ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไทย: เร่งพัฒนาสู่ศูนย์กลางการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์แห่งภูมิภาค

เมล็ดพันธุ์พืชถือเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เป็นต้น จึงให้ความสำคัญกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ โดยเน้นการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเพื่อการปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอุปสรรคในเรื่องค่าจ้างแรงงานและเนื้อที่ที่จะใช้ในการปลูกเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ ดังนั้นแนวโน้มของธุรกิจเมล็ดพันธุ์จึงเริ่มย้ายฐานการผลิตมายังประเทศกำลังพัฒนา ในกรณีของไทยนั้นก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเฉพาะในกลุ่มพืชผัก พืชไร่และไม้ดอก ซึ่งทำการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีความพร้อมในเรื่องของสภาพอากาศ เทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบรับรองคุณภาพที่ได้มาตรฐานซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีระบบขนส่งที่สะดวกรวดเร็วด้วย อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการที่ไทยจะก้าวขึ้นไปเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคนี้คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในไทย เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการขโมยเมล็ดพันธุ์ ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเมล็ดพันธุ์เริ่มหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย คือ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่า

ตลาดเมล็ดพันธุ์ในไทย…สร้างรายได้จากการรับจ้างเพาะเมล็ดพันธุ์

ปัจจุบันในไทยมีบริษัทที่จดทะเบียนขออนุญาตทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ประมาณ 200 ราย แยกเป็นบริษัทผู้ส่งออกราว 60 ราย บริษัทนำเข้าประมาณ 70 ราย บริษัทที่ทำการผลิตปรับปรุงสายพันธุ์ไม่เกิน 20 ราย โดยบริษัทที่เป็นรายใหญ่ๆ เช่น บริษัทเจียไต๋ จำกัด บริษัท East West Seed จำกัด บริษัท เพื่อนเกษตร จำกัด บริษัทโนวาติส จำกัด บริษัทที เอส เอ จำกัด บริษัทเช่ง เฮียง ฮวด จำกัด บริษัทเจี่ย กวง เส็ง จำกัด เป็นต้น ภาวะการแข่งขันในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทผู้ปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อจำหน่าย เนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลานานในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร
ในอดีตครัวเรือนเกษตรกรจะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ดีไว้ทำพันธุ์(Homesafe Seed) ซึ่งมีข้อดีในเรื่องของความหลากหลายทางพันธุกรรม แต่วิธีการนี้เหมาะกับการทำเกษตรขนาดเล็กระดับครัวเรือนเท่านั้น ปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของไทยสามารถวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชไร่ได้หลายหลายชนิด เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ฝ้าย งา เป็นต้น ในขณะที่เมล็ดพันธุ์ผักเกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะไทยไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ผักในระดับสายพันธุ์พ่อ/แม่(F-1 Hybrid)หรือที่เรียกกันว่าเมล็ดพันธุ์หลัก(Foundation Seed)ได้เอง เนื่องจากประเทศเจ้าของเมล็ดพันธุ์จะสงวนสิทธิ์ในการขยายพันธุ์เอาไว้ ทางออกที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศจากธุรกิจเกษตรประเภทนี้คือ การรับสายพันธุ์พ่อ/แม่จากบริษัทประเทศผู้ผลิตสายพันธุ์มาเพาะเป็นพันธุ์ขยาย(Stock Seed)ในไทย โดยส่งนักวิชาการไปศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ การดูแลรักษา รวมทั้งการผสมพันธุ์ ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาจะนำไปกระจายให้กับเกษตรกรเพาะปลูกตามวิธีการที่นักวิชาการแนะนำ เมื่อผลผลิตออก แล้วจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนเพื่อส่งกลับไปยังเจ้าของสิทธิบัตรอีกครั้งก่อนจะจัดส่งจำหน่ายทั่วโลกในลักษณะเมล็ดพันธุ์จำหน่าย(Certified Seed)

ดุลการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย : เกินดุลเฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท

มูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของไทยเฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ระดับประมาณ 500 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเฉลี่ยอยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าไทยเกินดุลการค้าเมล็ดพันธุ์เฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท สาเหตุที่ไทยได้ดุลการค้าเมล็ดพันธุ์มาจากการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หลักและส่งออกเมล็ดพันธุ์ขยาย ซึ่งราคาจะสูงกว่าเมื่อการนำเข้ามาก อย่างไรก็ตามตลาดเมล็ดพันธุ์ในเมืองไทยถือว่ายังเล็กมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์ของตลาดโลกที่สูงถึงปีละ 120,000 ล้านบาท (ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ดุลการค้าเมล็ดพันธุ์ของไทย
: ล้านบาท
2544 2545 2546 2547 มค.-กย.2547 มค.-กย.2548
นำเข้า 407.97 312.12 404.08 582.72 425.14 305.00
ส่งออก 979.97 845.92 1,005.86 1,070.59 911.46 999.19
ดุลการค้า 571.99 533.81 601.77 487.88 426.32 697.19
ที่มา : กรมศุลกากร รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คาดว่ามูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ในปี 2548 เท่ากับ 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วลดลงร้อยละ 26.2 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการนำเข้าลง ทั้งนี้เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าร้อยละ 83.0 เป็นเมล็ดพันธุ์ผัก โดยเมล็ดพันธุ์ผักที่นำเข้ามากได้แก่ กะหล่ำปลี ผักชี คะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก ผักกาดกวางตุ้งและพริก ส่วนเมล็ดพันธุ์นำเข้าเป็นอันดับรองลงมาเป็นเมล็ดพันธุ์พืชไร่และเมล็ดพันธุ์หญ้าที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยประเภทที่นำเข้ามากได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทานตะวัน และข้าวฟ่าง แหล่งนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.5 รองลงมาคือ นิวซีแลนด์ร้อยละ 13.3 สหรัฐฯร้อยละ 12.0 ไต้หวันร้อยละ 11.1 และออสเตรเลียร้อยละ 8.1
ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่าในปี 2548 จะมีมูลค่า 1,330 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 โดยเมล็ดพันธุ์ที่ส่งออกร้อยละ 88.7 เป็นเมล็ดพันธุ์ผัก ซึ่งเมล็ดพันธุ์ผักที่ส่งออกมากได้แก่ มะเขือเทศ แตงกวา พริก และผักบุ้งจีน ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าส่งออกรองลงมาคือเมล็ดพันธุ์พืชไร่ โดยประเภทที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แหล่งส่งออกเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่นมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 17.5 รองลงมาคือ สหรัฐฯร้อยละ 17.2 เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 11.6 เวียดนามร้อยละ 8.4 อินเดียร้อยละ 8.4 และจีนร้อยละ 7.9

สถานะของไทยในตลาดการค้าเมล็ดพันธุ์โลกนั้น แม้ว่าในปัจจุบันไทยจะไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์ของโลก เนื่องจากมูลค่าเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลกร้อยละ 68 นั้นครอบครองโดยเนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส และเดนมาร์ก โดยการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งยังคงเป็นรองจีนที่อยู่ในอันดับที่ 14 เมื่อพิจารณาแยกประเภทของเมล็ดพันธุ์พบว่าในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ผักซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าการค้ามากที่สุดนั้น จีนอยู่ลำดับที่ 9 และไทยอยู่ลำดับที่ 11 ส่วนเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกนั้นจีนอยู่ในอันดับที่ 10 ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 34 แต่ไทยนั้นมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกสูงถึง 1.5 เท่าตัวในปี 2547 นับเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเกาหลีใต้และไอร์แลนด์ ดังนั้นนอกจากธุรกิจเมล็ดพันธุ์ผักแล้ว ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไม้ตัดดอกนับว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

ศักยภาพเมล็ดพันธุ์ไทย : พัฒนาสู่ศูนย์กลางผลิต-กระจายเมล็ดพันธุ์

เมื่อพิจารณาจากสถิติการนำเข้า-ส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทย และการวิจัย/พัฒนาเมล็ดพันธุ์ภายในประเทศแล้ว ไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยเฉพาะในกลุ่มพืชผัก พืชไร่ และ ไม้ดอกแล้ว จะวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีความพร้อมในเรื่องของสภาพอากาศ เทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งมีมาตรการตรวจสอบรับรองคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันรัฐบาลและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ร่วมมือกันกำหนดทิศทางการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์ และสร้างความเชื่อมั่นต่อเครื่องหมายการค้าเมล็ดพันธุ์พืชจากไทย(Trade mark) ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ภายใน 5 ปี คาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์จากเฉลี่ยปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท และลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ลงให้เหลือเฉลี่ยเพียงปีละ 200 ล้านบาท

ปัญหาและแนวทางแก้ไข : เร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เมล็ดพันธุ์

อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิ์เมล็ดพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการละเมิดดังกล่าวจะเป็นไปในลักษณะของการขโมยเมล็ดพันธุ์พ่อ/แม่จากแปลงปลูกเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ขโมยไปจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง และนำมาขายตัดราคากับสินค้าของบริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์เดิม โดยผู้ประกอบการในธุรกิจเมล็ดพันธุ์คาดว่าในแต่ละปีมีเมล็ดพันธุ์ที่ถูกขโมยไปปลูกถึง 2 ล้านไร่ หรือไม่ต่ำกว่า 3,000-5,000 ตัน ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ถูกขโมยไม่ได้ผ่านขั้นตอนควบคุมการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นจึงมีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ ทำให้เกษตรกรประสบกับภาวะขาดทุนเพราะได้ผลผลิตที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น สร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตรของประเทศอย่างมาก นอกจากนี้ยังส่งผลให้บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์บางบริษัทซึ่งเคยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและวิจัยเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด เปลี่ยนนโยบายด้วยการเลิกใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและหันไปลงทุนในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่าแทน และใช้วิธีนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศเหล่านี้เข้ามาขายในไทย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศเหล่านี้ก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกของบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลกที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจเพาะและกระจายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเมื่อพิจารณาการส่งออกเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลกแล้วจีนนับว่าเป็นประเทศที่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย เนื่องจากในปัจจุบันถ้าพิจารณาเฉพาะประเทศในเอเชียโดยไม่นับรวมญี่ปุ่นแล้ว มูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์จากจีนนั้นนับเป็นอันดับหนึ่ง ในขณะที่ไทยตามมาเป็นอันดับสอง ส่วนอินเดียนั้นก็นับว่าเป็นคู่แข่งที่กำลังมาแรง แม้ว่าในปัจจุบันจะอยู่ในอันดับที่ 26 ของมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของโลก เนื่องจากมีนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนในธุรกิจเมล็ดพันธุ์เป็นจำนวนมาก โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องค่าจ้างแรงงานและปริมาณเนื้อที่ที่จะใช้ในการเพาะปลูก รวมถึงความอุดมสมบูรณ์และความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจเมล็ดพันธุ์
แนวทางในการแก้ปัญหานี้ผู้ประกอบการในธุรกิจเมล็ดพันธุ์เร่งให้รัฐบาลผลักดันกฎหมายลูกในพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้ออกมาใช้ในทางปฏิบัติให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ค้าทั้งไทยและต่างประเทศเกิดความมั่นใจเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ของไทย โดยภาครัฐควรให้อำนาจแก่เอกชนในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่เกี่ยวข้องกับส่วนพันธุกรรม(DNA) หากเปิดทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในตรวจสอบและกำกับดูแลกันเอง น่าจะเป็นวิธีการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ประกอบการได้มากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองเมล็ดพันธุ์จะดูแลเฉพาะ”กลุ่มเมล็ดพันธุ์ลูกผสม”เท่านั้น ดังนั้นจึงเกิดปัญหาการขโมยพ่อ/แม่พันธุ์เพื่อนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ก่อนนำไปจดทะเบียน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์ที่แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขโมยเมล็ดพันธุ์ต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์ความผิดโดยนำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอกและความบริสุทธิ์ทางกายภาพเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาโดยการออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ โดยกฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณายกร่าง

บทสรุป

ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศต่างเล็งเห็นถึงศักยภาพในการจะที่ผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากศักยภาพทั้งในด้านวิชาการและความเหมาะสมในด้านต่างๆของไทย ทำให้รัฐบาลและผู้ประกอบการร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าให้ส่งออกได้ปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท และลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ลงให้เหลือเฉลี่ยเพียงปีละ 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยคือ การขโมยเมล็ดพันธุ์ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อการลงทุน ทำให้นักลงทุนเริ่มหันไปหาประเทศทางเลือก โดยประเทศคู่แข่งของไทยที่น่าจับตามองคือ จีนและอินเดีย แนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อให้นักลงทุนยังคงเข้ามาลงทุนในด้านธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในไทย คือ การเร่งออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองธุรกิจเมล็ดพันธุ์

มูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของไทย
: ล้านบาท
2544 2545 2546 2547 มค.-กย.2547 มค.-กย.2548
พืชไร่และหญ้า 120.30 12.23 21.31 141.02 135.72 20.85
ไม้ดอก 7.84 4.32 8.30 12.43 10.30 10.57
ผัก 264.94 272.82 361.91 350.07 254.73 253.18
อื่นๆ 14.84 22.72 12.57 29.20 24.39 20.40
รวม 407.97 312.12 404.08 582.72 425.14 305.00
ที่มา : กรมศุลกากร รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

มูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทย
: ล้านบาท
2544 2545 2546 2547 มค.-กย.2547 มค.-กย.2548
พืชไร่และหญ้า 20.61 21.84 11.59 2.56 1.05 10.36
ไม้ดอก 5.30 – 2.48 6.07 5.06 6.03
ผัก 790.04 740.13 926.06 991.72 840.47 885.91
อื่นๆ 164.02 83.95 65.73 70.24 64.88 96.89
รวม 979.97 845.92 1,005.86 1,070.59 911.46 999.19
ที่มา : กรมศุลกากร รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

มูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ในตลาดโลก
: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2545 2546 2547 แหล่งส่งออกสำคัญ
พืชไร่และหญ้า 600.13 695.22 851.07 สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก บราซิล ออสเตรเลีย เยอรมนี
(จีนอันดับที่ 13 อินเดียอันดับที่ 25 มาเลเซียอันดับที่ 38
ไทยอันดับที่ 43)
ไม้ดอก 198.99 215.08 221.32 สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ชิลี (จีนอันดับที่ 10 อินโดนีเซียอันดับที่ 14 ศรีลังกาอันดับที่ 17 ไต้หวันอันดับที่ 18 อินเดียอันดับที่ 21 ไทยอันดับที่ 34)
ผัก 1,107.28 1,309.26 1,559.23 เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อิตาลี ชิลี เดนมาร์ก
(จีนอันดับที่ 9 ไทยอันดับที่ 11 อินเดียอันดับที่ 18)
อื่นๆ 471.82 650.98 706.00 สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี
(จีนอันดับที่ 9 อินเดียอันดับที่ 12 ไทยอันดับที่ 23)
รวม 2,378.22 2,870.54 3,337.62 เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก
(จีนอันดับที่ 14 ไทยอันดับที่ 18 อินเดียอันดับที่ 26)
ที่มา : Global Trade Atlas Navigator รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด