เด็กไทยเจ๋ง คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดวงดนตรีเยาวชนเครื่องสายระดับโลก

วงจุลดุริยางค์ ดร.แซค เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า (Dr. Sax Chamber Orchestra) วงดนตรีเยาวชนเครื่องสาย สร้างประวัติการณ์ด้านดนตรีใหม่ให้กับไทย ล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดวงดนตรีเยาวชนคลาสสิคระดับนานาชาติ ในงาน International Youth Chamber Music Competition 2005 (IYCC) จัดขึ้นที่เมืองอินเตอร์ลาเก้น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายนที่ผ่านมานี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งวงเข้าแข่งขัน และเด็กไทยก็สามารถสร้างชื่อเสียงในเวทีดนตรีนานาชาติได้อย่างไม่มีที่ติ โดยสามารถผ่านเกณฑ์การตัดสินต่างๆ ไปพบกับผู้เข้าแข่งขันถึง 17 วง จากประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านดนตรีอย่าง ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ รัสเซีย เยอรมัน สาธารณรัฐเช็ค ในรอบชิงชนะเลิศ และคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองในที่สุด สำหรับอันดับ 2 นั้นไม่มีผู้ได้รับรางวัล และอันดับ 3 ได้แก่วงเยาวชนจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การเข้าร่วมแข่งขัน International Youth Chamber Music Competition (IYCC) 2005 ครั้งแรก และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ มาครองได้มิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากวงที่เข้าประกวดต้องแข่งขันกันใน 3 เพลง 3 ยุค คือยุคปี ค.ศ.1700-1830 ยุค ค.ศ. 1830-1900 และยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นการเล่นโดยไม่มีผู้ควบคุมวง ผู้เล่นดนตรีต้องให้คิวกันเอง และต้องประสานการเล่นให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้ ซึ่งเด็กไทยของเราได้รับคำชมจากต่างชาติเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนก่อนการแข่งขัน เด็กๆ อดทนฝึกซ้อมกันอย่างหนัก ด้วยความที่เป็นงานใหญ่ และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เข้าแข่งขัน ทำให้เด็กๆ ต้องซ้อมหนักกว่าเด็กยุโรปที่คุ้นเคยกับการแข่งขันแบบนี้อยู่แล้วหลายเท่า”

ตัวแทนเยาวชนดนตรี และหนึ่งในสมาชิกของวงดร.แซค เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า “น้องเปรียว” สรีวันท์ วาทะวัฒนะ ลูกสาวคนเก่งของ อี๊ด ฟุตปาธ เจ้าของอัลบั้ม ปี๊ค & เปรียว ฟุตปาธแฟมิลี่ จาก ค่าย อาร์ สยาม เปิดเผยพร้อมรอยยิ้มว่า “เพื่อนๆ ทุกคนตื่นเต้นกันมาก เพราะเป็นการแข่งขันระดับโลก พวกเราซ้อมกันมาอย่างหนัก ผู้เข้าแข่งขันประเทศอื่นๆ ก็เก่งๆ กันทั้งนั้น และประสบการณ์เยอะกว่า เป็นเพราะความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเรา วงของเราก็เลยชนะใจกรรมการ ทุกคนภูมิใจและดีใจมากที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อยากฝากถึงเยาวชนไทยทุกคน ขอให้เรามีความมุ่งมั่น เอาใจใส่ ขยันหมั่นเพียร แล้วจะประสบผลสำเร็จในทุกด้าน และอีกสองปีข้างหน้า เราก็ได้รับเชิญให้กลับไปเล่นโชว์ที่สวิตฯ อีกครั้ง ในฐานะแชมป์เก่า เราทุกคนก็จะฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่ และจะพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”

นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย และผู้ให้การสนับสนุนวงดนตรีเยาวชนอย่างต่อเนื่องกล่าวด้วยความปลื้มปิติว่า “รางวัลชนะเลิศที่ได้รับมานี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านดนตรีของเด็กไทยว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติตะวันตกเลย แม้ว่าคุณภาพเครื่องดนตรีอาจจะยังสู้ไม่ได้อยู่บ้าง แต่ถ้าวัดกันที่ฝีมือล้วนๆ เราไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน”

นายอนุทิน ชาญวีรกุล ประธานกรรมการวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย และผู้ให้การสนับสนุนวงดนตรีเยาวชน กล่าวเสริมว่า “เด็กๆ เหล่านี้มีทั้งพรสวรรค์และใจรักอยู่แล้ว ขาดแต่เพียงเวทีที่จะให้พวกเขาได้แสดงความสามารถ เด็กบางคนในวงดร.แซค ก็เป็นสมาชิกของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิคแห่งประเทศไทย วงออร์เคสตร้าระดับอาชีพวงแรกของประเทศไทยด้วย เรียกได้ว่าฝีมือด้านดนตรีของเยาวชนดนตรีเหล่านี้อยู่ในระดับมืออาชีพเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าผู้ใหญ่อย่างเราให้การสนับสนุน จะทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาฝีมือ และก้าวตามความฝันไปได้ไกลที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ “

สำหรับวง ดร.แซค เชมเบอร์ ออเคสตร้า นี้ เป็นวงดนตรีเครื่องสาย ประกอบด้วยสมาชิก 15 คน เป็นวงดนตรีเพื่อประกอบการเรียนการสอนดนตรีเด็กของโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ (Dr. Sax School of Music) และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอาศัยปรัชญาและแนวความคิดใหม่ ที่ว่า “ดนตรีเพื่อเด็กทุกคนและเด็กทุกคนควรมีโอกาสเรียนดนตรี” เพื่อให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อเด็กได้เรียนดนตรีแล้ว ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีเท่านั้น เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อความสุขส่วนตัว เรียนรู้เพื่อความมีรสนิยม เป็นผู้มีวัฒนธรรมโดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ

การแข่งขันวงดนตรีเยาวชนเครื่องสายระดับโลก International Youth Chamber Music Competition 2005 (IYCC)

International Youth Chamber Music Competition 2005 (IYCC) เป็นการแข่งขันวงดนตรีเครื่องสายในระดับเยาวชน จัดโดยสมาคม Pro-crescendo Aarau ร่วมกับการท่องเที่ยวเมืองอินเตอร์ลาเก้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นการแข่งขันที่มีขึ้นภายในสำหรับวงดนตรีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น โดยจะจัดขึ้นทุกสองปี และในปี พ.ศ. 2548 นี้ เป็นปีแรกที่การทางเจ้าภาพจัดการแข่งขันได้เปิดกว้างสำหรับวงเครื่องสายจากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมแข่งขันด้วย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 29 กันยายน ที่ผ่านมา ที่เมืองอินเตอร์ลาเก้น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ดนตรีเป็นภาษาสากล ที่เยาวชนดนตรีจากทั่วโลก สามารถพบกัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางดานตรีร่วมกัน ตลอดจนการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพดนตรี รวมทั้งเป็นจุดรวมคนทำงานด้านดนตรีได้มาทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

ในการแข่งขันครั้งนี้ วงจุลดุริยางค์ ดร.แซค เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ได้เข้าร่วมการแข่งขันด้วย และเป็นเพียงวงเดียวจากประเทศในโซนเอเชียที่สามารถผ่านเข้าไปยังรอบชิงชนะเลิศ เพื่อพบกับอีก 17 วงจากประเทศอื่นๆ อาทิ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย เยอรมนี และสาธารณรัฐเช็ก

