ไมโครซอฟท์เปิดตัวโครงการ Local Hero มุ่งส่งเสริมบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระไทยให้ตระหนักถึงการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงกลยุทธ์

กรุงเทพฯ – 24 เมษายน 2549 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เปิดตัวโครงการสนับสนุนบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระของไทยเพื่อเพิ่มความสามารถในด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมซอฟต์แวร์ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีโดยรวมของประเทศ

มร. แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าโครงการ Local Hero ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของบริษัทฯ จะเสริมสร้างความเข้าใจรวมทั้งความกระตือรือร้นในการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย

“โครงการ Local Hero จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่การแข่งขันในระดับสากลที่ต้องอาศัยรากฐานของความรู้ โดยการแสดงให้เห็นถึงมูลค่าเพิ่มที่ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถสร้างให้แก่ธุรกิจและสังคม” มร. แอนดรูว์ กล่าวเสริมว่า “โครงการ Local Hero แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการให้การสนับสนุนบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระไทยอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะยังผลให้เกิดระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยที่แข็งแกร่ง มีการสร้างงานมากขึ้นและสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand.NET ในระยะของการสร้างเสริมอุตสาหกรรม หรือ Building industry อีกด้วย”

โครงการ Local Hero ประกอบด้วยการอบรม การให้การสนับสนุน และการร่วมมืออย่างจริงจังกับบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยชั้นนำ โดยเป็นโครงการยุทธศาสตร์ในการสร้างความสามารถแก่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระไทยในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและการสร้างมูลค่าด้วยการจัดการเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ โครงการ Local Hero ยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้นโครงการ

โดยในเบื้องต้น ไมโครซอฟท์ได้ติดต่อบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระไทยกว่า 600 ราย ซึ่งในระยะต่อไปจะทำการคัดเลือกบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระจำนวน 50 รายที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขเข้ารับการอบรมอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2550 และจะดำเนินการในระยะอื่นๆ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 36 เดือน และจะครอบคลุมไปถึงการร่วมมืออย่างจริงจัง การดำเนินการเชิงพาณิชย์ และประเมินผล

“ผลที่จะได้รับจากโครงการนี้ก็คือ การที่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระไทยที่ผ่านการอบรมจากโครงการและมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถนำสิ่งที่ได้รับไปสร้างธุรกิจของตนเองให้เติบโตต่อไป และสามารถปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของตนที่ออกจำหน่ายทั้งในประเทศและทั่วโลก” มร. แอนดรูว์ กล่าว

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการ Local Hero ได้แก่ พันธมิตรในวงการอันได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ปาร์ค ศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI)

“ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมกับเรานับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการโครงการ Local Hero โดยต่างมีความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการนี้ และได้มีส่วนร่วมในโครงการในหลายๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่มารวมกันโดยพร้อมเพรียงในวันนี้ไปถึงการช่วยสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระของไทย จึงนับว่าฝ่ายต่างๆ เป็นกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของโครงการนี้” มร. แม็คบีน กล่าว
ผู้นำไอทีชี้ความแข็งแกร่งทางด้านทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญเท่าเทียมกับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

นอกจากการเปิดตัวโครงการ Local Hero ของไมโครซอฟท์แล้ว ผู้นำในอุตสาหกรรมไอทีจากฝ่ายต่างๆ ยังได้มีการถกอภิปรายในเรื่องสถานะของทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย และเห็นพ้องร่วมกันว่าการละเมิดผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตโดยรวมของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ

ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในอดีตที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญในเรื่องการให้การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามการละเมิด แต่ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่สามารถหมดสิ้นไปได้ ตราบใดที่ประชาชน และเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญายังไม่เข้าใจและเห็นคุณประโยชน์ของททรัพย์สินทางปัญญา

นางสาววิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย ในเชิงรุกมากขึ้น โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของสิทธิ หน้าที่ของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่จะต้องเคารพต่อสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา การเสริมสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้ทราบถึงประโยชน์ของทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นกลไกลสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการการสร้างสรรคทรัพย์สินทางปัญญาใหมๆขึ้นมา ซึ่งจะเป็นตัวจักร สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยมีการสร้างงานเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของ ผู้ประกอบการด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อผู้ประกอบการและประชาชนเห็นประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา จึงจะเป็นแรงจูงใจในการปกป้องและเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นเช่นกัน”

ทั้งนี้ นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า ขั้นตอนการจดทะเบียนลิขสิทธิ์อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์หลายๆ คน โครงการ Local Hero จึงนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนาในด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย

“กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญกับองค์กรไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก รวมทั้งยังมีความสำคัญกับผู้ประดิษฐ์นวัตกรรมทุกคน โครงการ Local Hero ของไมโครซอฟท์จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นการถ่ายทอดทักษะตลอดจนการสนับสนุนจากทางไมโครซอฟท์ให้กับนักไอทีชั้นนำของไทยเพื่อให้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง” นายมนูเผย

นอกจากนี้ นายจำรัส สว่างสมุทร นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ได้เน้นย้ำถึง ความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางด้านสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญากับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจว่า “ความเข้มแข็งของปัจจัยแวดล้อมด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญานับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของอุตสาหกรรมไอที รวมไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจของไทย โดยจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้

พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชาติที่มีความเข้มแข็งในด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาก็จะเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี” นายจำรัสกล่าว
จากข้อมูลการศึกษาสถิติการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ในปี 2547 ของพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (BSA) ซึ่งเป็นการรวมตัวโดยไม่หวังผลกำไรของกลุ่มบริษัทผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ ระบุว่า ปัจจุบันนี้ร้อยละ 79 ของผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ทั้งหมดในเมืองไทยถูกคัดลอกและจำหน่ายโดยไม่ถูกต้องตามกฏหมาย

ผลกระทบทางการเงินจากความอ่อนแอในด้านสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นกับบริษัทซอฟต์แวร์อาจกลายเป็นประเด็นปัญหาสำคัญและอาจก่อความเสียหายต่อการเติบโตของบริษัท เช่น จากผลการศึกษาของพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ได้มีการประเมินว่าหากลดระดับการละเมิดลิขสิทธิ์ลงอีกร้อยละ 10 หรือให้เหลือเพียงร้อยละ 69 จะช่วยให้อุตสาหกรรมไอทีของไทยเติบโตได้ถึงสี่พันห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาทภายในปี พ.ศ. 2552

นายอนุกูล แต้มประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทย พบว่าขณะที่มีผู้ใช้ที่ซื้อซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายทุกๆ สองคน จะมีผู้ใช้ที่ใช้ซอฟต์แวร์ถึงแปดคนที่กำลังใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ “แล้วผลที่ตามมาคืออะไร เมื่อมีเงินน้อยลง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็จะไม่สามารถจ้างนักพัฒนาคนอื่นๆ เข้ามาเสริมในการพัฒนาเพื่อให้ซอฟต์แวร์ของตนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้รายได้จากภาษีที่ได้ลดลง และมีการค้ากับต่างชาติน้อยลงอีกด้วย”

ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ก็ได้เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าความเข้มแข็งในด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาจะก่อให้เกิดผลดีต่ออนาคต และจะยังประโยชน์ต่อนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย “แล้วทุกฝ่ายก็จะได้รับประโยชน์จากสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการที่คนมีงานทำเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น นักลงทุนมีแรงกระตุ้นมากขึ้น มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลก็จะได้รับประโยชน์จากภาษีที่เก็บได้มากขึ้นอีกด้วย” ศ.ดร. ชัชนาถกล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์

บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand.

ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ

หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass/ ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท