ตลาดนักท่องเที่ยวจีนปี ’49 : สร้างรายได้เพิ่ม 30% เป็น 26,000 ล้านบาท

ตลาดนักท่องเที่ยวจีน เป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2543-2548 ทั้งนี้เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีอัตราสูงเกินกว่าร้อยละ 8 ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบกับรัฐบาลจีนมีนโยบายเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเดินทางออกไปยังประเทศต่างๆได้มากขึ้น โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปยังประเทศต่างๆรวมทั้งสิ้น 81 แห่ง ในจำนวนนี้ยุโรปกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจีนในตลาดระดับบนอย่างมาก ขณะที่ฮ่องกงเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางไปเที่ยวจำนวนมาก เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่สูงแล้ว รัฐบาลจีนยังอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวเองได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปกับบริษัทนำเที่ยวเช่นประเทศปลายทางอื่น
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวปลายทางยอดนิยมอันดับต้นๆของนักท่องเที่ยวจีน โดยได้รับความนิยมในลำดับรองลงมาจากมาเก๊า และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตสึนามิ ทำให้ถูกคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนามและสิงคโปร์ แซงหน้าไปได้
ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่เป็นเพียงตลาดท่องเที่ยวขนาดเล็ก สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วจนติดอยู่ในกลุ่มตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกของไทยตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีความผันแปรค่อนข้างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ ระหว่างปี 2539-2548 โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี จากที่มีจำนวน 456,912 คนในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 800,000 คนในปี 2548
เมื่อพิจารณาจากการสำรวจค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยเมื่อปี 2547 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 779,070 คน นักท่องเที่ยวดังกล่าวใช้จ่ายในด้านต่างๆระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 19,679 ล้านบาท
สำหรับในปี 2548 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมายังประเทศไทยประมาณ 800,000 คน และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาโครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวจีนในช่วงระหว่างปี 2543-2547 พบประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการขยายตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้ ดังนี้

– นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ (คือ นักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่งเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก) แต่จากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญส่งผลกระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2543-2547 ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้ลดลงจากร้อยละ 85.4 ในปี 2543 เหลือร้อยละ 79.2 ในปี 2547 ส่วนนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเที่ยวซ้ำนั้น แม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่มากแต่ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 17.2 ต่อปีในช่วงปี 2543-2547 ส่งผลให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเดินทางมาเที่ยวซ้ำเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.6 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 20.8 ในปี 2547

– นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่ซื้อรายการนำเที่ยวเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ แต่จากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญส่งผลกระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในลักษณะกรุ๊ปทัวร์มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว โดยลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.1 ต่อปีในช่วงปี 2543-2547 และทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ลดลงจากร้อยละ 77.3 ในปี 2543 เหลือร้อยละ 75.5 ในปี 2547 ส่วนนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวกันเองนั้น มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11.2 ต่อปีในช่วงปี 2543-2547 และทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในลักษณะเดินทางมาเที่ยวกันเองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.7 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 24.4 ในปี 2547

– นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เดินทางมาเพื่อพักผ่อน แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางมาเพื่อพักผ่อนลดลงจากร้อยละ 94.3 ในปี 2543 เหลือร้อยละ 90.9 ในปี 2547 ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจและประชุมสัมมนามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18.3 ต่อปี ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.5 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2547

– นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกจ้างในโรงงานซึ่งเป็นตลาดระดับล่าง ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.4 ต่อปี และมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 48.9 ในปี 2543 เหลือร้อยละ 42.0 ในปี 2547 รองลงมา คือ นักท่องเที่ยวในตลาดระดับบน ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอาชีพเฉพาะด้านและผู้บริหารมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 23.6 ในปี 2543 เหลือร้อยละ 22.4 ในปี 2547 ส่วนนักท่องเที่ยวในตลาดระดับกลาง ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอาชีพค้าขาย มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูง คือ เฉลี่ยร้อยละ 23.0 ต่อปี ทำให้นักท่องเที่ยวในตลาดระดับกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 13.6 ในปี 2547

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น สัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศทั้งหมดกลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่มีสัดส่วนร้อยละ 9.7 ในปี 2541 ลดลงมาเหลือเพียงประมาณร้อยละ 2.6 ในปี 2548 สะท้อนถึงศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยในการรักษาส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วถูกบั่นทอนลงตามลำดับ โดยมีสาเหตุสำคัญดังนี้

1.การแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายประเทศ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลในภูมิภาคยุโรป ต่างให้ความสำคัญอย่างมากกับตลาดนักท่องเที่ยวจีน ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัยที่เกื้อหนุน ดังนี้

– การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลให้ประชาชนจีนต่างมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

– รัฐบาลจีนเพิ่มประเทศปลายทางที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปได้

– สำนักงานปริวรรตเงินตราจีนได้ออกมาตรการใหม่ให้ชาวจีนสามารถแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป รวมทั้งยังผ่อนคลายขั้นตอนต่างๆ เช่น ไม่ต้องรายงานวัตถุประสงค์ในการใช้เงินสกุลต่างประเทศ และใช้หลักฐานเพียงแค่บัตรประชาชนเท่านั้นในการแลกเงิน รวมทั้งในกรณีที่ผู้ใดต้องการใช้เงินมากกว่าปีละ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯจะต้องแสดงหลักฐานการใช้เงินจริงประกอบเพิ่มเติมให้แก่ธนาคาร เป็นต้น

2.การท่องเที่ยวไทยถูกบั่นทอนด้วยหลายปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศต่างมีมาตรการออกมาแก้ไขตามลำดับ โดยล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจีน” ขึ้นมาเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้นักท่องเที่ยวจีน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถพูดภาษาจีนได้คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมืองก็จะได้รับเอกสารคู่มือการท่องเที่ยวและซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถโทรศัพท์ร้องเรียนศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจีนได้ตามเบอร์ที่ระบุโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจบภายในประเทศ แทนที่จะไปร้องเรียนผ่านสื่อเมื่อเดินทางกลับไปถึงประเทศจีนเช่นที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีนยังเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานราคาแพ็กเกจให้มีมาตรฐานเดียวกัน และแบ่งระดับการให้บริการของธุรกิจนำเที่ยวคล้ายกับธุรกิจโรงแรม โดยจะประสานให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามารับรองคุณภาพของบริษัทนำเที่ยว รวมทั้งเสนอแพ็กเกจทัวร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางท่องเที่ยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างความหลากหลายให้สินค้าทางการท่องเที่ยว นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ อาทิ พัทยา กรุงเทพฯ และกาญจนบุรี
ททท.ยังร่วมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทนำเที่ยวและธุรกิจการบิน ส่งเสริมการขายแพ็กเกจทัวร์คุณภาพในตลาดนักท่องเที่ยวจีนระดับบน ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบ
ถึงการให้บริการที่ได้มาตรฐานของแพ็กเกจทัวร์คุณภาพ เพื่อความมั่นใจในการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยกับบริษัทนำเที่ยวที่ททท.รับรองคุณภาพโดยมุ่งเน้นตลาดกลุ่มบริษัทต่างๆและตลาดไมซ์ ทั้งกลุ่มประชุมสัมมนาและกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ซึ่งล้วนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง สามารถช่วยเพิ่มพูนรายได้จำนวนมากเข้าประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
จากการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญและการส่งเสริมการขายแพ็กเกจทัวร์คุณภาพในตลาดนักท่องเที่ยวจีนระดับบนดังกล่าว เมื่อประกอบกับการลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2548 เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยขอให้รัฐบาลจีนส่งนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนในปี 2549 ขณะที่ประเทศไทยจะส่งเสริมให้คนไทยเดินทางไปยังประเทศจีนไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน ซึ่งปรากฏว่ามีกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่จากจีนเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและกลุ่มประชุมสัมมนาของธุรกิจขายตรงรายใหญ่ของประเทศจีน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจำกัด จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2549 จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 30