แนวโน้มการลงทุนด้านการก่อสร้าง อาจซบเซาตลอดช่วงปี 2549 ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกปี 2550

จากการรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2549 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.0 แต่ภาวะการลงทุนในด้านการก่อสร้างทั่วประเทศยังคงมีทิศทางชะลอตัว โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างต่ำต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2548 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9 แต่สถานการณ์ที่ต่างกันคือในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้การชะลอตัวเกิดจากการก่อสร้างของภาคเอกชน แตกต่างจากในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ที่การชะลอตัวเกิดจากการก่อสร้างของภาครัฐ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงทิศทางแนวโน้มของการลงทุนในด้านการก่อสร้างในระยะที่เหลือของปี 2549 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ภาวะการลงทุนในด้านการก่อสร้างในไตรมาสแรก ปี 2549
ภาวะการก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 มีทิศทางที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2548 การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่) ร้อยละ 4.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าสูงขึ้นกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสสี่ปี 2548 แต่เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำในระดับประมาณร้อยละ 4 ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 (ไตรมาสสามปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 4.1) โดยในปี 2548 ทั้งปี การก่อสร้างมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.5

ข้อสังเกตที่สำคัญต่อการชะลอตัวของการก่อสร้างในไตรมาสแรกนี้คือ ปัจจัยที่ส่งผลให้การก่อสร้างขยายตัวต่ำ เกิดจากการก่อสร้างในภาคเอกชน ต่างกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ที่การชะลอตัวมีสาเหตุจากปริมาณการก่อสร้างของภาครัฐ โดยในไตรมาสแรกปี 2549 การก่อสร้างของภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2543 และชะลอตัวลงอย่างมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสสี่ ปี 2548 และจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ตลอดทั้งปี 2548 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนชะลอตัวลงรุนแรงนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยเติบโตเชื่องช้าลงอย่างมาก โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสแรกปี 2549 ชะลอลงเหลือเพียงหนึ่งในสามของอัตราการเติบโตในไตรมาสสี่ปี 2548 ที่ร้อยละ 10.8 โดยเป็นไปตามทิศทางภาวะอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย ซึ่งกำลังซื้อของประชาชนอ่อนตัวลงจากภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้น

สำหรับการก่อสร้างประเภทอื่นๆ แม้ว่าชะลอตัวเช่นเดียวกันแต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยการก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมขยายตัวร้อยละ 11.4 (จากร้อยละ 21 ในไตรมาสสี่ปี 2548) ส่วนใหญ่เป็นการขยายสาขาห้างสรรพสินค้าและดิสเคานท์สโตร์ในต่างจังหวัด ขณะที่การก่อสร้างประเภทอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.6 (จากร้อยละ 10 ในไตรมาสที่ปี 2548) ส่วนการก่อสร้างอื่นๆหดตัวลงร้อยละ 5.4

ในด้านการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 5.6 กลับมาดีขึ้นเล็กน้อย โดยเป็นการก่อสร้างของหน่วยราชการส่วนกลางและท้องถิ่น รวมทั้งในส่วนของรัฐวิสาหกิจมีการก่อสร้างโครงบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ และการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมของ บมจ. ทีโอที

แนวโน้มการลงทุนด้านการก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปี 2549
สำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2549 แนวโน้มการลงทุนในกิจกรรมการก่อสร้างอาจยังเผชิญกับภาวะซบเซา เนื่องจากทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ได้ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณลงทุนในโครงการก่อสร้างของรัฐบางส่วนล่าช้าออกไป

การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนในระยะเวลาที่เหลือของปี 2549 มีปัจจัยลบที่สำคัญคือการชะลอตัวของความต้องการที่อยู่อาศัย โดยยังมีความเป็นไปได้ที่ปัจจัยลบต่อภาวะตลาด ที่สำคัญคือราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ยังอาจปรับสูงขึ้นได้อีกในช่วงไตรมาสที่สาม และอาจทรงตัวในระดับที่สูงไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี อันจะส่งผลลบมากยิ่งขึ้นต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงปีนี้ นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดภาวะสูญญากาศในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ก็เป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆของภาคเอกชนไทยและการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะที่ยังขาดความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามากำหนดทิศทางนโยบายบริหารประเทศ

