โครงการลงทุนภาครัฐ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ : ผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและสถานะการคลังในปี 2549

ตามที่รัฐบาลได้มีแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์ ภายใต้ยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อันมีเป้าหมายเพื่อรองรับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยในระยะปี 2548-2552 รัฐบาลมีกรอบวงเงินลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.804 ล้านล้านบาท จึงเป็นที่คาดหมายว่าถ้าหากภาครัฐผลักดันโครงการลงทุนต่างๆได้ตามแผนการณ์ที่กำหนดไว้ จะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากอย่างน้อยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าที่จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2549 เป็นที่คาดว่าการลงทุนของภาครัฐอาจจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมการลงทุนโดยรวมของประเทศขยายตัวสูงขึ้นกว่าในปี 2548 และจะส่งผลกระตุ้นให้การเติบโตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นจากที่ชะลอตัวลงในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2549 ว่าอาจจะมีอัตราการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 4.5-5.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.5 ในปี 2548 โดยการลงทุนอาจมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 13.5 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.6 ในปี 2548 หรืออีกนัยหนึ่งคือ การลงทุนจะมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีในปี 2549 สูงถึงร้อยละ 3 (ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 2 จะเป็นผลมาจากการเติบโตของการบริโภคและการใช้จ่ายทั่วไปของรัฐบาล)

จากประเด็นการระงับการกระจายหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นการชั่วคราวโดยศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามขึ้นในขณะนี้ว่า ทิศทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนจะมีผลกระทบต่อโครงการลงทุนของภาครัฐ และแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2549 มากน้อยเพียงใด เนื่องจากแหล่งที่มาของวงเงินงบประมาณรายรับของรัฐบาลและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จะมีเงินทุนจำนวนหนึ่งที่ได้มาจากรายได้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจผ่านการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแนวโน้มการลงทุนของภาครัฐในระยะข้างหน้า หากกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีความล่าช้าออกไป

แหล่งเงินลงทุนที่ทางการคาดว่าจะได้รับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

รายรับหรือเงินทุนที่ภาครัฐจะได้รับจากการนำหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถแยกออกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรก คือรายรับที่กระทรวงการคลังจะได้รับจากการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของอยู่ โดยรัฐวิสาหกิจหลักที่มีแผนจะแปรรูปในปี 2549 มีด้วยกัน 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทศท. บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังประเมินว่าจะมีรายรับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ บมจ. กฟผ. บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท. รวมกันเป็นจำนวน 15,100 ล้านบาท (จาก บมจ. กฟผ. 4,000 ล้านบาท บมจ. ทีโอที 10,100 ล้านบาท และ บมจ. กสท. 1,000 ล้านบาท) ซึ่งรายรับดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินงบประมาณรายรับประจำปีงบประมาณ 2549 จำนวน 1.36 ล้านล้านบาท ส่วนที่สอง คือเงินทุนที่รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปจะได้รับจากแผนการเสนอขายหุ้น ซึ่งจะเป็นเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นในระยะข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น กรณี บมจ. กฟผ. คาดว่าจะมีมูลค่าระดมทุนประมาณ 35,000 ล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) หากนับรวมเม็ดเงินในส่วนที่ได้ขายหุ้นให้กับพนักงานไปในช่วงก่อนหน้า บมจ. กฟผ. จะสามารถระดมทุนได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท

ผลกระทบ กรณีที่การแปรรูปล่าช้าออกไป แต่ดำเนินการได้ในช่วงปี 2549

ในกรณีที่กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจล่าช้าไปจากกำหนด แต่ท้ายที่สุดสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปี 2549 ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแผนการลงทุนอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าระดมทุนในตลาด มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะจัดหาเงินทุนระยะสั้น ซึ่งอาจมาจากรายได้และผลกำไรของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ผสมกับการจัดหาเงินกู้ ซึ่งเมื่อการแปรรูปดำเนินการได้สำเร็จ ก็จะมีเงินทุนจากการกระจายหุ้นเข้ามาในภายหลัง ในกรณีนี้ คาดว่าฐานะการคลังทั้งรายได้รัฐบาลและระดับหนี้สาธารณะอาจจะไม่ถูกกระทบให้เปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่ได้ประเมินไว้เดิม นอกจากนี้ ความสำเร็จของการกระจายหุ้น บมจ. กฟผ. ก็ยังน่าที่จะทำให้กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นสามารถดำเนินไปได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

