แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างปี 2549 : ตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับโครงการลงทุนของรัฐ

ธุรกิจก่อสร้างมีการฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับ จากสถานการณ์ตกต่ำของธุรกิจภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญจากการเติบโตสูงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยชดเชยการลงทุนในโครงการก่อสร้างสาธารณะของภาครัฐที่ลดต่ำลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2541-2546 และในช่วงปี 2547 รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเริ่มมีงบประมาณลงทุนในโครงการต่างๆมากขึ้น เนื่องจากสถานะทางการคลังของรัฐบาลที่ดีขึ้นทำให้รัฐบาลสามารถกลับมาผลักดันโครงการลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ขณะที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนยังเติบโตในอัตราที่สูง แม้ว่าจะชะลอลงกว่าในช่วงปีก่อนๆ แรงผลักดันจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้ขับเคลื่อนให้การลงทุนในด้านการก่อสร้าง (ณ ราคาคงที่) ของประเทศมีการเติบโตในอัตราสูงถึงร้อยละ 10.6 ในปี 2547 สูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2538 ในปัจจุบัน วัฎจักรธุรกิจก่อสร้างเริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแผนการลงทุนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ สำหรับปีงบประมาณ 2548-2552 ที่มีการปรับปรุงใหม่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 มีมูลค่า 1,804,240 ล้านบาท ทำให้เป็นที่คาดหมายว่าโครงการลงทุนของรัฐจะเข้ามารับช่วงต่อ ภายใต้ภาวะที่แรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนเริ่มอ่อนตัวลง

แผนการลงทุนของรัฐดังกล่าวน่าที่จะส่งผลบวกต่อภาคธุรกิจก่อสร้าง ภายใต้วัฎจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุนในระยะ 2-3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 แม้ว่าแผนการลงทุนของภาครัฐจะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจก่อสร้างมีโอกาสเติบโตได้ในระดับสูง แต่ในขั้นตอนของการดำเนินการโครงการ อาจมีความล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนของโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนบางประการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในปี 2549 โดยมีสมมติฐาน 2 กรณี คือ กรณีที่โครงการของภาครัฐดำเนินการได้ตามแผนการ และกรณีที่โครงการบางโครงการอาจมีความล่าช้าในการเริ่มต้นดำเนินการ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ภาวะการลงทุนในด้านการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาของปี 2548

สถานการณ์ธุรกิจก่อสร้างในปี 2548 มีการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรก แต่กลับเผชิญภาวะที่ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีสาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าในด้านมูลค่าจะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณงานก่อสร้างมีทิศทางลดลง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2548 มูลค่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างภาครัฐสูงขึ้นกว่าในช่วงสองไตรมาสแรกของปี แต่อัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่หดตัวลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 14 ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะเดียวกัน การก่อสร้างของภาคเอกชนก็ชะลอตัวลง ตามการอ่อนตัวลงของความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัย โดยภาพรวม การลงทุนในด้านการก่อสร้างภายในประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2548 มีการขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเติบโตชะลอลงมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในไตรมาสแรกขยายตัวสูงที่ร้อยละ 13.6 แต่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่ 2 และเหลือเพียงร้อยละ 3.4 ในไตรมาสที่ 3 อันเป็นผลมาจากการลงทุนของภาครัฐที่ดำเนินการไปได้ช้ากว่าในช่วงครึ่งปีแรก

อัตราการขยายตัวของภาคการก่อสร้าง ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2548
ประเภทของการก่อสร้าง 2547 Q1/2548 Q2/2548 Q3/2548
การก่อสร้างโดยรวม 10.6 13.6 9.7 3.4
การก่อสร้างของภาคเอกชน 15.2 10.3 8.4 7.8
– ที่อยู่อาศัย 22.3 16.6 13.6 11.4
– อาคารพาณิชย์ 28.4 26.1 20.2 15.5
– โรงงาน -10.1 10.4 9.2 19.6
การก่อสร้างของภาครัฐ 6.0 17.4 11.2 -0.3
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
สศช. มีการปรับตัวเลขย้อนหลังในปี 2547 ซึ่งเดิมเป็นตัวเลขเบื้องต้น โดยอัตราการขยายตัวปรับลดลงจากเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2548 การลงทุนในด้านการก่อสร้างภายในประเทศอาจจะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 ในปี 2547 มูลค่าการก่อสร้างโดยรวม คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 668,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากที่มีมูลค่า 587,105 ล้านบาทในปี 2547 โดยเป็นการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกันคือประเภทละประมาณร้อยละ 50

การลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนในปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.4 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 15.2 ในปี 2547 โดยอัตราการเติบโตของการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงมาเป็นลำดับนับจากที่เคยขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 20 ในปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดที่อยู่อาศัยมีการเติบโตสูงสุด แต่ค่อยๆชะลอตัวลงเมื่อมาตรการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้สิ้นสุดลง ขณะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงท้ายของปี 2547 เป็นแรงกดดันให้สินค้าต่างๆมีการปรับขึ้นราคา ส่งผลกระทบต่อสถานะรายจ่ายของผู้บริโภค ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยที่มีการปรับขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับขึ้นในช่วงจังหวะที่รวดเร็วนับตั้งแต่กลางปี 2548 เป็นต้นมา ผลของปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ได้ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยอ่อนตัวลง ขณะที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มีทิศทางชะลอลง ตามภาวะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่างๆต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวลดลงมาเป็นลำดับ

ในด้านการลงทุนของภาครัฐในปี 2548 คาดว่าอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2547 ซึ่งจะเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2541 โดยมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลมีฐานะทางการคลังที่เข้มแข็งขึ้นทำให้รัฐบาลสามารถกลับมาเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

แนวโน้มปี 2549 : โครงการของภาครัฐอาจกระตุ้นให้ธุรกิจขยายตัวสูงขึ้น

แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในปี 2549 คาดว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงขึ้น โดยมีแรงกระตุ้นที่สำคัญจากโครงการของภาครัฐในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ ขณะที่การลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชน การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอาจยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ส่วนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยอาจขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี

? การก่อสร้างภาคเอกชน … อาจชะลอตัวตามภาวะตลาดที่อยู่อาศัย

โครงการก่อสร้างของภาคเอกชนในปี 2549 อาจยังคงมีการชะลอตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยความต้องการที่อยู่อาศัยอาจเผชิญปัจจัยลบจากแรงกดดันด้านภาระรายจ่ายของผู้บริโภคที่อาจส่งผลต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะค่อยๆผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อในปี 2549 โดยเฉลี่ยอาจอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.8-4.3 แม้จะชะลอลงจากปี 2548 ที่คาดว่าจะสูงประมาณร้อยละ 4.6 แต่ยังคงเป็นระดับที่สูง ซึ่งราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ โดยเฉลี่ยทั้งปี อาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2548 แต่ราคาสินค้าขั้นพื้นฐานบางประเภทมีโอกาสปรับขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม นอกจากนี้ ในด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยในด้านภาวะกำลังซื้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจึงมีความเอื้ออำนวยต่อการซื้อที่อยู่อาศัยน้อยลงกว่าในระยะปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยนานขึ้น สำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมคาดว่าอาจจะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ถ้าภาวะเศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยธุรกิจหลายประเภทยังมีความต้องการลงทุนขยายกำลังผลิต รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การก่อสร้างของภาคเอกชนโดยรวมอาจจะมีมูลค่าประมาณ 371,000 ล้านบาทในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 331,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 8 ในปี 2549 ต่ำลงเล็กน้อยจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.4 ในปี 2548

? การก่อสร้างภาครัฐ … อาจเร่งตัวขึ้นจากการลงทุนโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่

ในด้านการก่อสร้างของภาครัฐในปี 2549 ในส่วนของงบประมาณลงทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2549 มีจำนวน 357,468.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากงบประมาณในปีก่อนหน้า และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2549 มีกรอบวงเงินเบิกจ่ายทั้งสิ้น 296,272 ล้านบาท และอาจจะยังมีงบลงทุนของภาครัฐจากปีงบประมาณก่อนหน้าที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายที่จะเหลื่อมเข้ามาในปีงบประมาณ 2549 อีกส่วนหนึ่ง ถ้าประเมินงบลงทุนในด้านงานโยธาซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-70 ของการลงทุนของภาครัฐ และภายใต้ข้อสมมติที่แผนการลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐสามารถคืบหน้าได้ตามเป้าหมาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาครัฐอาจจะมีมูลค่าประมาณ 432,000 ล้านบาทในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากมูลค่าที่คาดการณ์ในปี 2548 ที่ประมาณ 337,000 ล้านบาท โดยอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ มีโอกาสสูงถึงประมาณร้อยละ 23 เร่งตัวขึ้นอย่างมากจากปี 2548