ถ้าพิจารณาจากผลกระทบของปัจจัยด้านราคาน้ำมันกับอัตราดอกเบี้ยต่อตลาดที่อยู่อาศัย จากการวิเคราะห์พบว่า

ถ้าราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยในช่วงปีนี้สูงขึ้นร้อยละ 20 (ประมาณ 5 บาทต่อลิตร) จากปีก่อน อาจจะส่งผลให้ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะและค่าใช้จ่ายค่าโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.5 ต่อมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลไปสู่การตัดลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อสินค้าอื่นๆลงไปในมูลค่าใกล้เคียงกัน ซึ่งสินค้าที่มักจะได้รับผลกระทบคือสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือย อันรวมไปถึงการซื้อที่อยู่อาศัยด้วย

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 2.00% ในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ลูกหนี้มีต้นทุนในการซื้อบ้านสูงขึ้น ทำให้ด้วยวงเงินกู้เท่ากัน ผู้กู้ใหม่จะต้องจ่ายเงินงวดผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือถ้าคิดจากฐานรายได้ของผู้กู้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้ความสามารถในการได้รับวงเงินสินเชื่อลดลงประมาณ 8%

ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยนับเป็นตลาดที่สำคัญอย่างยิ่งต่อปริมาณงานในธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากเป็นตลาดงานก่อสร้างที่มีขนาดตลาดใหญ่ถึงประมาณร้อยละ 30 ของกิจกรรมการก่อสร้างทั้งหมดของประเทศ การชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยจึงมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อแนวโน้มธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ดังจะเห็นได้ว่ายอดขายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ 6.5 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 ตามการชะลอตัวอย่างฉับพลันของตลาดก่อสร้างภาคเอกชน

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลบวกบ้างต่อกิจกรรมการลงทุนในโครงการก่อสร้าง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดของกฎระเบียบบางประเด็นที่ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากยื่นขออนุญาตก่อสร้างโครงการเข้ามาเพื่อให้ได้รับการอนุญาตก่อสร้างก่อนที่ข้อบังคับผังเมืองฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ผลกระตุ้นนี้คงจะไม่ช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมการก่อสร้างโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นมากเท่าไรนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจจะขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี โดยอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 อาจอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.4 และขยายตัวร้อยละ 4.6 ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยการขยายตัวที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ที่ธุรกิจพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรผลิตที่อยู่อาศัยออกสู่ตลาดน้อยลง โดยภาพรวมของการลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนตลอดช่วงปี 2549 อาจมีอัตราการเติบโต ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 4 (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 6-8 จากการที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 357,000 ล้านบาท เทียบกับที่มีมูลค่า 327,395 ล้านบาทในปี 2548

การลงทุนภาครัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐอาจจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงในระยะที่เหลือของปี โดยในไตรมาสแรกปี 2549 การลงทุนยังได้รับอานิสงค์จากการที่รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2549 ในช่วง 7 เดือนแรก เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีการเบิกจ่ายในส่วนของงบประมาณปีก่อนมากถึงเกือบ 90,000 ล้านบาท แต่ในไตรมาสสองรัฐบาลเผชิญภาวะสภาพคล่องที่ลดลง ขณะที่การจัดเก็บรายได้เริ่มต่ำกว่าเป้าหมายในเดือนพฤษภาคม 2549 โดยต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 1.3 ซึ่งรายรับที่ต่ำกว่าเป้าอาจเป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้ ผลกระทบจากการที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ยังไม่สามารถผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และกว่าที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นอาจเป็นช่วงปลายปี 2549 ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การใช้จ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณใหม่เกิดการหยุดชะงักไป โดยผลกระทบคงจะเริ่มเห็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกของปีงบประมาณใหม่ แต่คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังมีเม็ดเงินบางส่วนที่เหลื่อมจ่ายมาจากเงินงบประมาณประจำปี 2549 ดังนั้น ผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2550 ต่อโครงการก่อสร้างของรัฐคงจะเห็นชัดเจนมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 ต่อเนื่องถึงไตรมาสสอง ก่อนที่เงินงบประมาณน่าจะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เต็มที่ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ในส่วนของงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2549 ที่ผ่านมายังมีความล่าช้าของการเบิกจ่าย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเริ่มเปลี่ยนมาใช้ระบบการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการบางส่วนผูกติดกับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีการชะลอการลงทุนออกไป

สำหรับแผนการที่รัฐบาลจะเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 3 เส้นทางนั้น ยังคงต้องรอดูท่าทีความสนใจและความมั่นใจของภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน รวมทั้งแม้ว่าจะสามารถดำเนินการได้จริง กระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมาตามขั้นตอนการพิจารณาเงื่อนไขข้อเสนอทางการเงินและทางเทคนิคจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งกว่าที่จะมีการดำเนินการก่อสร้างได้ก็คงเป็นช่วงปี 2550 ซึ่งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาลและการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสของกรุงเทพมหานคร หากมีความคืบหน้า ก็น่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนกิจกรรมการก่อสร้างของภาครัฐในปี 2550 ได้

จากปัจจัยลบของการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแนวโน้มการลงทุนโครงการก่อสร้างของภาครัฐอาจมีอัตราการเติบโต ณ ราคาคงที่ หดตัวลงร้อยละ 3 ในปี 2549 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 337,000 ล้านบาท เทียบกับ 330,089 ล้านบาทในปี 2548 โดยมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้นเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้า (Deflator) ซึ่งเมื่อคิดเป็นระดับการก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ หรือผลในเชิงปริมาณการก่อสร้างจะหดตัวลง

แนวโน้มการลงทุนโดยรวมในปี 2549 และปี 2550
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศอาจมีมูลค่าประมาณ 693,000 ล้านบาทในปี 2549 เทียบกับมูลค่า 657,484 ล้านบาทในปี 2548 คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ร้อยละ 0.7

สำหรับแนวโน้มในปี 2550 การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีแนวโน้มที่อาจปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งก็อาจส่งผลดีต่อเนื่องไปสู่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ถ้าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง ก็น่าจะสนับสนุนให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา ภายใต้ข้อสมมติดังกล่าว คาดว่าการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2550 สำหรับการลงทุนของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีคงลดลงในอัตราที่สูง ตามงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐที่ขาดช่วงไป จากความล่าช้าของการออกพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 แม้คาดว่าการใช้จ่ายงบประมาณจะเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แต่สถานการณ์การก่อสร้างภาครัฐตลอดทั้งปี 2550 อาจหดตัวลง โดยคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 10 ส่งผลให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมในปี 2550 อาจมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่หดตัวลงประมาณร้อยละ 1.3 หรือมีมูลค่าตลาดการก่อสร้างประมาณ 709,000 ล้านบาท

สรุปและข้อคิดเห็น
ในไตรมาสแรกของปี 2549 การลงทุนในด้านการก่อสร้างยังคงมีอัตราการขยายตัวต่ำที่ประมาณร้อยละ 4 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม นับจากครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แต่เป็นที่สังเกตว่าในไตรมาสแรก การก่อสร้างของภาคเอกชะลอตัวลงอย่างมาก มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่การก่อสร้างของภาครัฐยังขยายตัวได้พอสมควรที่อัตราร้อยละ 5.6 โดยสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างของภาคเอกชนชะลอลงมากกว่าที่คาด ที่สำคัญเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการก่อสร้างในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 2549 อาจจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญปัญหาที่สำคัญคือราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยยังอาจปรับสูงขึ้นได้อีกในไตรมาสที่สาม และอาจทรงตัวในระดับที่สูงไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังจะส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆของภาคเอกชนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองยังส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการประกาศใช้พรบ.งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2550 ซึ่งคาดว่าจะเห็นการชะลอตัวของการลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐอย่างชัดเจนขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสสี่ ปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่

สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลบวกบ้างต่อกิจกรรมการก่อสร้างในช่วงปีนี้คือ การที่โครงการจัดสรรหรือโครงการก่อสร้างอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานครพยายามเร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการเพื่อเลี่ยงการที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายละเอียดของกฎระเบียบบางประเด็นที่ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น แต่ผลกระตุ้นนี้คงจะไม่ช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมการก่อสร้างโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเท่าไรนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศอาจมีมูลค่าประมาณ 693,000 ล้านบาทในปี 2549 เทียบกับมูลค่า 657,484 ล้านบาทในปี 2548 คิดเป็นอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี โดยการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4 (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 6-8 จากการที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 357,000 ล้านบาท เทียบกับที่มีมูลค่า 327,395 ล้านบาทในปี 2548 ขณะที่ภาวะหยุดชะงักของการเริ่มต้นใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณใหม่ อาจส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐอาจหดตัวลงร้อยละ 3 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 337,000 ล้านบาท เทียบกับ 330,089 ล้านบาทในปี 2548 ซึ่งมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้นเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงระดับราคาสินค้า (Deflator) แต่ผลในเชิงปริมาณของการก่อสร้างอาจจะหดตัวลง

สำหรับแนวโน้มในปี 2550 การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีแนวโน้มที่อาจปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งก็อาจส่งผลดีต่อเนื่องไปสู่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลงด้วย นอกจากนี้ ถ้าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง ก็น่าจะสนับสนุนให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา ภายใต้ข้อสมมติดังกล่าว คาดว่าการก่อสร้างของภาคเอกชนอาจปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัวร้อยละ 6 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากการทิศทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ที่สำคัญคือความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมหาศาลของสหรัฐอันอาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินตลาดทุนของโลก รวมทั้งหากอุปสงค์ในสหรัฐชะลอตัวรุนแรงก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของกลุ่มประเทศเอเชีย สำหรับการลงทุนของภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีคงลดลงในอัตราที่สูง ตามงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐที่ขาดช่วงไป จากความล่าช้าของการออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 ส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐตลอดทั้งปี 2550 อาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 10 และมีผลทำให้การลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมในปี 2550 อาจมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่หดตัวลงประมาณร้อยละ 1.3 ซึ่งถ้าเป็นเช่นกันจะเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่การลงทุนในด้านการก่อสร้างมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบ

อย่างไรก็ตาม ถ้าแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือเมกะโปรเจ็กต์สามารถมีความคืบหน้าได้อย่างจริงจังหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศอย่างมีเสถียรภาพ ภาวะการก่อสร้างน่าจะกลับมาสู่วงจรช่วงขาขึ้นอีกครั้ง โดยคาดว่าอาจขยายตัวในระดับสูงกว่าร้อยละ 10 ในช่วงปี 2551-2552

สำหรับแนวโน้มต้นทุนค่าก่อสร้างในช่วงปีนี้น่าจะปรับสูงขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยอาจปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ในปี 2549 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 0.0 ในปีก่อน ขณะที่ต้นทุนอื่นๆ หากพิจารณาจากดัชนีราคาผู้ผลิตอาจเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6-8 ต่ำกว่าร้อยละ 9.2 ในปีก่อน ซึ่งคงจะส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าต้นทุนการก่อสร้างโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ในปี 2548

จากความผันผวนทางธุรกิจที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะตลาดหรือภาวะต้นทุนก็ตาม เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการในธุรกิจก่อสร้างจะต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนและการบริหารสภาพคล่องในช่วงที่ภาวะตลาดชะลอตัว ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมพร้อมในด้านแผนการลงทุนและติดตามทิศทางแนวโน้มตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของปริมาณงานก่อสร้างในระยะข้างหน้า