กติกาในการแข่งขัน คือ วงดุริยางค์จะต้องเล่นเพลงบังคับ ใน 3 ยุคด้วยกัน ได้แก่ เพลงที่เป็นบทประพันธ์ของครูกวีในช่วง ค.ศ. 1700-1830 ในทำนองเร็ว 1 บท ทำนองช้า 1 บท เพลงที่เป็นบทประพันธ์ของคีตกวีในช่วง ค.ศ. 1830-1900 เลือกเล่น 1 บท เพลงที่เป็นบทประพันธ์ของคีตกวีในศตวรรษที่ 20 หรือ 21 เลือกมา 1 บท และเพลงอิสระอีก 1 เพลงโดยเล่นให้ครบทุกบท และไม่มีวาทยากรในการควบคุมวงด้านหน้า มีแต่เพียงคอนเสิร์ตมาสเตอร์เป็นผู้ควบคุมและคอยให้คิวเพื่อนสมาชิกในวงเท่านั้น

ผลการแข่งขันในปีนี้ วงจุลดุริยางค์ ดร.แซค เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 ไม่มี และอันดับที่ 3 ได้แก่วงจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับโล่ห์เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 60,000 บาท

วงจุลดุริยางค์ ดร.แซค เชมเบอร์ Dr.Sax Chamber Orchestra, College of Music, Mahidol University

วงจุลดุริยางค์ ดร.แซค เชมเบอร์ เป็นวงดนตรีเพื่อประกอบการเรียนการสอนดนตรีเด็กของโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์ (Dr. Sax School of Music) และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการโครงการวิจัยพรสวรรค์ศึกษา โดยอาศัยปรัชญาและแนวความคิดใหม่ที่ว่า “ดนตรีเพื่อเด็กทุกคนและเด็กทุกคนควรมีโอกาสเรียนดนตรี” เพื่อให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อเด็กได้เรียนดนตรีแล้ว ไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีเท่านั้น เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อความสุขส่วนตัว เรียนรู้เพื่อความมีรสนิยม เป็นผู้มีวัฒนธรรม โดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ

การรวมวง เป็นกิจกรรมดนตรีอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กได้ “เรียนดนตรีโดยการเล่น” และมีกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กได้ฝึกซ้อมและมีแรงบันดาลใจที่จะเล่นดนตรีให้ดีที่สุดเต็มความสามารถ ดังนั้น วงด็อกเตอร์ แซค เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า จึงได้เกิดการรวมตัวเป็นวงเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2540 เด็กๆ มาฝึกซ้อมกันทุกวันอาทิตย์เวลา 18.00 – 20.00 น.

จากจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ พวกเขาเติบโตขึ้นพร้อมกับความสามารถที่เพิ่มขึ้นตาม การรวมวงซ้อมดนตรีอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ประกอบกับการดูแลฝึกซ้อมจากบุคคลากรทางดนตรีทั้งคนไทยและต่างประเทศ ที่มีความรักและเข้าใจในเด็กกลุ่มนี้ วงด็อกเตอร์แซค เชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ผ่านการแสดงดนตรีในโอกาสต่างๆ ทั้งเวทีระดับชาติและนานาชาติ ปัจจุบันมีผลงานบันทึกเสียงในรูปแบบซีดีจำนวน 4 อัลบั้ม คือ อัลบั้มชุดร่วมกันทำ (พ.ศ.2535) อัลบั้มชุดBlue Danube (พ.ศ.2544) อัลบั้มชุดศรีอยุธยา (พ.ศ. 2545) อัลบั้มชุดกฤดาอภินิหาร (พ.ศ.2546) และล่าสุดคว้ารางวัลชนะเลิศวงดนตรีเยาวชนคลาสสิคระดับนานาชาติ ในงาน International Youth Chamber Music Competition 2005 (IYCC) ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

