13 กรกฎาคม 2548 – เมื่อวันอังคารที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี (ยูคอม) และ ผู้อำนวยการโครงการบูรณาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งอันดามัน พร้อมกับ นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกองบัญชาการทหารสูงสุด ทำพิธีมอบบ้านพักถาวรขนาด 2 ชั้น 2 ห้องนอน ขนาดตัวบ้าน 32 ตารางเมตร บนเนื้อที่ดิน 35 ตารางวา จำนวน 80 หลัง รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งสิ้น 16 ไร่ และพื้นที่สาธารณะ 4 ไร่ รวมพื้นที่ในโครงการทั้งสิ้น 20 ไร่ ให้กับผู้ประสบธรณีพิบัติภัยสึนามิจำนวนกว่า 300 คน ที่บ้านบางขยะ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งได้รับความทุกข์ยากเดือนร้อน ไร้ที่อยู่อาศัย และบางส่วนก็ไม่สามารถกลับพื้นที่เดิมได้เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน โดยโครงการเป็นงานฟื้นฟูผู้ประสบภัยสึนามิแบบบูรณาการครบวงจร ด้วยการสร้างบ้านถาวร ช่วยฝึกอบรมอาชีพ และพัฒนาการด้านสังคม
โครงการดังกล่าวได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับการก่อสร้างจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 10 ล้านบาท ยูคอม และ ดีแทค จำนวน 10 ล้านบาท ก่อสร้างโดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุดและจากความร่วมมือในการสื่อสารจากสถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน FM96.0 MHz เริ่มก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2548 และส่งมอบโครงการในวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 พร้อมมอบสิ่งของและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ข้าวสาร แท้งค์น้ำ อุปกรณ์กีฬาและเครื่องมือเพื่อการศึกษาที่ได้รับจากการบริจาคของประชาชนทั่วไปรวมทั้งจากพนักงานยูคอมและดีแทค ซึ่งในวันจัดงานประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกับผู้ดำเนินโครงการด้วยการแสดงพื้นบ้านและมีกิจกรรมสันทนาการร่วมกันอีกด้วย
นอกเหนือจากการสร้างบ้านถาวรแล้ว งานที่ยังจะต้องสานต่อคือสาธารณูปโภคอื่น ๆ ในโครงการที่จำเป็น เช่น ศาลาประชาคม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถนนลาดยาง ระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสียไฟฟ้า สนามกีฬา สนามเด็กเล่น เป็นต้น
โครงการบูรณาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชายฝั่งอันดามัน ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ขั้นที่สามขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นธงนำในการดำเนินการ ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และหวังที่จะให้เป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ผู้ที่ดำเนินโครงการเป็นการช่วยด้วยความจริงใจ และจากความร่วมมือของชาวบ้าน เพื่อช่วยกันสร้างชีวิตใหม่ในหนทางแห่งเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความสุขและยั่งยืนต่อไป.