วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัด 2 กิจกรรมใหญ่เพื่อเยาวชน ได้แก่ โครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ ครั้งที่ 7 ชิงถ้วยพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ โครงการค่ายวงดุริยางค์เยาวชนนานาชาติ แห่งภาคพื้นอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนดนตรีของไทยมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนให้ทัดเทียมกับนานาชาติ พร้อมเปิดตัวบัตรคนรักดนตรีที่ผู้ซื้อสามารถเข้ารับชมคอนเสิร์ตของวิทยาลัยฯ ได้อย่างจุใจในราคาย่อมเยาว์
สำหรับโครงการแรก คือ โครงการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติครั้งที่ 7 (The Seventh Asian Symphonic Band Competition หรือ ASBC) ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการประกวดที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้วงดุริยางค์เครื่องเป่าของโรงเรียนทั่วประเทศไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านดนตรีในระดับนานาชาติ เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของดนตรีและรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการประกวดนี้จะมีวงดุริยางค์ทั้งจากประเทศไทยและจากประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน บรูไน เกาหลี ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้นจำนวน 22 วง โดยมีเงินรางวัลสูงสุดถึง 1,000,000 บาท
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์กล่าวว่า “ในปัจจุบันประเทศไทยมีวงดุริยางค์เครื่องเป่าเป็นจำนวนมาก โดยในแต่ละปีวงดุริยางค์เหล่านี้จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันทางดนตรีหลายครั้ง ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าในการเสียค่าใช้จ่ายให้กับประเทศที่มีการประกวดวงดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปี การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเอง จะมีผลดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้กับวงดุริยางค์เครื่องเป่าของไทยได้เข้าร่วมในการประกวดระดับนานาชาติมากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและนำรายได้เข้าประเทศเนื่องจากมีวงดุริยางค์จากนานาประเทศมาเข้าร่วมประกวด ช่วยกระตุ้นบรรยากาศทางด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรี และยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติดอีกด้วย”
รศ.ดร.สุกรียังกล่าวต่ออีกว่า “จุดประสงค์อีกประการที่สำคัญมากในการจัดการประกวดครั้งนี้ ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นดุริยกวี เป็นอัครศิลปิน เป็นที่ขนานนามว่าพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางดนตรีที่เป็นเลิศ โดยแต่ละวงจะบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ของในหลวง เพลงประจำชาติของแต่ละประเทศ และเพลงอิสระอื่นๆ”
โดยการประกวดจะมีขึ้น 2 รอบด้วยกัน รอบแรกจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม 2548 เวลา 9.00-18.00 น. และรอบชิงชนะเลิศในวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2548 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจไม่แพ้โครงการแรกคือ โครงการค่ายวงดุริยางค์เยาวชนนานาชาติแห่งภาคพื้นอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 (South-East AsianYouth Symphony Orchestra and Wind Ensemble หรือ SAYOWE) ซึ่งเป็นการรวบรวมเยาวชนอายุระหว่าง 14-25 ปี ที่มีความสามารถทางดนตรีสูงจากประเทศในกลุ่มภูมิภาคอุษาคเนย์ 10 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เมียนม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย จำนวน 142 คน แบ่งออกเป็น 2 วงด้วยกัน คือวงดุริยางค์ซิมโฟนี (เครื่องสาย) และวงดุริยางค์เครื่องเป่า มาเข้าค่ายเพื่อพัฒนาศักยภาพวงดุริยางค์ของเยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนสู่ระดับนานาชาติ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิค และเทรนด์ใหม่ๆ ทางดนตรี และเพื่อสร้างความสมานฉันท์ของเยาวชนอาเซียนโดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ ทั้งนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี และครูดนตรีที่มีความสามารถในระดับนานาชาติ 20 ท่าน และศิลปินรับเชิญ 4 ท่าน ได้แก่ คริสท็อฟ ไวน์เนเค่น เคลาดิโอ โบโฮเควซ อลัน แม็คเมอเรย์ กอร์ดอน สเต๊าท์
สำหรับค่ายวงดุริยางค์เยาวชนนานาชาติแห่งภาคพื้นอุษาคเนย์ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้น ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 1-9 ตุลาคม 2548 และมีการแสดงพิเศษของทั้งสองวงในวันสุดท้าย โดยมีนักดนตรีเอกของโลก อาทิ เคลาดิโอ โบโฮเควซ นักเชลโล และ กอร์ดอน สเต๊าท์ นักมาริมบา มาเป็นนักดนตรีรับเชิญแสดงร่วมกับวงเยาวชนดนตรี และทั้งสองโครงการสำหรับเยาวชนนี้ ผู้สนใจทั่วไปสามารถรับบัตรชมคอนเสิร์ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใด
นอกจากนี้ หอแสดงดนตรีของวิทยาลัยฯ ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีระบบเสียงอันทันสมัย ซึ่งสามารถอัดแผ่นจากการแสดงบนเวทีได้ในทันทีที่คอนเสิร์ตจบ พร้อมเก้าอี้ระดับเฟิร์สคลาสที่นั่งสบาย มีเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เรียกได้ว่าเป็นหอแสดงดนตรีขนาดเล็กที่พร้อมที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ทางวิทยาลัยฯ จึงได้จัดคอนเสิร์ตเป็นประจำทุกค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยคอนเสิร์ตนั้นจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปทุกวัน ตั้งแต่การแสดงดนตรีไทยๆ แบบลิเกไปจนถึงวงออร์เคสตร้าเพื่อตอบรับผู้มีรสนิยมทางดนตรีและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน
พร้อมกันนี้ทางวิทยาลัยฯ จึงได้ถือโอกาสเปิดตัวบัตรคนรักดนตรีขึ้น ซึ่งเป็นสมาร์ทการ์ดสำหรับผู้มีเสียงเพลงในจิตใจ โดยสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตได้ถึง 100 ครั้ง หรือ 100 ที่นั่ง ตลอดระยะเวลา 1 ปี พร้อมรับส่วนลดพิเศษในร้านวิทยาลัย และร้านอื่นๆอีกมากมาย
รศ.ดร.สุกรีย้ำว่า “ความคิดริเริ่มในการขายบัตรคนรักดนตรีนี้ เกิดขึ้นมาเพื่อให้คนไทยที่มีใจรักในเสียงเพลงสามารถเข้าชมคอนเสิร์ตดีดีจากทางวิทยาลัยฯ ได้ในราคาถูก ให้คนไทยได้มีโอกาสดูของดีดีกัน เพื่อจะได้ยกระดับรสนิยมทางดนตรีให้สูงขึ้น รวมทั้งเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย”
สำหรับผู้สนใจสามารถหาซื้อบัตรได้ที่วิทยาลัยฯ โรงเรียนดนตรีเอื้อมอารีย์ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และโครงการศึกษาดนตรีสำหรับบุคคลทั่วไป สาขาเสรีเซ็นเตอร์ และ สยามพาราก้อน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 800 2525 หรือทางเวบไซต์วิทยาลัย www.music.mahidol.ac.th