย่างดี และสม่ำเสมอจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)