เวียดนาม : ตลาดท่องเที่ยวมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านบาท

เวียดนาม เป็นตลาดท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 28 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2544-2548) ทั้งนี้ด้วยแรงเกื้อหนุนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามที่เติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนโดยรวมต่างมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศและผ่อนคลายระเบียบปฏิบัติในการนำเงินออกนอกประเทศ ส่งผลให้ชาวเวียดนามเริ่มเดินทางไปต่างประเทศกันมากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวปลายทางที่นักท่องเที่ยวเวียดนามส่วนใหญ่นิยมเดินทางไป คือ แหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย

แม้ว่าเวียดนามจะเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดเล็ก แต่ก็มีศักยภาพสูงด้านการเติบโต เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งในปี 2546 และปี 2548 ซึ่งการท่องเที่ยวไทยประสบกับวิกฤตโรคซาร์ส และวิกฤตสึนามิ ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมของไทยมีแนวโน้มถดถอยลงร้อยละ 7.4 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ แต่ตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนามก็ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี จากที่มีนักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางมายังประเทศไทยจำนวน 80,071 คนในปี 2544 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเป็น 195,457 คนในปี 2548

โครงสร้างตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ และสามารถใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในตลาดเวียดนามได้ มีดังนี้

ตลาดนักท่องเที่ยวเพศหญิงเติบโตรวดเร็ว นักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเพศชาย อย่างไรก็ตาม จากการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องของตลาดนักท่องเที่ยวเพศหญิง ส่งผลให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวเพศชายลดลงจากร้อยละ 57 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 53 ในปี 2548

ตลาดประชุมสัมมนาขยายตัวก้าวกระโดด นักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ขยายตัวช้าลงในช่วงปี 2547-2548 โดยมีสัดส่วนร้อยละ 77 ในปี 2548 ขณะที่นักท่องเที่ยวเวียดนามกลุ่มที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อการประชุมสัมมนา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็ก (คือ มีสัดส่วนร้อยละ 8 ในปี 2548) แต่ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2547-2548 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 และร้อยละ 186 ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ สำหรับนักท่องเที่ยวเวียดนามกลุ่มที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 ในปี 2548 นั้นเติบโตอย่างสม่ำเสมอในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10

ตลาดกลุ่มเที่ยวซ้ำมีบทบาทมากขึ้น นักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เพิ่งเดินทางมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือ เฉลี่ยร้อยละ 35 ต่อปีในช่วงปี 2544-2547 อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สึนามิได้ส่งผลบั่นทอนตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนามกลุ่มนี้ ทำให้มีแนวโน้มถดถอยลงร้อยละ 2 ในปี 2548 สัดส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เพิ่งเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรกจึงลดลงเหลือเพียงร้อยละ 48 ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางมาเที่ยวซ้ำยังคงขยายตัวในอัตราสูง คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 ในปี 2548

การใช้บริการบริษัทนำเที่ยวลดลง นักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่ซื้อรายการนำเที่ยวเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ เฉลี่ยร้อยละ 38 ต่อปีในช่วงปี 2544-2547 นักท่องเที่ยวที่นิยมใช้บริการบริษัทนำเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเดินทางมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก และนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงอายุ รวมทั้งนักท่องเที่ยวเพศหญิง อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มที่ถดถอยลงในปี 2548 ของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เพิ่งเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก ด้วยผลกระทบจากวิกฤตสึนามิ ส่งผลให้การใช้บริการบริษัทนำเที่ยวและเดินทางมาในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ของนักท่องเที่ยวเวียดนามมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 5 ในปี 2548 ขณะที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างเด่นชัดของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางมาเที่ยวซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่มักเดินทางมากันเอง ทำให้มีนักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางมายังประเทศไทยในลักษณะเดินทางกันเองเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึงร้อยละ 69 ในปี 2548

นักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวประเภทสถานบันเทิง และนิยมความทันสมัย แปลกใหม่ แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวเวียดนามเดินทางไปเยือนมากเป็นอันดับ 1 คือ กรุงเทพฯ รองลงมา คือ พัทยา กิจกรรมส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวเวียดนามระหว่างที่พักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย คือ การจับจ่ายซื้อสินค้า รองลงมา คือ กิจกรรมด้านความบันเทิง และการเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

การใช้จ่ายในด้านต่างๆของนักท่องเที่ยวเวียดนามระหว่างที่พักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย มีดังนี้

– ร้อยละ 40 ใช้จ่ายในการซื้อสินค้า สำหรับสินค้าที่นักท่องเที่ยวเวียดนามนิยมซื้อ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ

– ร้อยละ 20 เป็นค่าใช้จ่ายในด้านที่พัก

– ร้อยละ 15 เป็นค่าใช้จ่ายในด้านอาหารและเครื่องดื่ม

– ร้อยละ 10 เป็นค่าพาหนะเดินทางในประเทศไทย

– ร้อยละ 9 เป็นค่าใช้จ่ายด้านบันเทิง

สำหรับค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเวียดนามระหว่างที่พักอยู่ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงมาตามลำดับจากเฉลี่ยประมาณคนละ 23,321 บาทต่อการเดินทางมาแต่ละครั้งในปี 2545 ลดลงเป็นเฉลี่ยประมาณคนละ 15,752 บาทต่อครั้งในปี 2548 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเดินทางระหว่างประเทศเวียดนามและประเทศไทยที่สะดวกขึ้นทั้งทางรถยนต์และเครื่องบิน ทำให้นักท่องเที่ยวเวียดนามใช้เวลาพำนักท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลงจากเฉลี่ย 6.02 วันในปี 2545 เหลือเฉลี่ย 4.61 วันในปี 2548

