นายพัฒนพง์ษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ASCON) ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับเครื่องจักร อุปกรณ์ และอะไหล่ในงาน อุตสาหกรรมอย่างครบครัน เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับบริษัทฯ จดทะเบียนและอนุมัติให้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันพุธที่ 21 ธันวาคม ศกนี้ โดยใช้ชื่อหลักทรัพย์ “ASCON” ภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 150 ล้านบาท
“เมื่อวันที่ 7-9 ธันวาคม ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เปิดจองหุ้นซื้อหุ้น 50 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 4.20 บาท ราคาพาร์ 1 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยอย่างมาก และน่าจะลงทุนในหุ้น ASCON ระยะยาว ซึ่งเงินที่ได้จากการขายหุ้น 210 ล้านบาท บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปใช้ลงทุนในเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างจำนวน 20 ล้านบาท ใช้ในการก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง และโกดังเก็บวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจำนวน 50 ล้านบาท ซื้อสินค้าและอุปกรณ์สำหรับธุรกิจเทรดดิ้ง เพื่อมาเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่าย 20 ล้านบาท และส่วนที่เหลือบริษัทฯจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อใช้ในโครงการรับเหมาก่อสร้าง”
นายพัฒนพงษ์ กล่าวเสริมว่า “ผลประกอบการของบริษัทในรอบ 9 เดือน ณ 30 กันยายน 2548 ว่าบริษัทมีรายได้ของบริษัทอยู่ที่ 568 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 53 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 125% ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับรายได้รวมของบริษัทฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 214 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 294 ล้านบาทในปี 2547 อีกทั้งเรายังมีงานที่อยู่ในมือ จำนวน 2,700 ล้านบาท ที่รับรู้ไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะรับรู้หมดภายในประมาณกลางปี 2550 ส่วนในกลุ่มเทรดดิ้งบริษัทจะมุ่งเน้นการเติบโตอย่างสม่ำเสมอทุกปี ประมาณไม่น้อยกว่า 15 –20 %“
ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ ส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่กระจายตัวมากขึ้น โดยหลัง IPO กลุ่มตนุมัธยายังคงถือหุ้นใหญ่ โดยมีสัดส่วนถือหุ้น 32% รองลงมาคือกลุ่มวิไลลักษณ์มีสัดส่วนถือ 25 % ตามลำดับ โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
“จุดเด่นของหุ้น ASCON คือมีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีคนงานในมืออย่างเพียงพอซึ่งทำให้บริษัทสามารถก่อสร้างโดยใช้ผู้รับเหมาช่วงในสัดส่วนที่ไม่มากนัก ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี และยังมีโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักของ ASCON คือกลุ่มวิไลลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SAMART และ SIM ได้ขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศมาเลเซีย กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ปละปากีสถาน ซึ่งเปิดโอกาสให้ ASCON เข้าไปรับงานในประเทศเหล่านี้ได้ เช่น งานสร้างสนามกีฬาในลาวเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ โดยมีมูลค่างานประมาณ 500 ล้านบาท และโครงการสร้างถนนปรับปรุงถนนในประเทศกัมพูชา เป็นต้น” นายพัฒนพงษ์ กล่าว
อนึ่ง บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี 2541โดยเป็นธุรกิจเดิมของกลุ่มตนุมัธยาซึ่งเป็นผู้บริหาร โดยมีประสบการณ์ในงานรับเหมาก่อสร่งมากกว่า 7 ปี และประสบการณ์ในธุรกิจเทรดดิ้งสิ้นค้าอุตสาหกรรมกว่า 14 ปี ต่อมาในปี 2547 บริษัทได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นโดยมีกลุ่มวิไลลักษณ์เข้ามาถือหุ้นร่วม ปัจจุบันกลุ่มแอสคอนประกอบธุรกิจหลัก 2 ส่วน คือ 1.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ดำเนินการโดย บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2.ธุรกิจจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับเครื่องจักร อุปกรณ์ และอะไหล่ในงานอุตสาหกรรมอย่างครบครัน โดยมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวมีดังนี้
1. แอสคอน คอมเพรสเซอร์ – นำเข้าและจัดจำหน่าย รวมทั้งให้บริการเครื่องอัดอากาศอุปกรณ์ รวมทั้งอะไหล่ ภายใต้ยี่ห้อ “Quincy” โดยบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในประเทศไทยของ Quincy Compressor ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องอัดอากาศหนึ่งในสองรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา
2. แอสคอน โปรซีล – นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทซีลกันรั่ว (Sealing Products) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยงข้อง โดยบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในประเทศไทยของ Garlock Sealing Technologies จากประเทศสหรัฐอเมริกา
3. แอสคอน เมนูแฟคเจอริ่ง – จัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางด้านอะไหล่อุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอะไหล่และอุปกรณ์เทียบ OEM ที่ใช้กับระบบเครื่องอัดอากาศยี่ห้ออื่นๆ ยกเว้น Quincy