นิทรรศการชุด “มนุษย์กับโลก” ของ ฟรานติเชค คุปก้า

เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีและเพื่อเฉลิมฉลองครบ 72 ปี ของความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐเชคกับประเทศไทย กระทรวงต่างประเทศของสาธารณรัฐเชคและกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย ร่วมด้วย นายซเด็นเน็ค สเกลน่า และนายยิริ ลามเมล และหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ จัดนิทรรศการ “มนุษย์กับโลก” (Man and Earth) ซึ่งเป็นนิทรรศการที่รวบรวมภาพเขียน 105 ภาพของ ฟรานติเชค คุปก้า (Frantisek Kupka) จิตรกรชื่อดังชาวเชคที่ได้สร้างสรรค์ไว้ระหว่างปี ค.ศ.1904-1907 โดยนิทรรศการจัดแสดง ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 18 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ทั้งนี้พิธีเปิดนิทรรศการจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 18.30 น. โดย ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธี นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นโดยความอุปถัมภ์ของ ฯพณฯ ประธานาธิบดี วาสลาฟ เคลาส์ แห่งสาธาณรัฐเชค

งานจิตรกรรมของ ฟรานติเชค คุปก้า เป็นผลงานสะสมถาวรและจัดแสดงในหอศิลป์มีชื่อระดับโลกหลายแห่ง อาทิเช่น Salomon Guggenheim Museum ในกรุงนิวยอร์ก, Centre Georges Pompidou ในกรุงปารีส ฟรานติเชค คุปก้า เป็นศิลปินร่วมสมัยเดียวกันและมีความสามารถเทียบเท่ากับศิลปินอย่าง Picasso, Kadinsky และ Mondrian และครั้งนี้เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเชค ร่วมกับ นายซเด็นเน็ค สเกลน่า และนายยิริ ลามเมล เจ้าของผลงาน “มนุษย์กับโลก” ได้นำผลงานอันทรงคุณค่าชุดนี้มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ฟรานติเชค คุปก้า เป็นศิลปินที่มีความโดดเด่นและสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสาธารณรัฐเชค เขามีชื่อเสียงมากในฐานะหนึ่งในผู้คิดค้นจิตรกรรมแนวนามธรรมสมัยใหม่ ลักษณะผลงานของเขาอุดมไปด้วยจินตนาการ ความฝัน และความปรารถนาที่จะหลุดพ้นออกไปจากกรอบความรู้เดิมๆ ส่งผลให้เขากล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ และด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้ปฏิวัติวงการศิลปะในศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตามภาพเขียนทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นผลงานของเขาในช่วงปี ค.ศ.1904-1907 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาสร้างงานศิลปะแนวเหมือนจริง โดยเป็นภาพเขียนที่เขาสร้างขึ้นสำหรับประกอบหนังสือด้านสังคมวิทยาและภูมิศาสตร์ของนักเขียนและนักคิดชาวฝรั่งเศสชื่อ Elisee Reclus ผลงานชุดนี้เป็นสิ่งพิสูจน์พรสวรรค์ด้านศิลปะของ ฟรานติเชค คุปก้า และความสามารถในการมองโลกในมิติที่หลากหลาย แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและอารยธรรมจากยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคสมัยใหม่

ผลงานชุดนี้มีความพิเศษอย่างยิ่งทั้งในด้านคุณค่าและความสำคัญ เป็นผลงานที่มีประวัติความเป็นมาอันสลับซับซ้อน เริ่มต้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919 Jindrich Waldes ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจชั้นนำชาวเชคและเป็นผู้อุปถัมภ์ผลงานของ ฟรานติเชค คุปก้า ได้ซื้อภาพเขียนชุดนี้ในสนนราคา 16,000 ฟรังค์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 ระหว่างที่กองทัพนาซีเยอรมันเข้ายึดครองประเทศเชคโกสโลวาเกีย Jindrich Waldes ถูกเกสตาโปจับกุมตัวและประกาศว่าเขาเป็นศัตรูของรัฐบาลเยอรมัน ผลงานของ ฟรานติเชค คุปก้า ที่เขาซื้อไว้ถูกยึดเป็นของรัฐบาลและถูกนำไปไว้ในคลังศิลปะโบราณที่กรุงปราก Jindrich Waldes ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกันใน Buchenwald และได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่ Sigmud ผู้เป็นน้องชายประกันตัวเขาออกมาด้วยเงิน 8 ล้านเหรียญคราวน์ อย่างไรก็ตามเขาเสียชีวิตลงระหว่างการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1941 ต่อมาในปี ค.ศ.1948 ผลงานชุดนี้ได้ถูกนำมาไว้ที่หอศิลป์แห่งชาติในกรุงปราก และตามกฎหมายของประเทศ ผลงานทั้งหมดได้ถูกส่งคืนให้กับทายาทของ Jindrich Waldes ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 ผลงานชุดนี้ อยู่ในความครอบครองของ นาย ซเด็นเน็ค สเกลน่า และนายยิริ ลามเมล เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผลงานในชุดนี้ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทุกชิ้น

ฟรานติเชค คุปก้า สร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนชุด “มนุษย์กับโลก” ด้วยการศึกษาค้นคว้าตามแบบประเพณีดั้งเดิมอันทรงคุณค่า นั่นคือการใช้หมึกจีน พู่กัน กระดาษ และก้อนหินสำหรับฝนน้ำหมึก ประเทศจีนมีการใช้หมึกในการเขียนภาพมายาวนานและเป็นประเทศแรกที่ผลงานชุด “มนุษย์กับโลก” ได้ไปจัดแสดงเป็นครั้งแรก (เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2548) โดยจัดแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ ณ กรุงปักกิ่ง มีผู้ชมนิทรรศการมากกว่า 50,000 คน ภายในระยะเวลา 10 วัน และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ผลงานบางส่วนในชุดนี้ได้ไปจัดแสดง ณ สาธารณรัฐกัมพูชาเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐเชคและสาธารณรัฐกัมพูชา โดยเจ้านโรดม สีหโมนี กษัตริย์แห่งสาธารณรัฐกัมพูชาได้ทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรผลงาน สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่สองต่อจากจีนที่มีการจัดแสดงผลงานชุดนี้อย่างสมบูรณ์

ผลงานของ ฟรานติเชค คุปก้า เป็นผลงานสะสมถาวรของหอศิลป์ชั้นนำหลายๆ แห่งในโลก ได้แก่ Museum of Modern Art นิวยอร์ก, The Solomon R. Guggenheim Museum นิวยอร์ก, Philadelphia Museum of Art หอศิลป์แห่งชาติประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. , Musee d’Orsay ปารีส, Musee National d’Art Moderne, Centre Georges Pompidou ปารีส, Musee d’Art moderne de la ville de Paris, Museo Thyssen Bornemisza มาดริด, National Gallery ปราก และ Museum Kampa ปราก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๕๓๖๐-๑ โทรสาร ๐–๒๒๘๑–๕๓๕๙
เวลาทำการ ๑๐.๐๐–๑๙.๐๐ น. ทุกวัน ปิดวันพุธ