ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารทหารไทยที่ ‘BB+’

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) (“TMB”) หลังจากธนาคารประกาศว่าหุ้นเพิ่มทุนแบบ rights issue ของธนาคารได้รับการลงนามซื้อไว้ทั้งหมดแล้ว อันดับเครดิตต่างๆได้รับการคงอันดับ โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) คงอันดับที่ระดับ ‘BB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการคงอันดับที่ระดับ ‘BB’ และอันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคาร ที่ ‘B+’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha))

ธนาคารได้ทำการเพิ่มเงินกองทุนใหม่จำนวน 9.7 พันล้านบาท ผ่านการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ Rights Issue โดยทำการขายหุ้นใหม่จำนวน 3.22 พันล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3 บาท เงินกองทุนใหม่นี้น่าจะส่งผลให้อัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 เมื่อนับรวมกำไรของครึ่งปีแรกของปี 2549 ของ TMB เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง จาก 7.4% ที่รายงานไว้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549

ในขณะที่การเพิ่มเงินกองทุนดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลของฟิทช์เกี่ยวกับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TMB ธนาคารยังคงมีระดับการกันสำรองหนี้สูญที่ต่ำ รวมทั้งความสามารถในการทำกำไรและเครือข่ายธนาคารที่อ่อนแอ เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น ในครึ่งปีแรกของปี 2549 TMB รายงานผลกำไรสุทธิที่ 3.1 พันล้านบาท ลดลงจาก 4.1 พันล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักจากการกันสำรองและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น 2.10% ในครึ่งปีแรกของปี 2549 จาก 2.12% ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงคุณภาพของสินทรัพย์ที่ยังอ่อนแอและต้นทุนการระดมทุนที่สูงขึ้น

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 TMB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่จำนวน 75.5 พันล้านบาท หรือ ประมาณ 13.6% ของสินเชื่อทั้งหมด ลดลงเล็กน้อยจาก 77.4 พันล้านบาท หรือ 14% ณ สิ้นปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชีจำนวน 2.1 พันล้านบาท ระดับสำรองหนี้สูญอยู่ที่ 33 พันล้านบาท หรือเท่ากับ 43.8% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระดับการกันสำรองหนี้สูญที่อ่อนแอและสินเชื่อที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วในระดับที่สูงอาจส่งผลให้ธนาคารต้องกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมในอนาคต อัตราส่วนหนี้เสียหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ TMB อยู่ที่ 79.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ถึงแม้ว่าเงินกองทุนใหม่น่าจะช่วยให้อัตราส่วนดังกล่าวลดลงไปที่ประมาณ 67.5 % ซึ่งยังจัดว่าเป็นระดับที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นๆโดยส่วนใหญ่

ฟิทช์คงแนวโน้มอันดับเครดิตของ TMB เป็นบวก เนื่องจากฟิทช์มองว่าการเพิ่มเงินกองทุน ประกอบกับเครือข่ายธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้น น่าจะส่งผลให้รายได้สูงขึ้นและผลกำไรปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง แม้ว่าผลกระทบด้านเครือข่ายธุรกิจจาก Development Bank of Singapore (“DBS”) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 16.1% (และมีอันดับเครดิตสากลที่ ‘AA-’ (AA ลบ) / แนวโน้มมีเสถียรภาพ / ‘F1+) น่าจะมีอยู่อย่างจำกัด

ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน