ชุมชนภูไทดำเตรียมอวดแพรวาราชินีแห่งผ้าไหม ในงาน Made in Thailand

กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เตรียมรวบรวมสุดยอดมรดกสิ่งทอจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มาอวดโฉมและให้ผู้สนใจได้เลือกซื้อหาในงาน “Made in Thailand” มหกรรมสินค้าใหญ่ประจำปี ซึ่งจะจัดขึ้น ณ ศูนย์อิมแพค อาคาร 5-8 เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม ศกนี้

หนึ่งในไฮไลท์ของผ้าทอมือไทยที่จะนำมาเสนอคือแพรวาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผ้าไหม อันเป็นที่เสาะหาของนักสะสมและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ผ้าแพรวามีถิ่นกำเนิดที่บ้านโพน ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผ้าที่ผู้หญิงชาวภูไทดำ ทอใช้กันอยู่ทุกครัวเรือน ซึ่งเดิมนั้นมีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม และเฉพาะผ้าไหมซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นของมีค่าที่จะนำมาประดับตกแต่งร่างกายในโอกาสพิเศษ อย่างเช่น การไปร่วมงานบุญ

จากผ้าทอที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าแพรวาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายหลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับอุปการะเข้าโครงการของมูลนิธิศิลปาชีพ และตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการส่วนพระองค์ ทำให้ชาวบ้านโพนได้พัฒนารูปแบบการทอผ้าแพรวาเพื่อให้ได้ผ้าที่มีขนาดใหญ่ มีสีสันหลากหลาย และลวดลายที่งดงามยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่กว้างขวางขึ้น

“ปัจจุบัน ผ้าแพรวาไม่ได้มีเฉพาะแต่สีแดงเท่านั้น” คุณพงษุยุตน์ โพนะทา ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับบทบาทเป็นผู้นำกลุ่มชุมชนภูไทดำต่อจากคุณพ่อและพี่สาว เริ่มเล่าถึงผ้าแพรวา “เดิมนั้นผ้าแพรวาจะมีสีพื้นเป็นสีแดงเท่านั้น ก็เลยมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแพรวาแดง แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเริ่มนำสีย้อมผ้ามาย้อมเส้นไหม ผ้าที่ได้ก็เลยมีสีสันสดสวยแปลกแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน สามารถควบคุมการย้อมให้เส้นไหมมีสีสม่ำเสมอเหมือนเดิมทุกครั้ง ซึ่งสมัยก่อนทำไม่ได้อย่างนี้ การย้อมแต่ละครั้ง อาจจะเป็นสีแดงเหมือนกันแต่ความเข้มอ่อนก็จะไม่เท่ากัน”

“ยกตัวอย่างผ้าสีฟ้าผืนนี้ ผมทอขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสวันแม่ หรือผ้าสีครามผืนนี้ ซึ่งจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนกับผ้าแบบโบราณ นี่ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผ้าแพรวาได้รับความนิยมมากขึ้น คนที่ซื้อไปก็นำไปตัดเย็บเป็นเสื้อเป็นกระโปรง แล้วผ้าที่กว้างเพียงศอกและยาวหนึ่งวาก็เลยต้องทอให้หน้ากว้างขึ้นและความยาวก็มากขึ้น ถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น เดี๋ยวนี้เราทอได้ยาวถึงหกเมตร ส่วนความกว้างก็ประมาณ 25-29 นิ้ว (62.5-72.5 เซนติเมตร) และที่พิเศษที่สุดคือผ้าแพรวาหน้ากว้าง 1 เมตร ซึ่งผมเป็นคนแรกที่ทอได้ ผ้าผืนนี้เป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก และได้ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2547 และก็เริ่มมีความต้องการของลูกค้าหลายรายที่สั่งทอผ้าหน้ากว้าง 1 เมตรมาบ้างแล้ว…”

ไม่เพียงเท่านั้น คุณพงษุยุตน์ ยังเป็นคนแรกที่ริเริ่มออกแบบลายผ้าแพรวาลวดลายใหม่ ๆ ขึ้นมา

“สิ่งที่ผมเห็นตั้งแต่เล็กจนโตคือผ้าที่มีลวดลายเป็นรูปทรงเรขาคณิตสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม คว่ำบ้างหงายบ้าง จับลายโน้นมาต่อลายนี้จนเต็มไปหมดทั้งผืน แปดปีก่อนก็เริ่มคิดว่าลายพวกนี้จะทำให้มีเส้นโค้งบ้างจะได้มั้ย จึงเริ่มออกแบบลวดลายอย่างที่ตัวเองอยากเห็น ก็วาดแล้วเก็บเอาไว้ยังไม่กล้าเอามาให้ใครดู จนกระทั่งอีกสามปีต่อมา ลายที่ออกแบบไว้ถึงได้ถูกทอขึ้นมาเป็นผ้าจริง ๆ แรก ๆ ก็ถูกต่อต้านเพราะคนเขาเคยชินที่จะเห็นผ้ามีลายเป็นเหลี่ยม ๆ แต่เดี๋ยวนี้ผ้าลายใหม่ ๆ ได้รับความนิยมมากกว่าผ้าแบบโบราณเสียอีก และผู้ที่ใช้ผ้าแพรวาก็มีอายุน้อยลง ซึ่งเมื่อก่อนจะเห็นว่าผู้ที่ซื้อผ้าไปใช้จะเป็นผู้ใหญ่เสียเกือบทั้งหมด…”

จากมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เมื่อผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดเป็นผ้าแพรวาลวดลายและสีสันสวยงามทันสมัย ตอบสนองการใช้งานในชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน ถึงแม้ว่าผ้าแพรวาแต่ละผืนจะมีราคาตั้งแต่ผืนละไม่กี่พันบาทไปจนถึงผืนละหลายหมื่นบาท แต่หากนึกถึงระยะเวลาเป็นแรมเดือนในการทอผ้าแต่ละผืนก็คงทำให้หลาย ๆ คนคิดตรงกันว่าผ้าเหล่านี้ไม่ได้มีราคาแพงเลย ตรงกันข้ามกลับจะยิ่งทำให้ผู้ที่ได้ครอบครองเกิดความภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะนำไปใช้งานหรือสะสมก็ตาม

สำหรับผู้ที่สนใจและรักผ้าทอมือ รอชมผ้าแพรวาของชุมชนภูไทดำได้ในงานเมดอินไทยแลนด์ ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2549 ที่อิมแพค เมืองทองธานี อาคาร 5-8 ภายในงานได้รวบรวมเอาผู้ผลิตสินค้าคุณภาพจากทั่วประเทศไว้มากและครบถ้วนที่สุด เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย และยังแสดงให้เห็นศักยภาพของผู้ผลิตสินค้าของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในต่างประเทศ โดยที่สินค้าบางชนิดท่านอาจนึกไม่ถึงด้วยซ้ำว่าสามารถผลิตได้ในประเทศ หรือบางชนิดก็ไม่เป็นที่แพร่หลายและหาชมยาก จึงถือเป็นโอกาสดีที่ท่านจะได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีได้ครบถ้วนในงานเดียว