ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้อันดับเครดิตสากลระยะยาว ที่ระดับ ‘B+’ แก่ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (“Hybrid Tier 1 Securities”) ของธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) (“TMB”) Hybrid Tier 1 Securities ของ TMB ที่ถูกนำเสนอขายในครั้งนี้ ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการชำระคืน โดยผู้ออกตราสารมีสิทธิไถ่ถอน (call option) หลังจาก 10 ปี นับจากวันที่ออกตราสาร นอกจากนี้ Hybrid Tier 1 Securities นี้มีคุณสมบัติไม่สะสมผลตอบแทน (non-cumulative) และสามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารได้ในระหว่างการดำเนินการทำนองใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ (absorb losses on a going-concern basis) ในกรณีที่ธนาคารไม่มีผลกำไรสุทธิ ธนาคารมีสิทธิที่จะงดจ่ายดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าว Hybrid Tier 1 Securities สามารถนำมานับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้ไม่เกิน 15% ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ทั้งสิ้น ตามที่ระบุไว้ในหนังสือเวียนของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2549
ในเดือนมีนาคม 2549 ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (“IDR”) ของ TMB ที่ระดับ ‘BB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ หลังจากธนาคารประกาศแผนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ rights issue มูลค่า 12 พันล้านบาท และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (Hybrid Capital) มูลค่า 8 พันล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งแก่สถานะทางการเงินของธนาคาร อันดับเครดิตของ TMB ยังคงถูกจำกัดด้วยระดับสำรองหนี้สูญและสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับต่ำในขณะนี้ และผลกำไรและเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารที่ยังอ่อนแอเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น แผนการเพิ่มทุนของ TMB และการสนับสนุนจาก Development Bank of Singapore (“DBS”) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 16.1% (และมีอันดับเครดิตสากลที่ ‘AA-’ (AA ลบ) / แนวโน้มมีเสถียรภาพ / ‘F1+) น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธนาคารในระยะปานกลาง แม้ว่าสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจจะอ่อนแอลงในปี 2549
เมื่ออ้างอิงถึงแนวทางการปรับอันดับเครดิตของฟิทช์ ถ้าอันดับเครดิตระยะยาว IDR ของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการจัดอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับ ‘BBB-’ (BBB ลบ) ตราสารหนี้กึ่งทุน (hybrid instrument) จะต้องถูกปรับลดอันดับเครดิตอย่างน้อย 2 ระดับ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและตราสารหนี้กึ่งทุนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นได้หากอันดับเครดิตที่ได้รับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านี้ Hybrid Tier 1 Securities ของ TMB จัดอยู่ในลำดับการรับชำระเงินที่ด้อยกว่าเงินฝากและหนี้ไม่ด้อยสิทธิและหนี้ด้อยสิทธิอื่นๆ ยกเว้นหนี้สินต่างๆที่มีเงื่อนไขระบุว่าลำดับการรับชำระเงินเทียบเท่าหรือต่ำกว่าตราสารที่จะทำการออกดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาถึงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ IDR ของ TMB ที่ระดับ ‘BB+’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’อันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ของ TMB ได้รับการจัดอันดับที่ ‘B+’ ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR ของธนาคารถึง 3 ระดับ
ผลกำไรจากการดำเนินงานหลักและสถานะเงินกองทุนของ TMB ยังคงอ่อนแอเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารไทยรายอื่น ในปี 2548 คุณภาพสินทรัพย์และระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารก็ถดถอยลงในขณะที่อัตราส่วนต้นทุนการดำเนินงานต่อรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (“IFCT”) สภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลงในปี 2549 น่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและผลกำไรของธนาคารในปี 2549 ด้วย
รายได้จากการดำเนินงานหลักของธนาคารกำลังฟื้นตัว แม้ว่าผลกำไรจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ โดยอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับเพียงแค่ 2.12% ในปี 2548 ได้สะท้อนถึงต้นทุนการระดมทุนที่สูงกว่าของ IFCT และการเติบโตของสินเชื่อหลักที่ยังอ่อนแอ กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 7.8 พันล้านบาทในปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการกันสำรองที่ลดลง การระดมทุนเพื่อมาแทนที่การกู้ยืมที่มีต้นทุนสูงของ IFCT ประกอบกับเครือข่ายธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้น น่าจะส่งผลให้รายได้สูงขึ้นและผลกำไรปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง ในไตรมาสแรกของปี 2549 กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยโดยอยู่ที่ระดับ 2.13 พันล้านบาท แม้ว่าการปรับตัวสูงขึ้นของส่วนต่างดอกเบี้ยอาจถูกจำกัดด้วยต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น
ณ สิ้นปี 2548 ธนาคารทหารไทยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่จำนวน 77.4 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 14% ของสินเชื่อทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 66.4 พันล้านบาท หรือ 13% ณ สิ้นปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการจัดชั้นสินเชื่อที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วใหม่ในครึ่งแรกของปี 2548 ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารอยู่ที่ 35 พันล้านบาท หรือเท่ากับ 45% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับการกันสำรองหนี้สูญที่อ่อนแอและสินเชื่อที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วในระดับที่สูงยังคงก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทางธนาคารจะต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมอยู่ อัตราส่วนหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารทหารไทยอยู่ที่ 83% ณ สิ้นปี 2548 ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานะเงินกองทุนที่อ่อนแอ ณ สิ้นปี 2548 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ TMB อยู่ที่ 6.2% ของสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 9% ของสินทรัพย์เสี่ยง อัตราส่วนของ TMB ดังกล่าวยังคงอ่อนแอกว่าธนาคารอื่น อย่างไรก็ตาม แผนการเพิ่มทุนจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับการเติบโตและปรับปรุงระดับสำรองหนี้สูญได้