ฆ่าตัวตาย : สูญเสียทางเศรษฐกิจ 16,000 ล้านบาท

ในวันที่ 10 กันยายน 2549 นี้จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีการรณรงค์เช่นเดียวกับทั่วโลก เนื่องจากเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายสากล ทั้งนี้แม้ว่าการรายงานอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาที่สำคัญไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ และปัญหาสังคมต่างๆที่ตามมาจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบด้วยคือ ยังมีข้อมูลที่รายงานถึงผู้ที่พยายามจะฆ่าตัวตาย ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 5 เท่าตัว ดังนั้นการรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายจึงเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ

วันที่ 10 กันยายนของทุกปีองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายสากล โดยในปี 2549 องค์การอนามัยโลกร่วมกับองค์การป้องกันการฆ่าตัวตายระหว่างประเทศ(International Association for Suicide Prevention : IASP) กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “With Understanding, New Hope” (สื่อความเข้าใจและสร้างความหวังใหม่) โดยเน้นที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการฆ่าตัวตายเพื่อสร้างโปรแกรมเชิงปฏิบัติการณ์และกิจกรรมต่างๆที่สามารถช่วยลดพฤติกรรมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายและรักษาชีวิตไว้ ทั้งนี้กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกนี้จะเป็นการช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมและสัญญาณเตือนภัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยคำนึงว่าการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ รวมทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจำนวนผู้ฆ่าตัวตายมากกว่าการตายจากสาเหตุการฆาตกรรมและภาวะสงครามรวมกัน นอกจากนี้การฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุอันดับแรกของการตายจากสาเหตุการบาดเจ็บสำหรับคนในช่วงอายุระหว่าง 15-44 ปี (รองลงมาคือ อุบัติเหตุจราจร และการหกล้ม) แต่การฆ่าตัวตายคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของการตายจากโรคต่างๆทั้งหมด โดยคาดว่าการฆ่าตัวตายทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในแต่ละปีเป็นมูลค่าสูงถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะการตายจากโรคต่างๆ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะต้องสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน และกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการป้องกันการฆ่าตัวตาย

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2543 ทั่วโลกมีผู้ฆ่าตัวตาย 877,000 คน หรือชั่วโมงละ 100 คน และปัจจุบันจำนวนผู้ฆ่าตัวตายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า ส่วนผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายคิดเป็นร้อยละ 10-20 ของผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ คนกลุ่มนี้มีโอกาสฆ่าตัวตายซ้ำเพิ่มขึ้น 100 เท่า และร้อยละ 10 จบชีวิตตนเองเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกคาดหมายว่าในปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยในวันที่ 10 กันยายน 2549 นี้กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมเดินการกุศล พร้อมทั้งจำหน่ายดอกสะมาเรียสีขาว ซึ่งจำลองแบบมาจากดอกบัวสวรรค์ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกของไทยเป็นครั้งแรกด้วย

ในประเทศไทยในปี 2548 มีจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,941 คน เมื่อเทียบกับในปี 2547 ที่มีจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,296 คนแล้วลดลงร้อยละ 8.2 ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายในปี 2548 อยู่ที่ 6.34 คนต่อประชากรแสนคน หรือ 5,000 คนต่อปี เฉลี่ยวันละ 13 คน หรือทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้ฆ่าตัวตาย 1 คน เมื่อเทียบกับปี 2547 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.9 คนต่อประชากรแสนคน ช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดคือ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14.2 ช่วงอายุ 35-39 ปีร้อยละ 13.9 และช่วงอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 12.2 ส่วนมากวิธีการฆ่าตัวตายร้อยละ 59 ใช้วิธีแขวนคอ ร้อยละ 29 ใช้สารพิษ ร้อยละ 5 ใช้ปืน ส่วนที่เหลือร้อยละ 7 ใช้วิธีอื่นๆ เช่น ใช้ของมีคม กระโดดจากที่สูง เป็นต้น สาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้นพอจะสรุปได้ว่ามาจากความกดดันจากสภาพปัญหาต่างๆและผู้ฆ่าตัวตายไม่สามารถหาทางออกได้ โดยคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยแยกออกเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวหรือคนรัก ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการเรียน ปัญหาเรื่องการทำงาน และปัญหาสุขภาพ

