ปัญหาแรงงานไทยในไต้หวัน : ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข

จากการที่คนงานไทยในไต้หวันจำนวนหนึ่งได้ชุมนุมประท้วงนายจ้างจนลุกลามกลายเป็นการจราจลเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา โดยมีการจุดไฟเผาอาคารและทรัพย์สิน แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ก็สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท โดยคนงานไทยที่ก่อเหตุเป็นลูกจ้างของบริษัทเกาสง แรบบิด ทรานซิส คอร์เปอร์เรชั่น
( Kaohsiung Rapid Transit Corporation: KRTC) ที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าในเมืองเกาสงทางภาคใต้ของไต้หวัน

สำหรับสาเหตุที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงของคนงานไทยที่บานปลายไปสู่การจราจลนั้น เนื่องมาจากคนงานไทยไม่พอใจกฎระเบียบของฝ่ายนายจ้างที่เข้มงวดเกินไป จนทำให้คนงานไทยเกิดความรู้สึกเครียด และก่อการประท้วงแสดงความไม่พอใจขึ้น แต่ในที่สุดสถานการณ์ก็คลี่คลายไปสู่ความสงบได้ โดยตัวแทนของคนงานไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัท KRTC ให้ปรับปรุงสถานที่พัก อาหาร สภาพความเป็นอยู่ของคนงาน การอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ การชมโทรทัศน์จากประเทศไทย การกำหนดเวลาการเข้าออกสถานที่ และวิธีการเบิกเงินค่าแรงล่วงเวลา เป็นต้น ซึ่งบริษัท KRTC ที่เป็นนายจ้างได้ยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของคนงานไทย และล่าสุดคนงานไทยก็กลับเข้ามาทำงานตามปกติแล้ว

เหตุการณ์ความไม่สงบของคนงานไทยในไต้หวันได้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์ไม่รุนแรงเท่ากับครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าคนงานไทยที่ทำงานในไต้หวันมีความรู้สึกเครียดอยู่ภายในที่รอวันระเบิดตลอดเวลา ดังนั้นจำเป็นที่รัฐบาลไทยและฝ่ายนายจ้างชาวไต้หวันจะต้องให้ความสนใจ และต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วก่อนที่เหตุการณ์อาจจะเกิดขึ้นซ้ำเหมือนในอดีตที่มีคนงานไทยจำนวนมากปะทะกับคนงานชาวฟิลิปปินส์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าปัญหาการส่งคนงานไทยไปทำงานในไต้หวันเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้เนื่องจาก คนงานไทยในไต้หวันสามารถทำเงินตราต่างประเทศส่งกลับเข้ามาประเทศไทยปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นไต้หวันยังเป็นตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน ขณะเดียวกันการจัดส่งคนงานไทยไปต่างประเทศยังมีผลกระทบต่อปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาระหนี้ของคนงานที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในการเดินทางถึงคนละประมาณ 150,000 บาท นอกจากนั้นยังมีครอบครัวคนงานรอรับเงินจากคนงานไทยในต่างประเทศที่มีมากกว่าปีละเกือบ 1 แสนครอบครัว ขณะที่ยังมีบริษัทนายหน้าจัดหางานที่ทำหน้าที่จัดส่งคนงานอีกเกือบ 1 พันบริษัท เป็นต้น

ดังนั้นการแก้ปัญหาการจัดส่งแรงงานไปทำงานในไต้หวันคงจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา และจะต้องพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

คนงานไทย : ในไต้หวันมากที่สุด
ไต้หวันถือว่าเป็นตลาดแรงงานในต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของไทยในปัจจุบัน เนื่องจากมีคนงานไทยเดินทางไปทำงานอย่างเป็นทางการจำนวนมากที่สุด โดยในปี 2547 มีคนงานไทยที่ขออนุญาตจากกระทรวงแรงงานเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันเป็นจำนวนถึง 69,982 คน คิดเป็นร้อยละ 47.1 ของคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศทั้งหมด

สำหรับในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2548 มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันจำนวน 27,595 คน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีคนงานไทยเดินทางไปทำงานมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่จำนวนคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันกลับมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 32.3 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2547 ทั้งนี้เนื่องจากไต้หวันมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ประกอบกับนายจ้างชาวไต้หวันได้มีระเบียบในการหักเงินประกันของคนงานไทยมากขึ้น ทำให้แรงจูงในการเดินทางไปทำงานในไต้หวันลดลง

ในปี 2547 ที่ผ่านมา แม้ว่าไต้หวันต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 4.4 แต่ไต้หวันก็ยังคงนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาก ถึง 309,150 คน โดยมีคนงานไทย ทำงานอยู่ประมาณ 104,500 คน คนงานฟิลิปปินส์ ประมาณ 89,700 คน คนงานเวียดนาม ประมาณ 81,200 คน คนงานอินโดนีเซียประมาณ 33,600 คน ส่วนที่เหลือเป็นคนงานจากประเทศมองโกเลีย และประเทศมาเลเซีย ประมาณ 150 คน

แรงงานต่างด้าวในไต้หวันส่วนใหญ่จะทำงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมต่างๆประมาณ 168,695 คน หรือร้อยละ 54.6 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด รองลงมาเป็นการทำงานในด้านบริการ ประมาณ 126,210 คน หรือร้อยละ 40.8 ส่วนที่เหลือทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง ประมาณ 11,022 คน หรือร้อยละ 3.6 และการทำงานในด้านการเกษตรและประมง ประมาณ 3,233 คน หรือร้อยละ 1 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลไต้หวันพยายามที่จะจำกัดจำนวนแรงงานต่างด้าวไม่ให้มีมากเกินกว่าปีละ 300,000 คน และจะลดโควตาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวลงร้อยละ 10 ในทุกๆ 3 ปี นอกจากนั้นยังจะไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในประเทศ

แต่นโยบายจำกัดจำนวนแรงงานต่างด้าวของไต้หวันไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในไต้หวันจะขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเจ้าของกิจการจึงจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทนคนงานชาวไต้หวันที่หันไปเลือกทำงานอื่นที่มีรายได้สูงกว่า ความต้องการแรงงานต่างด้าวจึงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวและช่วงที่ภาวะการส่งออกของไต้หวันมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2548 ไต้หวันจะมีแรงงานต่างด้าวมากถึง 311,000 คน โดยคาดว่าจะมีคนงานไทยอยู่ประมาณ 100,000 คน รองลงมาเป็นคนงานฟิลิปปินส์ ประมาณ 92,000 คน และคนงานเวียดนามประมาณ 84,000 คน คนงานอินโดนีเซีย ประมาณ 35,000 คน

โดยตำแหน่งงานที่คนงานไทยทำในไต้หวันมากที่สุดในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2548 ได้แก่ ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก เป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร และผู้ปฏิบัติงานด้านประกอบชิ้นส่วน ร้อยละ 57.1 อันดับที่สองรองมาได้แก่ ตำแหน่งช่างฝีมือในอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และการประกอบเครื่องจักรกล ร้อยละ 23.6 อันดับที่สามได้แก่ กรรมกรก่อสร้าง ผู้ช่วยแม่บ้าน คนงานในโรงงาน คนงานในสวนเกษตร ร้อยละ 14.9 ส่วนที่เหลือทำงานเป็นคนดูแลเด็กและผู้สูงอายุ แม่บ้านและกุ๊ก รวมทั้งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ(วิศวกร ล่าม นักแสดง) เป็นผู้จัดการฝ่ายต่างๆ และเป็นคนงานมีฝีมือในด้านการเกษตรและประมง ร้อยละ 4.4

สำหรับในปี 2547 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะมีรายได้ของคนงานไทยในไต้หวันส่งกลับมายังประเทศไทยประมาณ 16,207 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับปี 2546 ทั้งนี้เนื่องจากมีจำนวนคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานในไต้หวันลดลง และในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2548 คาดว่าจะมีรายได้ส่งกลับของคนงานไทยจากไต้หวันประมาณ 4,526.1 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันกับปี 2547 ร้อยละ 17.8

หากเปรียบเทียบรายได้ของคนงานไทยที่ส่งกลับจากประเทศต่างๆทั่วโลกกับรายได้ของการส่งออกสินค้าที่สำคัญกับในปี 2547 พบว่ารายได้ของคนงานไทยที่ส่งกลับจากทั่วโลกที่มีมูลค่า 61,082 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 18 เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าที่สำคัญอื่นๆ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารายได้ของคนงานไทยในต่างประเทศยังถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศไทยเหมือนกับการส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศ แต่รายได้ของคนงานไทยมีข้อดีกว่าการส่งออกสินค้าตรงที่ไม่ต้องใช้วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติในประเทศเหมือนกับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

เศรษฐกิจไต้หวันยังต้องพึ่งพาคนงานต่างด้าว
มีการตั้งคำถามว่าหากรัฐบาลไต้หวันมีนโยบายห้ามไม่ให้มีแรงงานต่างด้าวในประเทศอะไรจะเกิดขึ้น คำตอบที่ได้ก็คือ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในไต้หวันจะได้รับความเดือนร้อนอย่างแน่นอน รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐบาลอาจจะล่าช้าหรือหยุดชะงักลง ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันไต้หวันต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคการก่อสร้าง การผลิตอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานกึ่งมีฝีมือ รวมไปถึงงานบริการในครัวเรือน และแม่บ้าน ซึ่งงานที่คนงานต่างชาติทำนั้นเป็นงานที่คนงานไต้หวันไม่ยอมทำ เนื่องจากสามารถหางานอื่นที่มีรายได้สูงและงานเบากว่าได้

การเลือกงานของคนงานชาวไต้หวันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าไปทำงานในไต้หวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาแรงงานต่างด้าวในไต้หวันคงจะเหมือนกับประเทศอื่นๆที่มีกำลังแรงงาน(Labor force) ไม่สมดุลกับการขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่พยายามลดต้นทุนการผลิต กล่าวคืออุตสาหกรรมในประเทศมีความต้องการแรงงานราคาถูกเพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออก โดยไม่สามารถหาแรงงานท้องถิ่นมาใช้ในขบวนการผลิตได้ ขณะเดียวกันเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ยอมเคลื่อนย้ายโรงงานไปในต่างประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศทั้งแบบถูกกฎหมายและการลักลอบเข้าไปทำงาน
โรงงานอุตสาหกรรมในไต้หวันยังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ขณะที่แนวโน้มของแรงงานไทยที่ไปทำงานในไต้หวันมีจำนวนลดลงทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมของไต้หวันมีความต้องการแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปวช. ปวส. และต้องมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษได้ ซึ่งคุณสมบัติของคนงานที่โรงงานอุตสาหกรรมไต้หวันต้องการไม่ค่อยตรงกับคนงานไทยมากนัก ด้วยเหตุนี้จำนวนแรงงานไทยจึงน้อยลงในไต้หวัน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาคนงานไทยในไต้หวัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่าการแก้ปัญหาการจัดส่งคนงานไทยไปไต้หวันควรพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้ด้วย

1.รายได้ของคนงานในต่างประเทศ เนื่องจากเงินส่งกลับของคนงานไทยจากต่างประเทศยังเป็นรายได้ของประเทศ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด(Current Account) ได้ โดยในปี 2547 ที่ผ่านมามีเงินรายได้ของคนงานไทยส่งกลับจากต่างประเทศคิดเป็นเงินจำนวนถึง 61,082 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของคนงานไทยกับรายได้จากสินค้าส่งออกที่สำคัญสามารถจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก

2.ปัญหาการว่างงานในประเทศ อัตราการว่างงานในประเทศอาจจะเพิ่มสูงขึ้นถ้ามีการนำคนงานไทยกลับจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้คาดว่าจะมีคนงานไทยทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 300,000 คน

3.ปัญหาหนี้สินของแรงงาน เนื่องจากคนงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศส่วนใหญ่มักจะกู้ยืมเงินมาใช้เพื่อการเดินทาง โดยคนงานจะต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางคนละ 100,000-150,000 บาท ดังนั้นหากต้องเดินทางกลับประเทศอาจจะต้องประสบกับปัญหาภาระหนี้สินที่ต้องชดใช้เป็นจำนวนมาก

4.ปัญหาทางด้านสังคมและอาชญากรรม หากมีคนงานกลับมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนคนว่างงานอาจจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีปัญหาทางด้านสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น

5. ปัญหาบริษัทจัดหางาน เนื่องจากในปัจจุบันมีบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณเกือบ 1,000 บริษัท ที่ทำหน้าที่ในการจัดหาคนงานและเตรียมความพร้อมเบื้องต้นให้กับคนงานก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบ ถ้าหากมีการยกเลิกการจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศ

6. ปัญหาการเตรียมความพร้อมคนงานไทยก่อนเดินทาง การเตรียมความพร้อมให้กับคนงานเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากไปทำงานในไต้หวันคนงานไทยจะต้องพบกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างจากประเทศไทย รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่แตกต่าง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะเตรียมความพร้อมทางด้านการทำงาน ความรู้ทางด้านภาษา ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และสภาพความเป็นอยู่ให้คนไทยอย่างครบถ้วน

7.ปัญหาสัญญาและข้อบังคับในการทำงานของนายจ้าง เนื่องจากสัญญาการจ้างและข้อบังคับของนายจ้างแต่ละบริษัทในไต้หวันจะแตกต่างกันไป แม้ว่าสัญญาและข้อบังคับส่วนใหญ่จะมีการแปลเป็นภาษาไทย แต่เนื่องจากคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานในไต้หวันส่วนใหญ่จะมีความรู้ในระดับประถมศึกษา ดังนั้นจึงควรที่จะมีการอธิบายสัญญาและข้อบังคับให้คนงานไทยได้ทราบอย่างชัดเจนก่อนการเดินทาง เพื่อให้คนงานได้เตรียมตัวในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8.การติดตามสภาพความเป็นอยู่ของคนงาน เนื่องจากคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เช่น ไปไต้หวันส่วนใหญ่จะเดินทางโดยผ่านการอนุมัติของกรมการจัดหางาน ดังนั้นจึงควรที่จะมีเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานเดินทางไปตรวจเยี่ยมคนงานไทยทุกๆ 3 เดือน เพื่อรับทราบปัญหาและความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนงานไทย

9.ควรมีโทรศัพท์สายด่วนสำหรับคนงานไทยในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานควรที่จะมีหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนสำหรับคนงานไทยในต่างประเทศใช้โทรฟรี เพื่อใช้ในการแจ้งปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับคนงานไทย รวมทั้งมีบริการให้คำปรึกษาด้านการทำงานกับคนงานไทยในต่างประเทศด้วย

10.ควรส่งเสริมคนงานไทยไปทำงานในตำแหน่งที่มีรายได้สูงขึ้น เนื่องจากในไต้หวันยังมีตำแหน่งงานที่มีรายได้สูงกว่ากรรมกรก่อสร้างและกรรมกรในโรงงาน ซึ่งมีคนงานจากประเทศอื่นเข้าไปทำอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทางการไทยจะต้องมีหน่วยงานติดตามเกี่ยวกับความต้องการแรงงานประเภทต่างๆในต่างประเทศ และขณะเดียวกันก็ต้องช่วยฝึกอบรมคนงานไทยก่อนที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศให้สามารถทำงานในตำแหน่งงานอื่นๆที่มีรายได้สูงกว่าการใช้แรงงานอย่างเดียว เช่น ตำแหน่งกุ๊ก ช่างมีฝีมือ เป็นต้น
จากข้อสังเกตที่กล่าวมาการแก้ปัญหาคนงานไทยในต่างประเทศจึงควรที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและพิจารณาถึงผลกระทบอื่นที่อาจจะเกิดด้วย