กรุงเทพ – 9 กันยายน 2548 – จากเหตุการณ์ที่ นายปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ได้นำรถยนต์เชฟโรเลต ออพตร้า หมายเลขทะเบียน ศร 9918 กรุงเทพมหานคร มาร้องเรียนที่หน้าห้างโรบินสัน รัชดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีความผิดปกติของระบบเกียร์ และไม่สามารถขับได้ และเรียกร้องให้บริษัทฯ ทำการเปลี่ยนเกียร์ตามระยะเวลารับประกัน พร้อมทั้งขอให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการ
คุณปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ได้นำรถคันดังกล่าวเข้ารับบริการในช่วงที่ผ่านมา และบริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบ พบว่า รถยนต์คันนี้ได้รับการดัดแปลงและปรับแต่งอุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์ ซึ่งอาจจะทำให้ระบบการทำงานโดยรวมของรถยนต์และระบบเกียร์ผิดปกติได้
รายการที่ได้รับการดัดแปลงและปรับแต่งอุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์ได้แก่
1. ติดตั้งชิฟไลท์ ( Shift Light) – แจ้งสถานะรอบการทำงานของเครื่องยนต์ ตามการปรับตั้งของผู้ขับขี่
2. ดัดแปลงท่อร่วมไอเสีย (Header) – ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์
3. ตัดท่อแคททาไลติค คอนเวอร์เตอร์ (Catalytic Converter) – เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งทำให้มลภาวะที่ปล่อยออกมาสูงขึ้น
4. ดัดแปลงท่อแว็คคั่ม (Vacuum) ของระบบเครื่องยนต์ – ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบเบรค
5. ติดตั้งกรองเปลือย – ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์
6. เปลี่ยนชุดคอยล์สปริงแต่ง (Coil Spring) – ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของช่วงล่างเพื่อรองรับการขับขี่ที่รุนแรง ซึ่งส่งผลให้อายุการทำงานของชิ้นส่วนช่วงล่างอื่นๆ ลดลง
7. ตีท่อสแตนเลสช่วงกลาง + เปลี่ยนหม้อพักไอเสียท่อนปลาย – ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ และความสวยงาม โดยเป็นการเพิ่มมลภาวะทางเสียง
รถยนต์เชฟโรเลตออพตร้าเป็นรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากการพิจารณาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้มีการดัดแปลงแก้ไข ทางบริษัทสรุปได้ว่าเป็นการดัดแปลงเพื่อเพิ่มกำลังจากเครื่องยนต์ ซึ่งการกระทำดังเป็นการผิดเงื่อนไขการรับประกัน และส่งผลให้เครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องอายุการทำงานสั้นลง
ในส่วนที่มีติดตั้งชิฟไลท์เพื่อแจ้งสถานะรอบการทำงานของเครื่องยนต์ ตามการปรับตั้งของผู้ขับขี่ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ขับขี่ได้ตั้งให้ไฟเตือนทำงานที่รอบการทำงานของเครื่องยนต์ = 5,800 รอบ ต่อ นาที ซึ่งเป็นรอบการทำงานของเครื่องยนต์ที่ให้แรงม้าสูงสุด จากจุดประสงค์ของอุปกรณ์และค่าที่ได้ทำการปรับตั้งไว้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ผู้ขับขี่มีจุดประสงค์ที่จะดึงกำลังสูงสุดของเครื่องยนต์โดยการเร่งเครื่องยนต์ให้ถึงรอบการทำงานที่มีกำลังสูงสุด โดยใช้ไฟเตือนเพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่ทราบว่าถึงจุดที่เครื่องยนต์ให้กำลังสูงสุด และควรเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องละสายตาจากถนน ซึ่งจะพบได้ในการขับรถยนต์เพื่อทำความเร็วในเวลาอันสั้น เช่นการแข่งขันรถยนต์ต่าง ๆ
รถคันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่ติดตั้งระบบเกียร์อัตโนมัติ โดยปกติ การทำงานของเกียร์อัตโนมัติจะใช้งานในตำแหน่ง D ระบบเกียร์จะวิเคราะห์ตำแหน่งเกียร์ที่เหมาะสมในแต่ละย่านความเร็ว และเปลี่ยนโดยอัตโนมัติตามลักษณะการกดคันเร่งของผู้ขับขี่ จากการที่ผู้ขับขี่ได้มีการติดตั้ง ชิฟไลท์ ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้ขับขี่มีจุดประสงค์ที่จะกำหนดการเปลี่ยนเกียร์ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถกระทำได้โดยเลื่อนตำแหน่งเกียร์ไปตามตำแหน่งต่าง ๆ ที่ต้องการ เพื่อดึงกำลังสูงสุดจากเครื่องยนต์ ถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการออกแบบเกียร์อัตโนมัติให้มีตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุไว้ในคู่มือประจำรถ
จากการที่เครื่องยนต์มีการทำงานที่ผิดไปจากมาตรฐาน รวมกับการขับขี่ที่รุนแรง ส่งผลให้ระบบเกียร์อัตโนมัติต้องรับภาระการทำงานมากผิดปรกติ ซึ่งส่งผลให้อายุการทำงานของเกียร์ลดลง จากการตรวจสอบสภาพน้ำมันเกียร์ของรถคันดังกล่าวพบว่า น้ำมันเกียร์มีสีดำคล้ำ โดยมีเศษผงสีดำเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบเศษผงสีดำที่อยู่ในน้ำมันเกียร์ พบว่าเป็น เศษผงที่เกิดจากการสึกหรอของผ้าคลัตช์ ซึ่งเป็นผลจากกำลังของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นและการขับขี่ที่รุนแรง
“อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังขอยืนยันให้ลูกค้านำรถเข้ารับบริการเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แน่ชัดของการทำงานของระบบเกียร์ที่ผิดปกติอีกครั้ง ในกรณีดังกล่าว ทางฝ่ายบริหารของ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้ารายนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยินดีที่จะให้คำปรึกษาและการบริการแก่ลูกค้ารายนี้อย่างเต็มที่ แม้ว่าการรับประกันรถเชฟโรเลต ออพตร้า คันดังกล่าวจะสิ้นสุดลง เนื่องจากมีการปรับแต่งและดัดแปลงอุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์ไปแล้วก็ตาม” นายชาติชาย สุวรรณเสวก ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังยืนยันที่จะเป็นบริษัทรถยนต์ที่ให้บริการหลังการขายที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าทุกคน ตามมาตรฐานสากลของเชฟโรเลตทั่วโลก อนึ่ง ในกรณีที่ลูกค้าไม่พอใจในการให้บริการของบริษัทฯ ลูกค้าสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐที่เป็นกลาง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อตรวจสอบโดยวิศวกรที่มีความรู้และเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้จำหน่าย และผู้ผลิตต่อไป และบริษัทฯ ยินดีที่จะปฎิบัติตามคำวินิจฉัยจากหน่วยงานที่เป็นของรัฐที่กล่าวมาข้างต้น และบริษัทฯ ยังยืนยันว่า จะไม่รับพิจารณาการนำสินค้าไปประจานในที่สาธารณะ
ลูกค้าเชฟโรเลตสามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่หมายเลข 0-2791-3400 ต่อ 1 ในระหว่างเวลา 9.00 น. – 16.00 น. หรือที่ตัวแทนจำหน่ายเชฟโรเลต 72 แห่งทั่วประเทศ