แม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแล้วดูเหมือนว่าประเทศไทยยังมีปัญหาน้อย กล่าวคือ เทียบกับญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายแสนละ 24.1 คนต่อประชากรแสนคน ศรีลังกาแสนละ 21.6 คน สหรัฐฯแสนละ 10.5 คน และสวีเดนแสนละ 13.5 คน แต่ข้อมูลที่ต้องพิจารณาร่วมกันด้วยคือ จำนวนผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายหรืออาจจะเรียกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ ซึ่งจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยที่พยายามฆ่าตัวตายนั้นโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 5 เท่าตัวของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ดังนั้นปัญหาในเรื่องการฆ่าตัวตายจึงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆอีกต่อไป ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องรณรงค์ป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ถ้าจะคำนวณความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย โดยคำนวณจากอายุการทำงานเฉลี่ยที่เหลืออยู่จนถึงเกษียณและค่าเฉลี่ยรายได้ที่จะหาได้จนถึงอายุเกษียณ พบว่าในปี 2548 ประเทศไทยสูญเสียทรัพยากรมนุษย์เพราะการฆ่าตัวตายคิดเป็นความสูญเสียในเชิงเศรษฐศาสตร์ถึงประมาณ 16,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามถ้าความพยายามฆ่าตัวตายทั้งหมดประสบผลสำเร็จ ต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการทำอัตวินิบาตกรรมคงต้องเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 เท่าตัว ต้นทุนดังกล่าวข้างต้นยังมิได้รวมถึงผลกระทบทางสังคมด้านอื่นๆที่ตามมาด้วย ซึ่งเมื่อหากคิดรวมแล้วย่อมจะขยายผลของความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากผลกระทบจากการฆ่าตัวตายย่อมมีผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้างและลึก ซึ่งไม่อาจจะประเมินได้เหมือนในกรณีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะผลทางด้านนี้ย่อมขึ้นอยู่กับระบบความคิดและสภาพจิตใจของแต่ละบุคคลที่ได้รับรู้เรื่องราวนั้นๆเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามแม้จะไม่สามารถประเมินความเสียหายทางสังคมด้านอื่นๆออกมาเป็นตัวเงิน แต่ผลกระทบต่อสังคมก็พอจะแยกแยะได้ดังนี้

1.โดยปกติแล้วมนุษย์ย่อมรักตัวเองมากที่สุด ถ้าคนตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ง่ายๆมากเท่าใด สังคมก็ดูเหมือนจะมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนมากขึ้นเท่านั้น

2.ถ้าไม่สามารถหาทางแก้ไขให้ปัญหาการฆ่าตัวตาย และหากการฆ่าตัวตายกลายมาเป็นทางออกปกติของคนในสังคมที่เลือกจะทำ เมื่อพบว่าชีวิตของตนมีปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขให้ดีขึ้นได้ คนในสังคมก็จะเริ่มมีความอดทนในการต่อสู้ชีวิตน้อยลง จนอาจจะคิดว่าความคิดที่จะฆ่าตัวตายเป็นเรื่องธรรมดาเพราะคนจำนวนมากก็ทำกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติที่อาจรักษาให้หายได้ การตายในลักษณะนี้โดยปราศจากการบำบัดรักษาก็จะมีจำนวนมากขึ้น

3.สังคมที่คนจำนวนมากคิดจะตายด้วยการฆ่าตัวเอง ย่อมส่อแสดงว่าความรักต่อตัวเองของคนในสังคมมีน้อยลง เมื่อไม่รักตัวเองจะแบ่งปันความรักให้คนอื่นได้อย่างไรกัน ความไม่รักใคร่อาทรซึ่งกันและกันในการมีชีวิตอยู่ร่วมกันจะทำให้สังคมแห้งแล้ง คนในสังคมยิ่งมีความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ความตึงเครียดจากสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจก็จะโถมเข้ามากัดกร่อนความรู้สึกดีๆในจิตใจได้ง่าย ทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่เป็นคนมีสุขภาพจิตเสื่อม

4.ความมีสุขภาพจิตเสื่อมของคนในสังคม จะมีผลสะท้อนออกมาที่ผลงานทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของคนลดลง คุณภาพของงานแย่ลง ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ

5.ถ้าการฆ่าตัวตายกลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม จะมีผลทำให้เยาวชนจำนวนมากที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ แต่ยังไม่มีเครื่องมือหรือเกราะป้องกันทางความคิดที่ดีพอ อาจจะแสวงหาทางออกให้ชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะขาดการไตร่ตรองที่รอบคอบ

6.ผู้ที่ฆ่าตัวตายจะนำความเศร้าสลดมาสู่ญาติ/มิตร ความรู้สึกสูญเสียที่แต่ละคนได้รับย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความผูกพัน ความรู้สึกนึกคิด และสภาพจิตใจของแต่ละคนเป็นสำคัญ บางคนอาจเสียใจจนถึงขั้นอยากตายตามไปด้วย แต่ไม่ว่าจะได้รับความสะเทือนใจขั้นใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจต่อบุคคลเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาลดลง

การคิดจะฆ่าตัวตายเกิดจากการจุดประกายที่ความคิดก่อนที่จะมีการกระทำเกิดขึ้น ความคิดที่จะฆ่าตัวตายมิใช่ความคิดที่ปกติ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ย่อมต้องรักและปกป้องตนเอง ความผิดปกติทางความคิดที่จะฆ่าตัวเอง อาจจะเยียวยาให้ดีขึ้นหรือหายไปได้ ถ้าหากเจ้าของความคิดหรือแม้แต่ผู้ที่อยู่รอบข้างไหวตัวทัน หรือสามารถหาที่ปรึกษาที่เข้าใจและพร้อมจะรับฟังปัญหา ตลอดจนแนะนำแนวทางการแก้ไขอย่างตรงประเด็น ถ้าพิจารณาถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายที่มาจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการเรียน ปัญหาเรื่องการทำงาน และปัญหาสุขภาพ กลุ่มคนที่จะช่วยแก้ไขและป้องกันการฆ่าตัวตายแยกออกเป็น

1.คนในครอบครัวและผู้ที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสามี/ภรรยา บิดา/มารดา ญาติที่ใกล้ชิด ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และเพื่อน เนื่องจากความอบอุ่นและความรักความเข้าใจกันในครอบครัวจะเป็นทั้งเกราะป้องกันและเป็นตัวช่วยประคับประคองไม่ให้คนในครอบครัวคิดที่จะฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะการอบรมและสั่งสอนเด็ก/เยาวชนให้มีความเข้มแข็งในทางอารมณ์ เด็ก/เยาวชนในปัจจุบันควรจะมีความรู้ความเข้าใจด้านจิตวิทยาที่เหมาะสมและเพียงพอเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก/เยาวชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและบานปลายมากยิ่งขึ้น

2.บุคคลากรที่มีความชำนาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เป็นต้น จำนวนของบุคคลากรทางด้านสุขภาพจิตที่มีคุณภาพจำเป็นต้องมีการเร่งผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ผลตอบแทนของความพยายามที่บุคคลเหล่านี้ต้องทุ่มเทลงไปเพื่อช่วยเหลือสังคมควรจะคุ้มค่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีคนต้องการเสนอตัวเข้ามารับใช้สังคมมากขึ้น ในปัจจุบันมีภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นตัวช่วยโดยการตั้งเป็นสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย มีอาสาสมัครรับฟังปัญหาทางโทรศัพท์ ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้ต้องผ่านการอบรม 6 เดือน เน้นให้ความเป็นเพื่อนประคับประคองอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติ เนื่องจากผู้ที่มีความคิดจะฆ่าตัวตายมีแนวโน้มจะล้มเลิกความคิดเมื่อได้ระบายปัญหากับใครสักคนที่รับฟังอย่างเข้าใจ

นอกจากนี้คนไทยควรจะปรับแนวความคิดเสียใหม่ได้แล้วว่าความเจ็บป่วยทางจิตใจก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนย่อมมีโอกาสเป็นได้ การเข้าพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตเพื่อหาทางแก้ไขควรจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งคนที่ขอรับบริการและผู้ที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต ควรจะมีมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมในประเด็นนี้ เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้มีความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้มีความรุนแรงลดลง และป้องกันปัญหาที่อาจจะมีขึ้นมาใหม่ให้น้อยลง สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น เป็นการลดบรรยากาศของความตึงเครียดไปในตัว

ในวันที่ 10 กันยายน 2549 นับเป็นปีแรกที่ไทยจะจัดให้มีกิจกรรมในวันป้องกันการฆ่าตัวตายสากล แม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายของไทยจะมีแนวโน้มลดลง หลังจากประเทศไทยดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยก็ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ เพราะจากข้อมูลระบุว่าจำนวนผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายนั้นยังคงสูงกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 5 เท่าตัว เมื่อคำนวณเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจเนื่องจากสูญเสียทรัพยากรบุคคลแล้วพบว่าในปี 2548 ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์เพราะการฆ่าตัวตายคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ถึงประมาณ 16,000 ล้านบาท และถ้านับรวมกรณีที่ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายด้วยแล้วความสูญเสียจะมากขึ้นอีก 5 เท่าตัว นอกจากนี้ยังต้องคำนึงปัญหาสังคมต่างๆที่ตามมาที่ไม่อาจคำนวณเป็นตัวเลขได้อีกด้วย