เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ หากไม่เกิดความรุนแรงขึ้นก็คงจะกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมไม่มากนัก และเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองคลี่คลายลง ธุรกิจท่องเที่ยวก็คงจะเดินรุดหน้าต่อไปได้ เพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำ โดยในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนับเป็นฤดูท่องเที่ยวของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย เพราะนอกจากจะเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่แล้ว ยังเป็นช่วงที่มีวันหยุดราชการหลายวัน เมื่อประกอบกับเป็นช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าวมาก บรรดาผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงนิยมพาบุตรหลานหลบอากาศร้อนในเมืองไปพักผ่อนตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล
ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิในช่วงสิ้นปี 2547 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้สำรวจความนิยมของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ปรากฏว่าพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวคนไทย รองลงมาคือ ชะอำ ระยอง หัวหิน และภูเก็ต สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมอันดับ 1 รองลงมา คือ พัทยา พังงา กระบี่ และสมุย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเที่ยวชายทะเล คือ นักท่องเที่ยวจากยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ในช่วงดังกล่าวโรงแรมและรีสอร์ทตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล โดยเฉพาะภูเก็ต ต่างมีอัตราการเข้าพักสูงและเต็มในบางแห่ง
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งทะเลแถบอันดามันของไทยเมื่อสิ้นปี 2547 มีนักท่องเที่ยวบางส่วนหลีกเลี่ยงแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบอันดามัน คือ ภูเก็ต กระบี่ และพังงา โดยนักท่องเที่ยวคนไทยหันมาเที่ยวพัทยา ชะอำ ระยอง และหัวหินมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหันไปเที่ยวพัทยา และสมุยมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการท่องเที่ยวพัทยา ส่งผลให้พัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จนครองความนิยมอันดับ 1 ในหมู่นักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติในปัจจุบัน ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญๆได้แก่
– การคมนาคมที่สะดวกด้วยระยะทางที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการได้ (ตามกำหนด คือ กลางปี 2549) จะยิ่งสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากยิ่งขึ้น
– ความพร้อมในด้านบริการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะด้านที่พักซึ่งมีเชนบริหารโรงแรมชั้นนำจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการจำนวนมาก และมีศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการประชุมระดับนานาชาติได้
– ความพร้อมในด้านกิจกรรมกีฬา โดยมีศูนย์บริการด้านกีฬาขนาดใหญ่ที่ทันสมัยรองรับการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆในระดับภูมิภาค และนักท่องเที่ยวที่สนใจฝึกฝนกีฬาแต่ละประเภท อาทิ เทนนิส วอลเลย์บอลชายหาด มวยไทย กอล์ฟ และแข่งรถ
– ค่าครองชีพในเมืองพัทยาที่ต่ำกว่าแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมแห่งอื่นๆ อาทิ หัวหิน ภูเก็ต และสมุย
– จุดเด่นของพัทยาในด้านความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวประเภทต่างๆนอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทชายหาดและเกาะ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆดึงดูดนักท่องเที่ยวของพัทยา ทำให้สามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างกว้างขวาง อาทิ การแสดงโชว์ที่เลืองชื่อของพัทยา สวนนงนุช สวนเสือศรีราชา สวนผีเสื้อสายทิพย์ อันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ เมืองจำลอง โรงภาพยนตร์ทะลุมิติ พิพิธภัณฑ์ริบลี่ส์ ศูนย์ฝึกและทดลองบิน – ชลบุรี ฟลายอิ้ง คลับ และการท่องโลกใต้ทะเลกับเรือดำน้ำภิรมย์
จากกระแสนิยมเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในฝั่งอ่าวไทยที่มาแรงหลังเหตุการณ์สึนามิ และปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการท่องเที่ยวพัทยาดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้พัทยากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังพัทยารวมทั้งสิ้น 2.51 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากปี 2547 ช่วงเดียวกัน และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้เมืองพัทยาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,994 ล้านบาท
จากแนวโน้มดังกล่าวประกอบกับตลาดท่องเที่ยวโดยรวมของไทยที่ดีขึ้นตามลำดับในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2548 ตลาดท่องเที่ยวพัทยายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาจากปี 2547 แต่ในอัตราที่ช้าลง ทั้งนี้โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 7 ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยค่อนข้างทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปี 2547 ส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2548 มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้าไปยังพัทยารวมทั้งสิ้นประมาณ 5.26 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปี 2547
การท่องเที่ยวพัทยายังคงพึ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวพัทยาคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบร้อยละ 70 ของตลาดนักท่องเที่ยวโดยรวมของพัทยา สำหรับโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของพัทยาสรุปได้ดังนี้
– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย มีสัดส่วนประมาณเกือบร้อยละ 50 โดยมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินเดียเป็นตลาดหลัก รองลงมา คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย
– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 โดยมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอังกฤษ รัสเซีย เยอรมนี และประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นตลาดหลัก รองลงมา คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศฝรั่งเศส ประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก และเนเธอร์แลนด์
– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกา มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 โดยมีนักท่องเที่ยวจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก รองลงมา คือ แคนาดา
– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลาง มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5
– นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนีย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 โดยมีนักท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลียเป็นตลาดหลัก รองลงมา คือ นิวซีแลนด์
จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพัทยาประมาณ 5.26 ล้านคนในปี 2548 นั้น คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในด้านต่างๆระหว่างที่พำนักท่องเที่ยวในพัทยา และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวสะพัดในเมืองพัทยารวมทั้งสิ้นประมาณ 53,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2547
รายได้ด้านการท่องเที่ยวในเมืองพัทยาส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 30 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจด้านที่พัก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 270 แห่งและมีห้องพักรวมทั้งสิ้นเกือบ 28,000 ห้อง โดยมีการขยายตัวอย่างเด่นชัดในธุรกิจโรงแรมกลุ่มที่มีอัตราค่าห้องพักตั้งแต่คืนละ 1,000 บาทขึ้นไป
สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยโดยรวมของธุรกิจบริการด้านที่พักในพัทยามีแนวโน้มลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 57.15 ในปี 2547 เป็นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 55 ในปี 2548 ทั้งนี้เป็นผลจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ทำให้ห้องพักมีจำนวนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมกลุ่มที่มีอัตราค่าห้องพักคืนละ 1,500 บาทขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นผลจากการที่โรงแรมส่วนใหญ่ต่างแข่งขันในด้านคุณภาพด้วยการปรับปรุงในด้านสถานที่และคุณภาพการให้บริการเพื่อดึงดูดลูกค้าแทนการแข่งขันด้านราคา รวมทั้งมีการปรับอัตราค่าห้องพักเพิ่มสูงขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า ถ้าเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหาข้อยุติได้อย่างสงบและรวดเร็วไม่ยืดเยื้อแล้ว การท่องเที่ยวพัทยายังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาในปี 2549 ทั้งนี้ด้วยแรงหนุนจากการเติบโตทั้งตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยและตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังพัทยารวมทั้งสิ้นประมาณ 5.68 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2548 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2548
ขณะที่การท่องเที่ยวพัทยามีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วจากการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และกระแสนิยมแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอ่าวไทยหลังสึนามิ หน่วยงานที่เกี่ยวของทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนไม่ควรละเลยต่อปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ที่มักตามมาจากความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวและแรงงานในธุรกิจบริการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ทำให้บริเวณชายหาดและน้ำทะเลสกปรก เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และส่งผลเสียทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของพัทยาไปหลายปี กว่าจะสามารถฟื้นการท่องเที่ยวพัทยาให้กลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง