นานาประเทศยกย่องโครงการพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สานต่อการส่งเสริมให้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบการอนุรักษ์ป่าชายเลนของเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จในการสร้างให้ชุมชนสามารถอยู่อาศัยและทำอาชีพอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลภายใต้แนวคิด “Man Grove Forest Friends Shrimp” ซึ่งมีไม่กี่แห่งในโลกที่สามารถทำได้

ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สานต่อการพัฒนา “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี” เพื่อสนองตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามที่จะปลูกฝังจิตสำนึกของชุมชนในการร่วมกันรักษาป่าชายเลนอันเปรียบเสมือนเกราะป้องกันภัยบริเวณชายฝั่ง และจุดซึมซับมลพิษทางทะเลที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการกว่า 200,000 รายต่อปี ประกอบไปด้วย นักท่องเที่ยวและนักวิชาการจากทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าชายเลนจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่เดินทางมาศึกษาดูงานเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนไปพัฒนาใช้ในพื้นที่บ้านเกิดของตน

การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ” ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อแนะเป็นแนวทางว่าการประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรชายฝั่งทะเล จำเป็นต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์ของป่าชายเลนเป็นหลัก โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลบริเวณชายฝั่ง ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ มักจะรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อนำมาทำเป็นฟาร์มเพาะเลี้ยง ส่งผลให้ป่าชายเลนถูกทำลายจนเกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับพื้นที่การเกษตรชั้นในที่ถูกทำลายโดยน้ำเค็มที่ไหลทะลักเข้ามาเพราะไม่มีพื้นที่ป่าชายเลนเป็นเกราะกำบัง ปัญหาดังกล่าวได้สร้างผลเสียในบริเวณกว้างทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียและดินเค็มจนไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จริงๆแล้วหากผู้เพาะเลี้ยงเรียนรู้กลยุทธ์ในการเพาะเลี้ยงโดยไม่ทำลายพื้นที่ป่าชายเลน ทั้งยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ในขณะที่ได้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์ ถือว่าชุมชนนั้นๆ ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับป่าชายเลนแบบยั่งยืน แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะพบได้ที่ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ” แห่งนี้

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี โครงการหนึ่งที่ศูนย์ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้ระยะเวลาเดินเพียง 30 – 45 นาที บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 850 เมตร จะทำให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับความรู้ และความประทับใจในธรรมชาติ มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติอยู่ตามบริเวณต่างๆ ตลอดสองข้างทาง ทำให้ทราบความสำคัญของป่าชายเลนว่านอกจากจะช่วยรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศชายฝั่งแล้ว ยังเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างยั่งยืน เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำและแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย นอกจากนี้จะเข้าใจได้ว่าไม้หลากชนิดในป่าชายเลนเกื้อกูลกันได้อย่างไร และมีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน อาทิ ลำพูทะเล ที่งอกได้ดีในดินปนทราย จะเป็นผู้สะสมดินเลนทะเลเพื่อเตรียมพื้นที่ให้ไม้อื่นได้งอกงามและก่อประโยชน์เป็นทอดๆต่อกันไป ไม้แสมขาว นอกจากทำเป็นฟืนได้ หากแก่นยังนำไปต้มกับแก่นแสมสาร (ขี้เหล็กป่า) ช่วยขับโลหิตเสียของสตรีได้ กระพี้ เป็นยาแก้พิษงู ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของ ต้นตาตุ่มทะเล ใช้รักษาโรคเรื้อนได้ดี ประสักดอกแดง ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำต้น ฝักนำมาเชื่อมทานได้ เนื้อไม้แข็งใช้ทำฟืน เครื่องมือประมง หรือสร้างบ้าน และเปลือกนำมาย้อมหนังได้ ไม้โกงกาง นอกจากนำมาผลิตถ่านคุณภาพดีที่ให้ความร้อนสูงถึง 7,300 แคลอรี่ต่อกรัม คุนาน และมีขี้เถ้าน้อย ยังนำมาทำเยื่อกระดาษได้ เปลือกเมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง อาเจียน และเปลือกตำละเอียดนำมาพอกแผลสดห้ามเลือดได้ดี ในป่าชายเลนแห่งนี้ยังมีไม้อีกหลายชนิดที่นำมาทำประโยชน์ได้อีกมหาศาล

เป็นกฏของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนั้น ระบบนิเวศในอ่าวคุ้งกระเบนก็เช่นกัน การดำรงอยู่ของป่าชายเลน หมายถึงการดำรงอยู่ของคนจำนวนมากที่ต้องอาศัยป่าชายเลนเพื่อการมีชีวิตอยู่เช่นกัน ป่าชายเลนเป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำนานาชนิด เมื่อสัตว์น้ำเหล่านี้โตขึ้น และว่ายไปบริเวณทะเลนอก ชาวประมงก็ได้จับไปขายและสามารถดำรงชีพด้วยการทำประมงอย่างยั่งยืน ในช่วงเวลาน้ำลดชาวบ้านในละแวกนี้จะออกมาเก็บหาหอย รวมทั้งหอยนางรมขนาดเล็กเพื่อนำไปเลี้ยงต่อจนใหญ่จึงนำไปขาย ที่นี่มีแปลงสาธิตเลี้ยงหอยนางรมแบบแขวนที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย โดยจะเลี้ยงขวางคลองน้ำทิ้ง เพื่อให้หอยนางรมดักจับกินแพลงตอนที่ปะปนมากับน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้ง และปล่อยน้ำดีออกมากับน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงกุ้งเป็นการช่วยบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจที่จะไปศึกษาหาความรู้และร่วมสัมผัสความงดงามจากธรรมชาติชายฝั่งทะเลของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 039-388-116-8 โทรสาร 039-388-119 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30–18.00 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อสำรองที่พักได้