ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน : ไทยส่งออกอันดับ 3 ของโลก

ข้าวโพดหวานเป็นสินค้าผักประเภทหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ โดยปัจจุบันไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากฮังการี และสหรัฐฯ ทำให้การปลูกข้าวโพดหวานในประเทศมีการขยายตัวอย่างมาก รองรับกับความต้องการของผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่มีการขยายการลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน

ตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานโลก…ฮังการีครองแชมป์ ไทยกำลังไล่ตามสหรัฐฯ

ฮังการี สหรัฐฯและไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานมากที่สุดในโลก ปัจจุบันฮังการีมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดหวานสดแช่เย็นและแช่แข็งร้อยละ 31.0 ของปริมาณการส่งออกในตลาดโลก และมีสัดส่วนร้อยละ 34.0 สำหรับข้าวโพดหวานแปรรูป โดยสามารถแย่งชิงตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานมาจากสหรัฐฯ โดยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมากการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของสหรัฐฯในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

กล่าวคือ สัดส่วนการส่งออกข้าวโพดหวานสด แช่เย็นและแช่แข็งเหลือเพียงร้อยละ 30.0 เทียบกับสัดส่วนที่เคยสูงถึงร้อยละ 50.0 ในปี 2541 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปเหลือเพียงร้อยละ 33.0 เทียบกับสัดส่วนที่เคยสูงถึงร้อยละ 70.0 ในปี 2541 ในทางตรงกันข้ามฮังการีและไทยมีสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันฮังการีนั้นสามารถแซงสหรัฐฯขึ้นเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากสหรัฐฯประสบปัญหาที่ประเทศผู้นำเข้าไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ(Genetically Modified Organisms : GMOs) และสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานไปยังสหภาพยุโรปมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสหภาพยุโรปมีมาตรการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าอาหาร และการติดฉลากแยกระหว่างสินค้าที่มีจีเอ็มโอและสินค้าที่ปลอดจีเอ็มโอ

นอกจากนี้ในปัจจุบันฮังการีเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป ทำให้ประเทศในสหภาพยุโรปหันไปนำเข้าจากฮังการีมากขึ้น ส่วนไทยนั้นแม้ว่าจะผลิตข้าวโพดหวานได้เป็นอันดับ 8 ของโลก แต่ก็สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากฮังการีและสหรัฐฯ และมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 20.0 ของข้าวโพดหวานแปรรูปในตลาดโลก

ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในไทย…หลากปัจจัยหนุน ผลผลิตเพิ่ม ส่งออกพุ่ง

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานในประเทศไทยมีประมาณ 737,500 ไร่ ผลผลิต(ทั้งเปลือก)ประมาณ 1.48 ล้านตัน จากในปี 2545 มีพื้นที่ปลูกประมาณ 200,000 ไร่ ผลผลิต(ทั้งเปลือก)ประมาณ 400,000 ตัน เนื่องจากหลากหลายปัจจัยหนุน กล่าวคือ การส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจผักและผลไม้กระป๋องหันมาเพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน และจำนวนผู้ประกอบการที่ผลิตข้าวโพดหวานสด แช่เย็นและแช่แข็งก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผู้ประกอบการเหล่านี้หันไปลงทุนส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดหวานในลักษณะตลาดข้อตกลง โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ซึ่งในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวโพดหวานในภาคเหนือเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวทุกปี ทำให้ในปัจจุบันแหล่งปลูกข้าวโพดหวานที่สำคัญของไทยอยู่ทางภาคเหนือ จากเดิมแหล่งปลูกจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และมหาสารคาม และภาคตะวันตกในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี และสมุทรสาคร ปัจจุบันจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานมีประมาณ 30 โรงงาน

