ปลายปี’48 ท่องเที่ยวเชียงใหม่…คึกคัก : คาดทั้งปีมีรายได้ 53,000 ล้านบาท

การท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ค่อนข้างซบเซาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้รับแรงเกื้อหนุนจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ทำให้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยในปี 2547 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.7 เป็น 3.9 ล้านคนเทียบกับปี 2546 ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ลดลงร้อยละ 1.8 โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราร้อยละ 21.6 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนร้อยละ 46 ของตลาดนักท่องเที่ยวโดยรวมของเชียงใหม่ในปี 2547 ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.3 เทียบกับในปี 2546 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.8

จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดท่องเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2547 ส่งผลให้รายได้ด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 คิดเป็นมูลค่า 45,067 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 54 เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 24,235 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 จากปี 2546

สำหรับในปี 2548 การท่องเที่ยวเชียงใหม่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ ทั้งนี้เนื่องจากหลายปัจจัยสำคัญยังเกื้อหนุน เมื่อประกอบกับเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 และเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติจำนวนไม่น้อยหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวแถบภาคใต้ โดยมีบางส่วนหันมาเที่ยวในภาคเหนือตอนบนที่มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแทน ปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการท่องเที่ยวเชียงใหม่ต่อเนื่องมาในปี 2548 มีดังนี้

– ความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ การขยายการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามายังเชียงใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่เชียงใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าสายการบินปกติมาก ทำให้มีผู้เดินทางมายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2547 คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2 จากปี 2546

– งานประเพณีในเทศกาลสำคัญของเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ งานประเพณีแบบล้านนาของเชียงใหม่ที่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุนจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลโคมยี่เป็งหรือประเพณีลอยกระทงของล้านนา เป็นกิจกรรมสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้ามาร่วมกิจกรรมทุกปี

– การขยายการลงทุนของโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาว เครือโรงแรมชั้นนำทั้งของไทยและต่างชาติต่างขยายการลงทุนในโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาวเข้าไปในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งเกื้อหนุนต่อการขยายตลาดนักท่องเที่ยวระดับบนทั้งในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ

– การขยายตัวของธุรกิจการบิน จากนโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์การบินในภูมิภาค ก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจการบินอย่างเด่นชัด ซึ่งเอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว โดยนอกจากการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำแล้ว ยังมีการเพิ่มเส้นทางบินในประเทศระหว่างเชียงใหม่กับจังหวัดต่างๆ และเส้นทางบินเชื่อมเชียงใหม่กับต่างประเทศโดยเฉพาะจีนตอนใต้และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง

– การขยายตลาดการประชุมสัมมนาของบรรดาโรงแรมชั้นนำ โรงแรมชั้นนำในเชียงใหม่ต่างเร่งพัฒนาศักยภาพในการรองรับการจัดประชุมขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ และดึงงานประชุมทั้งของหน่วยราชการและธุรกิจเอกชนเข้ามาจัดในเชียงใหม่มากขึ้น

– การพัฒนาสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของเชียงใหม่แล้ว เชียงใหม่ยังมีสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ หมีแพนด้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ซึ่งเป็นไฮไลท์ทางการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2546 เป็นต้นมา และได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นกระแสแพนด้ามาตามลำดับ รวมทั้งการจัดงานจับคู่สู่ขวัญให้กับแพนด้าทั้งคู่ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2548 และการเปิดสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ คือ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งได้เปิดอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 โดยทดลองเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก่อนที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2549

– เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสินค้าโอทอปที่มีชื่อเสียง เชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมาช้านาน เมื่อรัฐบาลให้การสนับสนุนการพัฒนาสินค้าโอทอปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดรองรับขยายตัวอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางสินค้าโอทอปที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยมีสินค้าโอทอปให้เลือกได้อย่างหลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์งานไม้ เซรามิก ผ้าฝ้าย เครื่องเงิน และกระดาษสา เป็นต้น

– สปาสไตล์ล้านนา ขณะที่สปาไทยได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างกว้างขวาง บรรดาผู้ประการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจสปาในเชียงใหม่ต่างพัฒนาสปาสไตล์ล้านนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ได้ไม่น้อย

นอกจากปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว สภาพอากาศที่หนาวเย็นต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้ยังเอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ โดยล่าสุดสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดบนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ก่อให้เกิดน้ำค้างแข็งบนยอดหญ้า หรือที่เรียกกันว่า “แม่คะนิ้ง” ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เดินทางขึ้นไปสัมผัสทะเลหมอกและอากาศที่หนาวเย็นจัดรวมทั้งแม่คะนิ้งตามดอยต่างๆของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีดอยสุเทพ-ปุย ดอยอินทนนท์ และห้วยน้ำดัง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากนักท่องเที่ยว ส่งผลให้บรรดาที่พักในอุทยานแห่งชาติในเชียงใหม่ต่างถูกจองเต็มตลอดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า แต่ก็ยังมีผู้เดินทางขึ้นไปเที่ยวตามดอยต่างๆในเชียงใหม่ในลักษณะกางเต็นท์กันจำนวนมาก

บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรม บริษัทนำเที่ยว และสายการบินต้นทุนต่ำ ต่างร่วมกันจัดแพ็กเกจราคาพิเศษขึ้นเหนือรับลมหนาวนำเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในภาคเหนือตอนบน โดยมีเชียงใหม่ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างหลากหลายเป็นศูนย์กลาง เหล่านี้ล้วนส่งผลกระตุ้นการท่องเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงปลายปี 2548 ให้คึกคักต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นปี 2549

จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวเชียงใหม่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ โดยคาดว่าตลอดทั้งปี 2548 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เป็นประมาณ 4.36 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ คือ กว่าร้อยละ 50 เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในอัตราร้อยละ 10 ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ ได้แก่

– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 โดยมีนักท่องเที่ยวจากอังกฤษเป็นตลาดหลัก รองลงมา คือ เยอรมนี และฝรั่งเศส

– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 โดยมีนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก รองลงมา คือ สิงคโปร์ และไต้หวัน

– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 โดยมีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก

– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนียมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 โดยมีนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียเป็นตลาดหลัก

จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ในปี 2548 คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดในเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 53,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2547 รายได้ดังกล่าวกระจายไปสู่ธุรกิจบริการด้านต่างๆ ดังนี้

– ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว รายได้ด้านการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือประมาณร้อยละ 32.1 คิดเป็นมูลค่า 17,000 ล้านบาทกระจายไปสู่กลุ่มธุรกิจการจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าโอทอปประเภทงานหัตถกรรมต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์กระดาษสา ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน รวมทั้งอาหารพื้นเมือง ซึ่งจำหน่ายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ร้านจำหน่ายสินค้าในตัวเมือง ห้างสรรพสินค้า ไนท์บาซาร์ ถนนคนเดิน เป็นต้น

– ธุรกิจด้านที่พัก รายได้ด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 21.7 คิดเป็นมูลค่า 11,500 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจด้านที่พักทั้งโรงแรม รีสอร์ท และเกสท์เฮาส์ที่มีอยู่ในเชียงใหม่กว่า 220 แห่งและมีห้องพักรวมกันประมาณเกือบ 15,000 ห้อง โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.50 ในปี 2547 เป็นประมาณร้อยละ 55.00 ในปี 2548

– ธุรกิจบริการนำเที่ยวและเดินทางในท้องถิ่น รายได้ด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 14.0 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,400 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจบริการนำเที่ยวและการเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับบริการนำเที่ยวในเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นทัวร์เดินป่าไปยังหมู่บ้านชาวเขา ทัวร์นั่งช้างเดินป่า และทัวร์ล่องลำน้ำปิง เป็นต้น

– ธุรกิจด้านบันเทิงและสันทนาการ รายได้ด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 13.2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจด้านบันเทิงและสันทนาการรูปแบบต่างๆ ได้แก่ สถานบันเทิงยามค่ำคืน บริการสปา นวดแผนโบราณ และกีฬากอล์ฟ เป็นต้น

– ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม รายได้ด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 12.8 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,800 ล้านบาทกระจายไปสู่ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีทั้งห้องอาหารในโรงแรม ร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารประเภทต่างๆ ทั้งอาหารฟาสต์ฟูดส์ อาหารพื้นเมือง อาหารนานาชาติ และอาหารทั่วๆไป