บีเอสเอเพิ่มรางวัลนำจับ 2 เท่า มอบเงิน 500,000 บาทแก่ผู้ให้เบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ประกาศเพิ่มรางวัลนำจับแก่ผู้ให้เบาะแสที่นำไปสู่การดำเนินคดีต่อองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนหรือซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2548 รางวัลนำจับจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากเดิม 250,000 บาท เป็น 500,000 บาท การประกาศดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของบีเอสเอสำหรับการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และให้ความรู้แก่องค์กรธุรกิจเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย

ตั้งแต่ต้นปี 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการบุกเข้าตรวจค้นบริษัท 6 แห่งในประเทศไทย โดยบริษัทเหล่านี้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนหรือซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และจากการตรวจค้น สามารถยึดซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายมูลค่า 11,020,483 บาท การตรวจค้นดังกล่าวเป็นผลมาจากข้อมูลที่ได้รับผ่านสายฮอตไลน์สำหรับปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบีเอสเอ หรือผ่านเว็บไซต์ของบีเอสเอ

ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยในปัจจุบัน องค์กรและผู้จัดการระดับสูงจะต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 800,000 บาท และ/หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี นอกจากนี้ยังอาจถูกดำเนินคดีทางแพ่งด้วยเช่นกัน

มร. ทารุน ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ กล่าวว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในอัตรา 79% ในช่วงปี 2547 โดยลดลงเพียง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากว่า 7.5 พัน ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีอีกหลายบริษัทที่ยังคงดื้อดึง ไม่ยอมปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลสำหรับการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ”

“เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของบีเอสเอในการป้องปรามการใช้ซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมาย บีเอสเอจึงตัดสินใจเพิ่มเงินรางวัลนำจับสำหรับผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับบริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนหรือซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ จากเดิม 250,000 บาท เพิ่มเป็น 500,000 บาท จนถึงปลายเดือนตุลาคม ศกนี้ เราหวังว่าความพยายามในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็เป็นคำเตือนให้ผู้บริหารของบริษัทต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย” มร. ซอว์นีย์ กล่าวเพิ่มเติม

ในเดือนพฤษภาคม 2548 บีเอสเอได้ขยายโครงการอบรมให้ความรู้ โดยได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายใต้โครงการ “บริหารสินทรัพย์ จัดระเบียบซอฟต์แวร์” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้องค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายในการดำเนินธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

“ผู้ใช้ระดับองค์กรควรตระหนักถึงความเสี่ยงจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัท และทำให้นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจ เนื่องจากการบริหารองค์กรไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การละเมิดลิขสิทธิ์ย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของไทย ทั้งยังคุกคามการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายในภาคธุรกิจไอที และทำให้รัฐบาลไทยต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษี เราจะต้องปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้หมดสิ้นไปเพื่ออนาคตที่สดใส” มร.ซอว์นีย์ กล่าวสรุป

หากต้องการรายงานเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในสถานที่ทำงาน โดยมีรางวัลนำจับสูงสุด 500,000 บาท โปรดติดต่อ สายฮอตไลน์ของบีเอสเอสำหรับปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ โทร.1800 291 005 หรือ 0 2711 6193 หรือเยี่ยมชม www.bsa.org เพื่อรายงานทางออนไลน์ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดต่อจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ

เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (Business Software Alliance; BSA) คือองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอคือกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ สมาชิกบีเอสเอคือตัวแทนของการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆของบีเอสเอล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีผ่านภาคการศึกษาและนโยบายที่สนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, การค้า และอีคอมเมิร์ซ สมาชิกกลุ่มบีเอสเอทั่วโลกประกอบด้วย อะโดบี (Adobe), แอปเปิล (Apple), ออโต้เดสก์ (Autodesk), เอวิด (Avid), เบนต์เลย์ซิสเต็มส์ (Bentley Systems), บอร์แลนด์ (Borland), ซีเอ็นซีซอฟต์แวร์มาสเตอร์แคม (CNC Software/Mastercam), อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี้ซิสเต็มส์ (Internet Security Systems), แมโครมีเดีย (Macromedia), แมคอะฟี (McAfee), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), พีทีซี (PTC), โซลิดเวิร์คส (SolidWorks), ไซเบส (Sybase), ไซแมนเทค (Symantec), เดอะแม็ตช์เวิร์คส (The MathWorks), และยูจีเอส (UGS) สมาชิกกลุ่มบีเอสเอภูมิภาคเอเชียประกอบด้วย มินิแท็บ (Minitab) และ เทรนด์ไมโคร (Trend Micro)

ในประเทศไทย บีเอสเอทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในการสนับสนุนสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา