ท่ามกลางความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดโลกที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้ประกอบการในตลาดระดับบนอย่างอิตาลี สหรัฐฯ และเยอรมนี หรือบรรดาผู้ประกอบการในตลาดระดับกลางถึงล่างอย่างจีน ไทย ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งนอกเหนือจากการสำรวจ และศึกษาลู่ทางการตลาดในตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียดและชัดเจนก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้า การพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาการออกแบบ การเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าของตนเองอย่างจริงจังแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ หรือการแสวงหาแหล่งจำหน่ายชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่าคู่แข่ง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เพื่อเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของความต้องการชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของตลาดโลก
โดยจากรายงานของ Global Trade Atlas พบว่ามูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของตลาดโลกในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 มีมูลค่า 12,786.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของการนำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ในปี 2546-2547 (โดยในปี 2546 การนำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของตลาดโลกมีมูลค่า 20,006.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.44 ส่วนในปี 2547 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 23,011.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.84) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของความต้องการเฟอร์นิเจอร์ตลาดโลกในช่วงเวลาดังกล่าว โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 การนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของตลาดโลกมีการเติบโตร้อยละ 7.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2547 ซึ่งก็ชะลอตัวจากปี 2546-2547 ที่มีการเติบโตร้อยละ 17.94 และร้อยละ 16.23 ตามลำดับเช่นกัน
ทั้งนี้ตลาดหลักที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ในตลาดโลกมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาด้วยสัดส่วนประมาณร้อยละ 31-33 ของมูลค่าการนำเข้าของตลาดโลกโดยรวมในแต่ละปี รองลงมาคือเยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 14-15) แคนาดา(สัดส่วนร้อยละ 7-8) สหราชอาณาจักร(สัดส่วนร้อยละ 6-7) และฝรั่งเศส(สัดส่วนร้อยละ 5-6) ตามลำดับ ขณะที่ผู้ส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญในตลาดโลกในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมายังคงเป็นเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 20-30 ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์โดยรวมในตลาดโลก ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยวัดจากดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ หรือ RCA (Revealed Comparative Advantage) โดยอาศัยฐานข้อมูลของ Global Trade Atlas ในปี 2547 พบว่า โปแลนด์ มีศักยภาพสูงสุดด้วยค่า RCA เท่ากับ 6.29 ตามมาด้วยโปรตุเกส(RCA เท่ากับ 6.07) เม็กซิโก(RCA เท่ากับ 5.81) แอฟริกาใต้(RCA เท่ากับ 3.96) ออสเตรีย(RCA เท่ากับ 3.74) อิตาลี(RCA เท่ากับ 1.98) แคนาดา(RCA เท่ากับ 1.87) และสหรัฐฯ(RCA เท่ากับ 1.09) ส่วนประเทศที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับได้แก่ อินเดีย จีน เกาหลีใต้ และไทย เนื่องจากนับวันประเทศกลุ่มดังกล่าวจะมีอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์เพิ่มมากขึ้นค่อนข้างต่อเนื่อง
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันสัดส่วนของเม็กซิโกและสหรัฐฯได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 27.75 ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของโลกโดยรวมในปี 2545 ลดลงเหลือสัดส่วนร้อยละ 23.78 ในปี 2547 และถือครองสัดส่วนรวมกันเหลือร้อยละ 22.99 ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 ขณะที่ อินเดีย จีน เกาหลีใต้ และไทยที่แม้ว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อรวมกันแล้วจะมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของตลาดโลกในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ โดยค่า RCA ของชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์อินเดีย จีน เกาหลีใต้ และไทยต่างมีค่าน้อยกว่า 1 แต่หากพิจารณาในส่วนของอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกกลับพบว่ามีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างชัดเจน
โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วง 6 เดือนแรกปี 2548 กับช่วงเดียวกันปี 2547 จากฐานข้อมูลของ Global Trade Atlas ล่าสุด พบว่าการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.1 เกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.8 ส่วนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 หรือแม้หากพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของอินเดีย จีน เกาหลีใต้ และไทยในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่าต่างมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน โดยในปี 2547 ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์อินเดียมีค่า RCA เท่ากับ0.015 (ขณะที่ในปี 2545 อินเดียมีค่า RCA เท่ากับ 0.009) ส่วนชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของจีนมีค่า RCA เท่ากับ 0.60 (ในปี 2545 จีนมีค่า RCA เท่ากับ 0.46) ขณะที่ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของเกาหลีใต้มีค่า RCA เท่ากับ 0.24 (แต่ในปี 2545 เกาหลีใต้มีค่า RCA เท่ากับ 0.2) สำหรับชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยในปี 2547 ก็มีค่า RCA เท่ากับ 0.49 (ขณะที่ในปี 2545 ไทยมีค่า RCA เท่ากับ 0.39)
โดยทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อมูลล่าสุดของกรมศุลกากรของไทยพบว่าในปี 2548 ไทยสามารถส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 163 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 และนับเป็นสินค้าในหมวดสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดด้วย ส่วนสถานการณ์การส่งออกในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยน่าจะเติบโตต่อเนื่องด้วยระดับอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยมีปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับด้วยฝีมือของแรงงานไทยที่ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ อีกทั้งบรรดาผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่นับวันจะมีอัตราค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเนื่องก็หันมาสั่งซื้อสินค้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์จากไทยที่มีราคาถูกกว่าโดยเปรียบเทียบเพิ่มมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ด้วยอุปสงค์สินค้าเฟอร์นิเจอร์ในตลาดใหม่ของไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการบูรณะอาคารสถานที่ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดใหม่แต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ หรือตะวันออกกลาง รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในตลาดโลกหลายรายจึงต้องสรรหาแหล่งซื้อชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าของไทยจึงน่าจะมีโอกาสในการขยายตัวการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ในปี 2549 ซึ่งการผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยในปัจจุบันมีทั้งที่เป็นงานรับจ้างผลิตโดยรับแบบตัวอย่างจากโรงงานผู้ผลิต และการออกแบบตามสั่งของโรงงานผู้ผลิต โดยชิ้นงานส่วนใหญ่จะเป็นประเภทไม้ล้วน และไม้ประกอบกับเหล็ก เช่น มือจับลิ้นชัก ประตูตู้ กลอนประตู หน้าต่าง และบานพับประตูหน้าต่าง เป็นต้น
สำหรับตลาดส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของไทยในปี 2548ที่ผ่านมาประกอบด้วยสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกันประมาณ 87.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 53.5 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว โดยตลาดหลักดังกล่าวล้วนเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความทนทานในการใช้งาน โครงสร้าง และความประณีตของสินค้าค่อนข้างมาก สำหรับสถานการณ์การส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดหลักดังกล่าวน่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัจจุบันโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐฯหลายโรงงานเริ่มมองหาแหล่งอุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวกับการรักษาสภาพแวดล้อม ประกอบกับการที่แหล่งผลิตเดิมของสหรัฐฯ ในหลายประเทศเริ่มประสบปัญหาเกินกำลังการผลิตและคุณภาพสินค้า อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์ของประเทศผู้ผลิตบางรายด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์สหรัฐฯบางส่วนที่เน้นการจำหน่ายสินค้าคุณภาพน่าจะมีแนวโน้มหันมานำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์จากไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยที่คาดว่าน่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในปี 2549 คือตลาดเอเชียใต้ที่นับวันจะมีการเปิดตลาดการค้าต่อกันกว้างขวางมากขึ้น และตลาดเอเชียตะวันออกกลางที่คาดว่าน่าจะยังมีกำลังซื้อสูงจากรายได้การค้าน้ำมัน
โดยทั้งนี้คู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯนอกเหนือจากเม็กซิโกและแคนาดาที่ถือครองส่วนแบ่งรวมกันประมาณร้อยละ 65-70 ของมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์โดยรวมของสหรัฐฯแล้ว จีน และเวียดนามนับเป็นคู่แข่งที่ทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ส่วนตลาดชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ในญี่ปุ่นนั้น ปัจจุบันจีนถือครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ระดับร้อยละ 37 ตามมาด้วยเม็กซิโก และสหรัฐฯ โดยไทยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 6 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 4.77 ขณะที่ตลาดชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยในตลาดสหภาพยุโรป(15 ประเทศ)ก็ต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศในแถบยุโรปตะวันออกที่มีความได้เปรียบในต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากมีระยะทางการขนส่งที่ใกล้กว่าไทย ทำให้สินค้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์จากยุโรปตะวันออกกลางสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสหภาพยุโรป(15 ประเทศ)ได้ถึงกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้จีนและเวียดนามก็เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งของไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับด้วย โดยจีนและเวียดนามอาศัยความได้เปรียบในด้านแรงงานที่มีเป็นจำนวนมากและมีอัตราการจ้างงานที่ต่ำกว่า ทำให้จีนและเวียดนามสามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณมากและมีราคาถูกกว่าไทยโดยเปรียบเทียบ
บทสรุป
เป็นที่น่าสังเกตว่าภาวะตลาดส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยนับวันจะมีแนวโน้มที่ค่อนข้างสดใส แต่เพื่อให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ทั้งในด้านการผลิตและการบริหารจัดการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานมากขึ้น การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง การสร้างตรายี่ห้อที่ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงขึ้นทั้งในด้านฝีมือแรงงาน ด้านการออกแบบ และด้านการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ยังคงเน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก
นอกจากนี้การจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาและศูนย์ทดสอบประสิทธิภาพสินค้าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตขนาดกลางและย่อมที่มีเป็นจำนวนค่อนข้างมากในไทย เพราะกลุ่มผู้ผลิตดังกล่าวยังขาดแคลนเทคโนโลยีระดับสูงที่จะทำให้การผลิตสินค้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งที่มีศักยภาพอย่างสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปได้ในที่สุด อีกทั้งผู้ประกอบการควรแสวงหาพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องด้วยเพื่อสร้างโอกาสให้ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น
ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างการผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์อย่างจริงจังและรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่านอกจากจะส่งผลกระตุ้นให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นในอนาคตแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญของตลาดโลกในอนาคตได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยโดยรวมกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันในลักษณะที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งรายได้และเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในส่วนของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมท่ามกลางกระแสการแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