? แนวโน้มโดยภาพรวม และการวิเคราะห์ผลกระทบหากโครงการลงทุนของรัฐมีความล่าช้า

ในกรณีพื้นฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศในปี 2549 อาจจะมีมูลค่าประมาณ 803,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 668,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ15 เร่งตัวขึ้นโดยมีการลงทุนโครงการสาธารณะของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าการก่อสร้างมีโอกาสขยายตัวได้สูงในช่วงปี 2549 แต่ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตยังมีความไม่แน่นอน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ผลที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่การลงทุนโครงการของรัฐอาจมีความล่าช้า โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก การลงทุนในส่วนของโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ตามแผนการเดิมจะมีการลงทุน 7 สายในช่วงปี 2549 ใช้งบประมาณลงทุน 46,605 ล้านบาท (และแผนการล่าสุดอาจปรับเพิ่มเป็น 10 สาย) แต่เส้นทางที่น่าที่จะมีการลงทุนได้ค่อนข้างชัดเจน คาดว่าจะเป็นสายสีแดงเข้ม สีแดงอ่อน สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงบางส่วน ประการที่สอง ในกรณีที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการได้ในปี 2549 และรัฐบาลไม่สามารถจัดหารายได้มาทดแทนได้ทัน ทำให้อาจต้องตัดลบงบประมาณการลงทุนลงเพื่อรักษาเป้าหมายงบประมาณสมดุล ผลดังกล่าวข้างต้นรวมกัน อาจทำให้การเติบโตของการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐลดลงมาเป็นประมาณร้อยละ 14 และการลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการเติบโตลดลงมาเป็นร้อยละ 11 แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าปี 2548

ภาวะและแนวโน้มของธุรกิจก่อสร้าง ปี 2547-2549
รายการ 2547 2548e 2549e
มูลค่า : ล้านบาท ณ ราคาปีปัจจุบัน
การลงทุนในด้านการก่อสร้าง 587,105 667,900 770,900 – 802,800
ภาคเอกชน 292,481 330,500 371,300
ภาครัฐ 294,624 337,400 399,700 – 431,500
อัตราการเติบโต : % ณ ราคาคงที่
การลงทุนในด้านการก่อสร้าง 10.6 8.6 11.0 – 15.0
ภาคเอกชน 15.2 8.4 8.0
ภาครัฐ 6.0 9.0 14.0 – 23.0
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
e = ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยการประมาณการปี 2549 ขั้นสูง เป็นกรณีที่การลงทุนของภาครัฐดำเนินการได้ตามแผน ขั้นต่ำ เป็นกรณีที่โครงการบางโครงการอาจล่าช้าออกไป

จากการที่รัฐบาลมีแผนการลงทุนในระยะปานกลางถึงระยะยาวในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในด้านกายภาพ (Physical Infrastructure) เช่น ระบบคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และที่อยู่อาศัย และในด้านคุณภาพของเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรมนุษย์ (Intermediate Infrastructure) เช่น การสาธารณสุข การศึกษา ทรัพยากรน้ำ เป็นต้น โดยแผนการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ สำหรับปีงบประมาณ 2548-2552 ที่มีการปรับปรุงใหม่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 มีมูลค่า 1,804,240 ล้านบาท (จากเดิม 1,700,750 ล้านบาท) โครงการเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ธุรกิจก่อสร้างมีแนวโน้มปริมาณงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้การลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ไปได้จนถึงประมาณปี 2550 และค่อยๆชะลอลงในปี 2551 ก่อนที่จะหดตัวลงในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าโครงการลงทุนของรัฐอาจจะปรับลดลงในช่วงท้ายของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งนี้ คาดว่าในระหว่างปี 2550-2552 การลงทุนในด้านการก่อสร้างของประเทศ ทั้งในส่วนของภาคเอกชนและภาครัฐ อาจจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 970,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี

สรุปและข้อคิดเห็น

ในช่วงปี 2549 วัฎจักรธุรกิจก่อสร้างเริ่มมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นที่คาดหมายว่าแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะเข้ามารับช่วงต่อ ภายใต้ภาวะที่แรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนเริ่มอ่อนตัวลง ซึ่งน่าที่จะช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจก่อสร้างมีโอกาสเติบโตได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ในขั้นตอนของการดำเนินการโครงการ อาจมีความล่าช้าเกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนบางประการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในปี 2549 โดยมีสมมติฐาน 2 กรณี คือ กรณีที่โครงการของภาครัฐดำเนินการได้ตามแผนการ และกรณีที่โครงการบางโครงการอาจมีความล่าช้าในการเริ่มต้นดำเนินการ

สำหรับในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในด้านการก่อสร้างภายในประเทศอาจจะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 ในปี 2547 มูลค่าการก่อสร้างโดยรวม คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 668,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากที่มีมูลค่า 587,105 ล้านบาทในปี 2547 โดยคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ตามภาวะตลาดที่อยู่อาศัย ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น จากการที่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีโครงการลงทุนในสาขาต่างๆเพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในปี 2549 คาดว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงขึ้น โดยมีแรงกระตุ้นที่สำคัญจากโครงการของภาครัฐในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ ขณะที่การลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชน การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอาจยังคงมีทิศทางที่ชะลอตัว ส่วนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยอาจขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ในกรณีพื้นฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศในปี 2549 อาจจะมีมูลค่าประมาณ 803,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2548 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 668,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 15 เร่งตัวขึ้นโดยมีการลงทุนโครงการสาธารณะของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยคาดว่าในปี 2549 การก่อสร้างของภาคเอกชนโดยรวมอาจจะมีมูลค่าประมาณ 371,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 8 ต่ำลงเล็กน้อยจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.4 ในปี 2548 ส่วนการก่อสร้างของภาครัฐอาจมีโอกาสสูงประมาณ 432,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 23 เร่งตัวขึ้นอย่างมากจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2548

อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าการก่อสร้างมีโอกาสขยายตัวได้สูงในช่วงปี 2549 แต่ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตยังมีความไม่แน่นอน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ผลที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่การลงทุนโครงการของรัฐอาจมีความล่าช้า โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก การลงทุนในส่วนของโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ตามแผนการเดิมจะมีการลงทุน 7 สายในช่วงปี 2549 ใช้งบประมาณลงทุน 46,605 ล้านบาท (และแผนการล่าสุดอาจปรับเพิ่มเป็น 10 สาย) แต่เส้นทางที่น่าที่จะมีการลงทุนได้ค่อนข้างชัดเจน คาดว่าจะเป็นสายสีแดงเข้ม สีแดงอ่อน สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงบางส่วน ประการที่สอง ในกรณีที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการได้ในปี 2549 และรัฐบาลไม่สามารถจัดหารายได้มาทดแทนได้ทัน ทำให้อาจต้องตัดลบงบประมาณการลงทุนลงเพื่อรักษาเป้าหมายงบประมาณสมดุล ผลดังกล่าวข้างต้นรวมกัน อาจทำให้การเติบโตของการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐลดลงมาเป็นประมาณร้อยละ 14 และการลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการเติบโตลดลงมาเป็นร้อยละ 11 แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นอัตราที่สูงขึ้นกว่าปี 2548

จากการที่รัฐบาลมีแผนการลงทุนในระยะปานกลางถึงระยะยาวในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ โดยแผนการลงทุนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ เมกะโปรเจ็กต์ สำหรับปีงบประมาณ 2548-2552 ที่มีการปรับปรุงใหม่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 มีมูลค่า 1,804,240 ล้านบาท (จากเดิม 1,700,750 ล้านบาท) โครงการเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ธุรกิจก่อสร้างมีแนวโน้มปริมาณงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการลงทุนของภาครัฐน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้การลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวมมีอัตราการขยายตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ไปได้จนถึงประมาณปี 2550 และค่อยๆชะลอลงในปี 2551 ก่อนที่จะหดตัวลงในปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่มูลค่าโครงการลงทุนของรัฐอาจจะปรับลดลงในช่วงท้ายของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งนี้ คาดว่าในระหว่างปี 2550-2552 การลงทุนในด้านการก่อสร้างของประเทศ อาจจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 970,000 ล้านบาทต่อปี หรือมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี

นอกจากนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค รัฐบาลมีแผนการที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ พลังงาน และการคมนาคมขนส่ง โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคอาเซียน อินโดจีนและเอเชียใต้ ประกอบกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เช่น ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างไทยจะสามารถเข้าไปรับงานในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับงานก่อสร้างภายในประเทศ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจ็กต์มากขึ้น เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้รวดเร็วและมีความคล่องตัว ซึ่งอาจทำให้บริษัทก่อสร้างไทยเผชิญกับภาวะธุรกิจที่อาจจะมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันมากรายขึ้น

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะมีผลต่อทิศทางของธุรกิจก่อสร้างในระยะต่อไปคือการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการแข่งขันจากการที่ไทยจะต้องเปิดตลาดมากขึ้นให้แก่ผู้ให้บริการด้านการก่อสร้างและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างจากต่างประเทศ การเร่งปรับศักยภาพและนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจึงเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการควรต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับมือการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในอนาคต ธุรกิจก่อสร้างของไทยอาจจำเป็นต้องมีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทก่อสร้างในประเทศ การร่วมทุนและการเป็นพันธมิตรกับบริษัทจากต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพที่จะรับมือกับการแข่งขันที่จะสูงขึ้นภายในประเทศ และเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในระดับภูมิภาค การพัฒนาธุรกิจก่อสร้างควรจะมีการจัดตั้งหน่วยสถาบันระดับประเทศที่เข้ามาควบคุมดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ตลอดจนจัดระเบียบและกำหนดแนวทางอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เดินไปข้างหน้าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในด้านต่างๆที่รัฐบาลได้กำหนดแนวทางไว้