ซอฟต์แวร์ ปาร์ค ประสานมือยักษ์ใหญ่ไอที ประกาศหนุนบุคลากรสอบใบประกาศ

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พร้อมด้วยบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง อาทิ Microsoft, Oracle, SUN, Cisco หน่วยงานด้านการสรรหาทรัพยากรบุคคลด้านไอที ศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์สอบ ชั้นนำอาทิ ISM, Acis และ Nirvana, Checkpoint, Manpower ฯลฯ ประสานกำลังเตรียมจัดงาน IT Cert. Day 2005 ในวันที่ 21 กันยายน 2548 นี้ ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว

ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า การจัดงาน IT Certification Day ปีที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และยังผลให้มีบุคลากรด้านไอทีเข้าสู่ระบบการอบรม และการสอบใบประกาศนียบัตรมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะพัฒนา และยกระดับความสามารถด้านไอทีให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งเน้นให้ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านไอทีในระดับภูมิภาคนั้นเรายังคงต้องเพิ่มปริมาณบุคลากรด้านไอทีที่ได้รับประกาศนียบัตร และผ่านการอบรมจากสถาบันที่ได้รับการรับรองอีกมาก

คุณเอกราช คงสว่างวงศา ผู้จดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยเกี่ยวกับโครงการแผนการอบรมส่วนบุคคล (Personalized Training Roadmap: PTR) ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรด้านไอทีสามารถวางแผนการเข้าอบรม Microsoft Certified Application Developers (MCAD) ตามความเหมาะสม และข้อจำกัดของแต่ละบุคคล ซึ่งบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการพัฒนาแคมเปญทางการตลาดเพื่อสนับสนุนให้นักพัฒนาระบบเข้าสู่ระบบการสร้างแผนการอบรมส่วนบุคคลนี้ และเข้าสอบเพื่อให้ได้รับใบประกาศนียบัตร โดยในอนาคตคาดว่า โครงการแผนการอบรมส่วนบุคคลจะรวมเอาโอกาสทางอาชีพ และคุณสมบัติทางอาชีพที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ได้รับใบประกาศนียบัตรนัก พัฒนาระบบของไมโครซอฟท์อีกด้วย

สำหรับผู้เข้าชมงานแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสายไอที กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้บริหารงานไอที ที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการและการบริการด้านไอที ให้เข้าสู่มาตรฐาน สากล อีกกลุ่มคือนักศึกษา นักเรียน และบุคคลทั่วไป ซึ่งกำลังศึกษาและสนใจที่จะเข้าสู่งานด้านไอที และต้องการความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสอบ เพื่อรับประกาศนียบัตรมาตรฐานไอทีระดับนานาชาติที่จะเป็นประโยชน์กับการทำงานต่อไปในอนาคต

นายณัฐศักดิ์ โรจนพิเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดงาน IT Certification Day มาตลอดต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากบริษัทฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากรไอที เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะบุคลากรซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดจะต้องมีทักษะและความรู้ในเทคโนโลยีในเชิงลึกและสามารถนำไปปฏิบัติงานได้จริง”

ในขณะที่ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้ำเจตนารมณ์ของทางบริษัทฯ ซึ่งเข้าร่วมงาน IT Certification Day อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีว่าในปีนี้ ทางซันจะยังคงสนับสนุนการอบรม และการสอบประกาศนียบัตรแบบ Open Standard เพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรด้านไอทีของไทย และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาวงการไอทีอีกด้วย

นายปริญญา หอมเอนก (CISSP? CISA? GIAC?) ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันนี้ภัยต่างๆ บนไซเบอร์สามารถที่จะเกิดขึ้นได้จากทุกทิศทุกทางและทุกเวลา “บุคลากร” ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างลึกซึ้ง และมีใบรับรองด้านความปลอดภัยสารสนเทศฯ จึงนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังขาดบุคลากรในด้านนี้อีกมาก หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดปี 2548 ซึ่งทางเอซิส จะมุ่งเน้นกลุ่มบุคลากรที่มีคุณสมบัติในการก้าวขึ้นสู่ระดับมืออาชีพ และให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเราหวังจะได้เห็นการเพิ่มจำนวนของบุคคลากรไทยที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากลในอัตราที่สูงเพิ่มมากยิ่งขึ้น”

ส่วนคุณนทีทอง ทองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิร์วานา จำกัด เปิดเผยว่าทางบริษัทต้องการกระตุ้นตลาดแรงงานด้านไอทีประเภท Specialize มากขึ้นจึงได้จัดโครงการ “Ready to Use” ขึ้น โดยเป็นโครงการที่ส่งบุคลากรที่สถาบันได้อบรมให้แล้ว และผ่านการทดสอบ ในหลักสูตรต่างๆ ซึ่งจะได้รับการระบุว่ามีความสามารถด้านไอทีอยู่ในระดับใด ไปทำงานกับบริษัทที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างๆ หมดปัญหาในเรื่องของการต้องฝึกอบรมพนักงานใหม่ เพราะพนักงานไอทีที่บริษัทต่างๆ รับเข้าไปนั้น สามารถทำงานได้เลย ดังนั้นบริษัทต่างๆ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการฝึกอบรมพนักงาน ได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ

กิจกรรมที่จัดขึ้นในงานนี้จะประกอบด้วยการประชุมสัมมนาเชิงนิทรรศการในหัวข้อต่างๆ จากบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ Microsoft, Oracle, SUN, Cisco, การอภิปรายถึงโอกาส, ประโยชน์ และคุณค่าวุฒิบัตรและประกาศนียบัตรมาตรฐานนานาชาติ ด้วยมุมมองและประสบการณ์จริงของนักไอทีมืออาชีพ ตลอดจนการอภิปรายในหลากหลายมุมมองจากตัวแทนบริษัทผู้ว่าจ้าง, ผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรที่แสดงความ เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา และจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ฝึกอบรม, ศูนย์สอบ บริษัทจัดหาบุคลากรด้านไอที และร้านหนังสือด้านไอทีต่าง ๆ ร่วมออกบูธในงาน

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่การอบรมสัมมนาในหัวข้อ “กลเม็ดสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ IT : คำแนะนำจาก IT Recruiter ระดับแนวหน้า” รวมถึงเรื่อง “ตลาดแรงงาน IT วันนี้มีอะไรที่น่าจับตามอง” นอกจากนี้ยังมีหลากหลายวิธีในการสร้างโอกาสที่ดีแก่ผู้หางานด้านนี้เพื่อให้ได้งานที่ดีและเหมาะสม (แม้กระทั่งการช่วยให้งานของคุณที่ทำอยู่ในปัจจุบันยืนยาวขึ้น) มีการพูดถึงเรื่องของ ฐานเงินเดือนว่าทำไมใบประกาศจึงมีความคุ้มค่าแก่การลงทุน รวมทั้ง อธิบายถึงความสำเร็จในอาชีพที่จำเป็นต้องมีสิ่งอื่น นอกเหนือจากทักษะด้านเทคนิคซึ่งจัดโดยบริษัท ไอเอสเอ็ม ซึ่งได้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน IT Certification Day อย่างต่อเนื่อง

“ในการจัดงาน IT Cert. Day 2005 ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีทั้งจากภาครัฐบาล และเอกชนซึ่งให้ความสำคัญและปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางและแนวทางในการผลักดันให้ไทยเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล อันเป็นพื้นฐานหลักของการเติบโตด้านไอทีแบบยั่งยืน และสามารถแข่งขันกับตลาดต่าง ประเทศได้” ดร. รอม กล่าวเสริม

เกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย

เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ปัจจุบัน เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศ และช่วยผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยบริการหลัก 9 บริการ ได้แก่ ศูนย์ปรับปรุงกระบวนการซอฟต์แวร์ (SPIC) บริการพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ศูนย์ให้คำปรึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับภาคอุตสาหกรรม (ICCI) บริการโครงสร้างพื้นฐาน บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายธุรกิจเบื้องต้น ศูนย์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ซอฟต์แวร์ที่ผลิตในประเทศ บริการพื้นที่สำนักงาน/ ห้องฝึกอบรม/ สัมมนา