ตลาดท่องเที่ยวเวียดนามยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาในปี 2549 ทั้งนี้ด้วยหลายปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุน ดังนี้

การเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจเวียดนาม ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนในเวียดนามที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในส่วนการลงทุนของรัฐบาลและการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวเวียดนาม (รองจากประเทศจีนที่ครองอันดับ 1) เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ ทำให้สะดวกในการเดินทางและมีค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางเข้ามาด้วยรถยนต์ และคาดว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ที่จังหวัดมุกดาหารเสร็จในช่วงปลายปีนี้จะส่งผลกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนามให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

ความสะดวกในการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม เนื่องจากการเข้ามาให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ คือ แอร์ เอเชีย ในเวียดนามตั้งแต่ปลายปี 2548 และการพัฒนาสนามบินระหว่างประเทศแห่งใหม่ขึ้นในเวียดนามตอนกลางที่เมืองดานัง นอกเหนือจากสนามบินในภาคเหนือที่เมืองฮานอย และในภาคใต้ที่โฮจิมินห์ ซิตี้

ประเทศไทยจัดกิจกรรมต่างๆอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี 2549 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสอันเป็นมงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี โดยเฉพาะการจัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2549 และการจัดงานมหกรรมพืชสวนเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 ที่เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้จำนวนมาก รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากเวียดนามด้วย

เมื่อพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวเวียดนามที่เดินทางมายังประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพฯในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 จากปี 2548 สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนาม เมื่อประกอบกับหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวเวียดนาม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงคาดการณ์ว่า โดยรวมตลอดทั้งปี 2549 จะมีนักท่องเที่ยวจากเวียดนามเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 250,000 คนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และก่อให้เกิดรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,700 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

นอกจากเวียดนามจะเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงแล้ว เวียดนามยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอินโดจีนที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเวียดนามมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งภูมิหลังทางด้านประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าพันปีตั้งแต่ยุคอาณาจักรจาม จนถึงยุคการยึดครองของฝรั่งเศส และสงครามเวียดนาม ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานของหลายเชื้อชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่บริสุทธิ์และสวยงาม โดยมีชายหาดกว่า 125 หาดตามแนวชายฝั่งทะเลจีนใต้ยาวกว่า 3,000 กิโลเมตรจากเหนือจรดใต้ รวมทั้งน้ำตก และป่าเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืชนานาชนิด เหล่านี้ล้วนดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกา นอกจากนี้เวียดนามยังได้รับโอกาสจากวิกฤตสึนามิโดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเปลี่ยนจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้รับภัยพิบัติจากสึนามิซึ่งรวมทั้งประเทศไทย และเดินทางไปยังประเทศเวียดนามแทนตั้งแต่ต้นปี 2548 เป็นต้นมา ทำให้ในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังเวียดนามรวมทั้งสิ้น 3.47 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2547 และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ณ ระดับ 3.2 ล้านคน

สำหรับในปี 2549 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 3.6-3.8 ล้านคน โดยกำหนดให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งการท่องเที่ยวเวียดนาม 2006” ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2549 ซึ่งปรากฏว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เป็นประมาณ 2.15 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เวียดนามกำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอินโดจีนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจเดินทางเข้าไปเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมากนั้น เวียดนามยังขาดแคลนในด้านบริการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพียงพอและมีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 4-5 ดาว รัฐบาลเวียดนามจึงมีแผนเร่งปรับปรุงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวในช่วงปี 2549-2553 เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเวียดนาม และเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวในเวียดนามได้อย่างกว้างขวาง

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสในการขยายฐานตลาดต่างประเทศ ด้วยการหาทางร่วมมือกับประเทศเวียดนาม เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยและเวียดนามเป็นปลายทางท่องเที่ยวร่วมกันในตลาดต่างประเทศ โดยอาศัยความพร้อมในด้านบริการรองรับนักท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน ครอบคลุมตามแหล่งท่องเที่ยวในทั่วทุกภาคของไทย และจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวในเวียดนามที่มีความใหม่และมีความบริสุทธิ์ทางธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศเป็นการประสานประโยชน์ร่วมกัน แทนการแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันเอง

ทั้งนี้ควรเร่งดำเนินการเพื่อสามารถรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไปยังประเทศเวียดนามจำนวนมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งจะมีการจัดประชุมเอเปกที่เวียดนาม ทำให้รัฐบาลต้องสำรองห้องพักของโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาวที่เมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้รวมทั้งอีกหลายเมืองหลัก ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการประชุม เพื่อรองรับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆพร้อมผู้ติดตามและสื่อมวลชนจำนวนมากที่เดินทางเข้ามารายงานข่าวการประชุม ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนห้องพักโรงแรมระดับ 4-5 ดาวจำนวนมากในช่วงดังกล่าว ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากประเทศในซีกโลกตะวันตก