โครงการ JARAD จัดสัมมนาเรื่อง “Renewal Strategy in Response to Global Competition”

ภาพ : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ วิทยากรผู้บรรยายเรื่อง “Renewal Strategy in Response to Global Competition” ในงานสัมมนาของ JARAD

โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ ( JARAD ) ภายใต้โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น โดยรศ.ดร. กาญจนา ชูครุวงศ์ ประธานโครงการฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะจัดสัมมนาเรื่อง Renewal Strategy in Response to Global Competition เพื่อนำเสนอภาพรวมของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ พร้อมความจำเป็นในการพัฒนาอัญมณีไทยเพื่อการส่งออก และการเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้ผู้ประกอบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้ภาพรวมของธุรกิจและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของบุคคลกรในอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันมีการประมาณการว่ามีแรงงานทุกระดับประมาณ 1 .2 ล้านคนใน 25 จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ โดยมีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ บรรยายเรื่อง “Renewal Strategy in Response to Global Competition” โดยเน้นให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งอ้างอิงจากการทำสำรวจความคิดเห็นจากลูกค้ารายสำคัญของไทยใน 2 ทวีปใหญ่คืออเมริกาและยุโรปว่า ยังคงเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเพียงเป็นผู้รับจ้างผลิต (O.E.M.) แม้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตนจะมีส่วนผลักดันให้เกิดโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น ซึ่งคาดว่าโครงการนี้น่าจะผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอต่อการแข่งขันในระดับโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญเช่น สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้จะพยายามมากเพียงใด แต่การตระหนักรู้ของแต่ละคนก็จะมีการตระหนักรู้ในระดับที่ไม่เท่ากัน บางคนยังตั้งข้อสังเกตถึงคำถามที่ว่า….ทำไมจะต้องมีการยกระดับขีดความสามารถของบุคคลากร….และถึงแม้ว่าในปีหน้าประเทศไทยจะยังมีอัตราการเติบโตของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับกว่า 20 % ซึ่งอาจจะคิดว่าเป็นระดับสูงและน่าพอใจ แต่การเติบโตของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับก็ยังมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าการเติบโตของประเทศคู่แข่งซึ่งมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด สำหรับการเป็นผู้รับจ้างผลิต (O.E.M.) ในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะประเทศคู่แข่งเช่น จีนก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจะทำให้เกิดการแย่งตลาดไปในที่สุด สิ่งที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการคือการให้ความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ ( Brand Building) โดยไม่เน้นความเป็น National Brand แต่จะต้องเน้นลงไปถึงระดับที่เป็น Corporate Brand หรือ Product Brand โดยพูดแบบติดตลกว่า….ทำไมเครื่องหมายขีดถูก (แบรนด์ไนกี้) เพียงอันเดียว ยังทำให้มีราคามหาศาลได้ เราน่าจะต้องทำให้ได้อย่างนั้นเช่นกัน……และถ้าบุคคลากรของกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับมีศักยภาพในระดับที่เท่าเทียมกัน ก็จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมและประเทศชาติ รัฐบาลก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยโครงการที่นำร่องไปแล้วคือโครงการจรัส และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะมีการจัดทำโครงการต่อเนื่อง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและบุคคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในด้านต่าง ๆ ต่อไป