โครงการพรสวรรค์ศึกษา “พรสวรรค์สร้างได้ ไม่ต้องคอยเทวดา” เป็นงานวิจัยที่ได้ค้นคว้าด้านความสามารถและความถนัดทางด้านดนตรีของเด็ก ซึ่งศึกษาจากชีวิตจริง การปฏิบัติจริงของเด็ก จากเด็กที่สมัครใจเรียนวิชาดนตรีเป็นพิเศษ เมื่อเด็กมีฝีมือพอจะจัดรวมเป็นวงได้ก็รวมกันเป็นวง เริ่มต้นจากเป็นวงดนตรีที่ไม่อยู่ในสารบบ กล่าวคือไม่กำหนดว่ามีกี่คน ไม่กำหนดเครื่องดนตรีที่เล่น ต่อมาได้จัดให้เป็น วงเชมเบอร์ออร์เคสตร้า เป็นวงทดลองเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงของเด็ก เก็บข้อมูลการเรียนดนตรีและสะท้อนออกมาเป็นเอกสาร รวมถึงการแสดงดนตรีในรูปแบบคอนเสิร์ต การแสดงดนตรีประกอบคำบรรยาย การแสดงดนตรีต่อหน้าสาธารณชน และการบันทึกซีดี

สมาชิกในวง

ไวโอลิน 1
1. นางสาวผ่องพรรณ อังคสุภณ อายุ 20 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นางสาวสรีวันท์ วาทะวัฒนะ อายุ 18 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายกมล บูรกุล อายุ 17 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. นางสาววิศนี วงศ์วิรุฬห์ อายุ 14 ปี กำลังศึกษาที่ โรงเรียนสตรีวิทยา

ไวโอลิน 2
1. นางสาวกมลมาศ เจริญสุข อายุ 17 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นางสาวปุญญวาสน์ มโนมัยพิบูลย์ อายุ 15 ปี กำลังศึกษาที่ โรงเรียนราชินี
3. นายสุภัทร จันทวีระ อายุ 17 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4. นางสาวสารินท์ อภิศักดิ์ศิริกุล อายุ 17 ปี กำลังศึกษาที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนแวนต์

วิโอลา
1. นายจักรกฤษ เจริญสุข อายุ 19 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นายพงษ์เทพ จิตดวงเปรม อายุ 16 ปี กำลังศึกษาที่ เตรียมอุดมดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายสุวิจักขณ์ โชติกูล

เชลโล
1. นางสาวสรมรรถยา วาทะวัฒนะ อายุ 15 ปี กำลังศึกษาที่ เตรียมอุดมดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นางสาวตปาลิน เจริญสุข อายุ 16 ปี กำลังศึกษาที่ เตรียมอุดมดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล
3.นายพงษพัฒน์ อังคสุภณ อายุ 17 ปี กำลังศึกษาที่ เตรียมอุดมดนตรี มหาวิทยาลัยมหิดล

ดับเบิ้ลเบส
1. นายวัชรพงษ์ สุภัทรชัยวงศ์ อายุ 18 ปี กำลังศึกษาที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เพลงที่ใช้ในการแข่งขัน
1. เพลงที่เป็นบทประพันธ์ของครูกวีในช่วง ค.ศ. 1700-1830 ในทำนองเร็ว 1 บท และทำนองช้า 1 บท ทางวงเลือกเพลง Divertimento in D-major KV136 ในท่อน Allegro และ Andante ของ W.A. Mozart
2. เพลงที่เป็นบทประพันธ์ของคีตกวีในช่วง ค.ศ. 1830-1900 เลือกมา 1 บท ทางวงเลือกเพลง Serenade in C Major for Strings Op.48 1.ในท่อน Pezzo in forma di Sonatina ของ P. Tschaikowsky
3. เพลงที่เป็นบทประพันธ์ของคีตกวีในศตวรรษที่ 20 หรือ 21 เลือกมา 1 บท ทางวงเลือก เพลง Divertimento ในท่อน Finale: allegro assai ของ Bela Banrtok
4. เพลงที่เล่นครบทุกบท 1 เพลง ทางวงเลือก เพลง Serenade in C Major for Strings Op.48 ของ P. Tschaikowsky ซึ่งประกอบด้วยบทเพลง 4 บท คือ Pezzo in forma di Sonatina, Walzer, Elegie, Finale