ฟิทช์ ประกาศให้อันดับเครดิตสากลแก่ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของธนาคารกรุงไทย

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ที่ระดับ ‘BBB-’ (‘BBB ลบ’) แก่ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (“Hybrid Tier 1 Securities”) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (“KTB”) ที่จะออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ Hybrid Tier 1 Securities ของ KTB ที่ถูกนำเสนอขายในครั้งนี้ ไม่มีกำหนดระยะเวลาในการชำระคืน โดยผู้ออกตราสารมีสิทธิไถ่ถอน (call option) หลังจาก 10 ปี นับจากวันที่ออกตราสาร นอกจากนี้ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคาร ยังมีคุณสมบัติไม่สะสมผลตอบแทน (non-cumulative) และสามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารได้ในระหว่างการดำเนินการทำนองใกล้เคียงกับหุ้นสามัญ (absorb losses on a going-concern basis) ธนาคารพาณิชย์อาจจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือตราสารดังกล่าวจากกำไรหรือกำไรสะสมของธนาคารได้ ตามที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (“BOT”) อย่างไรก็ตาม ในปีที่ธนาคารพาณิชย์นั้นไม่มีผลกำไร (หลังจากทำการหักผลตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้ผู้ถือ Hybrid Tier 1 Securities) ธนาคารจะจ่ายผลตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายกรณีไป โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ เช่นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ความสามารถในการทำกำไร และระดับของกำไรสะสม

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”) ของ KTB ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ ฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของธนาคารที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’ ฟิทช์กล่าวว่าอันดับเครดิตของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะได้การสนับสนุนดังกล่าวอาจจะน้อยลงสำหรับตราสารหนี้ที่อยู่ในลำดับการชำระเงินที่ด้อยกว่า ในขณะที่การที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มที่อาจทำให้ผลการดำเนินงานของ KTB อ่อนแอลงได้ KTB เป็นธนาคารไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 18% โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (“FIDF”) ของธนาคารกลาง ถือหุ้น 56.1% ในธนาคาร รัฐบาลน่าจะคงสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารอย่างน้อย 51% ในอนาคต

Hybrid Tier 1 Securities ของ KTB จัดอยู่ในลำดับการรับชำระเงินที่ด้อยกว่าเงินฝากและหนี้ไม่ด้อยสิทธิและหนี้ด้อยสิทธิอื่นๆ ยกเว้นหนี้สินต่างๆที่มีเงื่อนไขระบุว่าลำดับการรับชำระเงินเทียบเท่าหรือต่ำกว่าตราสารที่จะทำการออกดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาถึงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ IDR ของ KTB ที่ระดับ ‘BBB+’ อันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ของ KTB ได้รับการจัดอันดับที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) ซึ่งต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR ของธนาคาร 2 ระดับ ในกรณีที่เกิดความถดถอยของสถานะทางการเงินของธนาคารในอนาคต โอกาสที่ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคารนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะมีแนวโน้มน้อยกว่า ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวได้สื่อเป็นนัยถึงความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคารอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ ในขณะที่อันดับเครดิตระยะยาวของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของธนาคารน่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากการสนับสนุนจากรัฐบาล หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอาจส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างอันดับเครดิตระยะยาวของตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของธนาคารและอันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities นี้ เพิ่มขึ้น

ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานหลักของ KTB ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในครึ่งปีแรกของปี 2549 กำไรสุทธิยังคงปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 8.6 พันล้านบาท จาก 7.6 พันล้านบาทในครึ่งปีแรกของปี 2548 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้นและรายได้จากการลงทุนที่สูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ยังได้ช่วยให้อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 3.9 % ในครึ่งปีแรกของปี 2549 (เมื่อทำการปรับปรุงตัวเลขให้สะท้อนงวดปีบัญชีแล้ว) จากระดับ 3.4% ในปี 2548 ในขณะที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในปี 2549 ดูถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องมาจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงและความวุ่นวายทางการเมือง แต่ผลการดำเนินงานโดยทั่วไปของ KTB น่าจะมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ หากปัญหาต่างๆทางการเมืองคลี่คลายลงและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นในปี 2550 ดังที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ในขณะนี้

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ได้ลดลงมาสู่ 92.9 พันล้านบาทหรือ 10.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 จากระดับ 99.1 พันล้านบาท หรือ 11.1% ณ สิ้นปี 2548 สืบเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การตัดบัญชีหนี้สูญ ถึงแม้ว่าระดับการกันเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สูญของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 40% การที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารปรับเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อ ในปี 2547 ได้ส่งผลให้ KTB ทบทวนระบบการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ ในขณะนี้ผู้บริหารของ KTB ได้มุ่งเน้นในการปรับปรุงวัฒนธรรมการทำงานและองค์กรให้เน้นการทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากขึ้นรวมทั้งมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยมากขึ้น ซึ่งผลพวงจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในระยะปานกลาง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 16% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2549 อัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KTB อยู่ที่ 8.3% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่อัตราเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 11.8% ธนาคารได้รายงานระดับกำไรสะสมที่ 23.7 พันล้านบาท การฟื้นตัวของรายได้และผลกำไรน่าจะช่วยเสริมสร้างและรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่พอเพียง

ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน