ในวันนี้ ผู้บริหารของ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้แถลงเกี่ยวกับปีงบประมาณใหม่ของบริษัทฯ โดยมีความเห็นในเชิงบวกต่อการเติบโตของบริษัทฯ และอุตสาหกรรมไอทีโดยรวมของประเทศ
มร. แอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยถึงแผนงานของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจในหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากร การขยายสำนักงานอีกเท่าตัว และเพิ่มงบประมาณการตลาด การฝึกอบรมและการพัฒนาต่างๆ ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและพันธมิตร มอบทุนด้านการศึกษา และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อนำไอทีมาสร้างความได้เปรียบในด้านต่างๆ
มร. แอนดรูว์ ยังได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจไมโครซอฟท์ในประเทศไทยไว้ที่ร้อยละ 27 สำหรับปีงบประมาณ 2549 นี้ด้วย
“หากมีใครเคยคิดจะเป็นลูกค้า คู่ค้า และพนักงานของไมโครซอฟท์ก่อนหน้านี้แล้ว เวลานี้แหละที่เหมาะสมที่สุด” มร. แอนดรูว์ กล่าว “นวัตกรรมใหม่ต่างๆ ของไมโครซอฟท์ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดตัวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้น จะนับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไมโครซอฟท์ เรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มศักยภาพให้กับลูกค้าทุกคนในประเทศไทยด้วยโซลูชั่นส์ที่จะทำให้พวกเขาทำงานในแบบที่ต้องการ เพื่อสร้างคุณค่าที่แท้จริงทางธุรกิจ และขยายเศรษฐกิจสังคมแห่งองค์ความรู้ในประเทศ ซึ่งปีนี้จะเป็นอีกปีที่ยอดเยี่ยมในทุกๆ ด้าน”
ซอฟต์แวร์และการบริการใหม่ๆ ของไมโครซอฟท์ที่มีกำหนดจะเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่ ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ วิสต้า ไมโครซอฟท์ เอ็กซ์เชนจ์ เซิฟเวอร์ 2007 ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 2007 ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ไลฟ์ และไมโครซอฟท์ ไดนามิกส์ ซีอาร์เอ็ม ไลฟ์
เส้นทางสู่ความสำเร็จ การขยายธุรกิจ และการเติบโตในประเทศไทย
สำหรับการตั้งเป้าหมายการเติบโตทั้งธุรกิจของไมโครซอฟท์เองและการเติบโตของอุตสาหกรรมไอทีโดยรวมนั้น ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้วางแนวทางสำหรับปี 2550 โดยยึดหลักการ 4 ประการ ได้แก่
– ช่วยเหลือองค์กรธุรกิจไทยในการสร้างคุณค่าแก่ธุรกิจ ด้วยการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของซอฟต์แวร์และคุณค่าที่มันมีอยู่ในตัวเอง
– สร้างประโยชน์เพื่อผลักดันให้เกิดผลดีต่อสังคม ด้วยการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีทักษะทางด้านไอที การทำกิจกรรมอาสาสมัคร และการบริจาคซอฟต์แวร์
– ทำให้เกิดความก้าวหน้าในฐานะที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรม โดยแสดงความรับผิดชอบในด้านการดำเนินธุรกิจ นวัตกรรมทางด้านไอที และการรักษาความสัมพันธ์กับทุกๆ คน
– สร้างระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศและเศรษฐกิจสังคมแห่งองค์ความรู้ในประเทศไทย ผลักดันการสร้างงานและความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติโดยรวม
มร. แอนดรูว์ กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับหลักการทั้งสี่ที่กล่าวมา การผลักดันคุณค่าทางธุรกิจ การสร้างผลดีต่อสังคม การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบ และการสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศ ล้วนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะมุ่งเน้นไปที่การนำหลักการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริง”
มอบคุณค่าทางธุรกิจแก่ลูกค้า
คุณเอกสิทธิ์ วิวัฒนประสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการสารสนเทศเชิงกลยุทธ์ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในการสนทนาช่วงหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวถึงคุณค่าที่ซอฟต์แวร์นำมาสู่องค์กรว่า ซีเอ็ดยูเคชั่นใช้ซอฟต์แวร์โซลูชั่นของไมโครซอฟท์ ได้แก่ ไมโครซอฟท์ ไดนามิคส์ Visual Studio.Net SQL Server และ Microsoft SharePoint Portal ซึ่งผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของเรา และช่วยให้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซีเอ็ดยูเคชั่นถือว่าซอฟต์แวร์นั้นคือการลงทุนที่จะช่วยให้องค์กรมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจ สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจที่มีความซับซ้อนได้
ในฐานะผู้นำ ไมโครซอฟท์ได้ให้คำมั่นว่าจะนำคุณค่าจากโซลูชั่นของไมโครซอฟท์ไปสู่ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใดก็ตาม เพื่อสร้างประสิทธิภาพทั้งในแง่ของการดำเนินงานและการควบคุมต้นทุนแก่ลูกค้าองค์กรธุรกิจของบริษัทฯ
นอกเหนือไปจากการให้ความสำคัญในหน่วยงานภาครัฐ และมุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี .Net ในปีงบประมาณ 2549 แล้ว ผู้บริหารของไมโครซอฟท์ยังแสดงความกระตือรือร้นเกี่ยวกับ Microsoft Infrastructure Optimization Initiative หรือ IOI ซึ่งเป็นกระบวนการที่
จะนำไปสู่การเติบโตในฐานะผู้นำธุรกิจ และทำให้ผู้จัดการฝ่ายไอทีมีวิธีการคิดแบบใหม่ที่จะตระหนักถึงคุณค่าของไอที ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ได้ให้การรับรอง IOI ในฐานะที่เป็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ทางธุรกิจด้วย
มร. ดิเรก บราวน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า“ด้วยหลักการของ IOI ไมโครซอฟท์สามารถแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทำอย่างไรจึงจะคืนทุนด้วยไอที โดยภายใต้โมเดล IOI ของเรา โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีจะไม่ถือเป็นต้นทุนอีกต่อไป แต่มันจะถูกใช้เป็นแนวทางสำหรับบริษัทต่างๆ ในการเติบโตและสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้น”
มร. ดิเรก กล่าวว่า ไมโครซอฟท์นำเสนอการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการประเมินผลแบบออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่บริษัทต่างๆ ที่ต้องการจะเรียนรู้เกี่ยวกับ IOI มากขึ้นด้วย
ไมโครซอฟท์ยังมองเห็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับธุรกิจไดนามิคส์และธุรกิจเซิฟเวอร์ในปี 2549 นี้ ทั้งสองธุรกิจมีสถิติการเติบโตที่แข็งแกร่งในปีงบประมาณที่แล้ว
ความรับผิดชอบในฐานะผู้นำของไมโครซอฟท์
ผู้บริหารของไมโครซอฟท์กล่าวถึงแผนงานในปีงบประมาณ 2549 ว่าจะดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมไอที เกี่ยวกับการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่วางใจได้ (Trustworthy Computing) การแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา การส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านปลอดภัยในระดับประเทศ และการลดค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ ผู้บริหารไมโครซอฟท์ยังกล่าวถึงความพยายามด้านความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการต่อสู้กับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการสืบค้นหาหลักฐานด้านอาชญากรรมหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ตด้วย
มร. แอนดรูว์ กล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตเป็นผู้ให้ที่สำคัญและจำเป็นในหลายเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มันกลายเป็นเครื่องมือทางอาชญากรรมและกลายเป็นปัญหามากขึ้นและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไมโครซอฟท์ได้อุทิศตนในการสนับสนุนทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายในการปกป้องสภาพแวดล้อมการใช้งานออนไลน์ที่ปลอดภัย”
สนับสนุนสังคมไทย
นอกเหนือไปจากผลักดันคุณค่าแก่ธุรกิจและสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่องแล้ว ไมโครซอฟท์ยังเพิ่มความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดผลดีต่างๆต่อสังคมไทยด้วย
ผู้บริหารของไมโครซอฟท์ได้กล่าวย้ำถึงแผนการขยายโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อครูผู้สอนและนักเรียน ลดช่องว่างทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบในด้านต่างๆ นำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนความก้าวหน้าของการดำเนินงานของห้องสมุด และโครงการอื่นๆ อีกมากมาย
ในด้านการศึกษานั้น ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการPartners in Learning ซึ่งเป็นโครงการมูลค่า 2.5 พันล้านบาท และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดในโรงเรียนและศูนย์กลางชุมชนต่างๆ ปัจจุบันมีครูจำนวน 29,000 คนที่ได้รับการอบรมทักษะพื้นฐานด้านไอซีทีไปแล้ว และโครงการนี้ตั้งเป้าที่จะอบรมครูเพิ่มเติมอีก 20,000 คน
