ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี : ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกขยายตัว

ประเทศไทยผลิตข้าวสาลีได้น้อยจึงไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยในปี 2547 ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวสาลีประมาณ 8,125 ไร่ ให้ผลผลิตข้าวสาลีประมาณ 800 ตัน ขณะที่ในปี 2538 ผลิตข้าวสาลีได้เพียง 639 ตันเท่านั้น จากปริมาณการผลิตข้าวสาลีของไทยน้อยกว่าปริมาณความต้องการข้าวสาลีทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก ทำให้ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้า โดยการนำเข้าส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของเมล็ดข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี ซึ่งมูลค่าการนำเข้านั้นขยายตัวอย่างมากในปี 2547 และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2548 เนื่องจากความต้องการทั้งการบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีในประเทศและการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าการนำเข้าข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 เท่ากับ 9,500 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2547 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวของการนำเข้าอยู่ในเกณฑ์สูง คือ ข้าวสาลี และแป้งข้าวสาลี

เมล็ดข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีที่นำเข้าจากแต่ละประเทศจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และมีเอกลักษณ์ประจำของประเทศนั้นๆ แป้งข้าวสาลีที่โม่จากแต่ละแหล่งผลิตนั้นๆจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยมีจุดเด่นและจุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นข้าวสาลีจึงมีหลายประเภท ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำการวิเคราะห์คุณภาพของแป้งข้าวสาลีก่อนว่ามีความเหมาะสมจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทใด คุณภาพของแป้งสาลีจะแบ่งออกเป็นโปรตีนสูงและโปรตีนต่ำ และยังแยกย่อยเป็นโปรตีนสูงมากและสูงน้อย โปรตีนต่ำมากและต่ำน้อย ถ้าต้องการนำไปผลิตขนมปังก็จะเลือกแป้งที่มีโปรตีนสูง ทำบะหมี่ก็จะเลือกแป้งที่มีโปรตีนสูงน้อย ส่วนซาลาเปาก็จะเลือกแป้งโปรตีนต่ำ เป็นต้น

แหล่งนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีของไทยคือ ออสเตรเลียมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 57.5 ของมูลค่าการนำเข้าข้าวสาลีทั้งหมด โดยไทยหันไปนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีจากออสเตรเลียมากขึ้นในปี 2548 ทำให้ออสเตรเลียแซงหน้าสหรัฐฯมาเป็นแหล่งนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับหนึ่งของไทย ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯลดลงเหลือเพียงร้อยละ 39.4 คาดว่ามูลค่าการนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีจากออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ส่วนแหล่งนำเข้าที่มีความสำคัญรองลงมาคือ แคนาดา จีน และอินเดีย โดยที่จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีของไทยตั้งแต่ปี 2546 สำหรับแหล่งนำเข้าแป้งข้าวสาลีที่สำคัญของไทยคือ เวียดนามมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 21.0 ส่วนแหล่งนำเข้าที่มีความสำคัญรองลงมาคือ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งเวียดนามและจีนนั้นสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดนำเข้าแป้งข้าวสาลีในไทยไปจากญี่ปุ่นได้ตั้งปี 2546 เป็นต้นมา

ปัจจุบันเมล็ดข้าวสาลีและแป้งสาลีที่นำเข้ามาราว 2 ใน 3 จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ส่วนที่เหลือราว 1 ใน 3 จะใช้ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งสัดส่วนการบริโภคแป้งสาลีเพื่อการบริโภคแยกออกได้เป็น ขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ร้อยละ 35.0 บะหมี่สำเร็จรูปร้อยละ 30.0 บิสกิตร้อยละ 10.0 และที่เหลืออีกร้อยละ 25.0 เป็นการใช้ในลักษณะอเนกประสงค์
ปัจจุบันคนไทยเริ่มคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลี ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง บะหมี่สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่างๆ โดยเฉพาะเค้ก คุกกี้ บิสกิต ทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลีในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังปี 2542 โดยอัตราการขยายตัวของตลาดเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปี ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์จากแป้งสาลีคือ การขยายตัวของประชากร อุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ และธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ อย่างไรก็ตามไทยนั้นนับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคแป้งสาลีอยู่ในเกณฑ์ต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยเพียง 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี สำหรับแป้งสาลีที่ใช้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำนั้นขึ้นอยู่กับการเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการขยายตัวอย่างมากในปี 2549 อันเป็นผลมาจากการที่สหภาพยุโรปคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีให้กับไทย ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมาก

ตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีในประเทศที่น่าจับตามองมีภาวะที่น่าสนใจ ดังนี้
– ขนมปัง ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคขนมปังมากขึ้น เพราะขนมปังเป็นเมนูอาหารที่หารับประทานได้ง่าย และสะดวกในการซื้อหา รวมทั้งยังมีราคาที่ไม่แพง และหาซื้อได้ง่าย และธุรกิจขนมปังมีอยู่หลายแบรนด์มาทำตลาด เพื่อสร้างสีสัน และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันตลาดขนมปังในเมืองไทยที่มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท มีการเติบโตร้อยละ 20.0 ต่อปี โดยขนมปังขาวมีการบริโภคประมาณร้อยละ 70.0 ที่เหลืออีกร้อยละ 30.0 เป็นขนมปังเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการบริโภคขนมปังของคนไทยจะมีการเปลี่ยนสัดส่วนเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่หันไปนิยมรับประทานขนมปังเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยให้ความนิยมการบริโภคขนมปังเพื่อสุขภาพสูงขึ้นประมาณร้อยละ 60 และขนมปังขาวร้อยละ 40.0 ในอนาคต

ปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจขนมปังรายใหญ่ใช้กลยุทธ์การตลาดในลักษณะการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เนย แยม นมข้นหวาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อขยายปริมาณการบริโภคขนมปังของคนไทย รวมทั้งการขยายแฟรนไชส์อาหารเช้าประเภทแซนวิช ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในอาหารเช้ายอดนิยมของคนไทย

– ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ คาดว่าตลาดเบเกอรี่ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7-8 ต่อปี โดยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมาจากการที่บรรดาผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเพิ่มทางเลือกและตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภค รวมทั้งจำนวนร้านจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เบเกอรี่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และการคาดการณ์ถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เฉลี่ยต่อคนของผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ๆ

– บะหมี่สำเร็จรูป มูลค่าตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในปี 2548 เท่ากับ 9,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5-6 โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงและผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปราคา 5 บาท/ซอง เป็นอาหารทางเลือกยอดนิยมอีกประเภทหนึ่ง

เมล็ดข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลีที่นำเข้าส่วนหนึ่งจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ในปี 2548 ประมาณ 20,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 มูลค่าการส่งออกที่มีการขยายตัวอย่างมากคือ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ โดยมูลค่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 84.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งเท่ากับว่าไทยนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีและแป้งสาลีเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวสาลีในประเทศไทย

สำหรับการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบันพิกัดศุลกากรยังรวมอยู่กับอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ โดยประมาณว่ามูลค่าการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคิดเป็นประมาณร้อยละ 60.0 ของมูลค่าการส่งออกอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ฟิลิปปินส์ ตุรกี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งการส่งออกนี้ยังไม่รวมมูลค่าการส่งออกตามแนวชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยตลาดส่งออกที่จับตามองเป็นอย่างมากคือ ตุรกี เนื่องจากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมามีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่ไทยส่งออก คือ ลาว กัมพูชา และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามตลาดที่น่าจับตามองคือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา

บทสรุป
ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกมีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง และคาดว่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่คนไทยหันมานิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีมากขึ้น อันเป็นผลเนื่องจากผู้ประกอบการหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดเพื่อขยายปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีของคนไทย รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งที่กลับมาฟื้นตัวจากการที่อียูคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้คาดหมายกันว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังอียูจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 ทำให้ความต้องการอาหารกุ้งซึ่งมีข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีโดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวสาลีในประเทศไทยไม่น้อยเลย