ข้าวโพดหวานที่จำหน่ายในตลาดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

1.ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูป ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตข้าวโพดหวานเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวโพดแปรรูปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตข้าวโพดหวานในประเทศร้อยละ 95 จะส่งเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวโพด และที่เหลืออีกร้อยละ 5 ส่งเข้าโรงงานผลิตข้าวโพดสดแช่เย็นแช่แข็ง คาดการณ์ว่าในปี 2548 ปริมาณการผลิตข้าวโพดหวานในส่วนนี้เท่ากับ 141,200 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 ปริมาณข้าวโพดหวานที่ผลิตได้ในแต่ละปีประมาณร้อยละ 94 ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 6 เป็นการบริโภคในประเทศ

การส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปมีทั้งในรูปของเมล็ดข้าวโพดหวานในน้ำเกลือ(Whole Kernel Corn) และซุปข้าวโพด(Cream Style Corn) ซึ่งข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกเท่ากับ 3,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 ตลาดส่งออกสำคัญคือ สหภาพยุโรปมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 50.0 ส่วนตลาดที่มีความสำคัญรองลงมาและมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงคือ เกาหลีใต้ รัสเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ คาดว่าในอนาคตตลาดเหล่านี้จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทดแทนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่เริ่มมีปัญหา โดยผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดบางส่วนจากสหรัฐฯมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากราคาข้าวโพดหวานแปรรูปคุณภาพดีของไทยนั้นมีราคาถูกกว่าของสหรัฐฯประมาณร้อยละ 20 และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยนั้นดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่พึงระวังของการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูป คือ

1.การแข่งขันกันเองของผู้ส่งออกของไทยที่ผลิตข้าวโพดหวานคุณภาพปานกลางและต่ำ ซึ่งจะเป็นตัวดึงราคาข้าวโพดหวานแปรรูปของไทยในอนาคต และอาจจะส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์โดยรวมของผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปส่งออกโดยรวมของไทย ถ้ามีการปฏิเสธการนำเข้าผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทย เนื่องจากสินค้าของผู้ผลิตบางรายคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่ประเทศนำเข้ากำหนดไว้ และผู้ส่งออกมีการตัดราคาจำหน่ายแข่งขันกันเอง ซึ่งอาจจะส่งผลเสียในระยะยาว โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานว่ามีกระแสข่าวว่าผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋องในสหภาพยุโรปเตรียมจะฟ้องร้องเพื่อให้เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าข้าวโพดกระป๋องที่ส่งออกจากไทย หลังพบว่าการส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีราคาต่ำ ทำให้ผู้ผลิตภายในของสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบ

2.การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปไปยังสหภาพยุโรปลดลง อันเนื่องจากการที่ฮังการี ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปอันดับหนึ่งของโลกเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปในเดือนพฤษภาคม 2547 ทำให้สหภาพยุโรปหันไปนำเข้าจากฮังการีมากยิ่งขึ้น

3.ข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็ง ในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตข้าวโพดหวานเพื่อนำไปผลิตเป็นข้าวโพดหวานสด แช่เย็นและแช่แข็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2548 ปริมาณการผลิตข้าวโพดหวานในส่วนนี้เท่ากับ 6,145 ตัน เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ปริมาณข้าวโพดหวานที่ผลิตได้ในแต่ละปีประมาณร้อยละ 90 ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นการบริโภคในประเทศ

การส่งออกข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าการส่งออกข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งในปี 2548 เท่ากับ 170.0 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.6 ซึ่งข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งกำลังเป็นที่นิยมบริโภคในตลาดต่างประเทศ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนร้อยละ 60.0 การส่งออกไปยังญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลาดช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่าน และในปี 2547 ขยายตัวถึง 4 เท่าตัว คาดว่าในปี 2548 มูลค่าการส่งออกข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นจะยังคงขยายตัวอีกประมาณ 1 เท่าตัว อย่างไรก็ตามไทยต้องเผชิญกับปัญหาความเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานด้านสุขอนามัย และการแข่งขันกับจีน ซึ่งมีราคาถูกกว่า แต่ผู้ส่งออกไทยยังคงได้เปรียบในเรื่องคุณภาพของสินค้า สำหรับตลาดอื่นๆที่น่าสนใจคือ ไต้หวันและสหรัฐฯ ส่วนตลาดใหม่ที่เริ่มมีการส่งออกคือ คอสตาริกา สวีเดน เวียดนาม เรอูเนียง สิงคโปร์ และอิหร่าน

บทสรุป

ปัจจุบันไทยครองอันดับ 3 ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในตลาดโลกรองจากฮังการีและสหรัฐฯ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทยได้รับการยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและราคา รวมทั้งยังเป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ผักหลายรายหันมาเพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานเพื่อการส่งออก ทำให้มีการเข้าไปลงทุนส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวานในลักษณะตลาดข้อตกลงเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพการผลิตให้ตรงตามความต้องการ อย่างไรก็ตามปัจจัยพึงระวังที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทยยังจะเติบโตต่อเนื่องต่อไป ก็คือ การรักษาระดับมาตรฐานการผลิตและปัญหาการตัดราคากันเองของผู้ส่งออก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาการสอบสวนการทุ่มตลาดในประเทศนำเข้าสำคัญ โดยทั้งสองปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานของไทยในอนาคต

ปริมาณการผลิตและความต้องการข้าวโพดหวานแช่แข็งของไทย
: ตัน
2545 2546 2547 2548*
สต็อกต้นปี 130 126 360 390
ปริมาณการผลิต 1,200 4,700 5,100 6,145
ปริมาณการนำเข้า 18 17 15 15
รวม 1,348 4,843 5,475 6,550
ส่งออก 1,072 4,310 4,900 6,000
บริโภคในประเทศ 150 173 185 200
สต็อกปลายปี 126 360 390 350
ที่มา : USDA. GAIN Report. Thailand Processed Sweet Corn Annual 2004.
หมายเหตุ : *คาดการณ์

มูลค่าส่งออกข้าวโพดหวานสดแช่เย็นแช่แข็งของไทย
: ล้านบาท
ประเทศ 2545 2546 2547 มค.-มิย. 2548
ญี่ปุ่น 4.4 9.9 52.5 52.6
ไต้หวัน 1.9 2.6 25.3 7.2
คอสตาริกา – – – 6.5
สหภาพยุโรป 22.1 11.5 16.1 5.0
เวียดนาม – – 2.1 2.7
สหรัฐฯ 2.1 0.8 5.1 1.7
อื่นๆ 21.3 19.5 12.5 10.0
รวม 51.8
(7.2) 44.3
(-14.5) 113.6
(156.4) 85.7
(38.7)
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์
หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ปริมาณการผลิตและความต้องการข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องของไทย
: ตัน
2545 2546 2547 2548*
สต็อกต้นปี 6,521 5,605 6,500 6,300
ปริมาณการผลิต 67,500 90,000 118,000 141,200
ปริมาณการนำเข้า 5 5 5 5
รวม 74,026 95,610 124,505 147,505
ส่งออก 66,321 86,264 115,000 138,000
บริโภคในประเทศ 2,100 2,846 3,205 3,505
สต็อกปลายปี 5,605 6,500 6,300 6,000
ที่มา : USDA. GAIN Report. Thailand Processed Sweet Corn Annual 2004.
หมายเหตุ : *คาดการณ์
มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทย
: ล้านบาท
ประเทศ 2545 2546 2547 มค.-มิย. 2548
สหภาพยุโรป 647.1 984.4 1,409.1 691.0
เกาหลีใต้ 193.1 225.6 184.9 105.1
รัสเซีย 132.0 82.9 128.1 93.8
ญี่ปุ่น 24.4 102.4 124.3 66.1
ไต้หวัน 116.8 141.0 146.4 60.0
สหรัฐฯ 24.6 67.6 94.0 50.5
ฟิลิปปินส์ 35.0 38.6 57.0 47.6
อื่นๆ 408.2 435.7 566.0 436.8
รวม 1,581.2
(61.6) 2,078.2
(31.4) 2,709.8
(30.4) 1,550.9
(22.6)
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์