สำหรับผู้ด้อยโอกาสนั้น ไมโครซอฟท์ได้ให้ทุนสนับสนุนกว่า 10 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมทักษะด้านไอทีและช่วยลดปัญหาการค้าแรงงานมนุษย์ โดยร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาซึ่งได้รับทุนจากไมโครซอฟท์ในการสร้างศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศชุมชนเพื่ออบรมทักษะด้านไอทีแก่ผู้หญิงและเด็กในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งนอกไปจากเงินทุนสนับสนุนแล้ว ไมโครซอฟท์ยังมอบซอฟต์แวร์ให้สำหรับใช้ในการอบรมทักษะไอทีแก่กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวด้วย
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ประธานมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีและซาบซึ้งที่ไมโครซอฟท์ได้ก้าวเข้ามาแสดงบทบาทในฐานะผู้นำเพื่อให้การสนับสนุนปัญหาการค้าแรงงานมนุษย์ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น การเสริมทักษะด้านไอทีแก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกค้าแรงงานจะเพิ่มโอกาสในการจ้างงานแก่กลุ่มเหล่านี้ ทำให้ไม่ต้องอพยพหรือย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานทำ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงได้”
การสร้างเสริมเศรษฐกิจ
ผู้บริหารของไมโครซอฟท์กล่าวว่า ด้วยการดำเนินธุรกิจของไมโครซอฟท์เอง ด้วยการทำงานร่วมกับคู่ค้าและความร่วมมือกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระต่างๆ ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 20,000 คนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า รายได้ทุกๆ บาทที่
ไมโครซอฟท์ได้รับจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนั้น จะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในประเทศอีก 8 เท่าของรายได้ดังกล่าวนั้น ซึ่ง มร. แอนดรูว์ ได้ย้ำถึงความสำเร็จที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระไทยสอบผ่านการรับรองคุณสมบัติในระดับนานาชาติในโครงการ Microsoft Certified Application Developer (MCAD) ว่า มีนักพัฒนาของไทยจำนวน 1,032 คนที่ได้รับการรับรอง ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ และสูงเป็นอันดับ 2 รองจากออสเตรเลียเท่านั้น
“MCAD ถือเป็นบทพิสูจน์ประการหนึ่งของสังคมเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้ ซึ่งรวมถึงการสร้างงานและความมั่งคั่งในประเทศด้วย ไมโครซอฟท์มุ่งให้ความสำคัญกับการทำให้ประเทศไทยมีบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระที่ดีที่สุดและได้รับการรับรองคุณสมบัติระดับนานาชาติ อีกทั้งยังมีความชำนาญและมีความรู้ที่จะนำพวกเขาไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้” มร. แอนดรูว์ กล่าว
บทสรุป
แม้จะมีการคาดการณ์เกี่ยวกับความไม่แน่นอนต่างๆ ในระยะสั้นของประเทศไทย แต่ทีมงานของไมโครซอฟท์ก็ยังยืนยันความเห็นต่ออนาคตอันสดใสในปีหน้า มร. แอนดรูว์ กล่าวว่าโครงการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นสำหรับปีงบประมาณหน้านั้นเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จในปีก่อน นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ และการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมไอทีจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเพิ่มความตื่นตัวและการเติบโตยิ่งขึ้น
มร. แอนดรูว์ ย้ำว่า “แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ เรายังคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในธุรกิจไอทีและด้านการเติบโตของเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้ เห็นได้ชัดว่ามันมีความท้าทายรออยู่ แต่ประเทศไทยมีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ที่จะเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ สถิติของเราจากปีก่อนๆ เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสามารถของไมโครซอฟท์และอุตสาหกรรมไอทีที่จะเติบโตต่อไป และเราไม่คาดหวังอะไรนอกไปจากความสำเร็จในปีนี้ ไมโครซอฟท์จะเพิ่มการลงทุนทางด้านไอที ทำงานอย่างหนักร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตร และช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตและบรรลุเป้าหมาย เรามองเห็นอนาคตอันสดใสที่จะเกิดขึ้นในปีนี้”
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย
ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์: 0-2257 4817
โทรสาร: 0-2257 0099
Email: [email protected]