ผลกระทบ กรณีที่รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ไม่สามารถกระจายหุ้นได้ในปี 2549

ในกรณีที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งที่รัฐบาลคาดว่าจะได้รายได้รวมประมาณ 15,100 ล้านบาท ประสบกับอุปสรรคทำให้ไม่สามารถกระจายหุ้นได้ในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ ดังนี้

q ผลกระทบต่อการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณปี 2549 ของรัฐบาล

ในปีงบประมาณ 2549 รัฐบาลมีเป้าหมายจัดทำงบประมาณสมดุล โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท ในส่วนของรายได้ของกระทรวงการคลังที่จะขาดหายไปจำนวน 15,100 ล้านบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารัฐบาลน่าที่จะสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาสนับสนุนการใช้จ่ายวงงบประมาณได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปี 2549 ไม่ใช่รายได้หลักของรัฐบาล และถือว่าเป็นจำนวนเงินไม่สูงนัก ซึ่งถ้าหากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดีและรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมาย ก็อาจสามารถชดเชยรายรับที่ขาดหายไปจากความล่าช้าของกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้ แต่ในกรณีที่การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นไปดังที่คาด ทำให้รายรับจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอาจไม่เพิ่มสูงขึ้นไปจากประมาณการรายรับเดิม รัฐบาลอาจต้องเลือกระหว่างเป้าหมาย 2 ด้าน

? แนวทางแรก คือ การคงแผนการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณไว้ตามเดิม
ในกรณีนี้รัฐบาลจะต้องหาทางเลือกแหล่งรายได้หรือแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่นมาทดแทน ซึ่งอาจทำได้โดยการหารายได้ทางอื่นเพิ่ม เช่น การปรับเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีบางประเภท หรือรัฐบาลอาจยอมที่จะให้งบประมาณขาดดุลเพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ ในกรณีนี้รัฐบาลจะต้องมีการกู้ยืมเงินหรือออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

? แนวทางที่สอง คือ การคงเป้าหมายงบประมาณสมดุล
ในกรณีนี้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องลดวงเงินลงทุนของโครงการบางโครงการลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบ กรณีที่รัฐบาลตัดลดวงเงินงบประมาณ ให้สอดคล้องกับรายรับที่จะขาดหายไป 15,100 ล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตของการลงทุนในปี 2549 ลดลงจากร้อยละ 13.5 เป็นร้อยละ 12.8 กระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้จีดีพีลดลงประมาณร้อยละ 0.2
ส่วนทางด้านสถานะทางการคลังต่อประเด็นข้อกังวลว่าการขาดรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบดังกล่าวอาจมีค่อนข้างจำกัด เพราะรายได้ที่จะขาดหายไปในเบื้องต้นจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 3 แห่งจำนวน 15,100 ล้านบาท ยังนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเพดานที่รัฐบาลยังมีความสามารถจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกเป็นจำนวนอย่างน้อย 3 แสนล้านบาทตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังซึ่งรัฐบาลจะรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพี หากพิจารณา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ที่หนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ระดับ 3.277 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 45.89 ของจีดีพี จะได้ว่า รัฐบาลยังมีความสามารถที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกเป็นจำนวนอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท

q ผลกระทบต่อโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ในช่วงปีงบประมาณ 2549 ตามแผนงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2549 รัฐวิสาหกิจหลักที่มีแผนจะกระจายหุ้นในช่วงปี 2549 ทั้ง 5 แห่งมีงบลงทุนตามวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายมูลค่ารวมกันประมาณ 69,400 ล้านบาท

งบประมาณลงทุนประจำปีงบประมาณ 2549
รัฐวิสาหกิจ งบลงทุนที่อนุมัติเบิกจ่าย (ล้านบาท)
บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) 12,649.7
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 19,916.1
บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 8,000.0
การไฟฟ้านครหลวง 13,927.8
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 14,919.8

ที่มา : สรุปงบประมาณประจำปี 2549 ของรัฐวิสาหกิจ, สศช.

งบลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะมีแหล่งเงินลงทุนจากรายได้รัฐวิสาหกิจ เงินกู้ รวมถึงการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ด้วย อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเงินลงทุนที่มาจากการกระจายหุ้นยังไม่มีความชัดเจน (แม้คาดว่าจะมีสัดส่วนไม่สูงนัก) จึงไม่อาจสรุปได้ว่าเงินลงทุนอาจจะถูกตัดลดลงไปในระดับใด นอกจากนี้ โครงการสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าและสายส่ง เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเกินระดับกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงคาดว่ารัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะยังคงมีนโยบายเดินหน้าโครงการลงทุนต่อไป ทำให้คาดการณ์ว่าผลกระทบต่อกิจกรรมการลงทุนในปี 2549 อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากคาดการณ์เดิมนัก อย่างไรก็ตาม อาจสามารถสรุปความเป็นไปได้ของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่า ถ้าหากมีการตัดลดวงเงินลงทุนของโครงการภาครัฐลงทุกๆ 10,000 ล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.12

สำหรับในประเด็นผลกระทบทางด้านการคลังของรัฐบาลนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการระดมทุนจากการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไปเป็นการระดมทุนด้วยวิธีอื่น อาทิ การกู้ยืมเงินหรือการออกพันธบัตร โดยที่กระทรวงการคลังค้ำ/ไม่ค้ำประกัน แม้ว่าจะนับรวมอยู่ในยอดหนี้สาธารณะคงค้างที่จะเพิ่มขึ้น แต่การที่รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปเหล่านั้นเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการทำกำไรหรือมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอยู่เป็นทุนเดิม ก็น่าจะทำให้การเข้าไปรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลมีความเสี่ยงในระดับที่น้อยมาก

ผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนภาครัฐและสถานะการคลังในระยะปานกลาง

แม้ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุปสรรคในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนและสถานะการคลังของภาครัฐในช่วงปี 2549 ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเงินทุนและทางเลือกการระดมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลต่อแผนการลงทุนของภาครัฐในระยะปานกลางถึงระยะยาวได้ โดยการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และเป้าหมายการรักษาวินัยทางการคลัง

เมื่อพิจารณาแผนการลงทุนในระยะปานกลางของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ พบว่าในระยะปี 2549 ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการลงทุน การจัดหาเงินลงทุนเพื่อชดเชยแหล่งเงินทุนจากการระดมทุนอาจยังไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ปัญหาอาจอยู่ในระยะต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ตามแผนการลงทุนของ บมจ. กฟผ. ในช่วงปี 2548-2551 จะต้องใช้เงินลงทุน 100,000 ล้านบาท เม็ดเงินลงทุนจะไปสูงในช่วงปี 2550 และ 2551 และระยะปี 2552-2554 ยังมีความต้องการเงินทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่งอีกไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2547-2558 (PDP 2004) พบว่า ภายในประมาณปี 2551-2552 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นมาสูงเกินกว่าระดับกำลังผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน

แผนการลงทุนของ บมจ. กฟผ. ในระยะปี 2548-2551
โครงการลงทุน 24 มิ.ย.–31 ธ.ค. 2548 2549 2550 2551
แผนการลงทุนของ บมจ. กฟผ. 11,312.0 15,108.6 47,392.8 41,791.5
– ระบบผลิตไฟฟ้า 4,316.8 4,441.4 27,813.2 28,121.8
– ระบบส่งไฟฟ้า 3,171.8 5,153.3 19,579.6 13,669.7

ที่มา : บมจ. กฟผ.

กรณี บมจ. กฟผ. เป็นตัวอย่างหนึ่งของรัฐวิสาหกิจที่มีความต้องการเงินลงทุนสูง แนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนที่ไม่กระทบต่อภาระทางการคลังจึงมีความพยายามที่จะอาศัยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากในกรณีที่ข้อสรุปที่ตัดสินขั้นสุดท้ายออกมาทำให้ไม่สามารถดำเนินการแปรรูปได้ ก็คาดว่ารัฐบาลและรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะบมจ.กฟผ. จะยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนการณ์เดิม เนื่องจากโครงการเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่การระดมทุนด้วยวิธีอื่นๆ ของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพทางธุรกิจก็น่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ลำบากนัก

นอกจากนี้ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการระดมทุนด้วยทางเลือกที่แตกต่างไปจากเดิม อาจจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมีความยืดหยุ่นมากพอสำหรับการทยอยก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง โดยตราบใดที่อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะยังคงไม่สูงเกินอัตราการขยายตัวของจีดีพีในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ไปมากๆ แล้ว รัฐบาลก็คงจะยังสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพีได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แม้ว่ารัฐบาลจะต้องระดมเงินกู้สำหรับใช้ดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในช่วงปี 2548-2552 เป็นจำนวนรวมประมาณ 7 แสนล้านบาทด้วยก็ตาม หากพิจารณาตามแผนการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์จำนวนรวม 7 แสนล้านบาทในปี 2548-2552 แล้ว ในกรณีที่ Nominal GDP ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปีในช่วงปี 2549-2552 รัฐบาลจะยังมีความยืดหยุ่นในการทยอยก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยประมาณ 4.7 แสนล้านบาทต่อปีโดยที่ยังคงรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้ได้

สรุปและข้อคิดเห็น

สืบเนื่องจากประเด็นการระงับการกระจายหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นการชั่วคราวโดยศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามขึ้นในขณะนี้ว่า ทิศทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่มีความชัดเจนจะมีผลกระทบต่อแผนการลงทุนของภาครัฐมากน้อยเพียงใด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยสรุป ดังนี้

ในกรณีที่กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจล่าช้าไปจากกำหนด แต่ท้ายที่สุดสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปี 2549 ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแผนการลงทุนอาจมีไม่มากนัก ขณะที่ฐานะการคลังทั้งรายได้รัฐบาลและระดับหนี้สาธารณะก็น่าที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่ได้ประเมินไว้เดิม

สำหรับผลกระทบ กรณีที่รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ไม่สามารถกระจายหุ้นได้ในปี 2549 มีดังนี้คือ

• ผลกระทบต่อการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณปี 2549 ของรัฐบาล
ในส่วนของรายได้ของกระทรวงการคลังที่จะขาดหายไปจากอุปสรรคในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวน 15,100 ล้านบาทนั้น ถ้าหากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดีและรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมาย ก็อาจสามารถชดเชยรายรับที่ขาดหายไปได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การเติบโตของเศรษฐกิจไม่เป็นไปดังที่คาด ทำให้รายรับจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอาจไม่เพิ่มสูงขึ้นไปจากประมาณการรายรับเดิม รัฐบาลอาจต้องเลือกระหว่างเป้าหมาย 2 ด้าน กล่าวคือ แนวทางแรก รัฐบาลยังคงแผนการใช้จ่ายวงเงินงบประมาณไว้ตามเดิม ในกรณีนี้รัฐบาลจะต้องหาทางเลือกแหล่งรายได้หรือแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่นมาทดแทน เช่น การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีบางประเภท หรือการก่อหนี้การเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แนวทางที่สอง รัฐบาลคงเป้าหมายงบประมาณสมดุล ในกรณีนี้รัฐบาลอาจจำเป็นต้องลดวงเงินลงทุนของโครงการบางโครงการลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าหากรัฐบาลต้องตัดลดวงเงินงบประมาณให้สอดคล้องกับรายรับที่อาจขาดหายไป 15,100 ล้านบาท อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณร้อยละ 0.2

• ผลกระทบต่อโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ในช่วงปีงบประมาณ 2549 ตามแผนงบประมาณรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2549 รัฐวิสาหกิจหลักที่มีแผนจะกระจายหุ้นในช่วงปี 2549 ทั้ง 5 แห่ง (บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทศท. บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) มีงบลงทุนตามวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายมูลค่ารวมกันประมาณ 69,400 ล้านบาท ถ้าหากมีการตัดลดวงเงินลงทุนของโครงการภาครัฐลงทุกๆ 10,000 ล้านบาท จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.12

• ผลกระทบทางด้านการคลัง
การที่รัฐบาลอาจจะสูญเสียรายได้ที่คาดว่าจะได้รับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน หรือแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนแล้ว รัฐบาลอาจยังต้องเผชิญกับปัญหาระดับหนี้สาธารณะที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโครงการลงทุนจะต้องพึ่งพาการก่อหนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะอาจจะเป็นจำนวนที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเพดานที่รัฐบาลยังสามารถจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อยประมาณ 3 แสนล้านบาทตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง นอกจากนี้ การที่รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปเหล่านั้นเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการทำกำไรหรือมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอยู่เป็นทุนเดิม ก็น่าจะทำให้การเข้าไปรับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลมีความเสี่ยงในระดับที่น้อยมากด้วย

ผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนภาครัฐและสถานะการคลังในระยะปานกลาง โครงสร้างเงินทุนและทางเลือกการระดมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลต่อแผนการลงทุนของภาครัฐในระยะปานกลางถึงระยะยาวได้ โดยการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะถูกจำกัดภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญคือ ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และเป้าหมายการรักษาวินัยทางการคลัง

ในขณะที่ แนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามในการลดภาระของรัฐบาลในการจัดหาแหล่งระดมทุนให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีความต้องการเงินลงทุนสูง โดยไม่ก่อผลกระทบต่อภาระทางการคลัง ซึ่งหากในกรณีที่ข้อสรุปที่ตัดสินขั้นสุดท้ายออกมาทำให้ไม่สามารถดำเนินการแปรรูปได้ ก็คาดว่ารัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนการณ์เดิม เนื่องจากโครงการเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่การระดมทุนด้วยวิธีอื่นๆ ของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพทางธุรกิจก็น่าจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ลำบากนัก สำหรับประเด็นด้านหนี้สาธารณะ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่ารัฐบาลจะยังคงมีความยืดหยุ่นมากพอสำหรับการทยอยก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง โดยตราบใดที่อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะยังคงไม่สูงเกินอัตราการขยายตัวของจีดีพีในรูปตัวเงิน (Nominal GDP) ไปมากๆ แล้ว รัฐบาลก็คงจะยังสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ของจีดีพีได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แม้ว่ารัฐบาลจะต้องระดมเงินกู้สำหรับใช้ดำเนินการตามแผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในช่วงปี 2548-2552 เป็นจำนวนรวมประมาณ 7 แสนล้านบาทด้วยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม หากคำนึงถึงประเด็นต้นทุนทางการเงินของโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เมื่อต้องใช้ช่องทางการกู้ยืมในการจัดหาเงินลงทุน ต้นทุนทางการเงินอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไม่ให้การค้ำประกันเงินกู้ โครงสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นของโครงการสาธารณูปโภคอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเข้ามารับภาระค่าบริการสาธารณูปโภคที่ต้องปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

การที่รัฐบาลมีความพยายามที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อลดภาระทางการคลัง โดยหลักการแล้วถือว่ามีเหตุผลที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเป็นผู้ให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคในวงกว้าง แผนการแปรรูปไปเป็นการดำเนินงานในลักษณะบริษัทเอกชนจึงต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบคอบ รวมทั้งสร้างกลไกการกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่โครงสร้างตลาดมีลักษณะการผูกขาดโดยผู้ประกอบการน้อยราย