แนวโน้มท่องเที่ยวปี’49 : คาดต่างชาติเที่ยวไทย 12.4 ล้านคน

การท่องเที่ยวปี 2548 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปลายปี 2547 และจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง และเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงต่อเนื่อง รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องในปี 2547 มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 5.18 ล้านคนลดลงร้อยละ 6 จากปี 2547 สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นโดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2 ทำให้โดยรวมในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 11.44 ล้านคนลดลงร้อยละ 1.8 จากปี 2547

จากจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าว หากประมาณการว่านักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เวลาพำนักในประเทศไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปี 2547 เล็กน้อยเป็นเฉลี่ย 8.3 วัน และใช้จ่ายในด้านต่างๆระหว่างที่พำนักท่องเที่ยวในประเทศไทยเฉลี่ยคนละ 4,220 บาทเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 จะก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากปี 2547ที่มีมูลค่า 384,360 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2548 แล้วพบว่า เดือนมกราคม 2548 ซึ่งเป็นช่วง 1 เดือนหลังเกิดสึนามิ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 30 โดยตลาดท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวหลักของไทย (มีสัดส่วนร้อยละ 60 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย) ถดถอยลงอย่างรุนแรง โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยลดลงร้อยละ 42.6 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปซึ่งมีสัดส่วนรองลงมา คือ ประมาณร้อยละ 22 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย เดินทางเข้ามาลดลงร้อยละ 17.3

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือส่งเสริมตลาดต่างประเทศและจัดกิจกรรมต่างๆดึงดูดนักท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เริ่มปรับตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ คงมีเพียงบางช่วงที่ตลาดถดถอยลงไปบ้างเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบความมั่นใจของนักท่องเที่ยว อาทิ เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง และเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงซ้ำ เป็นต้น ทำให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2548 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงถดถอยลงเพียงร้อยละ 1.8

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์สึนามิส่งผลกระทบทำให้ตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซบเซาลงมาก โดยในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวจากตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น และจีน (มีสัดส่วนประมาณเกือบร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทยในปี 2547) เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นในอัตราไม่สูงนัก เทียบกับในปี 2547 ที่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 และนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8

ขณะที่นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน (มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหมดที่เดินทางมายังประเทศไทยในปี 2547) เดินทางเข้ามาลดลงในปี 2548 เทียบกับในปี 2547 ที่มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0 นักท่องเที่ยวฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และนักท่องเที่ยวไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6

ส่วนตลาดท่องเที่ยวระยะไกลในภูมิภาคยุโรป ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวแม้ในอัตราไม่สูงนัก โดยตลาดหลักที่ยังเติบโตต่อเนื่องได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย คือ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และฟินแลนด์

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2549 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 12.4 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2548 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 468,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ทั้งนี้โดยได้แรงเกื้อหนุนสำคัญจากการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ ญี่ปุ่น และจีน

ตลาดญี่ปุ่น คาดว่าในปี 2549 จะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มในอัตราสูงขึ้น จากการส่งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวประเทศไทยของบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่รอดูสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในปี 2548 เพื่อเกิดความมั่นใจด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยวในแถบอันดามัน รวมทั้งความพร้อมของบริการรองรับนักท่องเที่ยวต่างๆหลังการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามัน โดยนอกจากแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในแถบอันดามันแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทยและในภาคตะวันออก อาทิ สมุย หัวหิน และเกาะช้าง รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ และเชียงราย ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งมีโรงแรมและรีสอร์ทหรูระดับ 4-5 ดาวขยายการลงทุนเข้าไปในพื้นดังกล่าวเพื่อรองรับการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ตลาดจีน จากการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างจริงจังของบรรดาบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่อันดามัน รวมทั้งการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของประเทศจีนหลังการเจรจาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและจีนที่เชียงใหม่เมื่อปลายปี 2548 โดยจีนได้จัดส่งนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับรางวัลท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เดินทางมายังประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา คาดว่าหากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคในการขยายตลาดทัวร์จีนโดยเฉพาะปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวและทัวร์คุณภาพต่ำได้ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมากในปี 2549 โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบริษัทขายตรงในประเทศจีนที่ให้รางวัลพนักงานเป็นการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวมูลค่าเกือบ 500,000 ล้านบาทเข้าประเทศได้ในปี 2549 นั้น นอกจากจะขึ้นกับสถานการณ์ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดมากระทบแล้ว ยังขึ้นกับการประสานความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจังเพื่อดำเนินการในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

– การกระตุ้นการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

– การเร่งคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง เพื่อส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสงขลาที่มีหาดใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งล้วนพึ่งพากลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่นิยมเดินทางด้วยรถยนต์เข้ามาเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดตามเทศกาลต่างๆ

– การเร่งฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้กลับสู่สภาพปกติปราศจากซากปรักหักพังจากสึนามิโดยเร็ว

– การสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย

– การเร่งขยายตลาดนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวอย่างจริงจังเพื่อส่งผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

ตารางแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย
และรายได้ด้านการท่องเที่ยว

ปี จำนวนนักท่องเที่ยว
(คน) การขยายตัว
(ร้อยละ) รายได้ท่องเที่ยว
(ล้านบาท) การขยายตัว
(ร้อยละ)
2544 10,061,950 5.8 299,047 4.8
2545 10,799,067 7.3 323,484 8.2
2546 10,004,453 -7.4 309,269 -4.4
2547 11,650,703 16.5 384,360 24.3
2548* 11,440,000 -1.8 400,000 4.1
2549** 12,400,000 8.4 468,000 17.0

ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
รวบรวมโดย : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
หมายเหตุ : *ตัวเลขเบื้องต้น
**ประมาณการ