ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขึ้นเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดคงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 4.75 มาที่ร้อยละ 5.00 ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อครั้งเป็นรอบที่ 16 ติดต่อกัน นับจากที่เฟดได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันของตลาดการเงินในขณะนี้เกี่ยวกับการที่เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกหรือไม่ในการประชุมรอบถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2549 การเปิดเผยแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด จึงเป็นที่จับตามองอย่างกว้างขวางและจะมีบทบาทอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก
สำหรับเหตุผลที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 ของเฟดในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม สามารถสรุปได้ดังนี้ :-
เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงให้ภาพในเชิงบวก
จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลของเดือนมีนาคมและเมษายน จะได้ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีทิศทางการปรับตัวในเชิงบวกมากขึ้นในไตรมาสแรกปี 2549 เทียบกับในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 อีกทั้ง สัญญาณการเติบโตในเชิงบวกที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกยังมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องมาถึงในช่วงต้นไตรมาส 2 ด้วย โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่
– การจ้างงานนอกภาคการเกษตร เพิ่มขึ้น 1.38 แสนตำแหน่งในเดือนเมษายน โดยแม้จะลดลงจากขนาดการเพิ่มขึ้นที่ 2.00 แสนตำแหน่งในเดือนมีนาคม และน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.00 แสนตำแหน่ง แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแล้วประมาณ 1.73 แสนตำแหน่งต่อเดือน สูงกว่า 1.50 แสนตำแหน่งต่อเดือน ซึ่งเป็นขนาดการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานที่จำเป็นสำหรับรองรับจำนวนประชากรแรงงานที่เพิ่มขึ้น ก็บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงเติบโตไปได้ดี และคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนหลักสำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะข้างหน้าด้วย
– จีดีพี ไตรมาส 1/2549 ขยายตัวร้อยละ 4.8 (Advance, q-o-q annualized) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาส 4/2548 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จีดีพีไตรมาส 1/2549 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ซึ่งอยู่ในช่วงขอบบนของอัตราการขยายตัวที่ระดับศักยภาพ (potential growth) ในกรอบร้อยละ 3.0-3.5 และสะท้อนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง
– ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน ISM (Institute for Supply Management) ในเดือนเมษายน 2549 ดัชนี ISM ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากที่ตลาดคาดว่าจะลดลง โดยดัชนีภาคการผลิตปรับขึ้นมาที่ระดับ 57.3 ในเดือนเมษายน จากระดับ 55.2 ในเดือนมีนาคม และดัชนีภาคการบริการเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 63.0 ในเดือนเมษายน จากระดับ 60.5 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ การที่ดัชนีทั้งสองยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว นับว่าเป็นสัญญาณในเชิงบวกสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงต้นไตรมาส 2/2549
– การผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมีนาคม การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 0.6 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้นเล็กน้อยมาที่ร้อยละ 81.3 จากร้อยละ 81.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทิศทางการปรับตัวดังกล่าว ก็น่าที่จะสนับสนุนแนวโน้มการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า
– ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสถาบัน Conference Board ปรับขึ้นเหนือความคาดหมายมาที่ระดับ 109.6 ในเดือนเมษายน จากระดับ 107.5 ในเดือนมีนาคม โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะต้องแบกรับภาระจากราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ตลอดจนแม้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง ก็ตาม
– ยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสอง ในเดือนมีนาคม ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 1.21 ล้านหน่วยเฉลี่ยต่อปี หลังจากที่ลดลงในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ขณะที่ ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเช่นกันมาที่ 6.92 ล้านหน่วยเฉลี่ยต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งไตรมาส 1/2549 จะได้ว่า ทั้งยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ มีค่าเฉลี่ยที่ลดลงเมื่อเทียบกับในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนภาพตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่
ความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะไม่น่าเป็นกังวลนัก
จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคมและเมษายน อัตราเงินเฟ้อทั้งทางด้านผู้บริโภค ผู้ผลิต และที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล ตลอดจนข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงานของแรงงาน ล้วนปรับตัวในทิศทางที่สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ แต่ก็ยังอยู่ภายในกรอบที่เฟดดูแลและจัดการได้ กระนั้นก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อยังอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ในกรณีที่ผู้ผลิตมีการส่งผ่านภาระต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภค ทั้งนี้ ข้อมูลชี้วัดอัตราเงินเฟ้อต่างๆ ได้แก่
– อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline PCE – Personal Consumption Expenditure – Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.9 (y-o-y) ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (Core PCE Inflation) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่เฟดมักจะพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อน
– ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงานของแรงงาน (Average Hourly Earnings) ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นอัตราการขยายตัวต่อเดือนที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงานของแรงงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544
– อัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภค ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 3.4 (y-o-y) ลดลงจากร้อยละ 3.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
– อัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้ผลิต ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline PPI Inflation) สำหรับสินค้าขั้นสุดท้าย (finished goods) อยู่ที่ร้อยละ 3.5 (y-o-y) ลดลงจากร้อยละ 3.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PPI Inflation) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.7
ตลาดล่วงหน้าได้ปรับตัวรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ของเฟดในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ไปแล้วอย่างเต็มที่
อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Funds Futures ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 บ่งชี้ว่า ตลาดได้มีการปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 ของเฟดในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ไปแล้วด้วยความเป็นไปได้ (Probability) ที่ใกล้ร้อยละ 100 นอกจากนี้ ตลาดล่วงหน้ายังได้คาดการณ์ด้วยความเป็นไปได้ที่ระดับหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 45 ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.25 ของเฟดในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ด้วย
โดยสรุป จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยรวมที่ยังคงให้ภาพในเชิงบวกมากขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2549 ต่อเนื่องมาถึงในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี ประกอบกับ ความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงมีอยู่ และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากผู้ผลิตมีการส่งผ่านภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภค ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 4.75 มาที่ร้อยละ 5.00 ในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 นี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อครั้งเป็นรอบที่ 16 ติดต่อกัน นับจากที่เฟดได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ ตลาดการเงินทั่วโลกก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ไปแล้วอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ตลาดยังได้คาดการณ์ด้วยความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 45 ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.25 ของเฟดในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ด้วย ซึ่งจนกว่าจะถึงเวลานั้น ตลาดการเงินคงจะมีการจับตาอย่างกว้างขวางต่อการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานในเดือนพฤษภาคม (ประกาศวันที่ 2 มิถุนายน) และอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภคในเดือนเมษายนและพฤษภาคม (ประกาศวันที่ 17 พฤษภาคม แล 14 มิถุนายน) ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลในเดือนเมษายน (ประกาศวันที่ 26 พฤษภาคม) อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ คงจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุด (peak) ที่ร้อยละ 5.00-5.25 ภายในครึ่งแรกของปี 2549 นี้
สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ คงจะมีผลกระทบไม่มากนักต่อทิศทางตลาดเงินตลาดทุน เพราะเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางล่วงหน้าแล้ว กระนั้นก็ดี สิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญสำหรับการประชุมในรอบนี้ คงจะได้แก่ การเปิดเผยแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองของเฟดที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และน่าจะมีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนในระยะต่อไป โดยหากเฟดยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือมีการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ เงินดอลลาร์ฯ ก็น่าที่จะได้รับแรงหนุนในระยะสั้นๆ อย่างไรก็ตาม วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟดในรอบนี้ที่ใกล้จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า ก็คาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์ฯ ขาดปัจจัยหนุนในระยะปานกลางและระยะยาว โดยตลาดการเงินทั่วโลกคงจะกลับมาเทน้ำหนักให้กับประเด็นแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งก็คาดว่าจะสนับสนุนให้ค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ (นอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเงินบาทก็คงจะได้รับอิทธิพลดังกล่าวและคงจะมีทิศทางที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจะไม่เป็นผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยก็ตาม
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ คงจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อการตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธปท.คงจะยังเทน้ำหนักไปที่เป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนความมุ่งหวังที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับมาอยู่ในแดนบวก เป็นหลักมากกว่า อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็คงจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 4.75-5.00 ภายในครึ่งแรกของปีนี้เช่นเดียวกัน